ผู้พิพากษามีอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์: โฆษกศาลยุติธรรมแจงแนวทางจัดการคดีการเมือง

รายละเอียดบันทึกการถาม-ตอบระหว่างโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมกับสื่อ ทนายความ และจำเลย ม.112 ปมแนวทางศาลในคดีการเมือง แจง ยึดแนวปฏิบัติตามเกณฑ์กฎหมายที่มี จะทำเหมือนไม่มีกฎหมายหนึ่งๆ อยู่ไม่ได้ หากการเมืองจะเปลี่ยน ศาลก็ปฏิบัติตาม ยัน ผู้พิพากษามีอิสระ ทนายค้าน เพราะที่ทราบมา เจ้าของสำนวนไม่มีสิทธิ์สั่งคดี ม.112

สรวิศ ลิมปรังษี

3 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม มีการจัดแถลงข่าวชี้แจงกระบวนการพิจารณาสั่งประกัน การกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว  และการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังในคดีอาญาซึ่งเกี่ยวกับคดีกล่าวหาการชุมนุมสาธารณะโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกับการชุมนุม  โดยมีสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้แถลง

ในหมายเชิญของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าการจัดแถลงข่าววันนี้มีขึ้น “สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอาจมีการสื่อสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขัง อันจะมีผลต่อความเห็นต่างในสังคมที่ลุกลามบานปลายต่อไปได้”

ในห้องแถลงข่าว นอกจากมีสื่อเข้าร่วมหลายแขนงแล้ว ยังพบประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเข้าร่วม เช่น เนติพร เสน่ห์สังคม สายน้ำ ตรีรยาภิวัฒน์ อันนา อันนานนท์  รวมถึงกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)

สรวิศกล่าวว่า การประกันตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีที่ศาลยังไม่พิพากษาให้ถึงที่สุดโดยให้ถือปฏิบัติเหมือนผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั้น ในตัวกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเองก็มีเงื่อนไขต่างๆ ว่าการคุมขังและการจับกุม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ. อาญา) กำหนดไว้แล้วว่ากรณีใดบ้างที่สามารถประกันตัวได้ กรณีใดที่คุมขังไว้ได้ เช่น กรณีการป้องกันการหลบหนี ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือไปก่ออันตรายอื่น ศาลจึงต้องดูพฤติการณ์แต่ละคดี เพราะในทางหนึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกัน ศาลก็เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยตามเกณฑ์กฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ละคดีจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ

โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมรับประกันว่าผู้พิพากษาในแต่ละคดีนั้นมีการพิจารณาคำสั่งและพิพากษาไปโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ ในบางหนังสือที่ยื่นที่พูดถึงการรายงานคดีนั้น การรายงานคดีเป็นไปในฐานะที่ผู้ดูแลราชการของศาลต้องรู้ความเป็นไป แต่ในทางคดีนั้นไม่ได้มีผลไปแทรกแซงดุลพินิจในการมีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในกรณีของอธิบดีหรือผู้พิพากษาศาลภาคก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะโดยกฎหมาย อธิบดีถือเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งในศาลทุกศาลในภาคอยู่แล้ว และมีอำนาจตรวจสอบสำนวนและไปร่วมนั่งพิจารณาอยู่แล้ว แต่โดยกรณีอื่นๆ ทั่วไป การรายงานเป็นไปเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในคดีสำคัญ

ในกรณีการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องตั้งหลักว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 108 กำหนดว่าศาลอาจมีเงื่อนไขกำหนดให้ปฏิบัติได้ แต่ว่าจะกำหนดเงื่อนไขในแต่ละคดีอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องดูตามพฤติการณ์แต่ละคดี

สำหรับกรณีที่มีการอดอาหารของแบมและตะวัน สรวิศกล่าวว่า ในคดีนี้ ทีแรกที่มีการฝากขังที่ศาล ศาลก็ให้ประกันตัวไปโดยที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอย่างที่เป็นประเด็นในตอนหลัง โดยเงื่อนไขครั้งแรกกำหนดกว้างๆ คือห้ามร่วมชุมนุม หรือกระทำการอื่นใดให้เกิดความเดือดร้อน หลังจากนั้นราวสิบกว่าวันก็มีคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว อ้างว่ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไขประกัน ครั้งที่สองที่มีการขอประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวเกิดขึ้นเมื่อราวเดือน พ.ค. 2565 ที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้นมา

ในกรณีเดียวกันนี้ หากไปดูในช่วง 5-6 เดือน หลังการได้ประกันครั้งที่สอง จะพบว่ามีการขออนุญาตออกไปทำภารกิจ 19 ครั้ง ศาลไม่อนุญาต 5 ครั้ง และอนุญาต 14 ครั้ง โดยในจำนวนที่อนุญาต มีการขอไปสอบ ไปพักผ่อนกับครอบครัว ไปรับประทานอาหารกับเพื่อนๆ แต่ในส่วนที่ไม่ให้นั้นเป็นเพราะมองว่าอาจจะมีเหตุที่จะไปทำให้ผิดเงื่อนไข เช่น การไปชุมนุม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคนที่ศาลพิพากษาไปแล้ว สิทธิเหล่านี้คงจะไม่มี หากมองในมุมเรื่องการปฏิบัติเสมือนกับยังไม่มีความผิด (Presumption of innocence)

ในกรณีการถอนประกันตัวที่มีนักการเมืองบอกว่ามีศาลนัดไต่สวนเอง จริงๆ มีหลายตัวอย่าง แต่จะยกตัวอย่างเรื่องเดียว มีหนึ่งคดีที่ผู้ต้องหาคดี ม.112 มาขีดเขียนข้อความในห้องน้ำศาลอาญา เมื่อศาลพบข้อเท็จจริงนี้ ก็เรียกมาไต่สวนและถอนประกัน ต้องไม่ลือมว่าการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการทำสัญญาระหว่างศาลกับผู้ต้องหาหรือจำเลย พนักงานสอบสวนไม่มีความเกี่ยวพันด้วย แต่ก็มีสามารถร้องขอหรือคัดค้านได้ในฐานะคู่ความในคดี กรณีนี้ก็เช่นกัน หากปรากฏข้อเท็จจริงแล้ว สัญญาประกันก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมาทำกับศาล เป็นกระบวนการปกติ แน่นอนว่ามีการเพิกถอน แต่ก็มีให้นัดมาไต่สวน และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วก็ดำเนินการตามบทบาท อำนาจหน้าที่ที่ศาลมี ซึ่งเคยเกิดขึ้นในคดีอื่นแต่อาจจะไม่เป็นข่าว

เรื่องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประกันตัวต่างๆ ศาลก็มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอยู่แล้ว ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง แต่ละขณะ ว่ามีเหตุผลและความจำเป็นแค่ไหน ศาลก็ต้องตีความตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเข้าใจบนพื้นฐานร่วมกันว่า กฎหมายหลายมาตรา อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าควรจะมีหรือไม่มี แต่ว่า ณ ขณะนี้ ก็เป็นข้อเท็จจริงว่ากฎหมายมีอยู่ ดังนั้นการตีความ การบังคับใช้กฎหมาย ศาลก็คงต้องตีความตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็คงมีความเห็นต่างกันได้ว่าแค่ไหน เพียงใดถึงจะเป็นความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของทานตะวันและอรวรรณที่นั่งฟังอยู่ในห้องแถลงข่าวด้วย โดยตอนหนึ่งในช่วงถาม-ตอบ กฤษฎางค์ตั้งคำถามว่าศาลจะมีการปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือไม่มากไปกว่าการประกาศว่าจะมีการพูดคุยและปรึกษาหารือ หากศาลตอบได้เพียงว่ามีการประชุม คุยกันเรื่อยๆ ตนก็คิดว่าไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอ ระบบศาลยุติธรรมมีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีก็ขอให้ตอบ ถ้าหากไม่มีก็ไม่ต้องทำ และข้อเรียกร้องเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการสั่งคดี อันนี้ข้อเท็จจริงของตนกับของโฆษกไม่ตรงกัน เพราะการสั่งคดี ม.112 ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งคดีเลย แม้แต่จะขอเลื่อนคดี นี่คือปัญหาที่จะต้องรับไปทำให้เป็นรูปธรรม

