Skip to main content
sharethis

บันทึกการถ่ายทอดสดสนทนากับ ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพม่า เนื่องในวาระครบรอบ 2 ปี การรัฐประหารพม่า เพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวม กลุ่มต่อต้านเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ รวมทั้งวิเคราะห์อนาคตการเมือง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า เลยกำหนดตามรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ขยายประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปทำให้การเลือกตั้งน่าจะเลื่อนออกไปอีก หากมองจากภาวะความเป็นจริงคาดว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่มากพอและมีความชอบธรรมได้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ 

ขณะที่ท่าทีของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในพม่านั้น ศิรดา ระบุว่าไม่สามารถจัดรวมเป็นกลุ่มเดียวหรือเป็นเอกภาพได้ คนทั่วไปอาจมองแค่ 2 ขั้ว คือกองทัพพม่ากับอองซานซูจี แต่ความจริงแล้วตัวแสดงทางการเมืองมีจำนวนมากในพม่า เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มความต้องการและท่าทีหลังการรัฐประหารที่ไม่เหมือนกัน กลุ่มอารยะขัดขืน บางกลุ่มอาจเห็นด้วยกับ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) บางกลุ่มก็อาจไม่เห็นด้วย หรือกองกำลังประชาชน (PDF) ก็มีความกระจัดกระจาย ดังนั้นหากมองฝ่ายต่อต้านในพม่า กลุ่มที่ออกตัวชัดเจน เช่น กลุ่มอารยะขัดขืน กลุ่มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า (NUG) กลุ่มชาติพันธุ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เอากองทัพพม่าก็น่าจะไม่เข้าร่วม แต่กลุ่มที่แสดงจุดยืนที่ก้ำกึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะเข้าก็ได้ 

อย่างไรก็ตามลักษณะของฝ่ายต่อต้าน ศิรดา มองว่ามีลักษณะที่จะสุดขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้น ทั้งจากที่กองทัพยังปราบปรามประชาชน ทางออกที่มองไม่เห็นและปัญหาที่สะสมมานาน ทำให้ฝ่ายต่อต้านมีความคิดทางการเมืองสุดขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะกดดันให้ฝ่ายต่อต้านไม่ว่าจะท่าทีกลุ่มการเมืองแบบ Moderate (กลางๆ) หรือไม่ Moderate ไม่เข้าร่วมกับการเลือกตั้ง

ศิรดา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เมื่อปัญหามันคลี่ปมกลุ่มประชาชนไม่ว่าจะชาติพันธุ์พม่าหรือชาติพันธุ์อื่นเริ่มมองเห็นปัญหาร่วมบางอย่างจึงมาสู่แนวคิดเรื่อง Federal Democracy หรือ ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ที่เป็นแนวคิดที่แพร่กระจายอยู่ในกลุ่มฝ่ายต่อต้าน แต่ในเชิงปฏิบัติยังไม่ลงตัว ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วในกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ว่าน่าเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์พม่าเลยที่การเมืองในความคิดของประชาชน แม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์พม่าก็รับเอาแนวคิดนี้เข้ามา อย่างน้อยการเมืองเชิง Narrative หรือเรื่องเล่า ในเชิงความคิดทางการเมือง แน่นอนในเชิงสถาบันก็ต้องต่อสู้อำนาจในเชิงกายภาพอีกที ก็เป็นโอกาสที่จะมองการต่อสู้ทางการเมืองของพม่าใหม่โดยเฉพาะรูปแบบการปกครอง แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันหลายเรื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net