Fortify Rights เปิดตัววิดีโอใหม่ ปมผลักดันเด็กผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา กสม.ประกาศสอบการละเมิดสิทธิฯ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เปิดตัวภาพยนตร์เชิงสืบสวนเรื่องใหม่ ปมผลักดันส่งกลับเด็กผู้ลี้ภัยไปยังเมียนมา เรียกร้องรัฐบาลไทยควรยุติการส่งกลับผู้ลี้ภัย และคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกัน จดหมายล่าสุด กรรมการสิทธิฯ แจ้งว่า จะสอบสวนการปฏิบัติของรัฐบาลต่อผู้ลี้ภัย ตามหลักฐานที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้แสดงว่าอาจมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น

6 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ดำเนินการเปิดตัวภาพยนตร์เชิงสืบสวนของ Fortify Rights เรื่อง "เราคงจะตายอยู่ที่นั่น" ที่ฉายภาพการเดินทางของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง และเด็กๆ ที่หลบหนีการโจมตีของกองทัพเมียนมา เข้ามาสู่บริเวณชายแดนไทย นอกจากทางการไทยจะไม่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้แล้ว พวกเขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารยังบังคับผลักดันพวกเขากลับไปยังเมียนมา ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศและความรุนแรงอื่นๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่ 

พร้อมระบุด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ออกมาหลังจากที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งจดหมายถึงฟอร์ตี้ฟายไรต์ โดยแจ้งว่าจะทำสอบสวนการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อผู้ลี้ภัย ตามหลักฐานที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้เคยร้องเรียนไปแล้ว 

“แม้จะตระหนักถึงความทารุณโหดร้ายอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ทหารไทยยังคงผลักดันผู้ลี้ภัยให้กลับไปสู่อันตราย” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “รัฐบาลไทยกำลังผลักให้ชีวิตของผู้ลี้ภัย รวมทั้งชีวิตของเด็ก ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง เราหวังว่าการสอบสวนของกสม.ต่อการปฏิบัติของรัฐบาลกับผู้ลี้ภัย จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด”

ในภาพยนตร์สั้นที่เผยแพร่โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ ครูชาวกะเหรี่ยงสามคนจากเมียนมาอธิบายว่า ที่ผ่านมาทางการไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันครูและลูกศิษย์อายุระหว่างสองขวบถึง 13 ปี กลับไปยังพื้นที่ซึ่งยังมีการสู้รบในเมียนมา พวกเธอยังเล่าถึงการเดินทางมาแสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย เพื่อหลบหนีจากการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องของกองทัพเมียนมา ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในฉบับภาษาไทยได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางสำนักข่าว Voice TV ในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบสองปีเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า ทางการไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเมียนมาหลายครั้งในระหว่างปี 2565 รวมทั้งในเดือนมกราคม และกันยายน 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 13 คน ซึ่งรวมถึงครูชาวกะเหรี่ยงสามคนในภาพยนตร์เรื่องนี้ และได้พูดคุยกับชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ตลอดจนผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ และผู้ทำงานช่วยเหลือชุมชนพลัดถิ่นบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมาอีกแปดคน

“ทหาร [ไทย] และตำรวจหลายคนมาที่นี่” “หน่อทูเอเซ” ครูชาวกะเหรี่ยงวัย 31 ปีในภาพยนตร์เรื่องนี้ อธิบายว่าเจ้าหน้าที่ไทยเข้าควบคุมตัวเธอและลูกศิษย์เกือบร้อยคนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่อำเภอพบพระ ประเทศไทย ใกล้กับพรมแดนเมียนมา “เจ้าหน้าที่ [ทหารและตำรวจ] หลายนายมาหาเราพร้อมกับอาวุธปืน ประมาณ 20 กว่าคน…พวกเขาบอกว่า ‘พวกเธอเป็นคนผิดกฎหมาย ต้องเดินทางกลับ [ไปเมียนมา]’”

“หน่อวาเอ” ครูชาวกะเหรี่ยงวัย 52 ปีอีกคนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันว่า “[เจ้าหน้าที่ไทย] มาพบและสั่งให้ทุกคนยืนเรียงแถว พวกเขาสั่งห้ามไม่ให้เด็ก ๆ วิ่งหนี แต่เพราะถูกปลุกตอนกลางคืน เด็กบางคนจึงร้องไห้และปัสสาวะราด”

ครูได้อธิบายว่าเจ้าหน้าที่ไทยกวาดต้อนคนทั้งกลุ่มขึ้นไปบนรถบรรทุก และบังคับให้เดินทางข้ามพรมแดนกลับไปเมียนมาในวันรุ่งขึ้น “หน่อพอวา” วัย 40 ปี ซึ่งเป็นครูอีกคนหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้บอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า:

มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจากหลายกลุ่มอยู่บนถนน เหมือนกับมีการวางแผนล่วงหน้า พวกเขาถือปืนและจ้องมองดูพวกเรา...พวกเขาพาเราไปปล่อยที่ริมฝั่งน้ำ ทหารหลายนายถือปืนเข้ามาล้อมพวกเราและสั่งว่า “ไปได้!” พวกเขาบอกอย่างนั้น เราทำอะไรไม่ได้ ทุกคนต้องเดินทางกลับ [ไปรัฐกะเหรี่ยงในเมียนมา]

เหตุการณ์นี้สอดคล้องกับการละเมิดอื่น ๆ ตามข้อมูลของฟอร์ตี้ฟายไรต์ในปี 2565 ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ส่งจดหมายถึงกสม. พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับส่งกลับ, การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ รวมถึงการรีดไถผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย โดยส่วนหนึ่งของข้อมูลนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้อ้างอิงถึงข้อมูลที่จัดเก็บก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเปิดโปงว่าทหารไทยได้ ทำลายสะพานชั่วคราวสำหรับคนเดินข้ามพรมแดน ซึ่งผู้ลี้ภัยใช้หลบหนีจากเมียนมาเข้ามาในไทย รวมทั้งการให้ปากคำที่เป็นหลักฐานว่ามี การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ ตลอดจนการรีดไถ ต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาโดยทางการไทย

ในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 กสม.ได้ส่งจดหมายตอบกลับมายังฟอร์ตี้ฟายไรต์ โดยระบุว่า กสม. “มีมติรับคำร้องไว้ดำเนินการ โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดดำเนินการต่อไป” มากไปกว่านั้น กสม. ยังสั่งการให้สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2 ใช้ข้อมูลจากฟอร์ตี้ฟายไรต์สำหรับ “ประกอบการดำเนินการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีสิทธิของผู้อพยพ” และให้สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศใช้ “ประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี กรณีประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีหนังสือสัญญา (เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน)”

แม้จะเป็นจดหมายที่กสม.ส่งถึงฟอร์ตี้ฟายไรต์เป็นการส่วนตัว แต่ข้อมูลในจดหมายไม่ได้เป็นข้อมูลลับ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

กสม. ยังสั่งการให้สำนักกฎหมายใช้ข้อมูลของฟอร์ตี้ฟายไรต์ “จัดทำข้อเสนอแนะ” เพื่อการดำเนินงานตาม กลไกคัดกรองระดับชาติ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม 2562 เพื่อจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ ที่เป็นกระบวนการสนับสนุนให้มีการจำแนกบุคคลและการให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แต่ยังไม่มีการลงมือดำเนินงานแต่อย่างใด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เน้นย้ำข้อกังวล เกี่ยวกับกลไกคัดกรองระดับชาติที่เสนอใน จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อมาตรการ ซึ่งอาจกีดกันแรงงานข้ามชาติและบุคคลอื่น ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองที่เหมาะสมในประเทศไทย

“เราหวังว่าทางการไทยจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เอมี สมิธกล่าว “ความทารุณโหดร้ายอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยอยู่ในสถานะอันเหมาะสมที่จะหาทางออกระดับภูมิภาค เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตในเมียนมา แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยกลับทำให้เกิดข้อกังวลด้านความคุ้มครองต่อชุมชนที่พลัดถิ่นฐานและหลบหนีจากรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น รวมยังมีความพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร”

นับแต่เหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศหลายประเภท ที่รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ก่อเหตุ รวมทั้ง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ทั้งนี้ ในวันที่ 24 มกราคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และโจทก์ 16 คนจากเมียนมา ได้แถลงข่าวการฟ้อง คดีอาญา กับสำนักงานอัยการสูงสุดสหพันธรัฐเยอรมนี ตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล เพื่อเอาผิดกับนายพลระดับสูงของกองทัพเมียนมา และบุคคลอื่นในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“หน่อทูเอเซ” ได้บรรยายถึงความทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นเหตุที่ผลักดันให้ครูทั้งสามคนและนักเรียนต้องหลบหนีมายังประเทศไทยไว้ดังนี้

ลูกศิษย์ของฉันบางคนกลับบ้านที่หมู่บ้านในช่วงโรงเรียนหยุด ตอนที่พวกเขากลับมา บ้านของพวกเขาหายไปหมด หลังคา กำแพง พื้นบ้าน....ถูกทำลายไปจนหมด เด็ก ๆ และครอบครัวจึงต้องหลบหนี ฉันกังวลว่าการโจมตีทางอากาศอาจตกลงมาถึง [หมู่บ้านของเรา] พวกเราอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบ เราได้ยินเสียงทุกอย่าง

“หน่อพอวา” ครูอีกคนหนึ่งเห็นด้วยและบอกว่า “ฉันคิดถึงหมู่บ้าน ที่ ๆ เติบโตขึ้นมา แต่มันอันตราย เพราะยังมีการสู้รบ ประเทศไทยเป็นทางเลือกเดียวที่ปลอดภัย”

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 แต่อนุสัญญานี้กำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นผล เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมี หลักการไม่ส่งกลับ ห้ามการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่อาจเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายรูปแบบอื่น ซึ่งถือเป็นหลักการอันเป็นที่ยอมรับและมีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่งตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ยังยืนยันเพิ่มเติมถึงพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายในประเทศ ที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศอื่น ซึ่งมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลดังกล่าวอาจเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการบังคับให้สูญหาย”

ประเทศไทยยังเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ของอนุสัญญาฯ ระบุว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก...ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก” ซึ่งสอดคล้องตามเนื้อหาในมาตรา 22 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กของประเทศไทย

“ประเทศไทยได้บัญญัติกฎหมาย นโยบาย และแสดงพันธกิจเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่พันธกิจเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง” เอมี สมิธกล่าว “ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนพันธกิจในกระดาษเหล่านี้ ให้เป็นการคุ้มครองอย่างแท้จริงต่อผู้ลี้ภัย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท