Skip to main content
sharethis

“ตะวัน-แบม” อดข้าวน้ำต่อ จนกว่า ‘ทะลุแก๊ส’ ได้ประกันทั้งหมด ให้เวลา 3 วัน หากไม่คืบ เตรียมออก รพ.ธรรมศาสตร์ ประท้วงอดอาหารน้ำที่อื่นต่อ แพทย์ธรรมศาสตร์ อัพเดทอาการ ‘แบม-ตะวัน’ อดอาหาร แต่จิบน้ำ รู้สึกตัวดี มีอาการปวดหลอดเส้นเลือดดำส่วนปลายที่แขนซ้าย ทำให้นอนไม่หลับ แพทย์จับตาดูอาการ refeeding syndrome ใกล้ชิด 

 

8 ก.พ. 2566 สำนักข่าวราษฎร รายงานวันนี้ (8 ก.พ.) ที่หน้าหอพักผู้ป่วยยูงทอง 2 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เวลา 15.30 น. กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมที่กำลังอดอาหารและน้ำประท้วง แถลงข่าวระบุว่า สืบเนื่องจากวานนี้ (7 ก.พ.) ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายปล่อยแบม และตะวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำหมายปล่อยเข้ามาที่ รพ.ในช่วงค่ำ ทั้งนี้ ศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ไม่มีหลักประกัน ไม่สั่งติดกำไล EM ไม่ห้ามออกจากบ้าน แต่ตะวัน จะต้องไปรายงานตัวต่อศาลหลังครบกำหนด 1 เดือน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ที่มา: ไทยวอยซ์)

นายกฤษฎางค์ ชี้แจงว่าก่อนหน้านี้ทั้งคู่ได้รับการประกันตัวไปแล้ว และขอถอนประกันตัวเอง ก่อนประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำ เพื่อให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง 7-8 รายที่ถูกขังมาปีเศษ โดยทางผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เป็นผู้ทำหนังสือยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวตะวัน และแบม โดยแนบรายละเอียดทางการแพทย์ และระบุว่า รพ.ธรรมศาสตร์ ได้รับผู้ป่วยทั้งคู่มาจาก รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งทั้งคู่มีอาการวิกฤตอาจเสียชีวิตได้ และมีรายละเอียดอาการแนบไป จึงขอให้ศาลยึดหลักว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน เพราะการรักษาพยาบาลภายใต้เงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย โดยศาลได้อนุมัติหมายปล่อย พร้อมให้เหตุผลเห็นพ้องตามที่โรงพยาบาลร้องขอ ดังนั้น จากนี้กรมราชทัณฑ์จะไม่สามารถมาควบคุมตัวทั้งคู่ได้ นอกจากจะมีหมายจับเท่านั้น 

ขณะนี้ตะวัน กับแบม ยังอดอาหารและน้ำอยู่ แต่ยังรับน้ำเกลือ โดยทั้งสองขอให้ทนายความช่วยยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทางการเมือง 9 คนอีกที หากภายใน 3 วัน ยังไม่มีการตอบรับจากศาลในเรื่องการขอยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่นๆ จะขอออกจาก รพ.ธรรมศาสตร์ เพื่อไปอดน้ำและอาหารในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากทั้งคู่มองว่าศาลอาจเข้าใจถึงเจตนารมณ์การอดอาหารของทั้งคู่ผิด เพราะไม่ได้ทำเพื่อขอประกันตัวเอง แต่ขอให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีการเมืองรายอื่น

"ในส่วนตัวตนรู้สึกเป็นห่วง และกังวลใจ คิดว่าเท่าที่ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับตะวัน และ แบม 22 วัน ตนไม่เห็นการตอบรับ ที่จะรับฟังเหตุผลกับตะวันและแบม เช่น ผู้ต้องหา 8-9 คน เป็นคดีการเมือง ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด แม้จะมีคนตั้งคำถามว่าเป็นระเบิด อาวุธร้ายแรง แต่นี่ก็ยังเป็นข้อกล่าวหา คนเหล่านี้ปฏิเสธมาตลอด จึงมีสิทธิที่จะออกมาสู้คดี กลัวว่าเสียงของทั้งคู่ จะดังไม่พอให้คนที่มีอำนาจได้ยินพวกเขา" กฤษฎางค์ กล่าวทิ้งท้าย

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจ ‘โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ’ โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 20.17 น. เผยแพร่แถลงการณ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ รายงานความคืบหน้าอาการของตะวัน และแบม วันนี้ (8 ก.พ.) ทั้งคู่ยังคงอดอาหาร แต่จิบน้ำ รู้สึกตัวดี มีอาการปวดหลอดเส้นเลือดดำส่วนปลายที่แขนซ้าย ทำให้นอนไม่หลับ สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังคงรับสารน้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ ขณะที่แพทย์จับตาอาการ 'refeeding syndrome' ของทั้งคู่อย่างใกล้ชิด

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่องชี้แจงอาการแบม-ตะวัน 

สรุปอาการป่วยของคุณทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และคุณอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 วันที่ 16 ของการรักษา 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) ยังคงไม่ได้รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นรู้ตัวดี โต้ตอบได้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง ยังมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติหรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น มีลมในช่องท้อง นอนไม่หลับ เนื่องจากปวดหลอดเลือดดำส่วนปลายที่แขนซ้ายจากการให้สารน้ำ (phlebitis) รู้สึกว่าการคิดและความจำปกติ การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังคงได้รับสารน้ำและแร่ธาตุ วิตามิน เพื่อประคับประคองภาวะขาดน้ำและสารอาหาร 

อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นรู้ตัวดี โต้ตอบได้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง มีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น เหนื่อยเวลาเดิน ต้นขาอ่อนแรง มีลมในช่องท้อง ปวดหลอดเลือดดำส่วนปลายที่แขนขวาจากการให้สารน้ำ (phlebitis) หลับเป็นพักๆ รู้สึกว่าการคิดและความจำปกติ การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังคงได้รับสารน้ำและแร่ธาตุ วิตามิน เพื่อประคับประคองภาวะขาดน้ำและสารอาหาร 

กรรมการแพทย์ที่ร่วมดูแลยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการหลังได้รับสารอาหาร (refeeding syndrome) หลังจากการอดอาหารอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ได้รับการอนุญาตเผยแพร่ข้อมูลจากผู้ป่วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net