Skip to main content
sharethis

จากกรณีการรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฏ และถอนหมุดคณะราษฎร ที่ กทม. ไปจนถึงการรื้ออนุสาวรีย์พระยาพหลฯ และเปลี่ยนชื่อศูนย์การทหารปืนใหญ่ เมืองลพบุรี เมื่อปี 2563 ถูกวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์คณะราษฎร ผู้เปลี่ยนระบอบการเมืองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย 

ประชาไท ร่วมด้วย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และสิทธารถ ศรีโคตร สองอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (มก.) ลงพื้นที่ตามรอยสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ยังเหลืออยู่ในเมืองแห่งนี้ พร้อมไขข้อข้องใจ ทำไมคณะราษฎรยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงให้ความสำคัญเมืองลพบุรี และนัยยะที่เลือกสถาปัตยกรรมแบบ 'อาร์ตเดโค' เป็นตัวแทนคณะราษฎร สะท้อนอุดมการณ์ 'ความเสมอภาค'

จากเมืองพระนารายณ์ สู่เมืองคณะราษฎร

ที่ตั้งของ จ.ลพบุรี มีความสำคัญมานานตั้งแต่สมัยทวาราวดี จนถึงสมัยอาณาจักรอยุธยา โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องด้วยมีความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์และการคมนาคม ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองสำคัญอีกครั้งในช่วงต้นสมัยคณะราษฎร

การพัฒนาเมืองใหม่ ‘ลพบุรี’ เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของคณะราษฎร โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พิชิตชัยเหนือกบฏบวรเดช ที่ทุ่งบางเขน เมื่อปี 2476 พอมาในปี 2479 รัฐบาลนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ได้ออก พ.ร.ก.การกำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน บริเวณฝั่งตะวันออกของเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเขตตัวเมืองเก่าทั้งหมด โดยไล่ไปจนถึง ต.โคกกะเทียม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการทหาร 

อนุสาวรีย์รัฐบุรุษ วงเวียนสระแก้ว ถ่ายเมื่อ 2565 หนึ่งในวงเวียนสำคัญในสมัยคณะราษฎร และเป็นเขตเมืองใหม่ของลพบุรี

ต่อมา หลวงพิบูลสงคราม ขณะนั้นดำรงยศพันตรี ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วางแผนนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองใหม่ และนำไปเป็นเขตของทหาร มีการย้ายทหารหลายหน่วยจากกรุงเทพฯ มาประจำที่ลพบุรี

การสร้างเมืองใหม่ลพบุรี เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2480 จนกระทั่งเมื่อ 24 มิ.ย. 2483 ซึ่งตรงกับวันชาติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เดินทางมาเปิดเมืองใหม่ลพบุรีด้วยตัวเอง และเป็นวันเดียวกับวันเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย คือเปิดตัวอนุสาวรีย์ตอนเช้า ขับรถมาเปิดเมืองใหม่ลพบุรีตอนเย็น

2 ปัจจัยคณะราษฎรเลือก 'ลพบุรี' 

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม ม.ศิลปากร เคยวิเคราะห์ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้จอมพล ป. พัฒนาเมืองพระนารายณ์แห่งนี้มี 2 ประการ คือ หนึ่ง ความผูกพันของสองผู้นำคณะราษฎร และเมืองลพบุรี เหตุด้วยทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือจอมพลตราไก่ เคยรับราชการทหารที่ค่ายศูนย์การทหารปืนใหญ่ลพบุรี ก่อนที่ต่อมา ทั้งคู่จะไปร่ำเรียนที่ต่างประเทศ และกลับมาเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 

ส่วนเหตุผลอีกประการคือ เป็นเรื่องแนวคิดยุทธศาสตร์ทางการทหาร อาจารย์สิทธารถ เสริมว่า สมัยคณะราษฎร ยกความสำคัญเมืองลพบุรีขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยจอมพล ป. ต้องการให้เป็นเมืองชุมชนของทหาร หรือศูนย์กลางของทหาร (Military City) เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์พื้นที่ และรับมือข้าศึกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

นอกจากนี้ เมื่อปี 2480 จอมพล ป. เคยวางแผนจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาที่ลพบุรี ก่อนจะมีการพับโครงการนี้ไป และหันไปพิจารณาพื้นที่ในจังหวัดเพชรบูรณ์แทน ด้วยเหตุด้านชัยภูมิทางการทหาร ในการป้องกันการรุกรานของทหารราบได้ง่ายกว่า

อนุสาวรีย์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่วงเวียนสระแก้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2487 จอมพลตราไก่ มีอันต้องก้าวเท้าลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ ก่อนความฝันย้ายเมืองหลวงจะเป็นจริง เนื่องจากแพ้เสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผ่าน พ.ร.บ.อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และร่าง พ.ร.บ.อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลในวันที่ 20 และ 22 ก.ค. 2487 ตามลำดับ ส่งผลให้ไอเดียการสร้างลพบุรี เป็นเมืองแห่งทหาร อันตรธานหายไปพร้อมอำนาจของจอมพล ป. 

ทั้งนี้ แม้นว่าจอมพล ป. จะไม่ได้มีอำนาจแล้ว แต่แนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่ 'ลพบุรี' ห้วงสมัยคณะราษฎร ได้ฉาบเมืองนี้ไปด้วยกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมจากยุคสมัยดังกล่าว ที่เรียกว่า 'อาร์ตเดโค' (Art Deco) ศิลปะที่คณะราษฎรหยิบมาเป็นตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมือง ความเสมอภาค 

"ในปี 2480 จอมพล ป. เคยเสนอให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ เป็นลพบุรี และมีการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองใหม่ มีการใช้ศิลปะแบบใหม่เข้ามา ส่งผลให้ลพบุรี กลายเป็นเมืองที่มีศิลปะคณะราษฎรมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ" ศรัญญู กล่าว 

รู้จัก "อาร์ตเดโค" ศิลปะตัวแทนคณะราษฎร

สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ประวัติศาสตร์ เกริ่นว่า สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค มีพัฒนาการตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือหลังทศวรรษที่ 1880 โดยมีลักษณะเด่นคือปฏิเสธแบบแผนเดิมที่เน้นการประดับตกแต่งอาคาร และพยายามทำให้ศิลปะหันกลับมารับใช้มนุษย์อย่าง ‘ซื่อตรง’ ที่ฝรั่งเศสรู้จักในชื่อ 'อาร์ตนูโว' หรือในเยอรมัน เรียกว่า 'จูเกนด์สตีล'

"อาคารมันไม่ควรจะหรูหราฟู่ฟ่าแบบนั้น เมื่อการตกแต่งแบบหรูหราเป็นล้นเกิน ยุคนั้นเขาเลยพยายามบอกว่าการตกแต่งเราควรจะเน้นความเรียบง่าย โดยการย้อนกลับไปสู่รูปทรงเลขาคณิต" สิทธารถ กล่าว พร้อมระบุว่าศิลปะนี้เคยเข้ามาในไทยช่วงรัชกาลที่ 5-6 แต่ว่าตอนนั้นชนชั้นนำยังไม่อินกับศิลปะนี้เท่าไร 

หลักฐานอันหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้เป็นอย่างดีคือแบบแปลนสถานีรถไฟหัวลำโพง แบบอาร์ตนูโว ที่ไม่ได้ถูกสร้าง แบบแปลนอันนั้นยังยอมรับการประดับตกแต่ง แต่มีลวดลายเรขาคณิตเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายชนชั้นนำไทยเลือกแบบของ 'มาริโอ ตามัญโญ' (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ที่ดูหรูหรา และอลังการมากกว่า

การประกาศศักดาการเมืองระบอบใหม่ สะท้อน 'ความเสมอภาค'

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ศิลปะอาร์ตเดโคกลับมาในสยามประเทศอีกครั้ง โดยคณะราษฎร ศรัญญู เผยว่า เอกสารชั้นต้นระบุว่า 'คณะราษฎร' จะเรียกอาคารเหล่านี้ว่า 'อาคารทันสมัย' (Modern Building) มีลักษณะของอาคารอาร์ตเดโคมีความเรียบเกลี้ยงเกลา ใช้เรขาคณิตเข้ามา มีความทึบ และเจาะช่องแสงจำนวนมาก 

พบได้ในอาคาร อาทิ อาคารตึกราชดำเนิน อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก อาคารตึกศาลยุติธรรม รวมถึงในลพบุรี เช่น โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงพยาบาลอานันทมหิดล ม.ราชภัฏเทพสตรี โรงภาพยนตร์ทหารบก และอื่นๆ ตึกเหล่านี้สร้างโดยใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะสร้างง่ายและเร็ว 

แต่เดิมสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค เริ่มเมื่อทศวรรษที่ 1920-1930 หรือราว พ.ศ. 2463-2473 จุดประสงค์หลักคือใช้ออกแบบอาคาร เพื่อการใช้ทำงาน อย่างเช่น โรงเรียน หรือโรงงาน เอาประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวตั้ง เลยทำอาคารเป็นกล่องสี่เหลี่ยมง่ายๆ และมีช่องให้แสงสาดเข้ามา เพื่อให้คนสามารถทำงานหรือกิจกรรมได้ หลังคาเป็นแบบตัดเรียบ ไม่มีการประดับประดาด้วยลวดลาย ให้ความรู้สึกมั่นคง แต่แข็งไม่กระด้าง

ภาพ: โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย สร้างเมื่อ 2480-2481 มีจุดเด่นตรงกันสาดขนาดใหญ่ตรงช่องหน้าต่าง ซึ่งแสดงให้เห็นฝีมือของช่าง

สถาปัตย์ลักษณะนี้ได้รับความนิยมในหลากหลายประเทศ และแต่ละประเทศต่างเลือกใช้อาร์ตเดโค แสดงอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นนำในรูปแบบต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี ใช้เพื่ออุดมการณ์ฟาสซิสต์ ขณะที่ 'สหภาพโซเวียต' ใช้เพื่อส่งเสริมแนวคิดทางชนชั้น ตามหลักคิดคอมมิวนิสต์

สำหรับประเทศไทย คณะราษฎรเลือกอาร์ตเดโค เพื่อสนับสนุนแนวคิด 'ความเสมอภาค' ขณะที่อาจารย์สิทธารถ เสริมด้วยว่า คณะราษฎรเลือกรับส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสนิยมทั่วโลกต่อสถาปัตย์แขนงนี้  

"อาร์ตเดโค นอกจากเป็นการเลือกสรรสถาปัตย์ของคณะราษฎรแล้ว อาร์ตเดโค คือ กระแสของสถาปัตยกรรมในยุคนั้นด้วย … โดยนัยสำคัญ คนยุคนั้นมองด้วยว่าเป็นสถาปัตยกรรมของโลกยุคใหม่ ดังนั้น ถ้าคุณบอกว่าฉันคือระบอบใหม่ ฉันไม่ใช่โลกยุคเก่า ระบอบเก่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาคารแบบนี้ศิลปะแบบนี้ จึงถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่เป็นเมกะโปรเจกต์ของคณะราษฎร" สิทธารถ กล่าว 

ก่อนหน้านี้มีกระแสความตีความว่า ที่คณะราษฎรเลือกสถาปัตยกรรมชนิดนี้เนื่องจากต้องทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นคงในภาวะที่ไม่มั่นคง เนื่องจากตอนนั้นมีสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิทธารถ สำทับว่าไม่แน่ใจว่าคณะราษฎรตั้งใจใช้เพื่อการนั้นรึเปล่า

ภาพ: ตึกทันตกรรม หรือว่าตึกเรือดำน้ำ รพ.อานันทมหิดล จุดเด่นคือการทำช่องแสงจำนวนมากที่ชั้นสอง

ด้านงานประติมากรรมของคณะราษฎร ศรัญญู เสริมว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้กับสถาปัตยกรรม โดยเน้นสัดส่วนกายวิภาคที่ชัดเจน มีกล้ามเนื้อ มีความสมจริง แตกต่างจากศิลปกรรมของยุคสมัยจารีตที่มีความอ้อนแอ้น ดูห่างไกลจากความเป็นจริง 

ตัวอย่างของงานประติมากรรมของคณะราษฎรในเมืองลพบุรีที่สำคัญ 'คชสีห์' รอบวงเวียนสระแก้ว รูปปั้น 'นางรำ' ใกล้กับอนุสาวรีย์จอมพล ป. หน้าโรงภาพยนตร์ทหารบก หรือรูปปั้น 'เสือหมอบ' หน้าสวนสัตว์ลพบุรี

"มีกล้ามเนื้อบึกบึน คชสีห์ (สัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหม) เป็นสิงโต ไม่อ้อนแอ้นแบบคชสีห์ในป่าหิมพานต์ หน้ามีงวง" ศรัญญู ระบุ

ภาพ: ประติมากรรม 'คชสีห์' วงเวียนสระแก้ว เมื่อ 2565

เปรียบเทียบกับ 'คชสีห์' หน้ากระทรวงกลาโหม (ที่มา: เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม - Defence Hall Museum)

อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นสมัยคณะราษฎร คือ การสร้างเสาธงชาติหน้าสถานที่ราชการ สิทธารถ ระบุว่า แต่ก่อนก็มี เพียงแต่ไม่ได้บังคับว่าทุกสถานที่ราชการต้องมี แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉพาะยุคชาตินิยม จอมพล ป. พยายามทำให้เสาธงกลายเป็นแลนด์มาร์กของเมือง ด้วยนัยเชิดชูความเป็นชาติ

