Skip to main content
sharethis

Justice for Myanmar เปิดรายงานฉบับใหม่ 187 หน้า พบรัฐบาลไทยสนับสนุนการพัฒนาระบอบเผด็จการทหารในพม่า ร่วมกับรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศอื่นรวมกว่า 60 องค์กร อาจเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ในอนาคต

การกระทำของรัฐบาลไทยตามที่พบในรายงาน ได้แก่ การรับรองและให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารพม่า เช่น การส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีสวนสนามในกรุงเนปิดอว์ ร่วมกับรัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม และลาว เมื่อ 27 มี.ค. 64 แม้มีรายงานข่าวในเวลานั้นแล้วว่ากองทัพพม่าใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมกับประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังแต่งตั้งทูตเพื่อให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่รัฐบาลทหารพม่า ร่วมกับ ซาอุดีอาราเบีย อินเดีย เบลารุส ศรีลังกา และเนปาล โดยรัฐบาลทหารพม่าก็ต่างตอบแทนด้วยการแต่งตั้งทูต และนำเสนอพิธีลงนามเอกสารบนพื้นที่สื่อ เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในการปกครอง

ไม่ใช่เพียงในระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่ยังพบว่ารัฐบาลไทยอยู่ในกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า เช่น การไม่ปฏิเสธและเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำรัฐบาลทหารพม่ากลับสู่โต๊ะเจรจาของอาเซียน และการยังคงร่วมกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง โดยการนำของจีน ร่วมกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า และไทย

ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่ไทยร่วมเป็นสมาชิก โดยการสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย พบว่าทางหลวงเอนดู-ก่อกะเระ 66 กม.ในรัฐกะเหรี่ยง ที่มีเพื่อเสริมการค้าระหว่างพม่า ไทย และภูมิภาค ถูกนำมาใช้เพื่อลำเลียงทหารพม่า ทำให้การสู้รบใกล้ชายแดนไทยทวีความรุนแรง

นอกจากนี้ ไทยยังร่วมประชุมกับรัฐบาลทหารพม่า และประเทศอื่น ภายใต้ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) โดยการสนับสนุนงบของธนาคารพัฒนาเอเชียและสหราชอาณาจักร นำไปสู่โครงการที่อาจสร้างรายได้แก่รัฐบาลทหารพม่า เช่น การส่งออกสินค้าไม้สัก 

ในกรณีเหล่านี้ Justice for Myanmar สรุปว่ารัฐบาลไทยยังคงช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่าด้วยการสนับสนุนทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่รัฐบาลและองค์กรอื่นพบการสนับสนุนรูปแบบอื่นด้วย ได้แก่ การสนับสนุนทางเทคนิค การสนับสนุนทางการเงิน และการเช่าทรัพย์สินของรัฐบาลทหารพม่า 

รายงานฉบับนี้ออกคำเตือนแก่ผู้เข้าไปข้องเกี่ยวกับรัฐบาลทหารพม่า โดยกรณีของไทยที่ให้การรับรองและความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารพม่า พบว่า รัฐบาลพม่าในอนาคตอาจเรียกร้องให้ไทยชดเชยความเสียหาย ในข้อหาแทรกแซงอำนาจอธิปไตยด้วยการช่วยเหลือรัฐบาลทหาร โดยขัดต่อเจตจำนงของประชาชน

ประเด็นนี้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐต่อการกระทำผิดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นมติขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ 28 ม.ค. 2545 แทนที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่ขาดความชอบธรรมเจตจำนงค์ กลุ่ม Justice for Myanmar เสนอให้รับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) แทน 

จากกรณีศึกษา 18 กรณี องค์กรที่มีส่วนในการสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารพม่า แบ่งออกเป็นรัฐบาลต่างชาติ 22 แห่ง องค์กรระหว่างประเทศ 26 แห่ง สถาบันการเงินต่างชาติ 8 แห่ง และองค์กรระหว่างประเทศ 8 แห่ง ในจำนวนนี้พบว่า 13 แห่งเริ่มดำเนินการเพื่อยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าแล้ว

ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในวันที่ 1 ก.พ. ระบุว่านับตั้งแต่มีการรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองในพม่าไปแล้ว 2,947 ราย ถูกจับกุมแล้ว 17,598 ราย ถูกตัดสินโทษจำคุกแล้ว 2,299 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 3,787 ราย เหลือถูกกุมขังในเรือนจำ 13,787 ราย 

แปลและเรียบเรียงจาก





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net