บันทึกช่วงถาม-ตอบ

มีการเรียบเรียงใจความบางส่วน และคัดคำถาม-คำตอบที่ซ้ำความ หรือมีประเด็นที่กระจัดกระจายออกไป

ถาม: การยื่นถอนประกันตัวเองไปเข้าเรือนจำถือว่าผิดปกติหรือไม่

ตอบ: ในแง่กฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 116 กำหนดว่า ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีการมาส่งตัวตามสัญญาประกันที่ศาล ศาลก็จำเป็นที่จะต้องรับตัวไว้ ทำให้สัญญาประกันสิ้นสุดไป ศาลก็คงใช้ดุลพินิจไม่ได้ว่าหากมาส่งตัวเองที่ศาลแล้วศาลจะไม่รับไว้ เพราะถ้าไม่รับไว้ก็ไม่สอดคล้องตามกฎหมายกำหนด และจะมีผลให้ผิดสัญญาประกันต่อไป แต่ในส่วนเจตนา ที่มาหรือที่ไป กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลในการตรวจสอบหรือไตร่ตรองว่าการเข้ามาแล้วจะมีเจตนาเข้าไปทำอะไรต่อ ซึ่งคงไม่สามารถใช้ดุลพินิจได้  

คิดเห็นอย่างไรกับ 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม

ไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป แต่ถ้ามีเรื่องของการพัฒนา ในทางศาลเองก็พร้อมที่จะรับฟัง จริงๆ วันเสาร์ที่จะถึงนี้ศาลมีโครงการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีความเห็นด้วยซ้ำ แต่บางข้อเสนอก็นอกขอบเขตของศาล เช่นการยกเลิกฐานความผิดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ เพราะศาลเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

“ลองนึกดูว่าถ้าเกิดมีกฎหมายสักฉบับ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าศาลเลือกเองได้ว่าเรื่องนี้อยากจะบังคับ เรื่องนี้ไม่อยากจะบังคับ มันกลายเป็นว่าศาลทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเอง ถูกไหมครับ ดังนั้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง แน่นอนว่าศาลก็ต้องปฏิบัติ” สรวิศระบุ

การอนุมัติถอดกำไล EM ของนักกิจกรรม เกี่ยวเนื่องกับการที่ศาลให้ถอดกำไล EM ของดารารายหนึ่ง (พิงกี้ สาวิกา) หรือไม่

การถอดกำไล EM จริงๆ แล้วเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสามารถกำหนดให้สอดคล้องกับความจำเป็นและพฤติการณ์ของคดีในแต่ละขณะ อย่างในกรณีของดาราคนดังกล่าว เดิมทีในคดีก็ไม่ได้มีการติด EM แล้วต่อมาก็มีการติด แสดงให้เห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขตามเหตุผลและความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ศาลก็เห็นว่าการสอบสวน การดำเนินคดีก็ผ่านไปสักระยะแล้ว และข้อมูลเท่าที่ทราบ กรณีดาราคนดังกล่าว ก่อนจะปลด EM ก็มีการให้ทำแบบประเมินความเสี่ยง และลองเช็คความเคลื่อนไหวของกำไล EM มาประกอบก่อนที่จะสั่งปลด และในคดีดังกล่าว ก็เป็นการปลด EM ชั่วคราว ไม่ใช่ยกเลิกแบบถาวร ในคำสั่งเป็นการให้ปลด EM จนกว่าจะนัดรายงานตัวครั้งถัดไป

จริงๆ แล้ว คดีศาลอาญาในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีคดี ม.112 อยู่ 55 คดีด้วยกัน ถ้าไปย้อนดูสถิติเหล่านี้ แทบทุกคดีจะมีประวัติการให้ประกันตัวแทบทุกคดี เพียงแต่ประกันตัวไปแล้วเกิดเหตุอะไรขึ้นมาแล้วมีการเปลี่ยนเงื่อนไข จุดนั้นก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา ส่วนที่ไม่มีการประกันตัวก็อาจเป็นเพราะว่ามีข้อเท็จจริงประกอบ เช่น มีการใช้ความรุนแรง หรือมีความผิดอื่นประกอบ เช่น การมีวัตถุระเบิด

ศาลหนักใจหรือไม่ที่กลายเป็นตำบลกระสุนตก

ศาลเป็นองค์กรตุลาการ ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง ดังนั้นการทำหน้าที่ต่างๆ อาจมีหลายเรื่องที่มีที่มาที่ไปกับการเมือง แต่คงไม่หนักใจของการเป็นการเมือง ถ้าหนักใจคือทำอย่างไรให้พยายามทำอย่างไรที่จะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมสอดคล้องกับกฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มีการหารือกันภายในหรือไม่ว่าจะปรับปรุงแนวทางการพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพ

คงไม่ได้มีการพูดคุยเพื่อไปดำเนินการอะไรข้างนอก แต่การปรึกษาหารือภายในศาลก็หารือในเรื่องของคดีความอยู่แล้ว ต้องดูแลตามในส่วนที่เป็นภารกิจของเราก็คือเรื่องคดีความต่างๆ แต่ส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกคดีความก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นในสังคมในการดูว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร

เท่าที่อยู่ในขอบเขตของศาล มองว่าได้จัดการคดีความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองได้ดีพอแล้วหรือยัง

เท่าที่ทราบก็เป็นการพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน เนื้อหาในแต่ละคดี และกฎหมายที่บัญญัติ การพิจารณาของศาล ต้องดูว่ากฎหมายที่ใช้บังคับปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดว่าอย่างไรบ้าง และศาลก็ตัดสินไปตามกฎหมาย แต่ศาลคงไม่สามารถเลือกได้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้แบบนี้ เราอาจจะไม่ถูกใจกฎหมายและไม่บังคับใช้

การพิจารณาคดีทางการเมือง บ่อยครั้งมีการจำกัดคนเข้าฟังการพิจารณาคดีบ้าง ห้ามจดบันทึก จะรับประกันได้อย่างไรว่าการพิจารณาคดีจะเป็นไปอย่างเปิดเผย

ถ้าเป็นการพิจารณาลับก็จะมีข้อห้าม แต่การรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยในแต่ละห้องพิจารณาก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ แม้แต่เรื่องการจด บางทีมีการจดเพื่อเอาไปให้อีกคนเบิกความ ดังนั้นการให้เข้าไปก็เป็นการตรวจสอบโดยสภาพอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์ด้วย

หากการอดอาหารไปถึงขั้นเสียชีวิต มองว่าจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือศาลไหม

ข้อมูลในทางคดีก็ได้รับรายงานจากทางแพทย์บ้าง ไม่ได้บ่อย อาจจะหนึ่งครั้ง ซึ่งก็เป็นอาการทั่วๆ ไป แต่ในแง่ความเห็นจากสาธารณชน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรู้สึกโดยสภาพ ศาลก็คงไม่ได้ปิดหูปิดตา ก็ติดตามสถานการร์อยู่จากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งศาลมีอยู่ตอนนี้คือรายงานทางการแพทย์หนึ่งฉบับ แต่ยังไม่มีคำร้องนอกเหนือจากนี้ หากมีการเคลื่อนไหวในทางคดีความหรือคำร้องที่อยากให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม ศาลก็จะพิจารณาให้อยู่แล้วตามพฤติการณ์และเหตุผลในขณะนั้น

