Skip to main content
sharethis

PM2.5 เชียงใหม่ส่อเค้ารุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน แม้รองผู้ว่าฯ ประกาศงดการเผา นักวิชาการแนะเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ไข

 

3 ก.พ. 66 เวลา 13.00 น. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ใน ต.แม่เหียะ และ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังมีรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือวันนี้ พบว่าค่าฝุ่นละอองในทั้ง 2 พื้นที่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51-90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) โดยสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ต.สุเทพ กรมควบคุมมลพิษ ณ เวลา 12.00 น. อยู่ที่ 54 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนในพื้นที่ ต.แม่เหียะ มีรายงานจากสถานีวัดฝุ่น Dustboy โรงเรียนอนุบาลมยุรี ณ เวลา 09.00 น. อยู่ที่ 319 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ สั่งงดบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผา

วานนี้ (2 ก.พ. 66) สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงใหม่ รายงานว่า นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้ ชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2566 โดยมีส่วนราชการ นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศ (PM2.5) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่าในขณะนี้สถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระดับที่สูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลต่อระบบสุขภาพ พร้อมรายงานสถิติข้อมูลที่วัดได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นมา พบว่า จ.เชียงใหม่ เกิดจุดความร้อนแล้วจำนวน 348 จุด, มีพื้นที่เผาไหม้รวม 4,184 ไร่ และมีค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐานมากว่า 15 วัน จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง 

ชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภองดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยวิธีการเผาในระยะนี้ไปก่อน พร้อมเน้นย้ำให้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาป่า พร้อมทั้งขอความร่วมมือส่วนราชการและประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่เสี่ยงป้องกันการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน

ด้านข้อมูลการขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชัน Fire-D เบื้องต้นในปี 66 มีการลงทะเบียนยื่นคำร้องขออนุญาตแล้ว จำนวน 69,998.5 ไร่ (981 รายการ) ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 18,323.1  ไร่ (26%) และรายงานผลการดำเนินงานกลับมาแล้ว  280.3 ไร่ (5.0%) 

นักวิชาการคาดสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่อง

แม้มีคำสั่งงดเผา

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้สัมภาษณ์กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เห็นว่า ค่าฝุ่นในวันที่ 3 ก.พ.66 เกินค่ามาตรฐานในหลายๆ จุด โดยจากเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.66) ที่มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระดับจังหวัด มีการสั่งการจากรองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ให้ระงับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หมายถึงว่าที่ได้ลงทะเบียนไว้ในแอพลิเคชัน Fire-D ก็จะหยุดไปก่อน เพื่อบรรเทาการสะสมตัวของฝุ่นที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าพื้นที่ดำเนินการตามคำสั่ง ก็จะลดพื้นที่ในการเผาในที่โล่งไป แต่ว่ากรณีนี้จะเป็นในพื้นที่ที่ทำการเกษตรส่วนในพื้นที่ที่เป็นป่าก็ยังมีการลักลอบการเผาอยู่ บางจุดก็ดับได้ บางจุดก็ยังดับไม่ได้ และก็ยังมีลุกลามไปอยู่

“เพราะฉะนั้นในช่วงนี้อากาศก็ยังระบายตัวไม่ดี และการสะสมตัวของฝุ่นก็จะอยู่ค่อนข้างหนาแน่น แล้วถ้าในพื้นที่ใดที่ไม่มีลมเลย ฝุ่นก็จะสูงมาก บางจุดเราก็เห็นข้อมูลว่า ค่าฝุ่นเฉลี่ยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บางจุดก็ 200 – 300 ไปแล้ว แต่ในเมืองเชียงใหม่ก็จะประมาณ 80 – 90 หรือประมาณหนึ่งร้อยนิดๆ” รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าว

แนะลดบรรยากาศ ‘กล่าวโทษ’

แก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

“ที่ผ่านมาเรายังแบ่งโซนกันอยู่ เป็นคนในพื้นที่ป่า คนบนดอย คนในเมือง คือวิถีมันแตกต่างกันซึ่งแต่ละคนจะทำให้เกิดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังกัน ไม่ช่วยเหลือกัน เราก็จะโบ้ยว่า คนนี้เป็นคนสร้างแหล่งกำเนิด คนนี้ก็ต้องแก้ไขสิ เราก็เจอปัญหานี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมเอาข้อมูล เอาความจริงมาวาง แล้วคุยกันจริงๆ จังๆ ว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร”

รศ.ดร.เศรษฐ์กล่าว ย้ำว่าในพื้นที่ป่าอาจจะต้องแบ่งว่า มีอะไรอยู่ในพื้นที่ป่าบ้าง บางพื้นที่ชาวบ้านได้สิทธิในที่ดินทำกิน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องดูแลในพื้นที่ของเขาเหมือนกัน เช่น ในเมื่อเขาได้สิทธิทำกินไปแล้ว เขาจะทำเกษตรแบบที่ไม่เผาได้หรือไม่ หรือกรณีชุมชนที่อยู่ใกล้ป่าและสามารถดูแลป่าได้ เขาจะได้รับการสนับสนุนจากคนในเมืองได้อย่างไรบ้าง

รศ.ดร.เศรษฐ์ ยังย้ำว่า จริงๆ เราทราบอยู่แล้วว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศเป็นแบบนี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเชื้อเพลิงแบบเผาในที่โล่ง แต่ก็อาจจะมีความจำเป็นของพื้นที่ ชาวบ้านมีเหตุผลในการใช้ไฟ ถ้าให้ประเมินสถานการณ์นี้ (คำสั่งงดเผา) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างซ้ำเดิม เป็นปัญหาเดิม เป็นวิธีการเดิมๆ ผลที่เกิดขึ้นมาก็เหมือนเดิม เพราะว่าเรายังไม่ได้หาวิธีการใหม่ๆ ที่จะไปช่วยชาวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่อาจเป็นการทำการเกษตรแบบอื่นที่มีการบูรณาการเรื่องเครื่องจักร มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร หรือว่านำเศษวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เมื่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ในการทำการเกษตรได้รับความช่วยเหลือ มีทางออก เขาก็อาจไม่เผาก็ได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีทางออกแบบนั้น

“เราก็เห็นแล้วว่ามันมีปัญหาหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงการเมือง คือถ้าภาคเหนือหรือเชียงใหม่ไม่ได้เป็นเมืองหลวง มันก็คงแก้ปัญหาลำบากเหมือนกัน เพราะสรรพกำลังมันอยู่ที่กรุงเทพมหานครหมดเลย เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมีวิธีการหลากหลายวิธีมาใช้ในการแก้ปัญหานะครับ ตั้งแต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ หรืออื่นๆ ที่ทำให้คนในพื้นที่ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการโอนถ่ายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลแล้ว แต่ว่ามันก็ยังมีความลักลั่นในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้ ซึ่งมันก็เป็นปัญหาของโครงสร้างในเชิงข้าราชการขนาดใหญ่” รศ.ดร.เศรษฐ์ ย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net