"เสาธงไม่ใช่เสาธงที่เอาไม้ หรือเสาโลหะ มาตั้งแล้วแขวนธง จบ แต่มันมีลักษณะลวดลายที่ฐาน เป็นลวดลายแบบอาร์ตเดโค" สิทธารถ ระบุ

อาจารย์ประวัติศาสตร์จาก ม.เกษตรฯ คนเดิม ยกตัวอย่าง เสาธงในมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี หากสังเกตฐานของเสาธงจะมีลักษณะเด่นคือการทำลวดลายที่ฐานด้วยศิลปะแบบ 'อาร์ตเดโค' คือการใช้เส้นตรงตัดด้วยเส้นโค้ง เพื่อให้ดูละมุน ไม่แข็ง และอ่อนช้อย ช่วยสร้างมิติในการมอง ส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ความทันสมัย

เสาธงมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

ศิลปะคณะราษฎรประยุกต์ การดึงหลังคากลับมา

ศรัญญู กล่าวว่า หากดูตึกคณะราษฎรหลายแห่งจะเป็นอาคารหลังคาตัด แต่จริงๆ ด้านบนไม่ได้เป็นดาดฟ้า แต่มีการก่อผนังขึ้นไปบังหลังคา เพื่อให้เสมือนเป็นหลังคาตัด อาคารเหล่านี้พบได้ที่ราชดำเนิน ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้มีกฎหมายสมัยคณะราษฎร กำหนดว่าอาคารพาณิชย์ริมถนนต้องก่อผนังด้านบนอาคารขึ้นมาปิดส่วนหลังคา ซึ่งตรงนี้สะท้อนถึง 'จิตวิญญาณแบบใหม่' ที่ต้องการผลักดันเป็นสาธารณะมากยิ่งขึ้น 

สิทธารถ ระบุว่าเหตุที่เป็นหลังคา เพราะว่าเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตย์ยุคจารีตไทยประเพณี ถือเป็นเครื่องแสดงความไม่เท่าเทียมทางสถาปัตย์ ตอนแรกคณะราษฎรจะรับสถาปัตย์แบบอาร์ตเดโคมาเต็มขั้น แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ย้อนแย้งที่พอมาในยุคจอมพล ป. เป็นฟาสซิสต์ ช่วงปี 2485 ก็เกิดคำถามว่า ถ้าเราเสพสากลทั้งหมด แล้วความเป็นเราอยู่ที่ไหน พอคิดได้แบบนั้นก็เริ่มมีการนำเอาหลังคากลับมาในระดับที่รับได้

"อาร์ตเดโคเป็นสากล แต่ถ้าเราจะเอา ความเป็นเราเข้าไปเสริมความเป็นสากล หลังคาจั่ว และใบระกาเดโค เลยกลับมา" สิทธารถ กล่าว


ภาพตัวอย่าง คันทวยแบบอาร์ตเดโค ที่วัดพระพุทธบาท สระบุรี ชาตรี ระบุว่า แบบอันนี้มาจากหนังสือเรื่อง พุทธศิลป์สถาปัตยกรรมภาคต้น ในภาพคือ 'คันทวย' ตัวที่ยื่นรับหลังคาที่ยื่นออกมา ด้านขวาแบบประเพณี แต่ด้านซ้าย สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบอาร์ตเดโค ลวดลายน้อยกว่า เรียบเกลี้ยงกว่า เป็นเรขาคณิต

(ที่มา: ยูทูบ คณะราษฎรกับวัดพระพุทธบาท สระบุรี : เสวนา ดินแดนในจินตนาการ - นครหลวงสระบุรีและพุทธบุรีมณฑล ช่อง คนหระรี)

มรดกของคณะราษฎรที่หายไปจากศูนย์การทหารปืนใหญ่ลพบุรี

อีกหนึ่งสถานที่ที่มีมรดกคณะราษฎร หลายอย่างซ่อนอยู่ คือ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ไม่ว่าจะเป็น ตึกชาโต หรือตึกบัญชาการเขาน้ำโจน บ้านพักของพระยาพหลฯ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุสาวรีย์ของทั้งคู่

สำหรับศูนย์ดังกล่าวถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ครั้งพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้ช่วยเสนาบดีกลาโหม ก็มีการตั้งศูนย์ปืนใหญ่ลพบุรี ที่ ต.โคกกะเทียม ราวปี 2457 ซึ่งมีพัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งยุคคณะราษฎร โดยเฉพาะช่วงสมัย จอมพล ป. ที่ให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากต้องการพัฒนากองกำลังปืนใหญ่ สนับสนุนและป้องกันข้าศึกที่จะยาตราเข้ามาในเมืองหลวงใหม่ ซึ่งในที่นี้คือเมืองเพชรบูรณ์

อย่างไรก็ตาม พอเข้ายุคสมัยของรัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2562 มรดกคณะราษฎร ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ ก็เริ่มทยอยหายไป โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2563 เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศเปลี่ยนชื่อศูนย์การทหารปืนใหญ่ จากเดิมชื่อ ‘ค่ายพหลโยธิน’ ซึ่งตั้งอยู่ ต.เขาพระงาม อ.เมือง ลพบุรี เปลี่ยนเป็นค่ายภูมิพล ขณะที่ ค่ายทหารแก่กองพลทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อ 'ค่ายพิบูลสงคราม' ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ท่าแค อ.เมือง ลพบุรี เปลี่ยนเป็น 'ค่ายสิริกิติ์'

นอกจากนี้ ในปี 2563 อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปจนถึงซุ้มประตูค่ายพหลโยธินของเดิม ถูกรื้อออกไปอีกด้วย โดยในส่วนของที่ตั้งเดิมอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ถูกแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และมีการทำพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุเสาวรีย์มาประดิษฐานเมื่อปี 2565 

ทั้งนี้ ชาตรี เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ว่าจริงๆ แล้ว อนุสาวรีย์จอมพล ป. ที่กระจายอยู่ทั่วไทย ไม่ได้เชื่อมโยงกับคณะราษฎรแล้ว แต่เป็นจอมพลตราไก่ ในฐานะนายทหารของกองทัพ ผู้เคยเป็นนายกฯ และสร้างความเจริญให้ประเทศ

ภาพ: อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

ทั้งนี้ จากการที่ผู้สื่อข่าวลงสำรวจศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี เมื่อปี 2565 พบว่าบ้านพักของพระยาพหลฯ บ้านของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และศูนย์บัญชาการเขาน้ำโจน หรือหลายคนรู้จักในชื่อ 'อาคารชาโต' ยังคงอยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพบว่า อาคารชาโต มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก โดยเฉพาะด้านซ้ายของอาคารที่ตัวอาคารพังลงมาจนทำให้เห็นโครงสร้างด้านในที่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กและหิน ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมสร้างอาคารในสมัยคณะราษฎร  

 

สภาพด้านหน้าของอาคารชาโต หรือศูนย์บัญชาการเขาน้ำโจน สภาพเมื่อกลางปี 2565

สภาพอาคารชาโต ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี เมื่อกลางปี 2565

'ลบ' ไม่ช่วยให้ลืม แต่อาจช่วยให้ 'จำ'

ไม่มีใครทราบเหตุผลเบื้องหลังทั้งการเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร และการรื้ออนุสาวรีย์ผู้นำคณะราษฎร 'ชาตรี' ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา นักวิชาการ นักศึกษา นักประวัติศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง ใช้สัญลักษณ์ สถานที่ หรือวัตถุมรดกคณะราษฎร เป็นที่ขับเคลื่อนทางการเมืองมาเสมอ 

ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งถูกจุดประกายโดยเยาวชนปลดแอก (REDEM) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกหนึ่งมรดกยุคคณะราษฎร ถูกใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองจนแทบจะเป็นปกติ 

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่มีการสร้างวัตถุวัฒนธรรมจำลองเกี่ยวกับคณะราษฎร อย่างหมุดคณะราษฎรจำลอง และทำพิธีปักหมุดเชิงสัญลักษณ์ฺ ในช่วงเช้า 20 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง ระหว่างการชุมนุม #19กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร ก่อนขยายออกไปเป็นวงกว้างทั้งในเชียงใหม่ และนครราชสีมา รวมถึงมีการสร้างของที่ระลึกต่างๆ เป็นคุกกี้หมุดคณะราษฎร พวงกุญแจหมุดคณะราษฎรจำลอง และอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้คุณค่าคณะราษฎร ในฐานะผู้แผ้วถางระบอบประชาธิปไตยในไทยอย่างไรบ้าง


ภาพ: ซุ้มประตูของศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ที่ถูกรื้อ

เมื่อสอบถามความเห็นต่ออาจารย์ ศรัญญู ถึงกระแสพยายามลบเลือนความทรงจำของคณะราษฎร ห้วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร มองว่าการลบอาจจะทำได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ และอาจทำให้หลายคนพยายามจดและจำเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น 

"มันอาจจะทำให้คนลืมช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีต มันมีหลักฐานจำนวนมาก ที่ไม่สามารถรื้อถอนไปได้ …วันดีคืนดี รื้อแล้วก็ทำให้คนอยากจะไปทบทวน กลับไปจดจำมันอีกครั้งหนึ่งก็ได้" ศรัญญู ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net