Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ เปิดงานวิจัยเด็กถูกละเมิดสิทธิชุมนุมและเสรีภาพการแสดงออกในช่วงปี 63-65 ชี้ไทยไม่คุ้มครองเด็กทั้งที่เป็นรัฐภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง ICCPR และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งดำเนินคดี ติดตามคุกคาม กดดันโรงเรียนและผู้ปกครองจนเกิดความรุนแรงทั้งในครอบครัวและที่โรงเรียน

8 ก.พ.2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวรายงานวิจัยชื่อ “เรากำลังเรียกคืนอนาคตของเรา: สิทธิของเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย” ที่มีการสัมภาษณ์เยาวชนและเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนเหล่านี้ในช่วงปี 2563-2565 โดยมีผู้วิจัยมานำเสนอรายงานและมีเยาวชนที่ให้ข้อมูลในรายงานมาร่วมแลกเปลี่ยน และตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก อธิบายเนื้อหาของรายงานว่าทำวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ทั่วประเทศและเป็นการชุมนุมประท้วงที่มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากและคาดว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

ผู้วิจัยชี้ว่า เมื่อไปดูวาทกรรมที่ใช้ตอบโต้กลับบอกว่าเสียงของเด็กเหล่านี้ไม่มีค่าเพราะยังไม่โตพอและไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือร่วมตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ หลังจากไปศึกษากับกลุ่มเด็กที่เป็นนักปกป้องสิทธิที่ออกมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้ก็พบว่ายังไม่มีงานศึกษาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับพวกเขาตลอดสองปีที่ผ่านมา งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการพยายามสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเข้าใจปัญหาการละเมิดสิทธิการชุมนุมของเด็กในไทยเป็นอย่างไร

ผู้วิจัยย้ำว่าสิทธิการชุมนุมเป็นสิทธินุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีไม่ใช่แค่ของทั้งเด็กแต่กฎหมายระหว่างประเทศมองว่าเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องได้รับคุ้มครอง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายถึงว่าพวกเขาไม่มีความสามารถ แต่การชุมนุมเป็นรูปแบบหนึ่งในการเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมจึงต้องหาทางปกป้องพวกเขาให้ได้ใช้ความสามารถของพวกเขาอย่างเต็มที่ และไทยเองก็แสดงเจตจำนงในการคุ้มครองสิทธิเด็กในการชุมนุมด้วยโดยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหรือ CRC แต่สำหรับไทยก็มีความลักลั่นอยู่ เพราะเมื่อย้อนไปดูจากการประชุม UPR เมื่อปี 2021 ที่นานาประเทศได้มีข้อแนะนำสำหรับไทยในเรื่องการคุ้มครองเด็กมากว่า 40 หัวข้อและไทยรับมาและสนับสนุนข้อแนะนำเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในเรื่องการชุมนุมและแสดงออกของเด็กรัฐไทยแค่มีท่าทีรับทราบแต่ไม่ได้สนับสนุน จึงเป็นข้อท้าทายตรงนี้อยู่เราเลยอยากมาดูว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้างเพื่อคุ้มครอสิทธิการชุมนุมของเด็กในไทย

ชนาธิปกล่าวถึงข้อค้นพบจากการทำวิจัยการชุมนุมทั้งประเด็นทางการเมืองและประเด็นสิทธิชุมชนเป็นระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาว่าพบมี 3 ปัญหาหลักคือ หนึ่ง รัฐใช้กลยุทธ์ที่อันตรายในการขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าร่วมชุมนุม สอง เด็กไม่ได้รับความปลอดภัยในการออกชุมนุม และสาม เด็กถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ

ประเด็นแรก เรื่องรัฐใช้กลยุทธ์ที่อันตรายคือเจ้าหน้าที่ใช้แรงกดดันทางอ้อมทั้งผ่านครูหรือผู้ปกครองในการกดดันไม่ให้ชุมนุม เช่น ครูข่มขู่ว่าจะหักคะแนนหรือไล่ออกไปจนถึงเกิดกับการใช้ความรุนแรงกับเด็ก รวมถึงโรงเรียนยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐโดยมอบข้อมูลของเด็กให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และความตึงเครียดจากการกดดันผู้ปกครองยังทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวด้วย เช่นในกรณีสถาปัตย์ (นามสมมติ) เยาวชนจากปัตตานีที่เจ้าหน้าที่ส่งคลิปที่เขาขึ้นปราศรัยให้แม่ทำให้เขาถูกครอบครัวทำร้ายร่างกายและยึดค่าขนมค่าโทรศัพท์ทำให้เขาต้องออกจากบ้านมา และจากการวิจัยก็ทำให้พบว่าไม่มีเพียงสถาปัตย์คนเดียวที่เจอเหตุการณ์ลักษณะนี้จากครอบครัว

กลุยทธ์ที่สองคือเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามข่มขู่ สอดส่อง จากการทำวิจัยพบว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมามีการคุกคามเด็กและเยาวชน 59 ครั้ง ทั้งการไปจับตาดูตามบ้าน โรงเรียน จนไปถึงการข่มขู่ถึงตัว เช่นกรณีของ พอร์ช(นามสมมติ) ที่มีอายุ 16 ปี ณ วันที่มาแสดงร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงานแต่หลังการชุมนุมยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามหลายเดือนจนมีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนั้นยังมีกรณีเยาวชนที่เป็นชาวมลายูมุสลิมชื่อ สาหร่าย(นามมติ) อาศัยอยู่ปัตตานี เข้าร่วมกิจกรรมที่เยาวชนมลายูมุสลิมรวมตัวกันเพื่อใส่ชุดท้องถิ่นและพูดคุยแลกเปลี่ยนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเอง หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นเธอได้รับข้อความจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่าการไปร่วมกิจกรรมแบบนี้จะเป็นอันตรายและข่มขู่ว่ามีเจ้าหน้าที่ไล่ล่าตัวอยู่

ประเด็นที่สองคือ เด็กไม่ได้รับความปลอดภัยในการออกไปชุมนุม คือมีข้อห่วงกังวลเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2564 ที่ตำรวจเริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างหนัก และที่แอมเนสตี้ติดตามอย่างจริงจังคือกรณีของ วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ที่เสียชีวิตในการชุมนุมแม้ว่าในคดีนี้ผู้ต้องหาจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็แสดงถึงความล้มเหลวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยแก่เด็กในการเข้าร่วมชุมนุม และยังมีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนยางยิงไปที่เด็กและมีการใช้เคเบิลไทร์รัดข้อมือในการจับกุมแม้ว่าพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวจะระบุไว้ว่าไม่ควรใช้เครื่องพันธนาการใดกับเด็ก อีกทั้งยังมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่คุมตัวเด็กออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุไปควบคุมไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดนที่ไม่ได้มีอำนาจในการสอบสวน

ประเด็นหลักที่สามคือ มีเด็กถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมโดยสงบจำนวนมากถึง 284 คน 111 คดี และส่วนใหญ่คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยคดีส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116

ชาธิปยกตัวอย่างกรณีของ จันทร์ ต้นน้ำเพชร จากชุมชนบางกลอยที่มาชุมนุมเรียกร้องเพื่อที่จะสามารถกลับไปที่ดินของบรรพบุรุษ แล้วจันทร์มาเป็นล่ามให้กับผู้ใหญ่ในชุมชนที่ไม่สามารถพูดไทยได้แต่เธอก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย

“หากมองในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศไม่ควรมีเด็กถูกดำเนินคดีจากการมาร่วมชุมนุมแสดงออกถึงความคิดเห็นของตัวเองแม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นต่างก็ตาม” ผู้วิจัยจากแอมเนสตี้กล่าว อีกทั้งเขายังพบว่าเมื่อเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ยังมีปัญหาอีกที่เด็กถูกตั้งคำถามรุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวและยังพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาในลักษณะโจมตีว่าเป็นสิ่งที่ผิด นอกจากนั้นผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับความยินยอมจากเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียังถูกศาลปฏิเสธไม่ให้เข้าสังเกตการณ์กระบวนการทางคดีอีกด้วย

ชนาธิปกล่าวอีกว่า แม้ไทยจะมีกลไกในประเทศหลายกลไกที่เด็กสามารถร้องเรียนได้ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษยชน์ (พม.) และอื่นๆ แต่ก็พบว่ามีอุปสรรคในการที่เด็กจะเข้าถึงกลไกเหล่านี้ ทั้งปัญหาความไม่ไว้ใจของเด็กต่อกลไกหรือไม่รู้จักกลไก แต่มีประเด็นที่เขาเน้นย้ำคือ เจ้าหน้าที่นำอำนาจที่ใช้ในคุ้มครองเด็กมาใช้ในทางที่ผิด เช่นกรณีที่ พม.ใช้อำนาจในการคุ้มครองเด็กมาใช้เพื่อควบคุมตัวเด็กที่รัฐกำลังคิดว่าจะทำการชุมนุมไปคุมตัวไว้ที่อาคารของ พม.เองและส่งสโมสรตำรวจโดยไม่มีหมาย โดยทาง พม.เห็นว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลยเอาไปควบคุมด้วยแต่หากมองจากมุมของกฎหมายระหว่างประเทศการใช้อำนาจแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเพราะเป็นการทำให้เด็กไม่สามารถใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ตำรวจข่มขู่ว่าจะเอาผิดผู้ปกครองที่ให้เด็กออกมาชุมนุมในปี 2564 ด้วย

ผู้วิจัยชี้ว่าปัญหาทั้งสามข้อนี้ทำให้เห็นว่าไทยยังไม่ได้มีการคุ้มครองสิทธิของเด็กมากเท่าที่ควรตามมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงมีคำถามว่าถึงเวลาที่ไทยจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะการคุ้มครองเด็กและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของเด็ก

ชนาธิปกล่าวว่าแอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องอยู่หลายข้อ แต่มี 3 ข้อหลักคือ

  1. รัฐบาลต้องหยุดข่มขู่ สอดส่อง และความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็กที่ออกมาชุมนุม
  2. ต้องยุติการดำเนินคดีเด็กที่ออกมาชุมนุมโดยสงบทันที
  3. แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่พุ่งเป้าในการเอามาใช้กับเด็กที่ออกมาชุมนุมโดยสงบเพื่อให้เข้ากับกติการะหว่างประเทศ


ธนกร ภิระบัน หรือเพชร

ธนกร ภิระบัน หรือเพชร เล่าประสบการณ์ที่ตนเองถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยว่า เขาเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในปี 63 ตามความสนใจทางการเมืองของตัวเองที่มีมาแต่เด็กและปกติก็เป็นคนที่ถูกเพื่อนร่วมห้องมองเป็นตัวประหลาดที่พูดเรื่องการเมืองในโรงเรียน และออกมาชุมนุมแล้วพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เขาก็ได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา

ธนกรกล่าวต่อว่าเขาได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ชั้นตำรวจและเขาน่าจะเป็นเยาวชนคนเดียวที่คดีมีคำพิพากษาแล้วแล้ว เขามองว่าไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา 112 กับเด็กและเยาวชนเลย และเท่าที่เขาได้คุยกับทั้งผู้พิพากษาและนักจิตวิทยาก็มองว่าเป็นสิทธิที่เด็กทำได้ และการดำเนินคดีนี้กลายเป็นเรื่องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งยังทำให้ครอบครัวต้องเสียรายได้จากการต้องมาศาลกับเขา และกระบวนการคดีของเด็กก็ใช้เวลามากกว่าคดีของผู้ใหญ่ และยังมีตำรวจติดตามถึงบ้านด้วย

ธนกรเล่าถึงตอนที่ได้เจอนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เขาเข้าใจว่าในคดีเด็กทั่วไปก็มีรูปแบบและมีแบบสอบถามไว้อยู่แล้ว แต่ในการทำแบบสอบถามมีการถามเรื่องส่วนตัวหลายอย่างเช่นเรื่องเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ มีคำถามเกี่ยวกับวิถีทางเพศของเขาเยอะทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย และในคำถามยังทำให้รู้สึกว่าถูกตัดสินไปแล้วว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งผิด แม้ว่าเด็กบางคนเขาจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่ไม่ได้เป็นการทำผิดอะไร แต่กระบวนการของศาลมันทำให้รู้สึกว่าได้ถูกตัดสินว่าผิดไปแล้ว

แซนด์

แซนด์ เยาวชนนักปกป้องสิทธิ และเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่าเธอเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี จนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ 11 คดี ที่มาสนใจการเมืองเพราะปัญหาเรื่องหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนที่ไม่เหมาะสมกับผู้เรียนมาจนถึงปัญหาเรื่องมลพิษจากโรงงานน้ำตาลที่อยู่ใกล้ชุมชนที่เธออยู่และจากเรื่องนี้ทำให้เธอเห็นว่าเรื่องมลพิษเกี่ยวกับการเมืองที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ปัญหา และปัญหานี้ไม่ได้เกิดแต่กับชุมชนของเธอแต่เป็นเรื่องที่เกิดทั้งประเทศ และได้ออกมาชุมนุมทางการเมืองหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป

แซนด์เล่าว่าช่วงแรกๆ เธอก็รู้สึกแตกต่างกับเพื่อนเหมือนกันแต่ก็ชวนเพื่อนคุยเพื่อให้เห็นปัญหาเหมือนกับที่เธอเห็นเพราะประสบปัญหามลพิษเหมือนกันก็แชร์กันว่าปัญหาที่เจออยู่มันเกิดจากอะไรมาจากไหน

ส่วนคดีแรกที่ทำให้แซนด์ถูกดำเนินคดี เธอเล่าว่าเกิดจากการจัดค่ายแล้วมีเจ้าหน้าที่ไปคุกคามเพื่อนร่วมค่ายโดยทางโรงเรียนก็ให้ข้อมูลส่วนตัวของเพื่อนเธอไปจึงไปเรียกร้องโรงเรียนรับผิดชอบเรื่องนี้แต่กลับทำให้เธอถูกดำเนินคดีซึ่งคดีนี้เกิดที่บ้านก็ยังไม่มีปัญหามาก แต่หลังจากมาชุมนุมที่กรุงเทพและถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เธอและแม่ต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่กรุงเทพก็ต้องสละเวลาเรียนและทำงานของแม่มา ซึ่งมองว่าการกฎหมายนี้ก็ถูกเอามาใช้ในการกลั่นแกล้งและจำกัดสิทธิมากกว่า และเธอเข้าใจว่าต้องสันนิษฐานว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีบริสุทธิ์ไว้ก่อน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่มากชักจูงหรืออาจจะเป็นเพียงแค่ให้คำแนะนำว่าให้สารภาพ ซึ่งเธอคิดว่าถ้าจะต้องสารภาพก็เพราะอยากให้คดีจบเร็วมากกว่าจะรับสารภาพเพราะรู้สึกว่าได้ทำผิดจริงๆ เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ก็เปนสิทธิที่จะทำได้อยู่แล้ว

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (CRC Coalition Thailand) กล่าวว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุมสัมพันธ์กัน แต่การใช้กฎหมายโดยไม่ตรงเจตนารมณ์ของกฎหมายและใช้อย่างนอกลู่นอกทางที่มีการนำเสนอไปเป็นข้อเสนอที่หน่วยงานของรัฐควรเข้ามารับฟัง เพราะการออกมารับฟังไม่ใช่เพียงแค่การรับฟังข้อเรียกร้องเท่านั้นแต่ยังเป็นไปเพื่อการพัฒนา เพราะในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้กำหนดให้พัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพซึ่งตรงกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น แต่เด็กต้องได้รับการศึกษาเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากนั้นยังมีสภาเด็กทั้งในระดับตำบลและระดับชาติที่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กในแต่ละท้องที่เข้าร่วมเสนอความต้องการ ความเห็นของพวกเขาโดยผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่มีตัวแทนของเด็กทั้งประเทศ

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการเน้นย้ำตรงนี้ทำให้ข้อเรียกร้องหลายอย่างของเด็ก เช่นเรื่องที่นักเรียนที่ออกมาตั้งคำถามเรื่องระเบียบวินัยในการศึกษาอย่างเรื่องการเข้ามายุ่งเรื่องแต่งตัวมันได้ทำให้เด็กได้พัฒนาการศึกษาดีขึ้นจริงหรือไม่หรือเป็นเพียงความต้องการของผู้ใหญ่

ตัวแทนจาก CRC มองว่ารัฐเองก็ควรเปิดเวทีรับฟังเพราะใน ICCPR ก็กำหนดไว้ว่าประชาชนต้องสามารถเข้ามาร่วมบริหารรัฐธกิจได้โดยตรง ซึ่งตรงกับมาตรา 58 ในรัฐธรรมนูญไทยที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องได้รับการชดเชยแต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนและรัฐกลับไปใช้เรื่องประชาพิจารณ์หรือการทำ EIA EHIA แทนที่ให้ใครก็ได้มาแสดงความเห็น ทั้งที่มาตรา 58 ได้เปิดให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือมาตรา 43 อนุสามในรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์หรือคัดค้านโครงการที่ไม่ก่อประโยชน์หรือสร้างความเสียหาย แต่ว่าปัญหาคือต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อจัดระเบียบข้อเรียกร้องการนำเสนอนำเข้ามาเสนอพูดคุยกัน ซึ่งหากทำได้ก็ทำให้ไม่ต้องมีใครออกมาชุมนุมกัน

สรรพสิทธิ์กล่าวว่าข้อเสนอของเด็กและเยาวชนไม่ได้มีแค่เรื่องผลลัพธ์ที่มาจากการเรียกร้องอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการพัฒนา โดยเฉพาะวัยรุ่นที่กำลังพัฒนาเติบโตการทำให้เกิดบทสนทนากับวัยรุ่นจะช่วยพัฒนาพวกเขา แต่ภาครัฐไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้แต่ไปปฏิบัติต่อประชาชนทั่วไปที่อาจจะมีการจำกัดบ้างนิดหน่อยอาจจะไม่มีปัญหา แต่จะมาจำกัดเด็กและเยาวชนทำไม เพราะการให้พวกเขานำเสนอความคิดก็เพื่อให้พวกเขาได้ตรวจสอบเองผ่านการแลกเปลี่ยนสนทนากันอยู่แล้วและการศึกษาพัฒนาก็เกิดผ่านการแลกเปลี่ยนบทสนทนากันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว

ช่วงท้ายมีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมฟังได้ถามคำถาม โดยมีทั้งคำถามเรื่องแนวทางในการผลักดันแนวทางแก้ไขกับภาครัฐและพรรคการเมืองที่กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอย่างไรบ้าง

ชนาธิป กล่าวว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วและจะทำต่อไปคือการเข้าพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเสนอรายงานรวมถึงข้อเสนอแนะด้วย และเห็นว่าข้อเรียกร้องในรายงานไม่ใช่เรื่องที่รอไปจนถึงมีการเลือกตั้งได้เพราะเด็กและเยาวชนยังถูกดำเนินคดี ถูกติดตามคุกคามอยู่ทุกวัน

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าจะต้องมีการขยายประเด็นบนเวทีที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้มาแสดงนโยบายด้านสิทธิที่เป็นระดับชาติ จากที่ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ฯ เคยเปิดเวทีในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพให้ผู้สมัครมาเสนอว่าจะผลักดันสิทธิด้านใดบ้างซึ่งในตอนนั้นก็เป็นเรื่องการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักเพราะการชุมนุมส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในกรุงเทพ เพราะทางแอมเนสตี้ฯ เองก็มีแคมเปญระดับนานาชาติที่ต้องผลักดันด้วยเหมือนกันสำนักงานไทยก็ต้องดูนโยบายที่เกี่ยวข้องกับไทยมาผลักดันต่อซึ่งเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชนถูกจัดลำดับความสำคัญของงานไว้สูงสุดที่จะต้องทำต่อในปีนี้และปีหน้า

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยตอบคำถามว่า ไม่ได้จะมีแค่การให้ผู้สมัครมาพูดเรื่องสิทธิแต่จะมีการผลักดันข้อเสนอไปถึงพรรคการเมืองเพื่อให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นนโยบายของพรรคด้วยและจะไปทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่กำลังจะได้เลือกตั้งครั้งแรกและเด็กที่ยังไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องไปดูว่าพวกเขามีข้อเสนออะไร

ผอ.แอมเนสตี้ฯ มีคำถามถึงสรรพสิทธิ์ในฐานะที่เป็นคนทำงานเรื่องสิทธิเด็กว่าที่เสนอว่าควรจะมีการสร้างบทสนทนากับฝ่ายรัฐด้วยแต่เมื่อจัดเวทีแล้วฝ่ายรัฐก็ไม่ค่อยมา เยาวชนก็ขาดความเชื่อมันในหน่วยงานภาครัฐมันเหมือนกับความสัมพันท์ที่ทั้งสองฝ่ายเข้ากันไม่ได้แล้วควรจะทำอย่างไรให้มาเจอกันได้ และอีกคำถามคือในฐานะองค์กรเด็กจะสามารถทำให้เรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองถูกใส่เข้าไปในการทำงานขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กหรือรัฐและกฎหมาย

สรรพสิทธิ์ตอบคำถามของผอ.แอมเนสตี้ว่า มีช่องทางอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 อนุสาม แต่รัฐสภาที่มีมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้และรัฐบาลไม่กระตือรือร้น ไม่มีนักการเมืองพูดประเด็นนี้เลย ถ้ามีคนจุดประเด็นขึ้นมาจะพรรคไหนก็ได้ก็จะมีการขยายผลว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่มีใครทำตามมาตรานี้เลย

ตัวแทนจาก CRC ตอบคำถามที่สองว่าวุฒิภาวะของเด็กยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ การมีบทบาททางการเมืองเป็นเรื่องอันตราย และเขาได้ย้อนไปถึงเรื่องการเกิดขึ้นของยุวชนนาซี มาจนมีเรดการ์ด ที่ถูกใช้กลไกชักจูงเด็กไปทางเสียหาย แต่ในส่วนของเรื่องการแสดงความคิดเห็นของเด็กที่เป็นอีกเรื่องเขาเห็นว่าไม่ควรที่จะถูกจำกัดและสามารถแสดงออกได้ตลอดเวลาและผู้ใหญ่ต้องสร้างบทสนทนาด้วยตามอนุสัญญาสิทธิเด็กข้อ 12 คือสิทธิที่เด็กจะถูกรับฟัง เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ได้เป็นปัญหาอะไรถ้าไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือผิดกฎหมายอะไร แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายก็ต้องตีความไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

“ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่าบางทีเด็กไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอเขาอาจจะเรียกร้องสิ่งที่เป็นผลเสียต่อเขาก็ได้ เช่น เด็กที่ถูกพ่อล่วงเกินทางเพศโดยที่มีการให้รางวัล ก็อาจจะอยู่กับพ่อในฐานะเป็นภรรยาอีกคน ซึ่งตรงนี้เราก็ยอมไม่ได้เพราะมันขัดต่อประโยชน์สูงสุดของเขาเอง” สรรพสิทธิ์กล่าว

ปิยนุช ในฐานะผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทยกลาวปิดงานว่า จากข้อค้นพบของทีมงานในช่วงสามปีที่เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องถอดถอนใจ สะเทือนใจ หรือตกใจแต่ก็เทียบกับชีวิตของเด็กที่ออกมาเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสังคมและมีอนาคตอย่างที่พวกเขาอยากให้เป็นไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา รัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศแต่ต้องเผชิญภัยคุกคาม และคดีทั้งที่พวกเขาไม่ควรจะเจอ มีครอบครัวคนใกล้ชิดที่ต้องมาเผชิญสิ่งเหล่านี้

“สามปีที่ผ่านมา แม้ว่าเด็กๆ จะพยายามพูดถึงสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาหรือของคนบางกลุ่ม อย่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มเซฟบางกลอย รวมถึงภาพใหญ่ที่เขาอยากเห็นการปฏิรูปทางการเมืองแล้วก็ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นเป้าหมายถูกปราบปราม” ผอ.แอมเนสตี้ฯ ไทยกล่าวถึงสถานการณ์ของเด็กที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปต้องเผชิญซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่มองเด็กอย่างไร มองว่าพวกเขาต้องเคารพผู้ใหญ่ มองว่าพวกเขาไม่พร้อม หรือมองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการยืนหยัดในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ

ปิยนุชกล่าวว่าสิ่งที่กล่าวไปนี้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อรัฐไทยที่เป็นภาคีอยู่ใน ICCPRการมีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่รัฐไทยเชิดชู และการเข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องประกันสิทธิในการชุมนุมของเด็กและสิทธิที่เกี่ยว และเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของพวกเขาแต่เชื่อมโยงกับสิทธิในการมีชีวิตรอด สิทธิในการพัฒนาของเด็ก และอื่นๆ ที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองและเชื่อมโยงกันไปทั้งหมด

“เราพบว่าเด็กหลายคนไม่ได้มีความไว้เนื้อเชื่อใจระบบหรือกระบวนการที่รัฐมีให้ แม้กระทั่งรัฐเองก็ไม่ได้มีความจริงใจที่จะมางานหรือสิ่งที่เราจัดพูดคุยครั้งนี้” ผอ.แอมเนสตี้ฯ สะท้อนและหวังว่าในการมาพูดคุยครั้งนี้รัฐจะรับฟังและมีจริงจังในการแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะภาพที่ออกมาเป็นภาพที่ตรงข้ามกับการที่ไทยเป็นรัฐภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงอยากฝากว่าถ้าทุกคนเห็นประโยชน์และสิทธิของเด็กแล้วก็ควรต้องดูถึงสิ่งที่เขาเรียกร้องและกระบวนการยุติธรรม การทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

ปิยนุชได้เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องทั้งสามข้อในรายงานว่า ขอให้ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดกับเด็กและยุติการข่มขู่คุกคาม สอดแนมเด็กด้วย และยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่กดขี่สิทธิในการชุมนุมและการแสดงของเด็กเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“สุดท้ายนี้ดิฉันจำได้ว่าครั้งแรกที่เด็กคนแรกโดนคดี 112 ดิฉันตกใจแค่ไหน สังคมไทยตกใจแค่ไหน ดิฉันขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่อยากทำให้เรื่องนี้ที่เป็นเรื่องที่ปกติเรามองผ่านเลยไป คุณก็ทำเกือบสำเร็จ แต่เสียใจกับรัฐบาลด้วยว่าเราจะไม่ยอมให้มีการลอยนวลพ้นผิดหรือการกระทำกับเด็กเยี่ยงนี้ต่อไป” ผอ.แอมเนสตี้กล่าวทิ้งท้าย

 

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ “เรากำลังเรียกคืนอนาคตของเรา: สิทธิของเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net