Skip to main content
sharethis

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ฉบับใหม่ จ่อเข้าสภา 3 วาระรวด-ขาดการมีส่วนร่วมแม้แต่นักข่าวเองยังแทบไม่รู้สาระ ปธ.อนุ กก.ฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วยนักวิชาการสื่อ ชี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนะรัฐบาลถอนร่างกลับมาพิจารณาใหม่

3 ก.พ.2566 จากกรณีสำนักการประชุมกลุ่มงานระเบียบวาระเผยแพร่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษวัน 7 ก.พ.ที่จะถึง โดยมีวาระหนึ่งคือ เรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น โดยวานี้ (2 ก.พ.66) สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ดังนั้นหากผ่านการพิจารณาร่วมของทั้ง 2 สภา ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย ร่างพระราชบัญญัตินี้อ้างที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 35 ที่รับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพไว้ จึงมีกฎหมายลูกเป็นพระราชบัญญัติเข้ามารองรับ

สุรพงษ์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอส กล่าวว่า มีความกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ครอบคลุมการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน รัฐบาลควรดึงกลับ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนอย่างรอบด้านก่อนเสนอเข้ามาใหม่

สุรพงษ์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ควรมีทั้งการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการคุ้มครองและส่งเสริมต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคม แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้กลับให้เป็นเพียงหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น การคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชน มีเพียงมาตรา 5 ซึ่งเป็นมาตราเดียวอยู่ในหมวด 1 ที่ไม่ครอบคลุม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนมากขึ้น และจะต้องมีรายละเอียดอีกหลายมาตราเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน มาตราที่เหลือเป็นเรื่องของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นจะเห็นชัดเจนว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ใช่พระราชบัญญัติในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน

สุรพงษ์กล่าวว่า การคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมที่ต้องมี แต่ไม่มีในกฎหมายฉบับนี้คือ กรณีสื่อมวลชนถูกรังแกจะช่วยเหลืออย่างไร หรือสื่อมวลชนถูกฟ้องเพื่อปิดปาก กฎหมายจะเข้าไปคุ้มครองอย่างไร ถ้าสื่อมวลชนเสนอข่าวสารและความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน ต้องไม่ถูกรังแกและไม่ถูกฟ้อง และต้องกำหนดหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะต้องทำการคุ้มครองสื่อมวลชนด้วย การคุ้มครองและส่งเสริมสื่อมวลชนอย่างเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

“สื่อมวลชนที่จดแจ้งและไม่จดแจ้ง สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเภทต้องได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นให้ประโยชน์กับสื่อมวลชนที่จดแจ้งเป็นสำคัญ นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล ต้องกำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น โดยไม่ต้องทำหน้าที่หน่วยงานธุรการให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะโดยหลักการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและการจัดการโดยรัฐ ดังนั้นจึงใคร่เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกจากการพิจารณา เพื่อไปปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้รอบด้านครบถ้วน” สุรพงษ์ กล่าว

วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งขอสังเกตเกี่ยวกับร่าง พรบ.ฉบับนี้ว่า เหตุผลที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแและกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อให้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพไปอย่างเหมาะสม  แต่คำถามคือ วันนี้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพหรือ ถึงต้องมีองค์กร (สภาวิชาชีพสื่อมวลชน) หนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพสื่อ และเป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์หรือไม่ที่เป็นเจ้าของเรื่องที่ยื่นเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรี จนนำมาสู่การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรียื่นเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ทั้งๆที่สื่อควรเป็นเจ้าของเรื่องเองหรือไม่

วิไลวรรณ กล่าวว่า ในร่างกฏหมายระบุเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนไว้กว้างมากที่อาจนำไปสู่การให้อำนาจที่มากแก่สภาวิชาชีพสื่อมวลชน จนนำไปสู่การกำกับที่ทำให้สื่อขาดเสรีภาพ นอกจากนี้ยังระบุเรื่องรายได้ในมาตรา 9 คือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้พิจารณาจัดสรรเงินแก่สภาเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานของสภาเป็นรายปี ซึ่งการเขียนไว้เช่นนี้อาจมีผลต่อการบริหารดำเนินการที่ไม่อิสระได้จริง เหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้

อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯกล่าวว่า ในร่าง พรบ.ฉบับนี้หมวด 2 มาตรา 11 เรื่องขอรับการส่งเสริมต้องยื่นขอจดแจ้งต่อสภา และการยื่นขอจดแจ้งต้องมีลักษณะ 5 ประการ โดยเฉพาะข้อ 4 ต้องดำเนินการต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี และข้อ 5 มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายปีต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งจากคุณลักษณะที่กำหนดเช่นนี้ เห็นว่าผู้ร่างไม่เข้าใจภูมิทัศน์สื่อและระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปวันนี้ ที่มีการดำเนินการเป็นลักษณะสื่ออิสระที่ไม่ได้เป็นองค์กรชัดเจน แต่มีการทำบทบาทหน้าที่สื่อตามหลักวารสารศาสตร์

วิไลวรรณ กล่าวว่าในหมวด 3 คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรา ให้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นกรรมการโดยตำแหน่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมต้องมีกรรมการในตำแหน่งเพราะการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนฯทุกวันนี้อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเป็นอิสระ นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 46 ในวาระเริ่มแรกให้กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของสภาและของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงมาก

“คำถามที่สำคัญคือทำไมถึงเป็นวาระเร่งด่วนเข้าสภาในที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เป็นเรื่องน่าสงสัยอย่างมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องของสื่อ แต่สื่อจำนวนมากยังไม่ทราบเรื่อง ทั้งๆที่เป็นผลได้ผลเสียต่อสื่อโดยตรง” วิไลวรรณ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่าขณะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวจากสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งในการออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่ายังมีนักข่าวจำนวนมากที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาในร่าง พรบ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ขณะนี้เริ่มมีการรณรงค์เพื่อชี้ให้เห็นเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อวงการสื่อมวลชนและความเร่งรีบของการออกกฏหมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net