Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้แถลงการณ์ชื่นชมฟินแลนด์ที่ผ่านร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ โดยระบุว่านับเป็น "ก้าวสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลข้ามเพศ" หลังจากที่ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้เคยวิจารณ์กฎหมายเดิมของฟินแลนด์ว่าละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจากการที่บังคับให้คนข้ามเพศต้องทำหมันก่อนถึงจะสามารถรับรองเพศสภาพได้

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาที่ประชุมรัฐสภาของฟินแลนด์ผ่านร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศด้วยคะแนนโหวต 113 เสียงต่อ 69 เสียง มีอยู่ 17 รายที่งดออกเสียง การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ส่งผลให้คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนเพศตามกฎหมายของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการทำหมัน หรือผ่านกระบวนวินิจฉัยทางจิตเวชที่กินเวลานานยาวนานอีกต่อไป

เดิมทีแล้วกฎหมายเก่าของฟินแลนด์ระบุให้คนข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพศในทางนิตินัย เช่น เปลี่ยนการระบุเพศสภาพในบัตรประชาชน จะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าพวกเขาทำหมันแล้ว ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามันเป็นข้อกำหนดที่ละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ในกฎหมายใหม่ของฟินแลนด์ที่ได้รับการแก้ไขแล้วนั้น อนุญาตให้บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่สามารถยื่นเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอเปลี่ยนเพศในทางกฎหมายได้ และจะมีการพิจารณารับรองเพศสภาพของบุคคลที่ยื่นเจตจำนงหลังจากครบกำหนด 30 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นเจตจำนงมี "ช่วงเวลาพิจารณาความรู้สึกตัวเอง"

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเช่นนี้ทำให้แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ชื่นชมฟินแลนด์ในฐานะที่เป็นการคุ้มครองคนข้ามเพศ

แมตตี พิลาจามา ที่ปรึกษาด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลฟินแลนด์ กล่าวว่า การผ่านร่างกฎหมายนี้ทำให้ฟินแลนด์มีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการคุ้มครองสิทธิของคนข้ามเพศ นับเป็นการพัฒนาให้คนข้ามเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพัฒนาสิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเองของคนข้ามเพศ

พิลาจามากล่าวอีกว่าผลการโหวตในครั้งนี้มาจากการที่กลุ่มภาคประชาสังคมทำการรณรงค์เรียกร้องมาเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว และนับเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้นักกิจกรรมมุ่งมั่นต่อสู้มาอย่างยาวนานและอย่างยากลำบาก รวมถึงต้องเผชิญกับวาทกรรมโต้ตอบที่เลวร้าย กว่าจะทำให้พวกเขามีวันนี้ได้

นายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ ซันนา มาริน เป็นผู้ที่เคยบอกว่าเธอมาจาก "ครอบครัวสีรุ้ง" ซึ่งหมายถึงครอบครัวชาว LGBTQ+ จากการที่เธอได้รับการเลี้ยงดูมาจากแม่สองคนที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ก่อนหน้านี้มารินเคยแถลงว่าประเด็นสิทธิของคนข้ามเพศถือเป็น "ประเด็นที่สำคัญมาก" สำหรับเธอ และมีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันร่างกฎหมายนี้ผ่านสภา

อย่างไรก็ตามก่อนที่กฎหมายนี้จะผ่านร่างมาได้ มารินก็ต้องเผชิญกับการพยายามสกัดกั้นหลายครั้ง ซึ่งในกลุ่มที่โหวตลงคะแนนในครั้งนี้ มีพรรคร่วมรัฐบาลฟินแลนด์ที่ทำการโหวตไปตามหลักการร่วมกันของพรรค เว้นแต่พรรคสายกลางที่ถูกบอกให้โหวตไปตาม "จิตสำนึกของตัวเอง" หมายความว่าให้ ส.ส. แต่ละคนตัดสินใจเองแทนที่จะทำตามแนวทางพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้มีพรรคกลางโหวตคัดค้าน 13 เสียง โหวตสนับสนุน 12 เสียง

ส่วนพรรคฝ่ายค้านของฟินแลนด์มีพรรคฟินน์กับพรรคคริสเตียนเดโมแครตที่โหวตคัดค้านกฎหมายใหม่ ส่วนพรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคขวากลางโหวตสนับสนุน 26 เสียง จากทั้งหมด 36 เสียง

ถึงแม้ว่าแอมเนสตี้จะชมฟินแลนด์ในเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันก็วิจารณ์ในเรื่องที่กฎหมายใหม่อนุญาตให้แต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงเพศทางกฎหมายได้

พิลาจามา กล่าวว่า ในขณะที่กฎหมายใหม่นี้จะมีผลทางบวกอย่างมากและจะเป็นเสาหลักสำคัญสำหรับการละเว้นการเลือกปฏิบัติ แต่ทว่ายังมีเรื่องที่ต้องผลักดันไปไกลมากกว่านี้

พิลาจามากล่าวว่า "การกีดกันเด็กออกจากการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ พวกเราจะจึงขอเรียกร้องต่อไป ให้รัฐบาล(ฟินแลนด์)แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะเป็นการส่งเสริมสิทธิเด็ก"


 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net