Skip to main content
sharethis

แรงงานแห่ ร้อง ปคม.ถูกบริษัททัวร์หลอกไปทำงานต่างประเทศ

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสายไหมต้องรอด พากลุ่มผู้เสียหายประมาณ 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ภาณุภัค สืบปรุ รองผกก.สอบสวน กก.4 บก.ปคม. เพื่อร้องขอความเป็นธรรมหลังถูกบริษัททัวร์ชื่อดังแห่งหนึ่งหลอกให้จ่ายเงินอ้างพาไปทำงานยังต่างประเทศ ก่อนถูกปล่อยลอยแพแล้วเชิดเงินหนีไป โดยนำเอกสารหลักฐานการโอนเงินมามอบให้ประกอบการพิจารณา

นายเอกภพ กล่าวว่า บริษัททัวร์ดังกล่าวได้แอบดำเนินกิจการจัดพาคนไปทำงานประเทศนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย โดยเรียกค่าดำเนินการหัวละ 140,000 - 200,000 บาท แต่เมื่อมีผู้หลงเชื่อจ่ายเงินให้ กลับไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศได้จริง หรือ บางรายที่ได้เดินทางส่วนใหญ่ก็มักจะถูกลอยแพทิ้งไว้ที่ต่างประเทศ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน จนบางคนต้องอาศัยนอนตามวัดเพื่อรอให้ญาติส่งเงินมาให้ใช้เป็นค่าเดินทางกลับ ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทดังกล่าวยังมีการโพสต์โฆษณาตามสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายได้แล้วประมาณ 2-3 ร้อยคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น ชลบุรี รวมความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายไว้ ก่อนส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/2/2566

ประกันสังคมมอบเงินเยียวยา ครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 7.8 ริกเตอร์ในตุรเคีย เมื่อวันที่ 6 ก.พ.66 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วขณะนี้จำนวน 12,000 คนและบาดเจ็บ 62,000 ราย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว กำชับให้สำนักงานประกันสังคม เร่งตรวจสอบข้อมูล และให้การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสบเหตุ โดยขณะนี้ พบผู้เสียชีวิตเป็นคนไทย 1 ราย ชื่อ นางสาวชไมพร หอมสันเทียะ อายุ 28 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ และได้เดินทางไปทำงาน ในตำแหน่งพนักงานนวดที่สปาของโรงแรม Ramada by Wyndham Iskenderun จากการตรวจสอบพบว่า นางสาวชไมพร เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และลาออกเมื่อปี 2558

นายบุญสงค์ ลธ. สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ นางวันวิสาข์ศุภศรี ประกันสังคมจังหวัดชัยภูมิ ลงพื้นที่ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชัยภูมิ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครอบครัว พร้อมมอบเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 11,337.10 บาท พร้อมดอกผลจำนวน 3,679.96 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,017.06 บาท โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จ่ายให้บิดามารดาของนางสาวชไมพร หอมสันเทียะ ซึ่งเป็นทายาท ตามกฎหมาย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม พร้อมเร่งเยียวยาทุกเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ประสบความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที ตามภารกิจอันสำคัญของกระทรวงแรงงาน เพราะทุกคนคือคนใน "ครอบครัวประกันสังคม"

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 9/2/2566

พบแรงงานไทยเสียชีวิต เหตุแผ่นดินไหวตุรกี รมว.แรงงาน สั่งรุดเยี่ยมครอบครัว-มอบสิทธิช่วยเหลือทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมาว่า

ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้รับทราบข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศว่า พบคนไทยเสียชีวิต 1 ราย ที่ซากปรักหักพังของอาคารในเมือง Iskenderun จังหวัด Hatay ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในตุรกี

ทันทีที่ทราบข่าวดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยและแสดงความเสียใจกับครอบครัวคนไทยที่เสียชีวิต จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลและให้ความช่วยเหลือตามกฎหมาย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก และกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานเสริม

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานและสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูล พบว่า ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว ชื่อ น.ส.ชไมพร หอมสันเทียะ อายุ 28 ปี เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ ได้เดินทางไปทำงานในตำแหน่งพนักงานนวดที่สปาของโรงแรม Ramada by Wyndham Iskenderun โดยเดินทางด้วยตนเอง ไม่ได้แจ้งการเดินทางผ่านกรมการจัดหางาน และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ

แต่ทั้งนี้ น.ส.ชไมพร เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนเมื่อปี 2558 มีเงินชราภาพอยู่จำนวน 11,337.10 บาท รวมดอกผล จำนวน 3,679.96 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,017.06 บาท ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะจ่ายให้บิดามารดาของ น.ส.ชไมพร ซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมาย

ด้าน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิตนำทีมหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชัยภูมิ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านของแรงงานไทยรายนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมให้ประกันสังคมจังหวัดชัยภูมิ มอบสิทธิประโยชน์แก่บิดามารดา ซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายของแรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วย

“ขอย้ำเตือนให้แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์การคุ้มครองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในต่างประเทศตามกฎหมาย” ปลัดฯ บุญชอบ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ข่าวสด, 9/2/2566

เครือข่ายแรงงานบุก "ประกันสังคม" จี้จัดเลือกตั้งบอร์ด สปส. หลังเตะถ่วงมา 2 ปีไม่คืบหน้า

7 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และกลุ่ม MIGRANT WORKING GROUP นำโดยนายเซีย จำปาทอง ผู้แทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และประธานสหภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดินทางมายื่นหนังสือถึงเลขาสำนักงานประกันสังคม เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) แก้ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ข้อ 16 (1)

นายเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกันตนเคยเรียกร้องให้ดำเนินการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ตามที่มีการออกระเบียบเมื่อปี 2564 แต่ตอนนี้ผ่านมา 2 ปี ยังไม่ดำเนินการ พอมาทวงถามเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 ก็ออกมาระบุว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน มี.ค. 2566 แต่ขณะนี้กลับยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังไม่เห็นไทม์ไลน์เลย ทั้งที่เหลืออีกแค่ 1 เดือน วันนี้จึงมาทวงถามความคืบหน้า ขอทราบเหตุผลในการไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเช่นเดียวกันมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งด้วย และยังขอให้มีการเปิดเผยผลการนำเงินกองทุนไปลงทุนกองทุนว่า มีผลประกอบการเป็นอย่างไร ส่วนรูปแบบการเลือกตั้ง เราพร้อมทั้งการหย่อนบัตรและออนไลน์ แต่เท่าที่ทราบจาก สปส. บอกว่าหากใช้เลือกตั้งแบบหย่อนบัตรจะใช้งบประมาณมากหน่อย แต่หากใช้แบบออนไลน์ก็อ้างว่าระบบไม่เสถียร ดังนั้นยังไม่รู้ว่าสปส.จะดำเนินการอย่างไร

เมื่อถามว่าขณะนี้ไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร กังวลว่าจะเป็นเหตุผลให้เลื่อน หรือไม่จัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส. หรือไม่ นายเซียกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เรากังวล ทั้งที่ระเบียบเลือกบอร์ด สปส. ออกมาตั้งแต่ 2564 สปส. ควรจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ไม่ดำเนินการ ไม่รู้ว่าเตะถ่วงอะไร มันมีอะไรที่ทำให้พวกคุณไม่อยากจัดให้มีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งบอร์ดออกไป แล้วถ้า สปส.ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน และเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ สปส. เตะถ่วง เราก็จะฟ้องร้องมาตรา 157 ซึ่งขณะนี้มีการปรึกษาหารือกับทนายความแล้ว ตอนนี้เรารอฟังคำชี้แจงเฉพาะวันนี้เท่านั้น

“ที่ผ่านมาบอร์ด สปส. จะมาจากการเลือกตั้งจากระบบของผู้แทนของสหภาพแรงงานที่เลือก พอรัฐประหารปี 2557 คสช. ก็สั่งยุบบอร์ดเดิม แล้วแต่งตั้งบอร์ดใหม่มาแทน จนถึงตอนนี้ ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราคิดว่าข้อเสนอที่ผู้ประกันตนเสนอ ค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามที่เสนอ จึงถึงวลาที่ควรเปลี่ยนได้แล้ว ผู้แทนผู้ประกันตนก็ต้องมาจากผู้ประกันตนเลือกมา” นายเซีย กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/2/2566

ครม.ไฟเขียวคนต่างด้าว 4 สัญชาติกว่า 2 ล้านคน ทำงานต่อถึง 15 พ.ค. 2566

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวหลังวันที่ 13 ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 2565 ซึ่งประกอบด้วยแรงงาน 4 สัญชาติได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พ.ค. 2566 และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาถึงวันดังกล่าว

เพื่อให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ครบถ้วนต่อไป และเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังต้องการแรงงานเพื่อดำเนินกิจการในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยที่แรงงานยังอยู่ในกำกับและการบริหารของหน่วยงานรัฐ และแรงงานก็ยังคงได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมายตามสิทธิที่พึงได้

