Skip to main content
sharethis

ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ในอียิปต์ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านไม่ว่าจะเป็นการถูกโจมตีด้วยความรุนแรงจากกลุ่มแก็งค์อาชญากรรม และถูกเล่นงานจากทางการอียิปต์เอง รวมถึงการที่มีตำรวจแฝงตัวเข้าไปในแอพฯ หาคู่ เรื่องนี้มีเผยแพร่ในสารคดี "Queer Egypt Under Attack" ที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ "ความกล้าหาญไม่ย่อท้อ" ของผู้มีความหลากหลายทางเพศท่ามกลาง "การถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่รู้จบ"

ถึงแม้ว่าการรักเพศเดียวกันในอียิปต์จะไม่ถูกระบุว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอียิปต์ก็เผชิญกับการถูกตีตราและถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในระดับที่สูงมาก เช่นการที่ศาลทำการตัดสินลงโทษผู้มีความหลากหลายเพียงเพราะพวกเขาใช้ชีวิตของตนเอง ไปเดท หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศ โดยอ้าง "กฎหมายการประพฤติผิดศีลธรรมทางโลกีย์" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ปราบปรามคนทำงานบริการทางเพศในอียิปต์

ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยเผยแพร่รายละเอียดตั้งแต่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาว่า ทางการอียิปต์ได้ทำการเข้าไปไต่สวนผู้คนที่เดินไปมาบนท้องถนนอยู่เป็นประจำโดยสังเกตจากการแสดงออกทางเพศของบุคคลเหล่านี้ บางครั้งก็ใช้วิธีการล่อลวงผู้คนให้เปิดเผยเพศสภาพหรือเพศวิถีของพวกเขาผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กและแอพฯ หาคู่ รวมถึงทำการตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยไม่มีกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สภาพแวดล้อมที่มีการกดขี่ข่มเหงเช่นนี้ส่งผลให้ชาว LGBTQ+ จำนวนมากในอียิปต์ไม่กล้าเปิดเผยตัว ใช้ชีวิตตามตัวตนของตัวเองแบบลับๆ เพราะกลัวว่าจะถูกทางการจับได้ ในเรื่องนี้นักข่าวของบีบีซีที่ชื่อ อาห์เหม็ด ชีฮับ-เอลดิน ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากคนในชุมชน LGBTQ+ ที่ถูกเล่นงานไม่ว่าจะจากทางการหรือจากแก็งค์อาชญากรรม มานำเสนอในรูปแบบสารคดีเชิงสืบสวนสอบสวนของบีบีซีที่ชื่อว่า "ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอียิปต์กำลังถูกโจมตี" (Queer Egypt Under Attack)

ตัวของ ชีฮับ-เอลดิน เองก็เติบโตมาในสังคมของอียิปต์เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว เขาบอกว่าเขารับรู้ดีว่าประเทศอียิปต์นั้นยังคงมี "ความเกลียดชังต่อคนรักเพศเดียวกันและความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศแพร่กระจายอยู่ในสังคม"

ชีฮับ-เอลดิน พูดถึงสถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในอียิปต์ว่าเป็นเรื่อง "น่าเศร้า" และ "น่าเป็นห่วง" อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามันยังชวนให้รู้สึก "สิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ"

"ความจริงก็คือ กองกำลังตำรวจความมั่นคงของอียิปต์ทำการจับกุมชาวเลสเบียน, เกย์, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ โดยพลการ ตำรวจทำการคุมขังพวกเขาในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดสิทธิในทุกรูปแบบ และเรื่องนี้ก็มีการบันทึกเอาไว้เป็นอย่างดี" ชีฮับ-เอลดินกล่าว

ชีฮับ-เอลติน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่า ไม่เพียงแค่ตำรวจอียิปต์เท่านั้นที่ทำการ "ลดทอนความเป็นมนุษย์" ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่สื่อของอียิปต์ก็มีส่วนในเรื่องนี้ด้วย ในวัฒนธรรมป็อบของอียิปต์โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียนั้นมีการใช้โวหารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในทำนองว่าการรักเพศเดียวกันเป็น "การก่อการร้าย" และบอกว่า "กลุ่มคนเหล่านี้ควรจะถูกสังหาร"

ในสารคดีของชีฮับ-เอลดิน มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีผู้ประกาศข่าวในอียิปต์พูดประณามชาว LGBTQ+ ออกอากาศ รวมถึงมีวิดีโอที่แสดงให้เห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกโจมตีอย่างโหดร้ายทารุณซึ่งรั่วไหลออกมาให้เห็นผ่านโซเชียลมีเดียก่อนหน้านี้

ชีฮับ-เอลดิน ได้สัมภาษณ์คนสองคนที่เป็นเหยื่อในวิดีโอทำร้าย LGBTQ+ ในอียิปต์คือ ไลลา และจามาล สองคนนี้เคยถูกทุบตีทำร้าย ถูกกระทำทารุณ และถูกบังคับให้แก้ผ้า

ไลลา ผู้ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศเล่าว่า เธอหนีออกจากจอร์แดนมาที่อียิปต์เนื่องจากกลัวเรื่องที่พ่อของเธอกระทำทารุณต่อเธอ ไลลาเล่าว่าพ่อของเธอทุบตีเธอและมัดเธอไว้ด้วยโซ่ตรวนเป็นเวลา 12 วัน ไลลาบอกว่าเธอยังคงฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อไลลามาอยู่ในอียิปต์เธอก็ต้องเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติและสภาพที่ทารุณไม่ต่างกันกับที่จอร์แดน เช่น การที่เธอขาดความมั่งคงเรื่องที่พักอาศัยและไม่มีงานทำ ไลลาเล่าว่าเธอต้องเอาชีวิตรอดด้วยการทำงานบริการทางเพศแต่ก็ทำให้เธอเสี่ยงถูกทางการอียิปต์จับได้จากที่ทางการอียิปต์มักจะแทรกซึมอยู่ในแอพฯ หาคู่เพื่อคอยดักจับชาว LGBTQ+

