เมื่อพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกรเดินสวนทางกับรูปแบบสินเชื่อเพื่อการเกษตร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาระหนี้สินเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมเกษตรกรของไทยมายาวนาน และมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามเวลา จนหลายครอบครัวอาจไม่สามารถจำได้ว่าหนี้ก้อนแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร และเดินทางมาสู่ภาระหนี้สินในปัจจุบันได้อย่างไร เพราะสัญญาเงินกู้มีการเปลี่ยนแปลงตามการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมกรรมการเงินของตัวเกษตรกรเองอีกทีหนึ่ง บทความนี้ชวนผู้อ่านย้อนมองพฤติกรรมการเงินของเกษตรกรควบคู่ไปกับการศึกษารูปแบบสินเชื่อการเกษตรที่มีในปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการมีชีวิตในดักหนี้ของเกษตรกร

เศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกร

ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีรายได้ 2 ทาง คือ รายได้จากภาคเกษตรและรายได้นอกภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ที่มาจากลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ที่ทำการเกษตรในชนบท รวมถึงรายได้จากการรับจ้างต่างๆ และรายได้จากสวัสดิการของรัฐ รายได้จากการเกษตรจะมากกว่ารายได้จากนอกภาคเกษตรเล็กน้อย ข้อมูลจากรายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ในภาพร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2556 รายได้เงินสดของครัวเรือนเกษตรกรอยู่ที่ 268,303 บาท แบ่งเป็นรายได้จากภาคเกษตร 148,240 บาท รายได้นอกภาคเกษตร 120,063 บาท เมื่อหักรายจ่ายทั้งในภาคเกษตร (ต้นทุนการผลิต) และนอกภาคเกษตร (ค่าอุปโภคบริโภค) เหลือรายได้สุทธิ 38,343 บาท ขณะที่ตัวเลขรายรับรายจ่ายในปี 2559 พบว่ารายได้รวมอยู่ที่ 309,278 บาท แบ่งเป็นรายได้จากภาคเกษตร 160,932 บาท  รายได้นอกภาคเกษตร 148,346 บาท เมื่อหักรายจ่ายทั้งหมดแล้วคงเหลือรายได้สุทธิ 66,100 บาท รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรที่ปรากฏข้างต้นคือตัวเลขภาพรวมรายปีที่ยังไม่ได้ชำระสินเชื่อทั้งหมดที่เกษตรกรกู้ยืมมา 

เมื่อเปรียบเทียบรายได้สุทธิรายปีกับขนาดหนี้สินปลายปีจะพบว่ารายได้ของครัวเรือนเกษตรกรไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ โดยปี 2556 รายได้สุทธิครัวเรือนเกษตร 38,343 บาท แต่ขนาดหนี้สินปลายปีอยู่ที่ 100,977 บาท และรายได้สุทธิปี 2559 อยู่ที่ 66,100 บาท แต่ยอดหนี้สินปลายปีอยู่ที่ 123,454 บาท จะเห็นว่าเมื่อรายได้รวมต่อปีเพิ่มขึ้น ขนาดหนี้สินรายปีก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ยอดหนี้สินที่เป็นตัวเลขในภาพรวม ที่หากนำมาแจกแจงจะพบว่ามีหนี้หลายก้อน บางก้อนก็ครบกำหนดชำระ บางก้อนยังไม่ครบกำหนด และบางก้อนเลยกำหนดชำระแล้ว เกษตรกรหลายครัวเรือนนำเงินรายได้สุทธิที่เหลืออยู่ไปชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ทำให้ยอดเงินต้นในแต่ละปีของบัญชีเงินกู้บางบัญชีไม่ลดลงเลย ไม่ต้องพูดถึงเงินออมประจำปีที่แทบไม่ปรากฏในระบบเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกร

พฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของครัวเรือนเกษตรกร

เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกรจะพบความแตกต่างระหว่างรายรับและรายจ่าย กล่าวคือรายรับจากภาคการเกษตรจะมาเป็นก้อนใหญ่ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัวอย่างครัวเรือนเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทซึ่งปลูกข้าวเป็นหลัก จะมีรายได้จากการขายข้าวเป็นก้อนใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 90,000 บาท ในเดือนมกราคมและกรกฎาคม และเป็นเพียง 2 เดือนที่ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ในเดือนอื่นๆ นั้นรายได้ของเกษตรกรครอบครัวนี้มาจากเงินจากบัตรสวัสดิการของรัฐเดือนละ 500 บาท และ 300 บาท ไม่เท่ากันแล้วแต่โครงการที่รัฐมี และเงินส่วนนี้นำไปซื้อของได้เฉพาะในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น มีเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเงินที่ลูกหลานส่งมาให้เดือนละ 2,000 บาท รายรับเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท เงินจำนวนนี้สำหรับใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เงินให้หลานไปโรงเรียน โดยรวมๆ แล้วเกิน 4,000 บาททุกเดือน 

รายได้ก้อนใหญ่จากการขายข้าวครั้งละ 90,000 บาท จะถูกนำไปจ่ายหนี้ให้กับร้านค้าในหมู่บ้านที่ให้เชื่อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา และสารเคมีอื่นๆ มาก่อน เงินที่เหลือจึงจะถูกนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนซึ่งเกษตรกรต้องจัดสรรเงินรายได้ก้อนใหญ่นี้ให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งก็สามารถทำได้ยาก เพราะทุกปีจะมีรายจ่ายก้อนใหญ่ด้านอื่นๆ รออยู่เช่นกัน เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนของหลานที่ต้องจ่ายในทุกเดือนเมษายนเพื่อเตรียมรับการเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม บางปีอาจมีค่าซ่อมอุปกรณ์การเกษตร ค่าซ่อมบ้าน ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซองทั้งงานมงคลและอวมงคล 

หนี้สินและการชำระหนี้

คราวนี้มาทำความรู้จักกับเจ้าหนี้ของเกษตรกรและระบบการชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละราย ตามรายงานของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เปิดเผยปลายปี 2565 ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้โดยเฉลี่ย 3.5 ก้อน อาจจะจากเจ้าหนรี้เดียว หรือหลายเจ้าหนี้ ต่อไปนี้เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ 

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันการเงินเจ้าหนี้หลักของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยปกติ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เกษตรกรเพื่อให้นำเงินไปลงทุนทำการผลิตโดยจะกำหนดระยะเวลาในการชำระครั้ง เดียวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นการให้ปิดบัญชีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้มียอดชำระสูง

2. หนี้เถ้าแก่ร้ายปุ๋ย ยา ถือเป็นหนี้นอกระบบอย่างหนึ่ง หนี้มาในรูปของปุ๋ย ยา และสารเคมีการเกษตรที่จำเป็นต้องใช้ โดยเถ้าแก่จะให้เกษตรกรนำมาใช้ก่อน แล้วค่อยนำเงินสดไปใช้คืนเมื่อเก็บเกี่ยวและขายผลผลิต โดยทั่วไปชำระครั้งเดียว เผื่อให้สามารถกู้ยืมใหม่ได้ในการทำการเกษตรรอบต่อไป เหตุผลที่เกษตรกรมีหนี้ก้อนนี้ทั้งที่กู้จาก ธ.ก.ส. มาลงทุนทำการเกษตรแล้วเพราะเงินสดที่ได้จาก ธ.ก.ส. มักถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นแทน

3. หนี้สหกรณ์การเกษตร เป็นการกู้สหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่เพื่อมาใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งในความเป็นจริงมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ค่อนข้างสูง หนี้สหกรณ์มักเป็นหนี้จำนอง และกำหนดการผ่อนชำระเป็นรายเดือน 

4. หนี้ไฟแนนซ์ ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมาเป็นหนี้ไฟแนนซ์ บ้างผ่อนรถกระบะ บ้างผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ชำระรายเดือนเช่นเดียวกับไฟแนนซ์ทั่วไป

5. หนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้อื่นๆ สถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ มักมีโปรแกรมสินเชื่อเพื่อเกษตรกรเป็นกรณีพิเศษ มักเป็นสินเชื่อระยะสั้น โดยทั่วไปกำหนดการชำระเป็นรายเดือน ยอดการผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน

6. หนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่กองทุนฯ เข้ามาซื้อหนี้ NPL ของเกษตรกร แล้วเกษตรกรต้องผ่อนชำระหนี้กับกองทุนฯ การชำระมักกำหนดเป็นรายเดือน มีสัญญาเงินกู้ระยะยาว

7. หนี้นอกระบบ เป็นการกู้จากเจ้าหนี้นอกระบบ ต่างจากหนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ยยา ตรงที่การกู้แบบนี้เกษตรกรจะได้เงินสดมาใช้จ่าย มักต้องมีการนำเอกสารสิทธิ์ที่ดินไปเป็นหลักประกัน กำหนดการผ่อนชำระรายเดือน ดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 

8. หนี้กองทุนหมู่บ้าน เจ้าหนี้คือสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้เกษตรกรกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน กำหนดการชำระปีละ 1 ครั้ง เมื่อชำระแล้วสามารถกู้เงินใหม่ได้ ยอดกู้ส่วนใหญ่อยู่ที่รายละ 30,000 บาท 

การศึกษาของมูลนิธิชีวิตไทยพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกชำระเงินกู้รายเดือนก่อน เนื่องจากยอดผ่อนชำระน้อย โดยหนี้ที่พบว่ามีการชำระสม่ำเสมอคือหนี้ไฟแนนซ์รถ นอกจากยอดการชำระโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าเงินกู้ก้อนอื่นๆ แล้ว ยังพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับหน้าตาและศักดิ์ศรีในสังคม เพราะหากไม่สามารถชำระหนี้ก้อนนี้ได้รถที่ผ่อนไว้จะถูกยึด คนในสังคมจะรับรู้ถึงการไม่สามารถชำระหนี้ได้ของครัวเรือน ส่วนหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ พบว่าส่วนใหญ่จะสามารถชำระได้เพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น ทำให้ยอดเงินต้นไม่ลดลง ก้อนหนี้อีกก้อนหนึ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ชำระได้คือหนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ย ร้านยา แม้จะเป็นการชำระเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะชำระหนี้ก้อนหนี้เพราะต้องการกู้ใหม่เพื่อทำการเกษตรรอบต่อไป เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้าน ที่แม้จะกำหนดให้ชำระปีละครั้ง เป็นเงินก้อนเงินต้น 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในคราวเดียว เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะชำระเงินกู้ก้อนหนี้เพื่อรักษาเครดิตตัวเอง โดยพบว่าการชำระเงินกู้กองทุนหมู่บ้านจะทำโดยเกษตรกรจะกู้เงินนอกระบบ ที่มีโครงการพิเศษให้กู้ระยะสั้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นการกู้และชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยในวันเดียวกัน เพื่อนำเงินมาชำระกองทุนหมู่บ้านก่อน แล้วยื่นเรื่องกู้ใหม่ซึ่งจะได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จากกองทุนในวันเดียวกันเลย เงินที่กู้ใหม่นี้จะถูกนำไปชำระให้นายทุนนอกระบบพร้อมดอกเบี้ยในทันที กองทุนหมู่บ้านจึงเป็นแหล่งเงินกู้ที่เกือบจะถาวรของเกษตรกรจำนวนมาก 

ส่วนสินเชื่อ ธ.ก.ส. แม้จะออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีเกษตรกร คือชำระเมื่อเกี่ยวเกี่ยวผลผลิต แต่กลับเป็นก้อนหนี้ที่ชำระยากที่สุดสำหรับเกษตรกรเพราะต้องชำระเป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งเกินกว่าเงินสดสุทธิคงเหลือรายปีของครัวเรือนเกษตรกร ทั้งนี้หลังขายผลผลิตเกษตรกรมักไม่เหลือเงินมากพอที่จะชำระ ธ.ก.ส. ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งผลผลิตไม่ได้ผลอย่างที่คาด ทั้งการมีรายจ่ายตลอดปีที่ต้องใช้ ทำให้ไม่สามารถมีเงินชำระหนี้ก้อนใหญ่มากพอได้ เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. จึงมักเป็นหนี้ตลอดไป  

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกร มีความไม่สอดคล้องกับรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินภาครัฐ การจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในระยะยาวจึงควรต้องคำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเงินและกระแสเงินสดของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมของเกษตรกรด้วย 

 

แหล่งข้อมูล
1. รายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย ปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
2. พฤติกรรมการเงินของชาวนาและความไม่เป็นธรรมของสัญญาสินเชื่อ ธ.ก.ส.  โดย ชญานี ชวะโนทย์ และ สฤณี อาชวานันทกุล จากหนังสือ เพราะเธอคือชาวนา พิมพ์โดยมูลนิธิชีวิตไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท