Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เวลาพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “ศีลธรรม” คนทั่วไปมักเข้าใจว่าตนเองกำลังพูดถึง “ความดี” หรือสิ่งที่ดี มีประโยชน์กับปัจเจกบุคคล สังคม หรือมนุษยชาติ หลายคนเชื่อว่าศีลธรรม อย่างเช่นศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนา “ดีในตัวมันเอง” ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าคนส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมของศาสนาต่างๆ สังคมมนุษย์ก็จะมีแต่ความสงบสุข 

ปราชญ์พุทธบางคนถึงขนาดตั้งปนิธานว่า จะสนับสนุนให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงคำสอนที่เป็นแก่นแท้ศาสนาของตนเอง เพราะเชื่อว่า “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ” และเชื่อว่า “ทุกระบอบการปกครองไม่ว่าราชาธิปไตย เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ถ้ามีธรรมะกำกับก็จะเป็นระบอบการปกครองที่ดีหมด ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่เลวร้ายที่สุด ถ้าไม่มีธรรมะหรือศีลธรรมกำกับ” เป็นต้น

แต่ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) มองแบบกลับหัวกลับหางว่า แทนที่เราจะหาคำตอบว่า ศีลธรรมที่คนเชื่อกันอยู่ดีในตัวมันเองอย่างไร ควรไปสำรวจและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของการสร้างความเชื่อทางศีลธรรมแบบนั้นๆ ขึ้นมา เพื่อหาความจริงว่า ชุดความเชื่อทางศีลธรรมนั้นๆ มี “สาแหรก” วงศาคณาญาติ หรือโคตรเหง้าเหล่ากอของพวกมันอย่างไร ซึ่งเขาเรียกว่า “วงศาวิทยาของศีลธรรม” (The Genealogy of Morals) อันเป็นแนวคิดที่ตั้งคำถามสำคัญว่า คุณค่าทางศีลธรรมแบบต่างๆ มาจากไหน คุณค่าทางศีลธรรมเหล่านั้นให้อะไรกับผู้คนที่ยึดถือมัน หรือพวกเขาใช้มันอย่างไรกันแน่ 

ตัวอย่างเช่น ปรัชญากรีกโบราณนิยามว่า “คุณธรรม” (virtue) คือ “ความเป็นเลิศ” (excellence) ทางปัญญา ความกล้าหาญ ความพอดี และความยุติธรรม นี่เป็นคุณธรรมของชนชั้นสูง เพราะมีแต่ชนชั้นสูงหรือคนที่มีสถานะสุขสบายพอสมควรเท่านั้นถึงจะมีเวลาฝึกฝนตนเองให้มีความเป็นเลิศในเรื่องดังกล่าว เพื่อตอบสนองการมีชื่อเสียงและเกียรติในวิถีชีวิตแห่งชนชั้นของพวกเขา พวกคนจน สตรี และทาสห่างไกลจากการมีคุณธรรมดังกล่าวมาก ความคิดแบบปรัชญากรีกที่ว่า การปกครองแบบราชาธิปไตยที่กษัตริย์ทรงคุณธรรมเป็นผู้ปกครอง, คณาธิปไตยหรือคณะบุคคลที่มีคุณธรรมเป็นผู้ปกครอง และมัชฌิมาธิปไตยที่พลเมืองผู้มีคุณธรรมมีส่วนร่วมในการปกครองล้วนเป็นการปกครองที่ดี ส่วนประชาธิปไตยที่ปกครองโดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจน ย่อมเป็นการปกครองที่ไม่ดีเท่าสามแบบแรก ก็สะท้อนว่าคนยากจนส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ที่สามารถจะมีคุณธรรมหรือความเป็นเลิศด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นได้

ดังนั้น ตามมุมมองแบบนีทเชอ “ศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น” ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในสังคมโบราณ พวกชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูง เช่น พวกกษัตริย์ ขุนนาง นักบวชสร้างความเชื่อทางศีลธรรมขึ้นมาเพื่อบอกว่าชนชั้นของตนเองดีกว่า สูงส่งกว่าชนชั้นผู้ถูกปกครอง เพื่อให้ “ความชอบธรรม” กับอำนาจที่เหนือกว่าของพวกเขา

อีกตัวอย่างคือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสร้างศีลธรรมของระบบวรรณะสี่ขึ้นมา เพื่อบอกว่าคนแต่ละวรรณะมี “ธรรมะ” หรือ “หน้าที่” แตกต่างกัน ซึ่งหน้าที่ที่แตกต่างกันนั้นถือเป็น “เกณฑ์” ในการแบ่งแยกว่า แบบนี้คือหน้าที่ของชนชั้นปกครอง และแบบนี้คือหน้าที่ของชนชั้นผู้ถูกปกครอง ทั้งยังมี “พวกนอกวรรณะ” หรือจัณฑาลที่เกิดจากการทำผิดศีลธรรมของระบบชนชั้น คนพวกนี้คือเศษสวะหรือเดนมนุษย์ที่น่ารังเกียจ ประเด็นหลักของศีลธรรมเช่นนี้คือ การแบ่งแยกว่าชนชั้นไหน “ประเสริฐหรือสูงส่งกว่า” ชนชั้นอื่นๆ ศีลธรรมแบบแบ่งแยกหน้าที่เช่นนี้ จึงไม่ใช่เพียง “แบ่งหน้าที่การงานกันทำ” แต่เป็นการแบ่งแยก “ความสูง-ต่ำ” ของสถานภาพทางสังคมและการเมืองของผู้คนแต่ละชนชั้น

งานเขียนของอรุณธตี รอยบอกว่า ปัญหา “แกนกลาง” (core) ของศีลธรรมระบบวรรณะคือการถกเถียงว่า “ชนชั้นไหนประเสริฐกว่า” พวกวรรณะพราหมณ์กับวรรณะกษัตริย์ต่างถือว่าวรรณะพวกตนประเสริฐกว่าวรรณะที่เหลือ และเถียงกันว่าระหว่างวรรณะกษัตริย์กับวรรณะพราหมณ์พวกไหนกันแน่ที่ประเสริฐกว่า พวกวรรณะแพศย์ก็บอกว่าพวกตนประเสริฐกว่าวรรณะศูทร พวกศูทรก็ยืนยันว่าพวกตนประเสริฐกว่าพวกจัณฑาล และพวกนอกวรรณะกลุ่มต่างๆ ก็เถียงกันว่าพวกตนเองประเสริฐกว่าพวกอื่นๆ ที่เหลือ

วงศาวิทยาของศีลธรรมพุทธศาสนาก็คือ ความเป็นศาสนาที่เป็น “สาแหรก” (genealogy) ของพราหมณ์-ฮินดู อาจเรียกว่าศาสนาในสกุล “ฮินดู-พุทธ” ก็ได้ เหมือนเรียกคริสต์ศาสนาที่เป็นสาแหรกของศาสนายิวว่า “Judeo-Christian” นั่นเอง ดังปรากฏในคัมภีร์พุทธมากมายที่ถกเถียงว่า ศีลธรรมแบบพุทธที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริงทำให้ผู้ปฏิบัติกลายเป็น “ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” หมายความว่าปัญหาแกนกลางของพุทธศาสนาในระดับคัมภีร์ ก็คือการถกเถียงประเด็นว่า “ใครประเสริฐกว่าใคร” ซึ่งเป็นการถกเถียงในประเด็นหลักที่เริ่มขึ้นโดยศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั่นเอง

แม้ในคัมภีร์พุทธจะปฏิเสธการตัดสินความประเสริฐของมนุษย์ด้วย “เกณฑ์” ของระบบวรรณะสี่ แต่การอ้างว่าผู้ปฏิบัติตามระบบศีลธรรมแบบพุทธ (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ “ผู้ประเสริฐที่สุด” ก็ทำให้ประเด็น “ใครประเสริฐกว่าใคร” เป็นประเด็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา และก่อให้เกิดปัญหาทางชนชั้นตามมา เมื่อนำประเด็นพื้นฐานนี้มาปรับใช้ในรัฐพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์ และสยาม-ไทย

ดังเห็นได้ชัดว่า เมื่อพุทธศาสนา (ผสมพราหมณ์-ฮินดู) มารุ่งเรืองในสยาม-ไทย ประเด็นพื้นฐานที่ว่า “ใครประเสริฐกว่าใคร” ถูกนำมาใช้เป็น ”กรอบคิดหลัก” ในการออกแบบศีลธรรมโดยชนชั้นปกครองและนักบวชที่ถือว่าพวกกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และนักบวชเป็นชนชั้นที่ประเสริฐหรือสูงส่งกว่าชนชั้นผู้ใต้ปกครองคือไพร่ ทาสที่เป็นคนส่วนใหญ่ เช่นมีการตีความพุทธศาสนาประกอบสร้างลัทธิจักรพรรดิราช, ราชาธิราช และสถาปนากษัตริย์ให้เป็นสมมติเทพ เทวราช โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว

ความประเสริฐสูงส่งกว่าคนธรรมดาของ “พวกพระพวกเจ้า” หรือพวกชนชั้นปกครองตัดสินจากการที่พวกชนชั้นปกครอง หรือพวกพระพวกเจ้ามีศีลธรรมสูงส่งกว่า และมีบุญญาธิการสูงส่งกว่า ซึ่งรับรองโดยคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” คัมภีร์อื่นๆ และประเพณีการปลูกฝังความเชื่อโดยพุทธศาสนาไทยที่สืบทอดมายาวนาน 

แม้ในปัจจุบันชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อนึกถึงกษัตริย์หรือพวกเจ้า ก็ไม่ได้นึกถึงพวกเขาในฐานะเป็น “คนเหมือนกัน” ที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ แต่นึกถึงในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงส่งกว่า เป็นสมมติเทพและศักดิ์สิทธิ์กว่ากษัตริย์หรือพวกเจ้าในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ดังนั้น ภาพลักษณ์ของกษัตริย์หรือพวกเจ้าสยาม-ไทย จึงเป็นภาพลักษณ์ของผู้ทรงคุณธรรมสูงส่ง เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ความศรัทธา ความจงรักภักดี ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใต้ปกครองต้องเกรงกลัว

เมื่อใช้มุมมองวงศาวิทยาของศีลธรรมตามความคิดแบบนีทเชอมาฉีก “หน้ากาก” ที่สวยงามของศีลธรรมแบบพุทธไทย จึงเห็น “หน้าตาที่แท้จริง” ของศีลธรรมแบบพุทธไทยว่าเป็น “ศีลธรรมแบบชนชั้น” ที่ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนค้ำยันสถานะและอำนาจของศักดินาหรือชนชั้นปกครอง และทำให้สถานะของนักบวชมีอภิสิทธิ์บนโครงสร้าง “ศาสนจักรของรัฐ” หรือศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย

ปรากฏการณ์หนึ่งที่โชว์หน้าตาแท้จริงของพุทธไทยที่ผมเรียกว่า “พุทธราชาชาตินิยม” ก็คือ การที่ประมุขศาสนจักพุทธราชาชาตินิยมสั่งให้วัดทั่วราชอาณาจักรสวดมนต์เพื่อเจ้า มีพิธีกรรมถวายพระราชกุศลในวันสำคัญต่างๆ ของเจ้า หรือกำหนดให้นักบวชมีหน้าที่สอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือการที่พระเกจิดังๆ ออกมาสาปแช่งคนวิจารณ์เจ้าว่าเป็นบาป และต้องตกนรกหมกไหม้เป็นต้น 

ที่ชัดเจนอีกอย่างคือ คุณธรรมความเมตตาแบบพุทธไทย ก็คือการสวดภาวนาพึมพำในลำคอ แล้วต่อด้วยการอุทิศถวายพระราชกุศล และอุทิศ “ส่วนบุญ” ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร แล้วปลื้มปีติหรือ “ฟิน” อิ่มบุญจากการแผ่เมตตาตามรูปแบบพิธีกรรมเช่นนั้น การมีเมตตากรุณาจึงไม่เกี่ยวใดๆ กับ “การกระทำ” ที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ถูกกดขี่ให้ได้รับความยุติธรรม

จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมศีลธรรมแบบพุทธไทยจึงไม่เคยยื่นมือมาโอบกอดปลอบประโลม ให้กำลังใจ หรือเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับคนแบบตะวัน-แบมและเพื่อนๆ ที่สู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม เราแทบไม่เห็นนักสันติวิธีแนวพุทธ นักบวชชื่อใหญ่ๆ ปราชญ์ ผู้รู้พุทธ ปัญญาชนพุทธกระแสหลักแสดงบทบาท “เป็นปากเป็นเสียง” ให้กับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ แต่เห็นพวกเขากระตือรือร้นอ้างศีลธรรม ธรรมาธิปไตย ความเป็นคนดีในทางสนับสนุนสถานะและอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครองหยิบมือเดียวเสมอมา

บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นเพราะอิทธิพลวิธีคิดแบบ “ใครประเสริฐกว่าใคร” ของพุทธไทยหรือเปล่าจึงทำให้ความคิด “คนเท่ากัน” ลงหลักปักฐานยากมากในประเทศนี้ เวลาเรามองปัญหาต่างๆ เรามักสลัดตัวเองไม่หลุดจาก “ศีลธรรมแบบชนชั้น” อย่างที่นีทเชอวิจารณ์ คือเรามักตัดสินคนอื่นบนจุดยืนที่แสดงออกว่าตนเองรู้จริงกว่า มีวิจารณญาณดีกว่า ถูกกว่าเสมอ

เช่น บรรดาผู้ใหญ่ “จำนวนหนึ่ง” ที่แสดงออกว่า พวกตนรู้ประวัติศาสตร์โลกดีกว่า ประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคตตรงตาม “ความเป็นจริง” ได้ดีกว่า รู้ว่าควรเสียสละอะไร ไม่ควรเสียสละอะไรได้ดีกว่า รู้ผลลัพธ์ของการต่อสู้ได้ดีกว่า รู้ว่าการต่อสู้แบบไหนเกิดประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์ได้ดีว่าคนแบบ “ตะวัน-แบม” แต่กลับเหมือน “ไม่รับรู้” เพราะพวกเขาไม่พูดถึง “สถานการณ์ของตะวัน-แบม” และเพื่อนๆ ที่ติดกำไล EM ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานเพราะติดกำไล EM หรือถูกเงื่อนไขการประกันตัวประหลาดๆ ที่ห้ามมี “ความเป็นคน” ทั้งในการใช้ชีวิตส่วนตัวและการมีบทบาทในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค ไม่พูดถึงว่ามีอีกกี่คนที่ยังอยู่ในคุก มีอีกกี่คนที่ต้องคดี 112, 116, พ.ร.บ.คอมฯ ที่มีอัตราโทษจำคุกกว่า 20 ปี, 50 ปี หรือกว่า 100 ปี พวกคุณประเมินสถานการณ์ปัจจุบันได้ทะลุปรุโปร่ง แต่ละเลยที่จะพูดถึง “สถานการณ์จริง” ของคนแบบตะวัน-แบมและเพื่อนๆ ที่เผชิญความอยุติธรรมหนักอึ้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน พวกคุณพิพากษาตัดสินการต่อสู้ของพวกเขาจากมุมมองของผู้รู้แจ้งโลก ฉลาด หรือเจนโลกมากกว่า นี่คือการแสดงจุดยืนศีลธรรมแบบตนเองประเสริฐสูงส่งกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัวแบบที่นีทเชอวิจารณ์ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการปลูกฝังในสังคมแบบพุทธไทยหรือไม่ 

สรุปให้ชัดๆ คือ เมื่อมองแบบนีทเชอ ศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยมแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ คือ “ศีลธรรมแบบนาย” (master-morality) ไม่ว่าการปกครองโดยธรรม ทศพิธราชธรรม หรือธรรมะข้ออื่นๆ ของชนชนชั้นปกครองก็คือศีลธรรมที่ถูกใช้ให้ความชอบธรรมแก่สถานะและอำนาจสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง และ “ศีลธรรมแบบทาส” (slave-morality) คือ ศีลธรรมของผู้ใต้ปกครองที่เน้นความจงรักภักดีและเชื่อฟังชนชั้นปกครองโดยปราศจากการตั้งคำถาม ศาสนจักรพุทธราชาติ กองทัพ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ข้าราชการ และบรรดาผู้จงรักภักดีหรือกลัวอย่างปราศจากการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครอง ก็คือพวกสมาทานศีลธรรมแบบทาส หรือถูกปลูกฝังศีลธรรมแบบทาสอย่างฝังหัว

พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ศีลธรรมแบบชนชั้นมีความซับซ้อนมาก ไม่ใช่เพียงแค่เป็นศีลธรรมสนับสนุนค้ำยันสถานะและอำนาจของศักดินา นักบวช กลุ่มอีลีทที่ผูกขาดอำนาจนำทางความรู้ ความคิด การเมือง และเศรษฐกิจเท่านั้น แม้แต่คนที่คิดว่าตน “ก้าวหน้า” แต่ประเมินตัดสินคนอื่นๆ ที่สู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรมบนจุดยืนแบบตัวเองเป็นผู้รู้แจ้งโลก ฉลาด เจนโลก และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้ดีกว่า รู้ว่าควรเสียสละหรือไม่ควรเสียสละอะไรดีกว่า ก็อาจเป็นศีลธรรมชนชั้นอีกแบบหนึ่ง ที่ได้อิทธิพลจากศีลธรรมแบบพุทธไทยโดยไม่รู้ตัว

 

ที่มาภาพ: https://www.gallery.ca/magazine/exhibitions/ngc/beware-lest-a-statue-slay-you-nietzsche-and-art-in-new-weimar


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net