ชีฮับ-เอลดิน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าเขาได้พูดคุยกับชาว LGBTQ+ หลายคน แต่มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นที่จะยอมให้อัดวิดีโอแบบไลลา เขามองว่าการที่ไลลาและจามาลตัดสินใจจะพูดในเรื่องนี้ออกมาเป็นเพราะพวกเขาไม่มีอะไรจะต้องเสีย

ชีฮับ-เอลติน บอกว่าคนแบบไลลาและจามาลมีความกลัว ความสิ้นหวัง และความเจ็บปวดในระดับที่หนักหน่วงมาก จนทำให้ไม่มีที่ปลอดภัยให้ขอความช่วยเหลือได้ และพวกเขาก็ไม่สามารถไปแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการ ไม่สามารถหันกลับไปพึ่งครอบครัวได้ มีหลายคนถูกขับไล่ออกจากบ้าน พวกเขาเผชิญกับเรื่องราวการถูกทอดทิ้งและการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในแบบเดียวกัน

ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาพที่เลวร้ายเช่นนี้ แต่ ชีฮับ-เอลดิน ก็บอกว่าเขารู้สึกชื่นชมที่ชาว LGBTQ+ เหล่านี้ที่มี "ความกล้าหาญไม่ย่อท้อในการเผชิญหน้ากับการกดขี่ข่มเหงและการลิดรอนเสรีภาพอย่างไม่รู้จบ" ที่เกิดขึ้นในอียิปต์

ในสารคดีมีฉากที่ไลลาคุยกับเพื่อนของเขาชื่อมอสซาฟา ไลลาบอกว่า ถ้าหากไม่ต้องมีความหวาดกลัว ไม่ต้องมีเรื่องที่น่าสะเทือนขวัญ สุขภาพจิตของพวกเขาจะดีขึ้นมาก มอสซาฟาบอกว่า ไม่ว่าชีวิตจะแบ่งแยกพวกเขามากเท่าใด พวกเขาจะสามารถหาหนทางกลับมาพบเจอกันได้เสมอ

สำหรับไลลานั้น ในที่สุดฝันของเธอก็เป็นจริง เธอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในสวีเดน ไลลาพูดอย่างยินดีว่าเธอจะได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ และอาจจะสมัครเรียนต่อได้

ผู้ทำสารคดีคือชีฮับ-เอลดินยินดีกับไลลาเช่นกัน แต่ก็กังวลว่าถึงแม้ว่าเธอจะรอดพ้นจากอันตรายของสภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์กับเธอแล้ว แต่เธอก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ในการเป็นผู้ขอลี้ภัยในสวีเดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่เธอเป็น LGBTQ+ ด้วยแล้ว

ชีฮับ-เอลดิน กล่าวถึงนักกิจกรรม LGBTQ+ รายหนึ่งที่เสียชีวิตหลังจากลี้ภัยออกจากอียิปต์ นั้นคือกรณีของ ซารา เฮกาซี นักกิจกรรม LGBTQ+ ชาวอียิปต์และคนอื่นๆ ที่เคยเผชิญกับการถูกดำเนินคดีอย่างหนักจากทางการอียิปต์หลังเหตุการณ์คอนเสิร์ทปี 2560

เฮกาซีถูกคุมขังหลังจากที่โบกธงสีรุ้งที่คอนเสิร์ทของวงดนตรีเลบานอนที่ชื่อ Mashrou’ Leila ซึ่งมีนักร้องนำเป็นคนที่้เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์และเป็นนักกิจกรรม LGBTQ+ ธงสีรุ้งในคอนเสิร์ทครั้งนั้นสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจในอียิปต์จนทำให้เกิดกระแสการปราบปรามชาว LGBTQ+ ในอียิปต์โดยทางการ

เฮกาซีเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกทารุณกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทางการอียิปต์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมา เธอลี้ภัยไปยังแคนาดาไม่นานหลังจากนั้นเพราะกลัวว่าเธอจะถูกดำเนินคดีจากการที่เธอเป็นหญิงรักหญิงอย่างเปิดเผยในอียิปต์ แต่เมื่อปี 2563 เธอก็ฆ่าตัวตาย เฮกาซีได้รับการจดจำในฐานะผู้เป็นปากเสียงที่เข้มแข็งและทรงพลังในการต่อสู้กับความเกลียดชัง LGBTQ+ ในอียิปต์

ชีฮับ-เอลดิน บอกว่า เขากลัวว่าไลลาอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันกับที่เฮกาซีเผชิญหลังจากลี้ภัยไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นไปได้ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่มากกว่านี้คือเรื่องความโดดเดี่ยว, ความตื่นตระหนกต่อวัฒนธรรมใหม่ และการไม่สามารถหลอมรวมกับสังคมใหม่ได้

ชีฮับ-เอลดิน กล่าวว่า "เรื่องราวของเฮกาซีนั้นเป็นช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกอาหรับสำหรับคนจำนวนมาก ดังนั้นสำหรับผมแล้วมันจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมจดจำได้มากที่สุด"


 

เรียบเรียงจาก

Gang violence, death threats and police on dating apps: The brutal reality of being LGBTQ+ in Egypt, Pink News, 06-02-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net