Skip to main content
sharethis

กกต.กทม.ประกาศ 5 รูปแบบการแบ่งเขต เปิดให้พรรคการเมืองและประชาชนแสดงความเห็นตั้งแต่ 4-13 ก.พ. 2566 นี้ ขอแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ประเทศ ก่อนส่งสรุปความเห็นให้ กกต.กลาง 16 ก.พ. 2566

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2566 ว่านายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าสำนักงาน กกต.กทม.ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งสำนักงาน กกต.กทม.ได้จัดทำประกาศ แผนที่รูปแบบการแบ่งเขต บรรจุไว้ใน QR CODE โดย กทม. จำทำรูปแบบการแบ่งเขตไว้ 5 รูปแบบ

นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนการเริ่มต้นโดยให้ ผอ.กกต.จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ ต่อ 1 จังหวัด เพื่อประกาศ รับฟังความคิดเห็นพรรคการเมือง ประชาชนในเขตนั้นๆ ยังไม่ได้เคาะกว่ารูปแบบไหนดีกว่าแบบไหน ซึ่ง กทม.แบ่งเขตไว้ 5 รูปแบบ ทุกรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ โดยจะรับฟังความเห็นพรรคการเมือง คนกรุงเทพว่ารูปไหนที่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุดกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจาก 10 วันแล้ว ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดในแต่ละรูปแบบเสนอต่อ กกต.กลางให้วินิจฉัยรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งวิธีการขั้นต้นในการแบ่งเขตแต่ละจังหวัดไปดำเนินการ โดยจะออกประกาศรูปแบบการแบ่งเขต 3 ก.พ. มีผล 4 ก.พ. และเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ไปจนถึงวันที่ 13 ก.พ. รวมระยะเวลา 10 วัน ตามที่กำหนด และภายในวันที่ 16 ก.พ. ทุกจังหวัดก็จะพิจารณารูปแบบที่เห็นว่ามีความเหมาะสมเรียงตามลำดับ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ในส่วนของ กทม.มีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเดิมมี 30 เขต ส.ส. 30 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 33 เขต ส.ส. 33 คน ซึ่งในการแบ่งเขตได้นำรูปแบบการแบ่งเดิมมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 27 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันได้ย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่มี 33 เขตเลือกตั้งเท่ากัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 29 โดยสิ่งที่ กกต.ต้องการคือรับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางที่สุด เพราะประโยชน์ของการเลือกตั้งไม่ได้เกิดกับใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net