Skip to main content
sharethis

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน รวบรวมข้อมูลพบปี 2565 คนทำงานในจีนประท้วง 814 ครั้ง ขอความช่วยเหลืออีกอย่างน้อย 2,232 กรณี คนทำงานภาคก่อสร้างประท้วงสูงสุด การกลับมาของโควิด-19 กระตุ้นการประท้วงภาคบริการ-สาธารณสุข ชี้คนทำงานจีนต้องการตัวแทนที่เป็นปากเสียงให้พวกเขา


แฟ้มภาพ China Labour Bulletin

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก ‘แผนที่นัดหยุดงานประท้วง’ (CLB Strike Map) ในปี 2565 พบว่ายังเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับคนทำงานในจีน และประเมินว่าปี 2566 นี้ก็อาจเกิดคลื่นความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น หากคนทำงานยังคงไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง

ปี 2565 ที่ผ่านมา คนทำงานในจีนต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งการปิดเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนุนให้คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมาเรียกร้องด้านสิทธิแรงงาน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ปี 2565 คนทำงานในจีนประท้วง 814 ครั้ง ขอความช่วยเหลืออีกอย่างน้อย 2,232 กรณี

ข้อมูลจาก ‘แผนที่นัดหยุดงานประท้วง’ (CLB Strike Map) พบว่าในปี 2565 คนทำงานในจีนประท้วงทั้งหมด 814 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงปีแรกการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อปี 2563 แต่เป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปี 2564 ที่ 1,095 ครั้ง โดยในปี 2565 นี้ส่วนใหญ่ของสาเหตุการประท้วงมาจากการที่ผู้ว่าจ้างค้างจ่ายค่าจ้างให้กับคนทำงาน

นอกจากนี้ใน 'แผนที่ขอความช่วยเหลือ' (Calls-for-Help) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมกรณีสำคัญๆ ที่คนทำงานพยายามขอความช่วยเหลือ กลับพบจำนวนเหตุการณ์เพิ่มขึ้นจาก 1,118 กรณี ในปี 2564 เป็น 2,232 กรณี ในปี 2565 ซึ่ง CLB ย้ำว่านี่ยังเป็นการรวบรวมกรณีขอความช่วยเหลือต่างๆ ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

CLB ชี้ว่าข้อมูลจากทั้ง 2 ชุด สามารถอนุมานได้ว่าจากบริบทของสภาพเศรษฐกิจและสิทธิแรงงานที่ย่ำแย่ คนทำงานจึงไม่ได้รวมตัวกันเรียกร้อง ด้วยวิธีการเช่น การนัดหยุดงานและการประท้วง แต่กลับไปใช้วิธีขอความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลจากช่องทางที่เป็นทางการของรัฐ รวมถึงการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาแทน ปัจจัยเพิ่มเติมบางประการคือเมื่อคนทำงานเผชิญกับความท้าทายด้านสิทธิแรงงาน ลำดับความสำคัญของพวกเขาคือการหาแหล่งรายได้ใหม่ทันที แทนที่จะดำเนินการเรียกร้องที่ถูกต้อง เนื่องจากต้องใช้ความพยายามและระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งนั่นอาจมีความเสี่ยงสูงสำหรับการกระทำต่างๆ เช่น การประท้วงในที่สาธารณะ เป็นต้น

แม้ว่าจำนวนการประท้วงทั้งหมดที่รวบรวมไว้ใน CLB Strike Map จะลดลงในปี 2565 แต่สถิติการประท้วงในแต่อุตสาหกรรมนั้นยังสอดคล้องกับแนวโน้มในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2565 อุตสาหกรรมการก่อสร้าง คนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ยังคงประท้วงมากที่สุด (ร้อยละ 48) รองลงมาคือภาคการขนส่ง (ร้อยละ 22) ภาคบริการ (ร้อยละ 21) ภาคการผลิต (ร้อยละ 4) ภาคการศึกษา (ร้อยละ 4) และภาคเหมืองแร่ (ร้อยละ 0.5)

คนทำงานภาคก่อสร้างประท้วงสูงสุด


ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การประท้วงของคนทำงานภาคการก่อสร้างในจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

จากข้อมูล CLB Strike Map พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการประท้วงในอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงสูงกว่าร้อยละ 40 อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการลดลงเล็กน้อยในปี 2564 ต่อมาความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ทำการประท้วงของคนทำงานเพิ่มขึ้นจากสาเหตุผู้ว่าจ้างค้างชำระค่าจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการล้มละลายของผู้รับเหมาในประเทศ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การประท้วงในอุตสาหกรรมการขนส่งก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากการเติบโตของแพลตฟอร์มภาคการขนส่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความไม่พอของคนทำงานเกี่ยวกับสภาพการทำงาน แต่สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของจีนได้เปลี่ยนไปใช้การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้แรงงานคนน้อยลง การประท้วงในอุตสาหกรรมนี้จึงลดลง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนก็ทำคนทำงานในอุตสาหกรรมลดลง การประท้วงในอุตสาหกรรมนี้จึงลดลงด้วยเช่นกัน

การกลับมาของโควิด-19 ในจีน กระตุ้นการประท้วงภาคบริการ-สาธารณสุข 


การกลับมาของโควิด-19 ในจีน นำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานล่วงเวลาเป็นระยะเวลานาน | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

ในปี 2565 จากการกลับมาของโควิด-19 ในจีน ส่งผลให้มีการประท้วงของคนทำงานในอุตสาหกรรมบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคการบริการสาธารณสุข และการค้าปลีก

จากการประท้วง 173 เหตุการณ์ ในภาคบริการในปี 2565 นั้นมี 29 เหตุการณ์ เกิดขึ้นที่สถานพยาบาล มีการประท้วงเกี่ยวข้องกับการจัดการของโรงพยาบาลในช่วงที่เกิดโควิด-19 จำนวน 10 เหตุการณ์ และการประท้วงเนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งค้างจ่ายค่าจ้าง 19 เหตุการณ์ 

นอกจากนี้การระบาดใหญ่ ยังนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานล่วงเวลาเป็นระยะเวลานาน นักศึกษาแพทย์ต้องทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือหลักประกันที่มั่นคง ในหลายกรณี ฝ่ายบริหารไม่สามารถจัดกำลังคนให้เพียงพอได้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังต้องดูแลผู้ป่วยและทำงานในศูนย์กักตัว สิ่งนี้นำไปสู่การแพร่กระจายของไวรัสที่เพิ่มขึ้น 

ภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากโรคระบาดทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันและวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ ส่งผลให้โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนสถานการณ์ของโรงพยาบาลเอกชนก็หนักหน่วงเช่นเดียวกัน ข้อมูลจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนของจีน ณ เดือน พ.ค. 2565 มีโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 2,000 แห่งล้มละลาย นับตั้งแต่ปี 2563

คนทำงานภาคสาธารณสุขของจีนยังเผชิญกับการค้างจ่ายค่าจ้างในฐานะผู้ปฏิบัติงานแนวหน้าที่มีการระบาดใหญ่ นอกจากนี้การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นก็ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาการบริการของท้องถิ่น รวมถึงงานสุขาภิบาล เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลหลายร้อยคนในเมืองฮูฮอต มองโกเลียใน รวมตัวกันเพื่อประท้วง เพราะไม่ได้รับค่าจ้างกว่า 3 เดือน

คนทำงานจีนต้องการตัวแทนที่เป็นปากเสียงให้พวกเขาอย่างแท้จริง


คนทำงานในจีนต้องการตัวแทนที่เป็นปากเสียงให้พวกเขาอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

ช่วงต้นปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ และจะเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มที่จะเท่ากับหรือต่ำกว่าการเติบโตทั่วโลก 

CLB ชี้ว่าในปี 2566 นี้ การปิดกิจการ การเลิกจ้าง และการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคนทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าคนทำงานจะต้องเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน CLB ตั้งคำถามว่าช่องทางอย่างเป็นทางการของรัฐยังจะสามารถจัดการกับความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างคนทำงานกับองค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ภายใต้การเลิกจ้างและการค้างจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับความไม่พอใจของผู้คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งนี้คนทำงานในจีนต้องการตัวแทนที่เป็นปากเสียงให้พวกเขาอย่างแท้จริง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นคนทำงาน ซึ่งหากไม่มีตัวแทนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ วิกฤตด้านการจ้างงานจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

CLB ยังเรียกร้องให้สมาพันธ์สหภาพแรงงานจีน และสหภาพแรงงานต่างๆ (ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมโดยรัฐ) ทำความเข้าใจต่อปัญหาและความต้องการของคนทำงาน ทำหน้าที่เจรจาต่อรองในนามของคนทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อเกิดการแก้ไขปัญหาให้กับคนทำงานอย่างรวดเร็วและยุติธรรม.


ที่มา:
China Labour Bulletin Strike Map data analysis: 2022 year in review for workers' rights (China Labour Bulletin, 30 January 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net