ศาลนำเรื่องการชุมนุม การเรียกร้องภายนอกมาพิจารณาหรือไม่

โดยสภาพก็พิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวน เป็นหลักการที่รู้กันอยู่ทั่วไป การจะรู้ว่าอะไรจริงแค่ไหนผ่านสื่อก็ตอบยาก การให้ศาลพิจารณาอะไรก็ต้องมีความชัดเจนในข้อเท็จจริงเป็นอย่างน้อย ในกระบวนการทางกฎหมายก็มีกลไกนั้นในตัวผ่านการตรวจสอบ การแย้งของจำเลยที่ถูกกล่าวหา ซึ่งศาลก็จะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ส่วนเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอก ไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบกลั่นกรอง โดยสภาพก็คงลำบากที่จะให้ศาลไปหยิบอะไรที่เกิดขึ้นมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัย

การสั่งประกันตัวทำไมบางครั้งมีการสั่งจาก “มติผู้บริหารศาล” เพราะปกติผู้พิพากษาในคดีจะเป็นคนสั่งประกันตัว

ส่วนตัวไม่มีบันทึกนั้น แต่การปรึกษาหารือภายในศาลมีโดยสภาพอยู่แล้ว เพราะในศาลเดียวกันก็มีคำสั่งที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากไม่มีการพูดคุย ต่างคนต่างทำ คดีประเภทเดียวกัน ข้อเท็จจริงเหมือนกัน แล้วต่างคนต่างไม่ได้มีข้อมูลว่าในศาลเดียวกันทำอะไรกันบ้าง ซึ่งก็นำมาสู่คำถามว่าทำไมถึงต่างกัน การปรึกษาหารือนี้ก็คงเพื่อจะให้มีข้อมูลว่าคดีที่มาที่ศาลเป็นอย่างไรบ้าง  แต่ยืนยันว่าสุดท้าย ดุลพินิจแต่ละเรื่องยังเป็นของผู้พิพากษาที่รับผิดชอบอยู่

ต่อข้อเรียกร้องของแบมและตะวัน ศาลจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาก็มีกฎหมายให้ศาลทำนู่นทำนี่มาตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย ศาลก็ปฏิบัติตามมาตลอด การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นรูปธรรม เพราะทำได้หลายแบบ ทำแบบไหน ทำอย่างไร แต่ละฝ่ายก็มีความคิดที่หลากหลาย ความเห็นทางศาลก็พร้อมรับฟัง อาจมีการจัดเวทีหรือกลไกพูดคุยอีกครั้งว่าข้อเสนอแต่ละอย่างหมายความว่าอย่างไรบ้าง

ความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีที่ทนายกับศาลมองไม่ตรงกัน จะให้ความเชื่อมั่นกับสังคมในเรื่องนี้อย่างไร

“ยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าความอิสระในการพิพากษาคดียังเต็มเปี่ยม ส่วนเรื่องของการให้คำปรึกษา โดยอำนาจหน้าที่ ท่านผู้บริหารมีอำนาจที่จะให้คำแนะนำ แต่คำแนะนำก็คือคำแนะนำ มันไม่ใช่การสั่งการ ศาลเองก็มีกลไกคณะกรรมการตุลาการเป็นหลักคุ้มครองความเป็นอิสระของท่านผู้พิพากษาอยู่แล้วว่าในการเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนต่างๆ การดำเนินการทางวินัย ก็มีกลไกตรงนั้นที่รับประกันอยู่แล้ว”

ระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ จะมีทางออกหรือทางแก้ไขในเรื่องคดีที่เป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่

การตีความการใช้บังคับกฎหมายนั้นอ้างอิงกับกฎหมายปัจจุบัน อย่าง ม.112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี ตัวเลข 15 ปี หากเทียบกับความผิดอื่นๆ ก็ไม่ใช่ความผิดที่เบา เรื่องการประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราวหรือการฝากขัง หากโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ตามกฎหมายสามารถควบคุมตัวไว้โดยแทบไม่ต้องมีเหตุอย่างอื่น ดังนั้นเงื่อนไขกฎหมายก็อยู่ในเกณฑ์อยู่แล้ว แต่ศาลคงไม่สามารถบอกได้ว่าความผิดในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ หรือควรเป็นอย่างไร ศาลก็ต้องบังคับใช้กฎหมายตามที่เป็นในปัจจุบัน ความต่างจะอยู่ที่พฤติการณ์ข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องมากกว่าว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คงไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายเสมือนว่าไม่มีมาตรานี้อยู่

เป็นไปได้ไหมที่ศาลจะทำตามข้อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง เพราะอยู่ในดุลพินิจของศาล

ในคดี ม. 112 ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ศาลอาญามี 55 คดี มีการปล่อยชั่วคราวทุกคดี ตอนนี้เพิกถอนปล่อยชั่วคราว 3 คดีเพราะมีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไข (ไม่รวมกรณีแบมและตะวันที่ถอนเอง) อีก 2 คดีมีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นแล้ว และไม่อนุญาตตั้งแต่ต้นมีคดีเดียว  มีอีกคดีที่ไม่ประกันตั้งแต่แรก  แต่ส่วนหนึ่งที่อาจมีปัญหาคือ ม. 112 บวกกับข้อหาอื่น เช่น ครอบครองวัตถุระเบิด ซึ่งพฤติการณ์แต่ละเรื่องต่างกัน ถ้ามีอื่นๆ เช่น ต่อสู้ขัดขวาง วางเพลิงเผาทรัพย์ มีวัตถุระเบิด ก็ต้องพูดแยกกัน ถ้าเป็น ม.112 ปกติ มีไม่ให้ประกันก็เหลือ 4-5 เรื่อง ที่ไม่ได้ประกันด้วยเหตุว่าศาลมีคำพิพากษาแล้ว หรือมีการผิดเงื่อนไข

เงื่อนไขประกันตัวที่ระบุว่า ‘ห้ามกระทำความผิดซ้ำ’ ถือว่าถูกตัดสินไปแล้วหรือยัง  

แยกเป็นสองส่วน ส่วนคดีที่ฟ้องกันก็เข้ากระบวนการศาลเพื่อหาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่เรื่องเงื่อนไขประกันตัวต้องคุยกันบนฐานว่ามีความผิดนี้อยู่ในกฎหมาย การวางเงื่อนไขว่าห้ามกระทำผิดตามกฎหมายบัญญัติไว้ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะหมายความแค่ไหน เพราะว่าการวางเงื่อนไขคือไม่ให้ไปทำผิดตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในปัจจุบัน ก็มองว่าอยู่ในวิสัยที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มีเจ้าหน้าที่ศาลอาญารัชดาฯ โทร. บีบให้ครอบครัวผู้ต้องหาคดี ม.112 ให้แถลงรับเงื่อนไข จะบอกได้อย่างไรว่าที่รับไปเป็นความยินยอม

หากมีข้อมูลก็ขอให้บอก แต่เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่มีอำนาจในการบังคับ ถ้าหากมี ก็คงเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการประกอบการพิจารณา แต่วันที่มีผลคือวันที่มาพบที่ศาล ซึ่งวันนั้นหลายฝ่ายก็อยู่ในห้องพิจารณา มีทนายความด้วย เงื่อนไขในชั้นที่สุดก็คงเกิดในห้องพิจารณาเป็นหลักว่ามีข้อมูลหรือในข้อเท็จจริงอย่างไร หากมีข้อเท็จจริงที่คิดว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ก็คงเป็นเรื่องที่สามารถจะทำคำแถลงชี้แจงเข้าในคดีได้

มีผู้ชุมนุมบางคนโดนเงื่อนไขไม่ให้วิจารณ์ศาล แล้วศาลจะมั่นใจในความบริสุทธิ์ได้อย่างไรหากไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยก็ให้พูดคุยและวิจารณ์ได้อยู่แล้ว แต่การติเพื่อก่อ กับการติเพื่อสร้างกระแส หรือชักนำให้เกิดความคิดเห็นในทางใดทางหนึ่งก็เป็นอีกเรื่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยเขียนบทความวิชาการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลก็มีเยอะแยะ แต่ถ้าเป็นการทำเพื่อให้สังคมเกิดความรู้สึกอะไรที่สร้างความเสื่อมเสียโดยเฉพาะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คงบอกไม่ได้ว่าการวิจารณ์ทุกเรื่องเป็นการติชมทางวิชาการทั้งหมด                

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท