ปชช.-ผู้ต้องขังทางการเมืองร่วมประท้วงอดอาหาร-น้ำ อดนอน ดัน 3 ข้อเรียกร้องทะลุวัง

7 ก.พ. 2566 จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีประชาชนและผู้ต้องขังทางการเมือง ร่วมประท้วงภาครัฐ โดยการอดอาหาร (Hunger Strike) อดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) และการอดนอน อย่างน้อย 8 ราย ผลักดัน 3 ข้อเรียกร้องของทะลุวัง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองมีนโยบายยกเลิก 112 และ 116 ไปจนถึงสิทธิการประกันตัว

ข้อมูลจากแถลงการณ์ของทะลุวัง เมื่อ 16 ม.ค. 2566 และเป็นวันเดียวกับที่ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ และ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สองนักกิจกรรมทะลุวัง ยื่นขอถอนประกันตัวเองในเวลาต่อมา โดยแบม ขอถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อ 2564 และตะวัน ขอถอนประกันตัว จากคดีมาตรา 112 จากการถ่ายไลฟ์สดก่อนขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านถนนราชดำเนินนอก 

ข้อเรียกร้องของทะลุวัง จำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

สองนักกิจกรรมประกาศอย่างชัดเจนว่าจะให้เวลาภาครัฐและพรรคการเมืองเป็นเวลา 3 วัน ในการตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว หากไม่ จะมีการยกระดับการชุมนุม

ภาพแบม (ซ้าย) และตะวัน (ขวา) ถ่ายโดย แมวส้ม

‘แบม-ตะวัน’ ประกาศอดอาหาร-น้ำ 

จนกระทั่งเย็นวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากนักการเมือง และฝากฝั่งกระบวนการยุติธรรม ได้มีการเผยแพร่คลิปบนโลกออนไลน์ ปรากฏภาพของแบม-ตะวัน ประกาศอดน้ำและอาหาร จนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบรับ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้วิธีอดน้ำและอาหาร (Dry Hunger Strike) ปัจจุบัน ทั้งแบม-ตะวัน อดอาหารและน้ำจำนวน 21 วันแล้ว และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ตลอดเวลา แม้มีสัญญาณดีขึ้นเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะทั้งคู่ยอมรับน้ำเกลือแล้ว

คลิปที่แบม และตะวัน ประกาศอดอาหารและน้ำ

ล่าสุดวันนี้ (7 ก.พ.) เวลา 16.26 น. ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแบม โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่มีกรอบเวลา และให้ประกันตัวตะวัน เป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผู้ยื่นคำร้องคือผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสุขภาพของทั้งคู่เข้าสู่ภาวะวิกฤต 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำชี้แจงของแบม และตะวัน เผยว่า ทั้งคู่ยังคงอดน้ำและอาหารต่อไปจนกว่าพรุ่งนี้ทนายความจะยื่นรายละเอียดการถอนหมายขังของทั้งสองคน และยืนยันว่าไม่รับรู้และไม่รับทราบใดๆ กับการที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และศาลสั่งถอนหมายขัง และนักกิจกรรมทะลุวังจะขอไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยตัว

ทั้งนี้ หลังแบม-ตะวัน ประกาศอดน้ำ-ข้าว เมื่อ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองถูกฝากขังเพิ่มเติม และมีผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว 2 ราย คือ 'ก้อง ทะลุราม' และ 'เอก' พนักงานบาร์ วัย 28 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สิทธิโชค' อดอาหาร ก่อนยกระดับเป็นการอดน้ำ-ข้าว

สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ประกอบอาชีพคนรับ-ส่งอาหาร บนระบบแพลตฟอร์ม หรือ ‘ไรเดอร์’ อายุ 26 ปี ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์, วางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 217 และ 358 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการถูกกล่าวหาว่านำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564 

ก่อนที่เมื่อ 19 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสิทธิโชค ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยอุกอาจ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีร้านแรง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

แต่ในระหว่างนั้น เมื่อ 17 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า สิทธิโชค เริ่มการอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) เพื่อประจานกระบวนการอยุติธรรมของศาล และเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน และเมื่อ 26 ม.ค. 2566 สิทธิโชค ยกระดับเป็นการอดทั้งน้ำ และอาหาร ทำให้ไรเดอร์วัย 26 ปี เป็นคนที่ 3 ที่ใช้วิธีอดน้ำ-ข้าว ต่อจากแบม และตะวัน 

เฟซบุ๊กเพจ 'ไข่แมวชีส' และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า สุขภาพของสิทธิโชค ไม่สู้ดีนัก เพราะหลังจากอดน้ำและอาหารเป็นเวลา 7 วัน (1 ก.พ. 2566) ไรเดอร์ วัย 26 ปี ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่ยังยืนยันว่าจะอดอาหาร และน้ำต่อ 

ภาพของสิทธิโชค ถูกส่งตัวไปดูแลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ (ที่มา: แมวส้ม)

เมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ อัพเดทอาการของสิทธิโชค โดยเจ้าตัวยอมจิบน้ำและดื่มนมแล้ว แต่ยุติการรับวิตามินทั้งวิธีกินและการให้ทางหลอดเลือด หลังทราบว่าศาลยังไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน

ล่าสุด เมื่อ 7 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว สิทธิโชค เศรษฐเศวต โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

ปัจจุบัน (7 ก.พ.) สิทธิโชค อดอาหารอย่างเดียวเป็นเวลา 22 วัน และอดทั้งน้ำและอาหารประท้วง รวม 13 วันแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อ 30 ม.ค. 2566 สิทธิโชค เคยเล่าให้ทนายความฟังว่ามีเพื่อนผู้ต้องขัง วัย 18 ปี มาร่วมอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) ด้วย แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าอดอาหารอยู่หรือไม่ 

'บาส' หนุ่มเชียงราย อดอาหาร ภาค 2 ช่วยดัน 3 ข้อทะลุวัง

หลังจากสิทธิโชคประกาศอดอาหารและน้ำแล้ว ‘บาส’ มงคล ถิระโคตร อายุ 29 ปี พ่อค้าเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรม จ.เชียงราย ประกาศอดหารประท้วง (Hunger Strike) หน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อร่วมผลักดัน 3 ข้อเรียกร้องทะลุวัง สำหรับ บาส เริ่มอดอาหารตั้งแต่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 8 วัน 

'บาส' มงคล ถิระโคตร (ที่มา: แมวส้ม)

บาส เริ่มอดอาหารหลังจากเมื่อ 26 ม.ค. 2566 เขาเพิ่งถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกคดี ม.112 กรณีถูกฟ้องโพสต์เฟซบุ๊ก 27 ข้อความ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดใน 14 กรรม ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 42 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษเหลือกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 28 ปี ก่อนได้รับการประกันตัวในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อเดือน เม.ย. 2564 มงคลเคยเดินทางมาอดอาหารหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แต่ประท้วงได้ 3 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ก็เข้าจับกุมตัวมงคล ตามหมายจับในคดีที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาข้างต้น 

'บัสบาส' มงคล ประท้วงอดอาหารหน้าศาลเข้าวันที่ 4 หนุน 3 ข้อเรียกร้อง #แบมตะวัน

ประท้วงอดอาหารเพิ่ม 1 ราย อดนอน เพิ่ม 3 ราย 

วานนี้ (6 ก.พ.) ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมการกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้ประกาศ ‘อดนอน’ ประท้วง ผลักดัน 3 ข้อทะลุวัง และเพื่อเรียกร้องให้ศาลสร้างหลักประกันว่าผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวแล้วจะไม่ถูกขังอีก โดยจะเริ่มวันนี้ (7 ก.พ.) วันแรก

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เก็ท เริ่มปรับลดเวลานอนให้น้อยลงเรื่อยๆ จาก 8 ชั่วโมง (ชม.) เหลือ 5 ชม. และ 3 ชม. ทั้งนี้ ทนายความผู้เข้าเยี่ยมสังเกตว่าวันนี้เขามีอาการเบลอ คิด พูด และตอบสนองช้ากว่าปกติ

นอกจากเก็ท แล้ว มี ‘จตุพล’ สมาชิกทะลุแก๊ส ผู้ต้องขังจากคดีเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงรถกระบะตำรวจที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ได้ร่วมทดลองปรับเวลานอนพร้อมกับ ‘เก็ท’ โดยปรับลดเวลานอนเพียงวันละ 4 ชม. มานาน 3 วันติดต่อกัน เมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา จตุพล มีอาการอาเจียน เบลอ และอ่อนเพลีย

สำหรับจตุพล อายุ 18 ปี ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.พ.) รวม 237 วัน 

ล่าสุดวันนี้ (7 ก.พ.) ศูนย์ทนายความฯ ได้รับรายงานว่ามีประชาชนและผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง ประท้วงด้วย 3 วิธีการหลัก คือ อดอาหาร (Hunger Strike) อดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) และประท้วงด้วยการอดนอน อย่างน้อย 8 ราย

ประท้วงโดยการอดอาหาร (Hunger Strike) 2 ราย ได้แก่ ‘บาส’ มงคล ถิระโคตร (ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาคดี 112) และคทาธร สมาชิกอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คดี ครอบครองวัตถุระเบิด)

ประท้วงโดยการอดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) เป็นคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ แบม ตะวัน และสิทธิโชค 

ประท้วงด้วยการอดนอน 3 ราย ได้แก่ 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จตุพล สมาชิกทะลุแก๊ส และ ณัฐพล สมาชิกทะลุแก๊ส

อารยขัดขืน ไม่ทานยา-ไม่เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้ เก็ท เล่าให้ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ฟังด้วยว่า นอกจากมีการอดนอน และอดอาหารในเรือนจำแล้ว ยังมีการอารยขัดขืนรูปแบบอื่นๆ เช่น การไม่รับประทานยา เนื่องจากก่อนหน้านี้เวลาผู้ต้องขังรับยา บางทีได้ยาไม่ตรงกับชนิดโรค หลังๆ ผู้ต้องขังจึงประท้วงมาตรฐานการรักษาพยาบาลของราชทัณฑ์โดยการไม่ทานยา 

ต่อมา เก็ท ระบุด้วยว่ามีการไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันในเรือนจำ เช่น ไม่ท่องค่านิยม 12 ประการ ไม่ท่องคำปฏิญาณตนในเวลาก่อนกินข้าว เนื่องจากมีท่อนเนื้อหาที่ต้องพูดในทำนองว่า “เพราะทำผิดมาจึงต้องถูกขังอยู่ในนี้” แต่ตอนนี้พวกเขาไม่ยินยอมที่จะท่องอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาหลายคนรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่ทำให้เขามาอยู่ในนี้ คือ “ความอยุติธรรมจากศาล”

‘แบม-ตะวัน’ เอฟเฟกต์

หลังการประกาศอดน้ำและข้าวของแบม-ตะวัน เมื่อ 18 ม.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.พ.) พบว่ายังไม่มีการคุมขังผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองเพิ่มเติม โดยคนสุดท้ายที่ถูกฝากขังหลังมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือ สิทธิโชค เศรษฐเศวต ซึ่งถูกฝากขังมาตั้งแต่ 17 ม.ค. 2566 

นอกจากนี้ มีผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 2 ราย เริ่มจากเมื่อ 3 ก.พ. 2566 เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์ อายุ 28 ปี ผู้ถูกกล่าวหาจากคดีมาตรา 112 จากกรณีแชร์ภาพและข้อความ จากเพจเฟซบุ๊ก “KTUK - คนไทยยูเค” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังถูกฝากขังมาตั้งแต่เมื่อ 22 ธ.ค. 2565 

ทั้งนี้ เอก ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพรวมระยะเวลา 48 วัน ระหว่าง 22 ธ.ค. 2565 จนถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2566 

ต่อมาคือ ‘ก้อง ทะลุราม’ หรืออุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 23 ปี ผู้ถูกศาลตัดสินจำคุกรวม 15 ปี ก่อนลดเหลือ 5 ปี 30 เดือน (ประมาณ 7 ปี 6 เดือน) ในคดีมาตรา 112 จากกรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ และถูกคุมขังไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวออกมาสู้คดี ตั้งแต่ 21 ธ.ค.เมื่อปีที่แล้ว (2565) อย่างไรก็ตาม เมื่อ 4 ก.พ. 2566 ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ก้อง ได้ออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ สำหรับสมาชิกทะลุราม ถูกฝากขังรวมระยะเวลา 49 วัน

ก้อง ทะลุราม ถ่ายโดย iLaw

ล่าสุด วันนี้ (7 ก.พ.) ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะ 4 ราย ระบุให้พนักงานคุมประพฤติทำรายงานสืบเสาะส่งภายใน 15 วัน ส่วนคงเพชร ให้ส่งประวัติการศึกษา-การประกอบอาชีพเพิ่ม เพื่อประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว

ในคดีของวัชรพล, จตุพล, พลพล และณัฐพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุเพลิงไหม้รถกระบะตำรวจ ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อ มิ.ย. 2565 ศาลระบุคำสั่งเห็นควรให้สืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่ ก่อนจะมีการพิจารณาคำสั่ง โดยขอให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติรายงานสืบเสาะต่อศาลภายใน 15 วัน โดยให้สืบเสาะและพินิจทั้งประวัติการศึกษา การประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสี่คนก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ตลอดทั้งพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวม

ส่วนกรณีของคงเพชร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน อายุ 18 ปี จำเลยร่วมในคดีเดียวกับคทาธร กรณีถูกกล่าวหาว่ามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ถูกฝากขังตั้งแต่ 11 เม.ย. 2565 โดยศาลเห็นว่า ให้ผู้ร้องเสนอหลักฐานประวัติการศึกษาและการประกอบอาชีพของจำเลยที่สองเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว จึงจะพิจารณาสั่ง

ปัจจุบัน (7 ก.พ.) มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองช่วงระหว่างพิจารณาคดี 12 ราย ได้แก่ คทาธร, คงเพชร, วัชรพล, พลพล, จตุพล, ณัฐพล, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ทัตพงศ์ เขียวขาว, สมบัติ ทองย้อย, สิทธิโชค เศรษฐเศวต, 'ใบปอ' ณัฐนิช และ 'เก็ท' โสภณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท