ทำความเข้าใจ ‘เขตแดน’ อีกครั้ง อุดช่องว่างประวัติศาสตร์ที่หายไป

ทุกวันนี้เขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่จบ ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักกลายเป็นเครื่องมือชาตินิยม-กษัตริย์นิยม ประวัติศาสตร์ไทยที่อ้างอิงแนวคิดจาก Siam Mapped ก็ย้อนแย้งและละเลยข้อเท็จจริง นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่จึงกลับไปศึกษาเขตแดนใหม่เพื่ออุดช่องว่างและทำให้เห็นว่ากษัตริย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ทำถูกและทำผิดได้

  • งานประวัติศาสตร์กระแสหลักทึกทัก (assume) ว่าสยามมีเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่ ส่วนงานประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงแนวคิดจาก Siam Mapped ของธงชัย วินิจจะกูลก็ทึกทัก (assume) ว่าไม่มี ทั้งที่ธงชัยไม่เคยอ้างว่าไม่มีเขตแดน
  • สยามมีเขตแดนแบบรัฐจารีตที่อาศัยเมืองเป็นตัวระบุขอบเขต ซึ่งเจ้าอาณานิคมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เข้าใจเรื่องนี้ดี และทั้งเจ้าอาณานิคมและสยามต่างก็แสวงหาผลประโยชน์จากความคลุมเครือนี้เหมือนๆ กัน
  • การที่งานกลุ่มที่ 2 ระบุว่าสยามไม่มีเขตแดนก่อให้เกิดปัญหาและความย้อนแย้งหลายประการ
  • ชนชั้นนำสยามใช้เทคนิคทางการทูตและเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านดินแดน ซึ่งมีทั้งการกระทำที่ถูกต้องและผิดพลาด

 

ประวัติศาสตร์กระแสหลักตอกย้ำความสูญเสียดินแดนของสยามจากการถูกข่มเหงรังแกโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งถูกรัฐไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ชาตินิยม กษัตริย์นิยมเรื่อยมา

กระทั่งงาน ‘Siam Mapped: A history of the geo-body of a nation’ หรือ ‘กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ’ ของธงชัย วินิจจะกูล เสนอแนวคิดหักล้างว่า สยามไม่เคยเสียดินแดน เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่เช่นที่เข้าใจกันในทุกวันนี้ สยามเป็นเพียงหนึ่งในผู้เล่นบนเวทีการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ไม่ต่างจากเจ้าอาณานิคม แนวคิดนี้กลายเป็นฐานให้แก่งานประวัติศาสตร์อื่นๆ ตามมาและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อบรรเทาความคลั่งชาติ-คลั่งเจ้าเฉกเช่นกัน

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย (แฟ้มภาพ)

แต่ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย บรรณาธิการหนังสือ ‘สยามเขตร’ และเจ้าของบทความ ‘ระบบเขตแดนรัฐจารีตและปัญหาการเปลี่ยนผ่านในสยาม’ บอกว่างานทั้งสองกลุ่มต่างก็ ‘ทึกทัก’ (assume) ประเด็นเขตแดนเหมือนกัน เมื่องานกลุ่มแรกทำประหนึ่งว่าสยามมีเขตแดนทั้งที่ไม่มี ส่วนงานกลุ่มที่ 2 ทำประหนึ่งว่าสยามไม่มีเขตแดนอยู่เลย ทั้งที่งาน Siam Mapped ไม่เคยอ้างเช่นนั้น

มันยังไงกันแน่?

เขตแดนแบบรัฐจารีต

ฐนพงศ์กล่าวย้ำอีกครั้งว่างานกลุ่มที่ 1 ถือว่าผิดแน่นอนในการบอกว่าสยามเสียดินแดน ขณะที่งานกลุ่มที่ 2 ก็มักจบลงว่าเขตแดนไม่มีจริง ซึ่งหนังสือ Siam Mapped กล่าวแต่เพียงว่าเขตแดนของสยามไม่เข้าเกณฑ์เขตแดนรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเขาตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วทำไมต้องใช้เขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่ต้น ทั้งที่ ณ ช่วงเวลานั้นเขตแดนแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะมีความพยายามสร้างเกณฑ์มาตั้งแต่สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ปี 1648 ก็ตาม กว่าเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่จะมีความชัดเจนสมบูรณ์ก็ล่วงเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

“แม้แต่ในยุโรปเอง เขตแดนในลักษณะอุดมคติอย่างนี้ยังไม่เคยปรากฏขึ้นจริงบนโลก เกณฑ์นี้ไม่เคยมีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมเราถึงใช้เกณฑ์นี้ไปตัดสินเฉพาะสยามหรือที่อื่นบนโลกว่าไม่มีเขตแดน เราไปใช้เกณฑ์ผิดยุค งานกลุ่มที่ 1 assume ไปเลยว่าสยามเหมือนตะวันตก งานกลุ่มที่ 2 ก็พยายามตั้งเกณฑ์ของตะวันตกเป็นเกณฑ์แล้วดูสภาพข้อเท็จจริงของสยามว่าตรงกับเกณฑ์นี้หรือไม่ พอไม่ตรงก็ assume กลับมาว่าไม่มีเขตแดน”

เขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่ไม่ได้มีอยู่ แต่มิได้แปลว่าไม่มีเขตแดนในลักษณะอื่น อันที่จริงแล้ว มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เขตแดนแบบรัฐจารีต’ อยู่ เขาอธิบายว่ามันมีการเหลื่อมระหว่างคำว่าดินแดนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่กับเขตแดนที่มีลักษณะแบ่งแยกระหว่าง 2 ฝ่าย ถ้าถอยกลับมาดูเขตแดนในความหมายกว้างจะพบว่ากำแพงเมืองจีนหรือมีกำแพงที่บริเทนในยุคโรมันก็ถือเป็นเขตแดน แม้กระทั่งชนเผ่าบนเส้นทางสายไหมหรือในตะวันออกกลางก็ใช้เส้นทางการเดินทางเป็นเขตแดน

“ผมเลยใช้ตรงนี้เป็นเกณฑ์ว่าเขตแดนมันหลวมขึ้นและไม่ได้มองในแง่ territory ว่าต้องเป็นพื้นที่ดินแดน ดังนั้น เขตแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะมีลักษณะนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้กลับไปดูว่าแล้วมันมีจุดแบ่งดินแดนที่คนเขารู้กันมั้ยก่อนสมัยใหม่ในแง่การแบ่งระหว่างจุด A กับจุด B เพียงแต่งานกลุ่มที่ 2 ละเลยตรงนี้หมดเลย มันคือช่องว่างที่หายไปซึ่ง Siam Mapped ไม่ได้ผิด Siam Mapped ใช้วิธีจัมป์จาก ร.3 มา ร.5 ไม่ได้พูดถึงเขตแดนสมัย ร.4 แต่พูดเรื่องความเป็นสมัยใหม่ Siam Mapped จึงมีช่องว่างใหญ่ๆ เกือบร้อยปีจากเฮนรี่ เบอร์นี่ถึง ร.5 สิ่งที่ผมทำก็คือไปเสริมช่องว่างร้อยปีที่หายไปจากจุด A มาจุด B”

ความทึกทักของนักประวัติศาสตร์

นอกจากงานกลุ่มที่ 2 จะทึกทักเอาว่าสยามไม่มีเขตแดนแล้ว ประการต่อมาคือการทึกทักไปว่าเจ้าอาณานิคมตะวันตกไม่มีความเข้าใจเรื่องเขตแดนรัฐจารีตในภูมิภาคนี้ ฐนพงศ์อธิบายว่าชาวตะวันตกเข้ามาดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มีหนังสือบันทึกเรื่องราวของตะวันออกไกลที่เขียนโดยชาวตะวันตกจำนวนมาก

“คนที่ยุให้ฝรั่งเศสยึดครองกัมพูชาคือบาทหลวงมิทช์ที่อยู่กัมพูชา มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ถูกใช้เยอะมาก แต่ตีความกันไปคนละทิศคนละทาง เจ้าพระคุณมิทช์ที่กัมพูชาบอกว่าปกติแล้วกัมพูชาเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าคือขึ้นกับสยามและเวียดนามพอๆ กัน บัดนี้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเวียดนามแล้ว ฝรั่งเศสก็ควรอ้างสิทธิ์ของเวียดนามต่อกัมพูชาบ้าง การที่บอกว่าเขาไม่เข้าใจเป็นเรื่องเข้าใจผิดแน่นอน จริงๆ เขาอยู่กันมาเป็นร้อยปีแล้ว แถมฝังตัวอยู่ในราชสำนักเต็มไปหมด ดังนั้น เขาเข้าใจแบบที่เจ้าพื้นเมืองเข้าใจ เขาเข้าใจดีเลยว่ามันเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า เมื่อฝรั่งเศสยึดเวียดนาม ฝรั่งเศสก็ควรได้สิทธิเช่นเดียวกับเวียดนามก็คือแชร์อำนาจเหนือกัมพูชากับสยาม

“แต่ทั้งงานกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 จะตีความในเซ้นส์แบบฝรั่งงงๆ ขับเรือเข้ามา พองานกลุ่มที่ 2 ไม่สามารถแก้ประเด็นนี้ได้เลยบอกว่าฝรั่งเข้าใจผิด หมายถึงเขาไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมบันทึกพวกนั้นจึงเขียนอย่างนั้น เลยตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นการเข้าใจทางภูมิศาสตร์ที่ผิดหรือฝรั่งไม่เข้าใจเรื่องประเทศราชเมืองสองฝ่ายฟ้า”

แฟ้มภาพ

ใครบอกว่าเจ้าอาณานิคมไม่เข้าใจเขตแดนแบบรัฐจารีต

และด้วยความที่เจ้าอาณานิคมเข้าใจความคลุมเครือของเขตแดนในภูมิภาคนี้จึงใช้มันหาประโยชน์ ฐนพงศ์เล่าว่าอังกฤษเข้าใจดีว่าดินแดนที่ตนเข้ามาแสวงหาทรัพยากรไม่ใช่ของสยามแต่เพียงผู้เดียว เจ้าเมืองทั้งหลายสามารถย้ายข้างได้ตลอดเวลา ถ้าอังกฤษต้องการเช่าดินแดนแล้วจ่ายค่าเช่าให้สุลต่าน เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็อาจโต้แย้งได้ว่าอังกฤษต้องจ่ายให้ตน ไม่ใช่สุลต่าน และเช่นกันศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพก็สามารถบอกได้ต้องจ่ายให้กรุงเทพ

สิ่งนี้เป็นความวุ่นวาย ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสในเวลาต่อมาจึงขีดเส้นให้ชัดเจนโดยไม่สนใจสิ่งที่เป็นมาและกำลังเป็นอยู่ แต่จากนี้ไปในอนาคตจะมีเขตแดนที่ขีดเส้นแบ่งให้รู้ว่าพวกเขาจะต้องทำข้อตกลงกับใคร แล้วหลังจากนั้นจะยึดหรือไม่ยึดเป็นของตนค่อยว่ากันอีกที...

“ค่อยว่ากัน เขาจะแบ่งของเขาเองว่าต่อไปนี้สยามห้ามเลยเขตนี้ ห้ามส่งกองทัพ ห้ามส่งคนมาเรียกเก็บตังค์ ห้ามส่งเจ้าหน้าที่มาเรียกเก็บภาษีจากประชาชน นี่คือสิ่งที่อังกฤษกับฝรั่งเศสทำในยุคแรกก็เลยเรียกว่าการแบ่งดินแดน แบ่งกันก่อนและภายใต้ดินแดนที่ถูกแบ่งแล้วจะถูกปกครองในระบบอะไร คุณไปจัดการกันเอาเอง เช่นอังกฤษแบ่งมลายูเป็นของตัวเอง ช่วงแรกก็ปกครองแบบไม่มี state settlement ส่งแค่ข้าหลวง ตอนหลังก็เปลี่ยนการปกครอง หรือกรณีกลันตัน ตรังกานู แบ่งให้สยามตั้งแต่ต้น แต่สยามก็ยังคงไว้เป็นประเทศราช ไม่ได้รวมดินแดน แต่ระหว่างอังกฤษกับสยามแบ่งกันเรียบร้อยแล้ว ภายในจะไปจัดการกันยังไงเขาไม่แคร์ นี่คือเหตุผลหลักที่อังกฤษและฝรั่งเศสทำที่กัมพูชาตอนแรกที่คนไทยเรียกว่าเสียเขมรส่วนนอก ฝรั่งเศสบอกว่าตอนแรกจะเอาไว้เอง แล้วฝรั่งเศสบ่นว่าไม่คุ้ม สู้แบ่งตอนนี้แล้วค่อยจัดการกันทีหลังดีกว่า”

สยามและเจ้าอาณานิคมต่างหาประโยชน์จากความคลุมเครือของเขตแดน

ขณะเดียวกันสยามเองก็แสวงหาประโยชน์จากความคลุมเครือของเขตแดนเช่นกัน ฐนพงศ์อธิบายต่อว่า รัชกาลที่ 5 ตระหนักดีในเวลานั้นว่ายกเว้นหลวงพระบางแล้ว ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไม่ใช่ของสยาม กระทั่งยอมรับด้วยซ้ำว่าดินแดนส่วนมากเป็นของเวียดนามมากกว่าของสยาม

ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้นเกิดสงครามระหว่างจีน-ฝรั่งเศสหรือสงครามตังเกี๋ย ปี 1884-1885 ชนชั้นนำสยามยุคจึงถือโอกาสส่งกองกำลังบุกเข้ายึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรื่องดินแดนในภายหลัง

“ในเซ้นส์ที่บอกว่าฉันรู้ว่าไม่ใช่ของไทยและฉันก็ไม่ได้คิดจะเก็บไว้คนเดียว แต่ในการเจรจาฉันเอามาก่อนแล้วค่อยคืนให้ฝรั่งเศสมันเวิร์คกว่า ปรากฏว่าฝรั่งเศสจบสงครามกับจีนได้เร็วกว่าที่สยามคิดมาก แล้วฝรั่งเศสกับอังกฤษก็รู้ว่าสยามกำลังโกหกเลยส่งกองทัพมายันกัน หลังจากยันกันเขาก็ตกลงว่าจะไม่รบกัน แล้วส่งกองเซอร์เวย์ออกไปสำรวจตั้งแต่ 1885 จนถึง 1893 วิกฤตปากน้ำ เขาหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์กันประมาณ 8 ปีเพื่อจะเถียงกันว่าดินแดนเป็นของใคร แต่ทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ของตัวเอง

“สยามใช้ความคลุมเครือนี้โดยบอกเหตุผลว่าดินแดนตรงนี้ไม่มีแนวกั้นธรรมชาติ ถ้าไม่หวงไว้ฝรั่งเศสจะมาเอาแม่น้ำโขงซึ่งสยามไม่อยากให้ฝรั่งเศสใช้เขตแดนแม่น้ำโขงเพราะกลัวว่าจะเข้ามาใกล้ฝั่งเรามากเกินไป สยามอยากให้แบ่งตรงกลางประมาณประเทศลาวปัจจุบัน สยามต้องการหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ เมืองใหญ่ที่ติดแม่น้ำโขงทั้งหมดจะเป็นของสยาม ดังนั้น ระหว่างที่สยามคุยกับฝรั่งเศสหลังจากนี้คือการโกหกทั้งหมดหรือใช้คำดีๆ คือเทคนิคทางการทูต เพราะสยามรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ แต่พอส่งจดหมายหาฝรั่งเศสสยามบอกว่าเป็นของสยาม ซึ่งอังกฤษมีหลักฐานว่าหลักฐานทั้งหมดที่สยามอ้างว่าเป็นของสยามก็เพิ่งหาเจอปีนั้นแหละ คนในยุคนั้นเขารู้กันหมดว่าโกหก แม้แต่ ร.5 ที่ส่งไปก็รู้ว่าเป็นเรื่องโกหก เป็นเทคนิคทางการทูตเฉยๆ”

แต่งานกลุ่มที่ 1 กลับใช้หลักฐานที่ รัชกาลที่ 5 ส่งถึงฝรั่งเศสเพื่อทึกทักประหนึ่งว่าสยามมีเขตแดนรัฐสมัยใหม่แล้วตั้งแต่ตอนนั้น

“แต่ถ้าดูบริบทถอยออกมาคุณจะรู้ว่าวาระของชนชั้นนำสยามคือตั้งใจโกหกอยู่แล้ว ร.5 เคลมดินแดนไปถึงเดียน เบียน ฟูห์ ถึงแม่น้ำดำ ซึ่งมันเยอะไป เยอะในแบบที่ทุกคนก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่ ร.5 ตั้งใจว่าจะปล่อยและบอกว่างั้นตกลงแบ่งครึ่งแล้วกัน จะยอมสละดินแดนให้เธอจะได้ไม่ต้องเข้ามาเยอะจนเกินไป นี่คือแผนทั้งหมด เขาคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ว่างานสมัยก่อนเวลาดูความสัมพันธ์สยามฝรั่งเศส เขาดูเฉพาะหลักฐานทางการทูต มันก็จะมีแต่เรื่องโกหกเพราะสิ่งที่ต้องดูประกอบคือหลักฐานการคุยภายในของสยามด้วยว่าก่อนที่จะส่งออกไปเตี๊ยมอะไรกันไว้”

ในทางกลับกัน จุดนี้กลายเป็นช่องว่างใหญ่ให้งานกลุ่มที่ 2 ทึกทักว่าสยามไม่มีเขตแดน

“แต่ถ้าเรามองว่าเขาเข้าใจเขตแดน นอกจากมันไม่ใช่จริงหรือไม่จริงแล้ว เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องการโกหกและเทคนิคทางการทูตเฉยๆ คุณจะเห็นว่างานกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 2 มันล้อกัน กลุ่มที่ 1 เคลมว่าจริง กลุ่มที่ 2 บอกว่ามันไม่เมคเซ้นส์ แสดงว่ามันไม่จริง แสดงว่ามันไม่มี แต่ผมมองว่ามันเป็นเทคนิคทางการทูต ร.5 จงใจโกหก เรื่องก็จะเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ไม่ใช่ว่าว่าเจ้าอาณานิคมเข้าใจเขตแดนรัฐจารีตหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าเขตแดนรัฐจารีตถูกเอาออกไปจากการศึกษา ประหนึ่งว่าไม่มีอยู่ตั้งแต่ต้นและศึกษาไม่ได้ แต่เจ้าอาณานิคมเขาเข้าใจครับ”

ภาพจากวิดีโอที่ปลุกเร้าถึงประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ซึ่งมีผู้เข้าชมจำนวนมาก

‘เสียดินแดน’ เป็นแค่ปัญหาเชิงจิตวิทยา

ฐนพงศ์ยังกล่าวอีกด้วยว่าการเสียดินแดนตามที่สอนกันในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เป็นเพียงปัญหาทางจิตวิทยามากกว่าในทางข้อเท็จจริง เขาอธิบายว่า

“ปัญหาคือเวลาที่เราพูดถึงคำว่า เสีย ทั้งในงานกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 อยู่บนฐานเดียวกันคือจะเสียได้ต้องเป็นเจ้าของก่อน ดังนั้น งานกลุ่มที่ 2 ใช้เกณฑ์อะไรในการบอกว่าเราเป็นเจ้าของ งานกลุ่มที่ 2 ใช้เกณฑ์อำนาจอธิปไตย ทำไมต้องใช้เกณฑ์นั้นตั้งแต่ต้นเพราะเกณฑ์อธิปไตยเป็นเกณฑ์ที่สมัยใหม่มาก

“ยกตัวอย่างเช่นสยามส่งกองทัพไปตีเวียงจันทน์ในยุค ร.3 เผาจนราบเป็นหน้ากลองเลย เราถือได้ยังไงว่าเวียงจันทน์เป็นของสยามหรือเราก็ยังถือไม่ได้ขนาดตีจนยับขนาดนั้นแล้ว หรือคุณบอกว่าที่เราเสียไปคือดินแดนประเทศราชไม่ใช่ดินแดนของสยามโดยแท้ คุณก็ต้องบอกได้อยู่ดีว่าเส้นแบ่งตรงไหนเป็นจุดแบ่งระหว่างสยามแท้กับประเทศราช พูดแบบนี้แสดงว่ามันต้องมีเขตแดนอยู่ไม่อย่างนั้นพูดแบบนี้ไม่ได้”

ถ้าพิจารณาจากหลักฐานจะพบว่า รัชกาลที่ 4 ใช้การถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมืองนั้นๆ เป็นเมืองของสยามหรือไม่ ด้วยเหตุนี้การเสียเมืองจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นเมืองที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ฐนพงศ์ถือว่าเป็นการเสียดินแดน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทดไว้ในใจว่าเป็นการพิจารณาจากเกณฑ์ที่รัชกาลที่ 4 กำหนด จากนั้นค่อยดูว่าเมืองแต่ละเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับสยามในลักษณะใด ซึ่งฝรั่งเศสในเวลานั้นก็ยอมรับว่าพระตะบอง เสียมราช จำปาศักดิ์ เป็นของสยาม

“แต่ฝรั่งเศสบอกว่าแม้จะเป็นของสยามในทางปฏิบัติคือสยามครอบครองจริง แต่สยามไม่มีความชอบธรรมในการยึดครอง เพราะฝรั่งเศสมองว่าสยามปกครองไม่ดีและทำให้เมืองพวกนี้แย่ลง มันจึงมีอีกเซ้นส์หนึ่งคือมีความชอบธรรมมั้ยที่จะครองดินแดนนี้” ฐนพงศ์เสริมว่า

“อยากลองดูเหมือนกันว่าถ้าไล่ดูทีละเมืองจะแบ่งได้ประมาณไหน เพราะ ร.4 ก็ยังพูดเป็นเมือง คิดแค่ว่าจำปาศักดิ์เป็นของฉัน แต่จำปาศักดิ์มีอาณาบริเวณประมาณไหนอาจต้องไปถามเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งบางที่ก็รู้ บางที่ก็ไม่รู้ ความซับซ้อนของเรื่องนี้ เช่น พระตะบอง เสียมราช ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่พอไปอุดมมีชัยหรือพนมเปญส่งบรรณาการ รายละเอียดของการปกครองมันลงละเอียดขนาดนั้น แต่ที่ผ่านมาพอเราคิดว่าระบบเขตแดนสมัยก่อนไม่มีจริง เราก็เลยข้ามไปเลย ไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้”

จุดเริ่มความเป็นอื่นและจุดสิ้นสุดความเป็นเราอยู่ตรงไหน?

ความยุ่งยากของงานกลุ่มที่ 2 ยังไม่หมด ฐนพงศ์ชวนตั้งคำถามอีกว่า   ถ้าการเสียมลายูคือการเสียประเทศราช แล้วตรงไหนคือจุดที่เริ่มความเป็นมลายู ตรงไหนคือจุดสิ้นสุดของความเป็นสยาม คำถามประการต่อมา ทุกเมืองในประเทศไทยเคยเป็นประเทศราชมาก่อนหรือไม่ ไม่นับเมืองชั้นเอก ชั้นโทหรือ ประการสุดท้าย ประเทศราชใช่เมืองสองฝ่ายฟ้าทุกเมืองจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ทำให้ต้องกลับไปทำความเข้าใจเขตแดนสมัยจารีตจัดการเขตแดนอย่างไร ซึ่งเขาให้คำตอบว่าในสมัยจารีตเขตแดนใช้เมืองเป็นตัวกำหนดโดยที่เจ้าอภิราชไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขตแดนของตนอยู่ตรงไหน แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองนั้นๆ เป็นผู้ระบุ

“ลองนึกถึงว่าไม่มีโลกสมัยใหม่ เราไม่มีดาวเทียม เราเป็นคิงที่นั่งอยู่กลางกรุงเทพฯ และแทบไม่เคยออกจากวัง คุณจะคาดหวังให้คิงอย่างนั้นรู้เขตแดนได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้และไม่มีความจำเป็นด้วย สิ่งที่เขารู้ก็แค่เมืองไหนส่งบรรณาการมาบ้าง ดังนั้น งานกลุ่มที่ 2 เซ็ตขึ้นมาว่าการที่ชนชั้นนำสยามไม่รู้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหนจึงไม่มีเขตแดนจึงเป็นเรื่องที่ไม่เมคเซ้นส์ เผลอๆ คิงในยุโรปก็ไม่เคยรู้หรอกว่าเขตแดนตัวเองอยู่ตรงไหน มันไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่อย่างนั้นเราจะมีนายด่านไว้ทำไม”

เมื่อนำประเด็นเขตแดนไปผสมผเสกับประเด็นเรื่องชาติก็จะพบความยุ่งเหยิงเพิ่มขึ้นอีก งานกลุ่มที่ 2 อ้างว่าสยามไม่มีเขตแดนมาก่อนจึงไม่เคยเสียดินแดน แต่สยามกระทำตนเป็นเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคที่แข่งขันกับครอบครองดินแดนกับเจ้าอาณานิคมตะวันตก ซึ่ง...

“ถ้ากระโดดมาเรื่องชาติปุ๊บ คุณจะบอกว่ามลายูหรือลาวไม่ใช่ชาติไทย ดังนั้น เราไปได้ดินแดนเขามา อันนี้เป็นอีก narrative หนึ่งคือคุณไปเอาดินแดนของคนอื่นมา ซึ่งคนอื่นก็คือลาว คือมลายู ปัญหาคืองานตรงนี้บอกว่าชาติไทยยังไม่ถูกสร้างขึ้น แต่ชาติไทยไปยึดดินแดนลาวแล้วเปลี่ยนให้คนลาวเป็นคนไทย

“คำถามคือแล้วทำไมชาติลาวถึงจริงกว่าชาติไทย มันมีชาติลาวจริงๆ มั้ย หรือกระทั่งเราบอกว่าสยามไปยึดดินแดนลาว คำถามคือแล้วลาวคือตรงไหน ลาวล้านนา ลาวหลวงพระบาง ลาวอีสาน เป็นลาวเดียวกันหรือเปล่า เป็นหน่วยเดียวกันหรือเปล่า มันมีปัญหาทั้งหมดเลย หรือกระทั่งเซ้นส์ของล้านนาเองมันมีขนาดประมาณไหน เจ้าเมืองน่านไม่ได้ยอมขึ้นกับล้านนา จนถึงหลวงพระบางก็ไม่ใช่แล้ว มันเลยกลายเป็นจิตวิทยาทั้งหมดไม่ว่าจะได้หรือเสียที่คนจะไปดีลมันขึ้นมา”

บูชาค้อน

ดังที่รู้กันว่างานกลุ่มที่ 1 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของรัฐ ขณะที่งานกลุ่มที่ 2 ก็ถูกใช้โต้ตอบกับงานกลุ่มที่ 1 เพื่อทำให้บรรเทาเบาบางชาตินิยม-กษัตริย์นิยม จึงชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาเขตแดนของฐนพงศ์จะทำหน้าที่อะไรในเชิงอุดมการณ์

เขาอธิบายว่างานกลุ่มที่ 2 ตั้งคำถามและวิพากษ์ต่องานกลุ่มที่ 1 ว่าผิดพลาดอย่างไร แต่งานกลุ่มที่ 2 ไม่เคยเสนอว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องในเชิงข้อเท็จจริงคืออะไร

“ผมเคยยกตัวอย่างว่าถ้างานกลุ่มที่ 2 เสมือนค้อนที่ไปทุบพระประธานซึ่งเป็นงานประวัติศาสตร์ชาติไทย งานกลุ่มที่ 2 ทุบแหลกเป็นผงแล้ว ประเด็นคือตอนนี้คนไปบูชาค้อนแทน แล้วพระประธานองค์ใหม่ก็ยังไม่ถูกใครทำขึ้นมาใหม่ นี่คือข้อเรียกร้องและอุดมการณ์จริงๆ ที่พยายามจะทำ กลับไปดูกันใหม่ว่าแล้วจริงๆ มันเป็นอะไร”

“ตอนนี้ fact ถูกทำให้หายไปด้วย ถ้าเราอ่านงานกลุ่มที่ 2 เขาจะทำประหนึ่งว่าวิกฤต ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบเข้ามาไม่มีจริง มันสุดไปในเซ้นส์ที่แบบว่าถ้าสยามไม่เคยเสียดินแดนเลย คำถามคือแล้วฝรั่งเศสเอาเรือรบมาขู่อะไรล่ะ มันทำให้ในทางประวัติศาสตร์มันไม่สมเหตุสมผลเต็มไปหมด”

นอกจากนี้ ข้อวิจารณ์ของงานกลุ่มที่ 2 ที่พยายามต่อต้านชาตินิยมไทยอย่างการบอกว่าสยามไม่เคยเสียดินแดนแต่ได้ดินแดนต่างหาก เรื่องเล่านี้กลับสร้างชาตินิยมลาวขึ้นมา ฐนพงศ์บอกว่าในหนังสือแบบเรียนของลาวระบุว่าลาวเสียดินแดนให้แก่สยาม ทว่า งานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลาวของโซเร็น อิวาร์สสัน (Søren Ivarsson) ซึ่งใช้เฟรมเวิร์คของ SIAM MAP กลับพูดเช่นเดียวกับงานกลุ่มที่ 2 ว่าลาวไม่เคยเสียดินแดนและอาจจะได้ดินแดนมาด้วยซ้ำ

“มันกลายเป็น paradox ที่เขาสร้างขึ้นมาเองจากการใช้ approach นี้ กลายเป็นว่าดูประวัติศาสตร์แต่ละประเทศแล้วไม่ตรงกันเลย ขัดแย้งกันไปหมด แล้วแอนตี้ชาตินิยมหนึ่งกลายเป็นส่งเสริมชาตินิยมหนึ่ง มันสร้าง paradox ยี่สิบกว่าปีแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมีปัญหา ถ้าจะเดินทางนี้ต่อไปจะไปต่อไม่ได้”

ความเชื่อทางประวัติศาสตร์สร้างปัญหาเขตแดนในปัจจุบัน

“ประเทศไทยเสียงบประมาณปี 150 ล้านในการแก้ปัญหาเขตแดนทุกปี เช่นเขาพระวิหารทุกวันนี้ยังไม่ settle นอกจากเขาพระวิหารยังมีปราสาทตาควาย เขตแดนแม่น้ำโขงยังไม่เคยถูกตกลงเลย ทุกวันนี้แม่น้ำโขงก็ยังไม่เคยมีเขตแดนตกลง ด่านพระเจดีย์สามองค์ก็ไม่เคยมีการตกลง ในทางระหว่างประเทศมีปัญหาว่าอำนาจอธิปไตยไทยสุดตรงไหน ถ้าเป็นประชาชนไปไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใส่ชุดเป็นทางการมีปัญหาว่าจะเข้าไปถึงตรงไหนได้ เช่น ถ้าผมเป็นคนไทย ข้ามแม่น้ำโขง ข้ามได้ แต่ถ้าไปในนามกระทรวงหรือทหารไป ไม่ได้ เขาไม่ให้ข้าม เดี๋ยวมีปัญหาเรื่องอธิปไตยกัน

“แล้วสิ่งนี้ส่งผลปัญหาเยอะมากต่อการค้ายาเสพติด เพราะพอไม่รู้ว่าอำนาจอธิปไตยฝั่งไหนเป็นของใครเลยตามจับกันไม่ได้ เวลาไล่กันปุ๊บ กระโดดลงแม่น้ำ มีปัญหาไม่รู้จะจับใคร กลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าจับปุ๊บจะกลายเป็นการเคลมว่าตรงนั้นเป็นอำนาจอธิปไตยของตัวเอง แหล่งพวกนี้จึงเป็นแหล่งค้ายาหรือทำผิดกฎหมายที่สำคัญ”

ฐนพงศ์ยังกล่าวอีกว่าปัญหาเขตแดนส่วนมากปัญหาเทคนิคเชิงกฎหมายซึ่งจบไปแล้ว แต่ปัญหาที่ค้างอยู่คือความเชื่อทางประวัติศาสตร์ เช่น ไทยและลาวไม่ยอมเจรจาเขตแดนแม่น้ำโขง เพราะทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าตนเองเสียดินแดนไปมากแล้วสมัยศตวรรษที่ 19 และจะไม่ยอมเสียอีก เพราะหากมีการเจรจา ไม่ว่าผลจะออกมาในลักษณะใดก็ง่ายต่อการปลุกระดมกระแสชาตินิยมในประเทศทั้งสิ้น

กษัตริย์คือคนธรรมดาที่ทำถูกและผิดได้

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ฐนพงศ์กลับมาทำความเข้าใจประเด็นเขตแดนใหม่อีกครั้งก็เพราะต้องการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ในสังคมไทยให้กลายเป็นมนุษย์ที่มีถูกและผิดได้ไม่ต่างจากคนธรรมดา

“เรื่องเขตแดนไม่เคยเป็นเรื่องเขตแดน มันถูกโยงกับสถานะของกษัตริย์ในสังคมไทย สรุปว่ากษัตริย์รักษาเอกราชได้จริงมั้ย เป็นวาระหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกโยงกับการได้ดินแดนหรือเสียดินแดน ถูกโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม ดังนั้นเรื่องเขตแดนในเซ้นส์หนึ่งไม่ใช่เรื่องเขตแดนเองเลย สิ่งที่ผมกำลังทำคือกลับไปทำให้กษัตริย์กลายเป็นคนที่มีการวางแผนถูกและผิดได้ คือกลับไปดูว่าแล้วจริงๆ คุณจะทะลุอุดมการณ์ทางการเมืองที่มันถูกใช้ทั้งสองฝ่ายยังไง โดยกลับไปพยายามดูในแง่ของ fact

“คุณกลับไปบูชา ร.5 ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็กลับไปบูชา ร.5 ในเซ้นส์ที่ว่าเขตแดนอย่างน้อยฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ร.5 tactical เต็มไปหมด คือทำให้ ร.5 กลับไปเป็นคนเก่งที่วางแผนเจ้าเล่ห์หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่สมมติเทพที่เปล่งออร่าแห่งความดีออกมา ต้องกลับไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ว่ากษัตริย์รักษาเอกราชได้มั้ย ต่อให้คุณบอกว่ารักษาได้ รักษาได้เพราะอะไร แทคติกที่ใช้คืออะไร”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท