Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์ชี้วิกฤตการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงานทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงกว่าปกติทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแข่งขันยากค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว ระยะสั้นต้องลดค่าไฟฟ้าให้ไม่สูงกว่า 4 บาท ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 5.33 บาทต่อหน่วยเช่นในปัจจุบันเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว 

5 ก.พ. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา และ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการคอร์รัปชันในวงทางการศึกษาทำให้พลเมืองไทยในอนาคตอ่อนแอลง พร้อมกับวิกฤติการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงานทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงกว่าปรกติมากๆ ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) นี้เป็นผลตอบแทนส่วนเกินที่เกิดจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบนต้นทุนของประชาชน และ ยังก่อให้เกิดการสูญเสียประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วนจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว เฉพาะหน้าระยะสั้นต้องกดต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 5.33 บาทต่อหน่วยเช่นในปัจจุบันเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้ผลิตในไทยมีความสามารถในแข่งขันด้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพงขึ้น เทียบกับประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ไทยก็มีค่าไฟฟ้าที่แพงกว่ามาก ราคาค่าไฟฟ้าในอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.22 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง เวียดนามอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย มาเลเซียอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย ส่วนลาวอยู่ที่ 1.19 บาทต่อหน่วย เมียนมาอยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง หลักการของนโยบายของกิจการพลังงาน ก็คือ เราต้องพัฒนาประชาธิปไตยพลังงานลดต้นทุนส่วนเกินพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Virtual Distributed Power Plant หรือ โรงงานไฟฟ้าเสมือนจริงกระจายศูนย์ ด้วยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก  และทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังได้เสนอให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าลดทันที และค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3.50-4 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงและในระยะยาวแล้วควรทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วย หยุดโอนย้ายผลประโยชน์สาธารณะจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมายังผู้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ซึ่งเป็นการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการไฟฟ้านี้ ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการผลิตของไทยต้องมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงเกินมาก ไม่ควรใช้มาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าโดยรัฐผ่านการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง เพราะนั่นเท่ากับว่า รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์จากสัญญาสัมปทานที่ไม่รัดกุมแล้ว รัฐยังต้องเอาเงินภาษีมาอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าปรกติจากการแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจอีก เท่ากับเป็นเสียค่าโง่ให้กับระบบการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและการผูกขาดทางเศรษฐกิจสองชั้น ซึ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าทั้งระบบโดยเฉพาะจากเอกชนรายใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ ค่าไฟฟ้าลดลงมาในทันทีและค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับที่ไม่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมากเกินไป 

การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้าล่าสุดในไทยทำให้อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในไทย มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 5.38% ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 12.41% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม อุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 4.4% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ 9.47% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและเซรามิคต้นทุนเพิ่มขึ้น 3.05-3.82% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ระดับ 6.49-8.14% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม เมื่อพิจารณาดูภาพรวมของค่าเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.29% ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4.88% (ข้อมูลกองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ) 


   
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net