เอ็นจีโอ-ผญ.ที่เคยทำแท้ง กรวดน้ำไล่ ‘อนุทิน’ เหตุตัดงบฯ กระทบสิทธิยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย

กลุ่มทำทาง-ผู้หญิงที่เคยทำแท้ง กรวดน้ำไล่ ‘อนุทิน’ เหตุตัดงบฯ ส่งเสริมสุขภาพ กระทบสิทธิยุติครรภ์อย่างปลอดภัยของหญิงท้องไม่พร้อม

7 ก.พ. วันนี้ เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มทำทาง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เดินทางมาที่ สธ. เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  จัดกิจกรรมทำบุญให้ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัยและกรวดน้ำคว่ำขันตัดเวรตัดกรรมกับรมว.สธ. ที่ตัดสิทธิผู้ใช้ประกันสังคมไม่ให้ได้รับงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช. ที่สนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 3000 บาทสำหรับคนไทยทุกคน สาปแช่งไม่ให้ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาลอีก 

เว็บไซต์ H Focus รายงานคำพูดของ กรกนก คำตา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ กลุ่มนำทาง กล่าวว่า การกรวดน้ำวันนี้มี 2 วัตถุประสงค์ กรวดน้ำครั้งแรกเพื่อทำบุญให้กับผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการกรวดน้ำคว่ำขันตัดเวร ตัดกรรมจาก รมว.สธ. ที่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยหลังจากที่กฎหมายมีการแก้ไข ทำให้คนควานหาที่ทำแท้งถูกกฎหมาย แต่ก็หาไม่เจอ ต้องเจ็บปวด เสียเงินจากการไปซื้อยาเถื่อน หรือทำแท้งเถื่อนจนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำหรับการทำแท้งปลอดภัยในสถานพยาบาลรายละ 3 พันบาท แต่ล่าสุดอนุทินกลับเซ็นยกเลิกจัดงบฯ นี้ในกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มผู้ประกันตน

 “ดังนั้นนี่เป็นความเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายอนุทิน โดยต้องออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดเลย ยิ่งไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ของประเทศนี้ เพราะตั้งแต่การบริหารโควิด-19 ที่ผิดพลาด การตัดงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จึงขอสาปแช่งนายอนุทิน ไม่ให้ได้เป็นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นสมัยไหน ต้องชดใช้กรรมที่ทำให้ผู้หญิงได้เดือดร้อน” กรกนก กล่าว  

สุไลพร ชลวิไล

สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการทำแท้งที่ปลอดภัยได้ แต่กลับพบว่ายังมีผู้หญิงจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยทำให้ต้องไปซื้อยาเถื่อนมาทำแท้งเอง ส่วนตัวเลขนั้นต้องขอบอกว่ามีการรายงานเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2542 จากนั้นเป็นเพียงการเฝ้าระวังในรพ.เพียง 1 แห่ง ต่อ 1 เขตสุขภาพ ดังนั้น จึงทำให้ข้อมูลคนเสียชีวิตจากการทำแท้งของผู้หญิงขาดหายไป หรือมีเพียงหลักหน่วย อย่างไรก็ตาม เนื่องในวาระที่กฎหมายทำแท้งฉบับแก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี จึงขอเรียกร้องให้สธ.ดำเนิน ดังนี้

1.ประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศให้ประชาชนรับทราบ

2.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัด สธ.ดำเนินการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวงว่าจะต้องเพิ่มจำนวนสถานบริการให้ได้อย่างน้อยปีละ 5-10 สถานบริการ

 3.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัดสธ.ที่ไม่ต้องการจัดตั้งหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามระบบ

4.ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท