Skip to main content
sharethis

ประชุมนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มช. ผู้นำเสนอบทความ ‘ความยอกย้อนของนิติสำนึกระหว่างพลเมืองผู้ใช้กับกฎหมาย: กรณีกฎหมายลิขสิทธิ์กับผู้สร้างสรรค์ในสื่อทางเลือกออนไลน์’ แนะ 'สื่อทางเลือก-ภาคประชาชน' จ้างงาน 'ฟรีแลนซ์' มีสัญญาชัดเจน-ใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม 

12 ก.พ. 2566 การประชุมนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ “ทบทวน / ถกเถียง / ท้าทาย : นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กนกพร จันทร์พลอย นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอบทความ ‘ความยอกย้อนของนิติสำนึกระหว่างพลเมืองผู้ใช้กับกฎหมาย: กรณีกฎหมายลิขสิทธิ์กับผู้สร้างสรรค์ในสื่อทางเลือกออนไลน์’ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

'สื่อใหม่-สื่อทางเลือก-สื่อภาคประชาชน' ผุดขึ้นมากมาย

กนกพร ระบุว่าตั้งแต่ในช่วงปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ จุดแตกหักทางการเมืองครั้งใหญ่ มีผู้ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการถกเถียงทางการเมือง ส่งผลให้เกิดสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ และหลังรัฐประหาร 2557 อุตสาหกรรมสื่อไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สื่อกระแสหลักที่เคยใช้ช่องทางสื่อดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโทรทัศน์เริ่มถูก disrupt จากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เริ่มมีการย้ายมาเผยแพร่เนื้อหาทางช่องทางออนไลน์แทนและเริ่มเกิดสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ 'สื่อทางเลือกออนไลน์' คือ สื่อที่นำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก สื่อของรัฐและสื่อเชิงพาณิชย์ มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์ เปิดพื้นที่ให้ผู้รับสารได้วิพากษ์ ถกเถียง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารผ่านระบบเครือข่าย หรือสื่อทางเลือกที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นตัวเชื่อมต่อการสื่อสาร โดยสื่อที่สร้างความหลากหลายให้กับภูมิทัศน์สื่อและนิเวศข่าวสาร อีกทั้งยังเสริมสร้างพลังการสื่อสารให้กับประชาชน บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น 'สื่อภาคประชาชน'

การจ้างงาน 'ฟรีแลนซ์' เพิ่มขึ้นตาม

กนกพร ชี้ว่าการขยายตัวของการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เป็นเพียงสื่อสิ่งพิมพ์ มีกรอบเวลาในการผลิต แต่ในปัจจุบันกรอบเวลาดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดไว้ในลักษณะเช่นเดิม สื่อทางเลือกออนไลน์เริ่มต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้นและต้องการความสม่ำเสมอของการสื่อสารเนื้อหาลงแพลตฟอร์มออนไลน์

ทำให้ 'การจ้างงานแบบอิสระ' หรือ 'ฟรีแลนซ์' จึงก้าวมาเป็นหนึ่งในแรงงานสำคัญของสื่อทางเลือกออนไลน์ โดยในด้านบวกนั้นคือการเปิดโอกาสให้กับคนทั่วไปที่อยากจะสื่อสารประเด็นเนื้อหาที่ตนเองสนใจและตรงตามวิสัย
ทัศน์ของสื่อทางเลือกออนไลน์นั้นสามารถผลิตเนื้อหาเข้าไปเผยแพร่ได้เช่นกัน โดยสื่อทางเลือก-ภาคประชาชนเหล่านี้ก็มักจะจ้างงานกลุ่มฟรีแลนซ์ที่มีอุดมการณ์ด้านการเมือง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์เดียวกันกับสื่อนั้นๆ

ปัญหา 'การจ้างงานไม่มั่นคง'

กนกพร ได้สัมภาษณ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานในสื่อทางเลือกออนไลน์ จำนวน 6 คน ที่ทำงานแบบฟรีแลนซ์และพาร์ทไทม์ ทำงาน 3 รูปแบบ คือ งานเขียน ภาพถ่าย และวิดีโอ พบว่าว่าด้วยรูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานแบบเต็มเวลา เวลาในการทำงานยืดหยุ่น ไม่มีระบบสวัสดิการทางสังคมแบบคนที่ทำงานประจำแต่อยู่ในรูปแบบรับจ้างอิสระหรือฟรีแลนซ์ และด้วยบริบทสังคมพื้นที่ออนไลน์ทำให้เกิดการจ้างงานฟรีแลนซ์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะวงการสื่อ

ปัญหาเรื่อง 'ลิขสิทธิ์'

นอกจากนี้การทำงานลักษณะนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะสัมพันธ์กับการคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ หรือเรื่อง 'ลิขสิทธิ์' โดยผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งระบุกับกนกพรว่างานสร้างสรรค์ของเธอมีลิขสิทธิ์เธอเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มั่นใจว่ากฎหมายจะคุ้มครองเราได้เพียงใด เธอเริ่มตระหนักเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ที่เธอถูกนำภาพถ่ายไปใช้โดยสื่อออนไลน์เจ้าอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้ให้เครดิตภาพถ่าย เธอได้ท้วงติงไปแต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการที่ไปลงบันทึกประจำวัน และท้ายที่สุดเธอมองว่าการหันหน้าให้กฎหมายอาจเป็นหนทางสุดท้ายที่เธอจะเลือกใช้

“เราไม่ค่อยคาดหวังกับกฎหมายนี้เลย เพราะการเป็นฟรีแลนซ์มันทำให้เราต้องดิ้นรนทุกอย่างด้วยตัวเอง ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็คงดิ้นรนด้วยตัวเองไม่ว่าจะวิธีการใด แต่ถ้ามันมีกฎหมายออกมาคุ้มครองการทำงานแบบฟรีแลนซ์ก็คงดี จะคุ้มครองมันในแง่ไหน ในแง่การจ้างงานหรือแง่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ สุดท้ายเราอยากให้มันคุ้มครองการทำจ้างงานมากกว่าเพราะเราอยู่สภาวะการจ้างงานไม่เป็นธรรมมาตลอด” ผู้ให้สัมภาษณ์รายนี้ระบุกับกนกพร

ผู้ให้สัมภาษณ์อีกราย ระบุกับกนกพรว่า เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ในวงการสื่อทางเลือกออนไลน์มากว่า 2 ปี เธอเชื่อว่าสื่อเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่มีพลังอำนาจบางอย่าง แต่พอได้ก้าวเท้าเข้ามาทำจริงๆ กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคิดไว้ ทั้งเรื่องการจ้างงาน เธอสะท้อนว่าการทำงานสื่อในไทยจะพูดถึงแค่เนื้อหาการทำงานเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงข้อตกลงเรื่องสิทธิในผลงานสร้างสรรค์และการจ้างงานในสื่อจะเป็นการจ้างงานที่ตกลงพูดคุยแบบวาจา ไม่ได้มีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่สัญญาใจเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี 'ความเชื่อว่าตนไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์' นำไปสู่การไม่ต่อรองสิทธิของตนเองในงานสร้างสรรค์ของฟรีแลนซ์ แม้ส่วนหนึ่งที่ทราบซึ่งสิทธิตัวเอง หากเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์จริงๆ ก็จะไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

"ไม่ฟ้องเพราะเสียเวลา และเสียเงินด้วย การขึ้นศาลแค่ไปนั่งรอนั่งฟ้องก็เสียสุขภาพจิตด้วย เสียค่าจ้าทนาย คดีหนึ่งไม่ใช่แค่ 8 โมงพิจารณา 9 โมง ออก ก็ต้องรอทั้งวันรอศาลพิจารณา รออ่านคำพิพากษา บางทีศาลอาจเลื่อนนัดหรือเลื่อนอ่านคำพิจารณา หรือถ้าเราจะไปฟ้องจริงๆ บริษัทใหญ่มีอำนาจมากกว่า เราพูดอะไรไปศาลจะฟังเราหรือไม่เพราะเราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย และคิดว่ากฎหมายไทยบางข้อได้ถูกออกแบบมาให้ศาลใช้โดยเฉพาะ เช่นการตีความของศาลเราก็ไม่รู้ว่าจะอย่างไร ซึ่งกฎหมายมีหลายข้อหลายประเภทไม่มีการมีนั่งอ่านหรือศึกษา การนั่งพูดปากเปล่าก็ไม่มีอะไรมายืนยันอะไรได้ แต่ถ้าเป็นแชทก็สามารถเก็บเป็นหลักฐานได้" ผู้ให้สัมภาษณ์รายนี้ระบุกับกนกพร

ต้นเหตุจาก 'ไร้สัญญาจ้างเป็นกิจจะลักษณะ'

กนกพรชี้ว่า สำหรับปัญหาที่เกิดนั้น ต้นเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก 'การทำงานแบบไร้สัญญาจ้างเป็นกิจจะลักษณะ' การจ้างงานที่คลุมเครือ ข้อตกลงการทำงานที่คลุมเครือ มีเพียงการว่าจ้างแบบวาจา ทำให้ผู้สร้างสรรค์คุ้นชินกับการทำงานแบบนี้ ซึ่งพอมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น บางครั้งก็ไม่ทราบว่าเป็นการละเมิดหรือหากทราบว่าเป็นละเมิดก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ เนื่องจากความไม่รู้ ความไม่กล้าต่อรองในภาวะที่ตลาดแรงงานอิสระมีการแข่งขันสูง

นอกจากนี้ 'การไร้ซึ่งอำนาจต่อรองในงานสร้างสรรค์อิสระ' เกิดขึ้นเพราะ การรับงานในลักษณะฟรีแลนซ์มีการแข่งขันสูง งานอิสระที่อิสระทั้งตัวผู้สร้างสรรค์ และตัวผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีความอิสระที่จะไม่จำเป็นต้องมีสัญญาในการทำงาน สวัสดิการการทำงานทำให้ผู้สร้างสรรค์มองข้ามเรื่องลิขสิทธิ์ไป ไร้การเจรจา เนื่องจากไม่เชื่อว่าตนจะมีสิทธิมากพอที่จะต่อรอง

“ที่เราไม่ได้ต่อรองเพราะงานชิ้นนั้นเราสนใจอยากทำด้วย เช่น งานรถไฟ รถเมล์พยายามสัมภาษณ์ให้ได้มากที่สุด ทำงานหนักกว่าเงินที่ได้รับ ถ้าในงานนั้นมีชื่อเราเราอยากได้เครดิตดี ๆ เราก็ต้องแลกมาด้วยการยอมขาดทุน ซึ่งจะบอกว่าคุ้มก็ไม่ได้เพราะมันไม่คุ้ม” ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งที่เป็นช่างภาพและช่างวิดีโอฟรีแลนซ์ ระบุกับกนกพร

แต่ฟรีแลนซ์บางส่วนก็ต้องการสื่อสารมากกว่าความต้องการจะเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์

แต่ใช่ฟรีแลนซ์จะมองว่าประเด็นลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดไปหมดเสียทีเดียว กนกพรพบว่าตัวฟรีแลนซ์บางคนมีความต้องการสื่อสารมากกว่าความต้องการจะเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างฟรีแลนซ์คนหนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ เธอเข้ามาเป็นฟรีแลนซ์นักข่าวเนื่องจากมองเห็นปัญหาจากสถานการณ์เรื่องการขาดแคลนน้ำภาคอีสาน เธอตั้งคำถามถึงเรื่องอ่างเก็บน้ำที่มีจำนวนมากแต่ทำไมคนอีสานยังเผชิญกับเรื่องนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงได้เขียนคอนเทนท์ไปยังสื่อทางเลือกออนไลน์แห่งหนึ่ง เธอมองว่าอย่างน้อยเราก็สามารถสื่อสารปัญหาได้บ้าง

“ในแง่หนึ่งที่เรายอมให้มันขูดรีดเราได้เยอะขนาดนี้ รู้สึกว่าแบบมันคือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราพอจะทำได้ เรารู้สึกว่าเรา ในแง่การเคลื่อนไหว เราก็ทำไม่ได้เท่าเพนกวิน [นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง] เราก็ไม่พร้อมทำเท่านั้น เราเปิดหน้าไม่ได้เท่าคนอื่น เราก็ไม่พร้อมโดนคดี ที่บ้านเราก็จะรับไม่ได้เหมือนกัน และนี่แหละคือสิ่งที่เราพอจะทำได้ ถ้ามีข่าวแนว ๆ การเคลื่อนไหวทางการเมือง เราก็จะไป เราจะพยายามไปให้ได้มากที่สุด จะไม่ค่อยปฏิเสธเท่าไหร่” ผู้ให้สัมภาษณ์รายนี้ระบุกับกนกพร

เสนอสื่อทางเลือก-ภาคประชาชน' จ้างงาน 'ฟรีแลนซ์' มีสัญญาชัดเจน-ใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม

ในช่วงสุดท้ายของการนำเสนอ กนกพรมีข้อเสนอว่า ลำดับแรกการจ้างงานฟรีแลนซ์โดย 'สื่อใหม่-สื่อทางเลือก-สื่อภาคประชาชน' นั้น ฟรีแลนซ์ควรจะมีสิทธิที่จะได้รู้ว่าเขาจะได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ รายละเอียดงานเป็นอย่างไรภายในเวลาเท่าไหร่ ไม่ว่าเวลาจะเท่าไหร่ หลังจบงานลิขสิทธิ์เป็นของใคร นายจ้างหรือผู้สร้างสรรค์ โดยคิดผ่านพื้นฐานว่าเขาควรจะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ

และในอุตสาหกรรม 'สื่อใหม่-สื่อทางเลือก-สื่อภาคประชาชน' นั้น ควรใช้แนวคิดลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม เช่น แนวคิด ‘ลิขซ้าย (Copyleft)’ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของ 'ลิขสิทธิ์' (Copyright) เพื่อผลักดันให้มีการแบ่งปันผลงานสร้างสรรค์อย่างมีเงื่อนไข คือการที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานยังคงมีสิทธิเหนือผลงานชิ้นนั้น ๆ แต่สามารถกำหนดเงื่อนไข ขอบเขตการใช้งานต่อได้

กนกพร ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมหลังการบรรยายกับผู้สื่อข่าวว่าวงการสื่อทางเลือกออนไลน์นั้น ควรมีการปรับตัวในเรื่องลักษณะการจ้างงาน ข้อตกลงในเรื่องการใช้งานสร้างสรรค์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงระยะเวลาในการจ่ายค่าตอบแทน และมีข้อเสนอที่เกิดจากการสัมภาษณ์ฟรีแลนซ์สื่อทางเลือกออนไลน์ว่าควรมีการมองเรื่องการสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานกับสื่อที่มีความก้ำกึ่งระหว่างสื่อกับภาคประชาสังคม ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับคนทำงานทั้งพนักงานประจำหรือฟรีแลนซ์ก่อนรับสมัครงานหรือก่อนจ้างงาน มีลายลักษณ์อักษรในสัญญาจ้างชัดเจนว่าลิขสิทธิ์งานจะต้องมีการแบ่งปันที่ให้ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ไว้ทำกำไรซ้ำได้เรื่อยๆ เพราะองค์กรภาคประชาชนแตกต่างจากองค์กรภาคธุรกิจที่มุ่งแต่ผลกำไร ทั้งนี้หากคนที่จะเข้ามาทำงานที่คาบเกี่ยวกับภาคประชาชนจะได้ตัดสินใจเลือกก่อนว่าจะทำหรือไม่ทำ ซึ่งจะได้ไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net