อภิปรายร่าง พรบ.จริยธรรมสื่อ ‘มัลลิกา’ เสนอถอน- สว.สมชายขอ ผ่านวาระ 1 ให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อ

มัลลิกา เห็นด้วยกับแถลงขององค์กรวิชาชีพสื่อให้ถอนร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ที่จะมาควบคุมเสรีภาพสื่อ และยังเป็นร่างที่ไม่เท่าทันบริบทสื่อและสังคม ส.ว.สมชายดันร่างไปต่อ เสนอตั้งเวทีรับฟังความเห็นหลังผ่านวาระแรกรอเลือกตั้งใหม่เสร็จก่อนส่งกลับมาให้รัฐบาลใหม่พิจารณานำเข้าสภา 

7 ก.พ.2566 ที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างการอภิปรายวาระแรกของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ) ของคณะรัฐมนตรี มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเสนอความเห็นคัดค้านร่างดังกล่าว

มัลลิกา กล่าวว่าองค์กรวิชาชีพสือมวลชนก็ออกแถลงการคัดค้านถึง 2 องค์กร คือสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่เรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายควบคุมสื่อ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่เรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปและขอให้มีการจัดเวทีชี้แจงต่อสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน สาระสำคัญของเรื่องนี้คือร่างกฎหมายนี้ใช้เวลาร่างมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้มาทำหน้าที่ แต่มีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาในปี 2565 เท่ากับใช้เวลายาวนานบริบทของสังคมและสื่อมวลชนก็เปลี่ยนแปลงไป

ส.ส.จาก ปชป. กล่าวต่อว่า ทางองค์กรวิชาชีพสื่อก็ได้ไปรับฟังเสียงมาอย่างรอบด้านและมีข้อถกเถียงหลากหลายที่ยังไม่ตกผลึก โดยกฎหมายนี้มีการเปิดช่องให้รัฐมีอำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อและเป็นการทำลายการกำกับดูแลกันเองของนักสื่อสารมวลชนซึ่งตรงจุดนี้เป็นเกียรติยศของสื่อมวลชน

มัลลิกากล่าวต่อว่าข้อหนึ่งในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นกรรมการในวาระแรกเริ่มแค่นี้ก็มีปัญหาแล้ว และยังให้รัฐบาลออกเงินทุนประเดิมจากเงินกองทุนของ กสทช. ที่มาของงบก็ส่อเค้าเป็นการแทรกแซงและใช้อำนาจด้วย จึงอยากให้ถอนเรื่องนี้ออกไปและเปิดเวที

การไม่กำหนดขอบเขตจริยธรรมหรือศีลธรรมอันดีเอาไว้ในเนื้อหาแต่ให้มีการตั้งกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นมาตรงจุดนี้ก็คือเอาคณะหนึ่งมากำกับดูแลทับซ้อนกับการทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ เป็นสาระที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนั้นการให้อำนาจหน้าที่อยู่เหนือเสรีภาพของสื่อมวลชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่หรือไม่อย่างไรก็ยังไม่สิ้นสงสัย

การตั้งสภาวิชาชีพแล้วให้รัฐจัดสรรงบทับซ้อนเพราะองค์กรวิชาชีพก็มีที่มาของงบประมาณอยู่แล้ว ที่มาของคณะกรรมการวิชาชีพสื่อก็ไม่ได้ยึดโยงกับทั้งนักสื่อสารมวลชนและประชาชนทที่บริโภคสื่อแต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกกรรมการ

ประเด็นเรื่องการฝ่าฝืนไม่ได้อยู่ในหน้าที่หรือจริยธรรมสื่อจะมีโทษเตือน ภาคทัณฑ์ และประกาศต่อสาธารณะหรือการประจาน ในทางปฏิบัติองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ก็ดูแลส่วนนี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานปฏิรูปสื่อขึ้นมาเป็นกลไกขับเคลื่อนมีผลสรุปออกมาหลังจากอนุกรรมการประชุม 3 ครั้งมีมติออกมาว่าไม่ต้องการให้มีกฎหมายปฏิรูปสื่อแต่สิ่งที่เขาอยากให้มีคือกลไกส่งเสริมหลักกฎหมายจริยธรรมและองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่แล้ว

ถ้าดูจากสาระนี้กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่จะมาควบคุมหรือำเป็น ขณะที่กฎหมายก็เขียนออกมาก่อนที่บริบทสังคมและสื่อมวลชนจะเปลี่ยนแปลงไปก็เห็นว่ามันเป้นความขัดแย้งในทางความคิดของสังคมแล้ว แล้วก็ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพออกแถลงการณ์คัดค้านมาสองสามฉบับคิดว่าสภาก็ควรจะต้องรับฟังทบทวน แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ครม.ชุดนี้ด้วยเพระามาจากการเลือกตั้งแล้วก็ทำหน้าที่กันมาในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาแต่ร่างกฎหมายนี้ร่างกันมาตั้งแต่ 2560 ตอนที่ติ๊กต็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์ยังไม่เป็นกระแสเท่ากับว่ากฎหมายนี้ล้าหลังไม่บริบทกับสังคมสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในเรื่องของจริยธรรม จรรณยาบรรณ คุณธรรมต่างๆ มันมีการกำกับกันเองและมีการดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเห็นควรว่าเพียงแค่ส่งเสริมกลไกการขับเคลื่อนให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ควรมีการออกกฎหมายมาควบคุม” มัลลิกากล่าวจบการอภิปรายของตัวเอง

สมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิก กล่าวต่อจากมัลลิกาว่า เขาเห็นด้วยกับร่างกฎหมายของ ครม. ฉบับนี้ เพราะเมื่อประเทศเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง กระบวนการยุติธรรม และสื่อเองก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วยเพราะข้อถกเถียงเกิดตั้งแต่เขาเข้าร่วมการปฏิรูปสื่อก่อนที่เขาจะได้ร่วมกระบวนการปฏิรูปสื่อก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเราควรมีการดูแลปกป้องสื่ออย่างไร ขณะนั้นจึงมีการเขียนในรัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องมาจนฉบับ 2560

“การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนชัดเจนมาก แต่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นั้นต้องมีความรับผิดชอบและคุ้มครองผู้รับสารด้วยเช่นกัน ถ้าสื่อขาดความรับผิดชอบ ขาดจรรณาบรรณสังคมก็ได้รับบสารที่เป็นพิษเป็นภัยเกิดวิกฤติการเมืองหลายครั้งก็เพราะสื่อ วันนี้มีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียมเกิดขึ้นมากมาย ผมเห็นความเป็นสื่อที่เทียมก็เยอะนักการเมืองบางคนอยากเป็นสื่อก็มี คนที่ทำหน้าที่ชุมนุมในม็อบก็เป็นสื่อ ผู้ที่อยากเป็นคนขายตรงขายหวยออนไลน์ขายของมิจฉาชีพก็เป็นสื่อ ทำให้เกิดความสับสนมาก” วุฒิสมาชิกกล่าวแม้ว่าในตอนที่เขาเข้าเป็นกรรมการในสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ตอนปี 2540 องค์กรวิชาชีพจะมองว่าการกำกับดูแลมีความจำเป็นแต่ใช้รัฐธรรมนูญกำกับไว้ก็เพียงพอแล้ว

สมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการรวมตัวของสมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์เป็นการรวมตัวโดยสมัครใจ หลายครั้งที่เขาเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องที่ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามสื่อจากรัฐหรือเอกชนสั่งไม่ให้ทำข่าว แต่ก็รับเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาว่าสื่อคุกคามประชาชนทำตามอำเภอใจ การจะลงโทษก็ทำได้แค่ตำหนิตักเตือนแต่พอจะลงความเห็นองค์กรสื่อก็ลาออกจากสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อทำให้มาตรฐานจริยธรรมสื่อถูกตั้งคำถามกลายเป็นเสือกระดาษทุกวันนี้

สมชายกล่าวต่อว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของพี่น้องที่ออกมาชุมนุมไม่ว่าจะเสื้อเหลืองเสื้อแดงเสื้อหลากสี พันธมิตร กปปส รวมถึงเกิดวิกฤติการเมืองทั้งหมดนี้เรียกร้องการปฏิรูปสื่อ แม้ว่าบางคนอาจจะมองว่าอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็พอก็ไม่เป็นจริงเพราะผ่านมากกว่ายี่สิบปีจำเป็นต้องมีทั้งการส่งเสริมจริยธรรมและสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อเพื่อแยกสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนไม่ให้ทำตามอำเภอใจและต้องรับผิดชอบต่อสังคมต่อชาติบ้านเมือง

ส.ว.กล่าวต่อว่า แม้เขาจะเห็นด้วยว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่ได้สมบูรณ์ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ในบางประเด็นและมาจากสภาปฏิรูปที่นำข้อเรียกร้องการปฏิรูปมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สื่อมีปัญหาเรื่องจริยธรรมสื่อจริงๆ เราควรมีกฎหมายดูแลกำกับกัน ที่ทนายความหรือแพทย์ก็มีกฎหมายกำกับดูแล แล้วทำไมสื่อถึงจะไม่ต้องมีถ้าดูแลกันเองได้เหมือนสากล สื่อบางสื่อแยกตัวออกมาเป็นเจ้าของเพจทำอะไรก็ได้สร้างความรุ่งเรืองร่ำรวยมากมายเป็นสื่อเทียมก็มาก แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีเสียงคัดค้าน

อีกทั้งสมชายยังเห็นว่าในการรับฟังความคิดเห็นของกฤษฎีกาที่ได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ สำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิเศษ บุคลากรสื่ออาวุโส เห็นว่าหลายเรื่องในกฎหมายก็เป็นข้อดีเช่น ต้องเอาเงินจาก กสทช. มา 25 ล้านบาทก็ไม่ได้สามารถครอบงำองค์กรวิชาชีพสื่อได้เพราะเป็นการบังคับเอามา และในโครงสร้างกรรมการเป็นการเลือกกันเองที่มีองค์ประกอบจากตัวแทนส่วนต่างๆ มาดูแลทั้งสื่อและประชาชนในการออกมาตรฐานจริยธรรม เรื่องร้องเรียนแล้วก็มีโทษในการตักเตือน ตำหนิต่อที่สาธารณะ ส่วนคดีอื่นๆ ก็ว่ากันในทางแพ่งและอาญาต่อไป

สมชายกล่าวว่าบางส่วนที่เขาเห็นสอดคล้องกับความเห็นคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพด้วยคือ บทเฉพาะกาลอาจมีปัญหาเกิดขึ้นที่ให้มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มีระยะเวลาในการเร่งรัดข้อกำหนดจริยธรรมสื่อสิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ถ้าร่างนี้กลับเข้าสู่กรรมธิการ เขาก็จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วยก็จะช่วยปรับปรุงบทเฉพาะกาลอย่างไรไม่ให้สื่อถูกมัดมือชก

สมชายกล่าวถึงปัญหาที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างจากประชาชนน้อยมากมีคนเข้าร่วมแสดงความเห็นแค่ 1 คน หากร่างผ่านวาระแรกนี้ได้แล้วตั้งกรรมาธิการได้แล้วระหว่างที่ ส.ส. ไปหาเสียงเลือกตั้งเขาเสนอว่าคนที่ลงส.ส.บัญชีรายชื่อเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้ร่วมกับทาง ส.ว.ใช้เวลาก่อนถึงช่วงที่จะได้กลับเข้ามาในสภาตั้งกรรมาธิการแล้วพิจารณาไป ส่วนคนที่ลงส.ส.เขตก็ขอให้เปลีย่นตัวเป็นนักวิชาการหรือนักวิชาชีพที่เห็นด้วยหรือเป็นต่างเข้ามาแทนกรรมาธิการก็จะประชุมต่อไปได้ แล้วก็ให้จัดเวทีสาธารณะอีก 3-4 ครั้งเพื่อให้มีการพูดคุยตกผลึกเป็นรายมาตราว่าจะแก้ไขได้อย่างไร หากได้ร่างที่ปรับปรุงแล้วรัฐบาลใหม่ก็มีเวลา 60 วันที่จะเสนอว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ยืนยันร่างที่ปรับปรุงแล้วแล้วนำเข้าสู่รัฐสภากระบวนการก็จะเดินหน้าต่อ หาก ครม.ชุดใหม่ไม่เห็นด้วยร่างที่ กมธ.เสนอมาก็ไม่ต้องยืนยันร่างเข้าสู่สภา ดังนั้นเขาจึงเห็นชอบและรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท