'สมศักดิ์' สะเทือนใจ ‘ตะวัน-แบม' อดอาหาร ขอบคุณฝ่ายค้านจี้ตรงจุด ให้ผู้มีอำนาจรับรู้ปัญหา เผยกระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์
1 ก.พ. 66 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ภายหลังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม อดอาหารประท้วง
ด้านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวตอบรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของ ตะวัน และแบม 2 เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นอย่างยิ่ง
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า สิ่งสำคัญที่ได้พิจารณาหารือกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรณีให้เยาวชนทั้ง 2 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่นนั้น ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ดี แต่จากสภาวะของร่างกายเข้าขั้นวิกฤต น้ำหนักลดลงไป 10 กว่ากิโลกรัม อาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงเชื่อว่าทำถูกต้องที่ได้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ตอบรับมาอย่างรวดเร็ว และเยาวชนทั้ง 2 ก็สมัครใจ
เขากล่าวด้วยว่าเมื่อวานได้มีการหารือกันกับปลัดกระทรวงยุติธรรม รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะ บอททอม บลูส์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งส่วนตัวพยายามเก็บการหารือดังกล่าวเป็นความลับ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ จนได้ข้อตกลงกันว่าสมควรต้องหาหนทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญมีช่องว่างให้สามารถทำได้อยู่
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้หารือกันในช่วงเช้า ระหว่าง นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจและตกลงทำงานร่วมกัน ในส่วนที่กระทรวงยุติธรรมสามารถทำได้เลย จะลงมือทันทีโดยไม่รอช้า เพราะเวลาในตำแหน่งของตนเองนั้นเหลือไม่มาก
“ผมต้องขอขอบคุณ ส.ส. และหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้จี้อย่างตรงจุดที่ผู้เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจโดยตรงได้รับรู้ปัญหา หากปล่อยให้ผู้คนรำไรกันอยู่ อาจทำให้น้องเขาเสียชีวิตได้ ผมสะเทือนใจมาก เมื่อเห็นเด็กอายุ 21-22 ปี อดอาหารกันอย่างจริงจัง ไม่ได้อดหลอกๆ สิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือ เขาเริ่มดื่มน้ำได้บ้าง เพราะจะเป็นยืดชีวิตของเขาให้เรามีเวลาแก้ไขปัญหา”
ทั้งนี้ ข้อสรุปของการหารือมีอยู่ว่า กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ คุมขังแต่โดยจำเป็นไม่ให้หลบหนี และนักโทษทางความคิดที่ยังไม่ได้พิพากษา ให้คุมขังที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำ และกระทรวงยุติธรรมพร้อมสนับสนุนหลักทรัพย์ประกันตัวผ่านกองทุน
“ขอบคุณประธานสภาฯ และสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้หยิบยกปัญหามาพูด ผมมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นแนวทางโลกสมัยใหม่ที่จะพลิกผันความรู้สึกที่เป็นปัญหาในอดีตทั้งหลาย จากการกระทำของน้อง 2 คน ที่อดอาหารอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นการอดอาหารจริงๆ ไม่เหมือนอดีตที่อาจจะแอบกินตอนกลางคืนบ้าง แต่ผมได้ถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์ ได้ทราบถึงความเอาจริงเอาจังของทั้ง 2 คนนี้” นายสมศักดิ์ กล่าว
จิราพร สินธุไพร "พวกเขาไม่ใช่อาชญากร"
1 ก.พ. 2566 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ครั้งที่ 25) จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงกรณีการต่อสู้ของ #ตะวันแบม ที่อดอาหารอดน้ำ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ถ้าสังคมดี ประเทศนี้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิด ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่แสดงออกถึงความคับแค้นของประชาชนขนาดนี้
"แม้ดิฉันจะกังวลและห่วงใยอยากมากกับแนวทางการต่อสู้ของน้องทั้งสอง แต่ดิฉันเคารพในการตัดสินใจและขอใช้หัวใจคาราวะต่อความเด็ดเดี่ยวของคุณตะวันและคุณแบม อย่างไรก็ตามดิฉันไม่อยากให้ทั้งสองคนนี้ ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ไทยว่าเป็นหนึ่งในวีรชนที่ต้องสละชีวิตต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักการปกครองตามหลักประชาธิปไตย
แม้บางข้อยากจะสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจ ใช้หัวใจรับฟังข้อเรียกร้องเหล่านั้น ท่านจะเข้าใจถึงความอึดอัดคับแค้นใจอย่างยิ่งของพวกเขา กระทั้งยอมใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อให้เสียงของพวกเขาดังไปถึงรัฐบาล
แม้ท่านจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเหล่านั้น แต่สิทธิการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่าให้สิทธิดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นกับผู้ต้องหาคดีทางการเมือง รวมถึงผู้ที่เรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 และ ม.116
นักเครื่องไหวทางการเมือง นักโทษทางความคิด พวกเขาไม่ใช่อาชญากรไม่ควรต้องนอนอยู่ในคุก เยาวชนหนุ่มสาวคือความหวัง คือพลังของประเทศ แค่เห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่ศัตรู ไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ขอให้ผู้มีอำนาจคือสิทธิประกันตัว คืนอิสรภาพให้กับพวกเขา
คืนสิทธิประกันตัวให้ #แบมตะวัน และเพื่อนของพวกเขาทั้ง 15 คนทั้นที อย่าสุมไฟให้แรงขึ้น อย่าให้ประชาชนต้องเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ อย่าเพิกเฉยให้อนาคตของประเทศถูกทำลาย เพียงเพื่ออนาคตของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล" จิราพร กล่าวทิ้งท้าย
‘พิธา’ แนะแก้วิกฤติ 'คืนสิทธิประกันตัว - นิรโทษกรรมคนเห็นต่าง - แก้ กม.ลิดรอนเสรีภาพ'
ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในฐานความผิดจากการแสดงออกทางการเมือง
พิธา ชี้แก้วิกฤตหาทางออกของประเทศผ่านบันได 3 ขั้น ขั้นที่หนึ่ง คืนสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาควรได้ตั้งแต่แรก ให้กับผู้ต้องหาจำเลยทั้ง 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ขั้นที่สอง คือการนิรโทษกรรมคนที่เห็นต่างทางการเมือง นักโทษคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือมาตรา 116 เพราะที่ผ่านมา กระบวนการในประเทศไทย มีความกลับหัวกลับหาง ประเทศอื่นจะตามหาความจริง แล้วค่อยหาผู้รับผิดรับชอบ แล้วจึงค่อยปรองดอง แต่ประเทศไทยกลับกัน เอาปรองดองไปขึ้นหิ้งก่อน ไม่ต้องมีผู้รับผิดรับผิดชอบ การตามหาความจริงก็ไม่เกิดขึ้น กระบวนการนิรโทษกรรมและการปรองดองในประเทศไทยถึงวนอยู่ในอ่างอยู่แบบนี้ ทำให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้ เราไม่สามารถมีสมาธิแก้ปัญหาอย่างอื่น หากยังมีปัญหาการเมืองอยู่อย่างนี้
บันไดขั้นสุดท้ายคือการป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก ด้วยการเอากฎหมายที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายฟ้องปิดปาก นี่คือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาในสภา
“เชื่อว่าถ้าเราทำตามบันได 3 ขั้นนี้ ระยะสั้น กลาง ยาว น้องทั้งสองคนมีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป และฉลองชัยชนะของประชาชนไปด้วยกัน” พิธากล่าว