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองของบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรีจาก 13 ก.พ. 2566 เป็น 13 พ.ค. 2566 เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาประมาณ 300,000 คนอยู่ระหว่างการทำเอกสาร CI ส่วนทางการ ลาว และกัมพูชา หากประสงค์จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัว ให้มีหนังสือผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อนโดยดำเนินการได้ถึง 13 พ.ค. 2566

ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวยื่นเอกสารครบถ้วนตามกำหนดแล้ว ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2567 หรือ 13 ก.พ. 2568 แล้วแต่กรณี

สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการออกแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวนี้ เนื่องจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทำงานตาม มติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 2565 จำนวน 2,425,901 คน ประสงค์จะทำงานต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 13 ก.พ. 2566

แต่ปรากฎว่าล่าสุดได้มีการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 403,062 คน และยังไม่ดำเนินการยื่นคำขอ 2,022,839 คน  เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วน โดยอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่กับประเทศต้นทาง ตลอดจนเอกสาร CI จึงจำเป็นต้องมีการผ่อนผันให้คนต่างด้าวดังกล่าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและดำเนินการจัดทำเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน

ที่มา: TNN, 7/2/2566

พบแรงงานนอกระบบไม่มีการออมเงินเพื่อเกษียณ 16.1 ล้านคน “คลัง” หนุนออมผ่าน กอช.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวเปิดการประชุมมอบนโยบายบทบาทกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ประจำปี 2566 ว่า การออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีแรงงานนอกระบบ อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ โดยในปี 2565 พบว่า แรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน มีการออมเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคม จำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิก กอช. จำนวน 2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอีก 16.1 ล้านคน หรือ 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

สำหรับการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่ง กอช. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออม และสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ในยามชราภาพให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งสร้างวินัยการออมให้ประชาชนคนไทยตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถเข้าถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง

“ที่ผ่านมา กอช. ได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น 11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ครม. ได้มีมติปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม ซึ่งการปรับเพิ่มจำนวนเงินดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มแรงจูงใจในการออม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ โดยเฉพาะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนมีการออมเพื่อการเกษียณเร็วขึ้น

สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 กอช. มีแผนงานลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ กอช. เพิ่มเติมอีก 28 จังหวัด จัดอบรมเสมียนตราอำเภอทั่วประเทศในเดือนมีนาคม โดยเลขาธิการคณะกรรมการ กอช. จะเป็นผู้บรรยาย พร้อมตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ กอช. และเพิ่มเป้าหมายตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านอีกจำนวน 10,000 ราย พร้อมทั้งจะมีการมอบรางวัลแก่จังหวัดที่ส่งเสริมวินัยการออมดีเด่นด้วย

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1. มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 2. พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric) โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่กระตุ้นการออมสมาชิกเก่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช.

ยุทธศาสตร์ที่ 3. บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 4. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร และยุทธศาสตร์ที่ 5. ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร

ที่มา: ไทยโพสต์, 7/2/2566

TNN ออกแถลงการณ์ พนักงานเสียชีวิต เยียวยาช่วยเหลือเต็มที่ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ

6 ก.พ. 2566 สถานีข่าว TNN ออกแถลงการณ์ถึงพนักงาน หลังมีเจ้าหน้าที่อาวุโส รับผิดชอบการจัดผังรายการของสถานีข่าวเสียชีวิต โดยแถลงการณ์ระบุว่า ถึงเพื่อนพนักงาน TNN จากกรณีที่ คุณศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ (เบิร์ด) เจ้าหน้าที่อาวุโส รับผิดชอบการจัดผังรายการของสถานีข่าว TNN ซึ่งเป็นเพื่อนพนักงานของเรา ได้เยชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ขณะปฏิบัติงาน ณ สถานีข่าว TNN นั้น

บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ที่เอ็นเอ็น) และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของคุณเบิร์ดเป็นอย่างยิ่ง และตระหนักถึงความรู้สึกของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ในส่วนของบริษัทฯนั้น รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นนี้บริษัทจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของคุณเบิร์ดอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษให้กับครอบครัวเป็นจำนวน 24 เดือนของเงินเดือนปัจจุบัน พร้อมเงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เงินจากกองทุนประกันสังคมตามสิทธิ์ที่พนักงานควรได้รับ

รวมถึงการเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรมศพตลอดจนงานฌาปนกิจ โดยขอเชิญชวนเพื่อนพนักงานร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของคุณเบิร์ด ณ ศาลานรินทร์สุขสันติ (ศาลา 1) วัดมหาวงษ์ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ และร่วมพิธีณาปนกิจในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 17.00 น. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้ง ด้วยความอาลัยยิ่ง ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักข่าว TNN สถานีโทรทัศน์ True4u และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ที่มา: แนวหน้า, 6/2/2566

รมว.แรงงานสั่งสอบเหตุพนักงานดับคาโต๊ะทำงาน แนะลูกจ้างถูกเอาเปรียบแจ้ง กสร. ทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่เรื่องราวของหนุ่มวัย 40 ปี พนักงานจัดผังรายการทีวีช่องดัง ที่เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน หลังจากร่างกายรับไม่ไหวที่ต้องรับหน้าที่ในการจัดผังรายการถึง 2 ช่อง คนเดียว ทั้งที่เคยร้องขอให้ทางบริษัทมีการจัดหาพนักงานมาช่วยทำงานแล้วว่า เรื่องนี้จะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์ เบื้องต้นต้องดูว่าระหว่างเสียชีวิตเป็นการเข้ากะทำงานหรือไม่ สามารถใช้เงินกองทุนทดแทนชดเชยได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตรวจสอบการทำงานหนักว่าเป็นไปตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถรู้ได้ว่าบริษัท สถานประกอบการใดมีการใช้แรงงานหนักหรือไม่อย่างไร หากไม่มีการร้องเรียนเข้ามา ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ก็พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบ สำหรับกรณีนี้ลูกจ้างเสียชีวิตไปแล้ว ญาติ หรือเพื่อนร่วมงานสามารถเป็นปากเป็นเสียงแทน เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบ พยานหลักฐานได้ และจะได้มีการพิจารณาเงินกองทุนชดเชยการทำงานด้วย

เมื่อถามอีกว่า หากเป็นภาวะที่บีบให้ทำงานหนัก หรือมีการรับปากหาคนมาช่วยทำงาน แต่ไม่ได้เป็นไปตามพูดคุยกัน นายสุชาติกล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกัน คนนอกจะรู้ได้ต่อเมื่อมีผู้เสียหายร้องเข้ามา ซึ่งเคสอย่างนี้ต้องไปดูว่าเขาเคยร้องเรียนมาที่ กสร.หรือไม่

เมื่อถามย้ำว่า หากไม่ได้ร้องเรียน แต่มีการเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน กระทรวงแรงงานหรือกรมที่รับผิดชอบสามารถรุกเข้าไปตรวจสอบดูแลได้หรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า แน่นอน รุกได้ตามกฎหมาย แต่ก็ต้องถามกลับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอธิบดี กสร. จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนมีการเอารัดเอาเปรียบ หากไม่มีการมาร้องเรียน ถ้ามีการร้องเรียนเข้ามาเราเข้าไปตรวจสอบทันทีอยู่แล้ว แต่หากเรารุกเข้าไปเลย อาจจะเกิดกรณีลูกจ้างไม่มีใครยอมให้ข้อมูล ไมให้ความร่วมมืออะไร

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/2/2566

รมว.ไทย หารือ รมว.แรงงาน มาเก๊า ปั้นแรงงานภาคบริการส่งออกตลาดมาเก๊าเพิ่ม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับ นาย เล่ย ไหว่ น่อง (Mr. Lei Wai Nong) รัฐมนตรีว่การกระทรวงแรงงานมาเก๊า เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรด้านแรงงานฝีมือและประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติในมาเก๊าและไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับ นาย เล่ย ไหว่ น่อง (Mr. Lei Wai Nong) รัฐมนตรีว่การกระทรวงแรงงานมาเก๊า เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรด้านแรงงานฝีมือและประสบการณ์ในการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติในมาเก๊าและไทย

รมว.สุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขยายตลาดแรงงานในมาเก๊า ผมได้เสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่าง 2 ฝ่าย เพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการฝึกทักษะแรงงานในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญระหว่างกัน โดยในเบื้องต้นได้ขอให้ฝ่ายมาเก๊าพิจารณาจ้างแรงงานไทยภาคบริการ ซึ่งประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนในการจัดอบรมพัฒนาฝีมือ ทักษะภาษา เพื่อให้แรงงานไทยมีความสามารถ/ยกระดับฝีมือเพื่อส่งต่อให้ภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการทำงานและการจ้างงาน แบบยั่งยืนเป็นการวินวินของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

“กระทรวงแรงงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเยือนครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเก๊าที่จะได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและและสานต่อความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือภาคแรงงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยสามารถตอบสนองอุปสงค์และอุปทานของแต่ละฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป” รมว.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สยามรัฐ, 5/2/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net