Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานนี้ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของมาเลเซียได้เดินทางพบปะกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย มีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับพม่าที่อันวาร์เน้นย้ำว่าผู้นำไทยและผู้นำประเทศอื่นในอาเซียนควรจะมีความพยายามมากกว่านี้ในการแก้ไขวิกฤตในพม่า และควรจะมีการส่งสารอย่างหนักแน่นในเชิงวิพากษ์เผด็จการพม่า

พิธีต้อนรับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้เดินทางเยือนและพบปะกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องที่ อันวาร์ ขอให้ประเทศไทยมีบทบาทในเชิงรุกมากกว่านี้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพม่า รวมถึงแสดงความคิดเห็นในเชิงที่เป็นการส่งสัญญาณว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องที่ว่าจะจัดการกับเผด็จการทหารพม่าที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2564 ได้อย่างไร

สื่อบลูมเบิร์กระบุว่ามีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับพม่าดูไม่ค่อยเต็มใจจะทำให้เผด็จการทหารต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวอง ในขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ติดทะเลเช่น อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เป็นกลุ่มที่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าเกี่ยวกับความขัดแย้งในพม่าที่ก่อให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัย

อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวหลังจากที่มีการพบปะกับประยุทธ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยและมาเลเซียรวมถึงประเทศสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียน ควรจะเพิ่มความพยายามมากกว่านี้ในการที่จะลดปัญหาในพม่า การเยือนไทยของอันวาร์ในครั้งนี้นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2565

อันวาร์กล่าวต่อประยุทธ์ในการแถลงข่าวร่วมกันว่า "คุณอยู่ในจุดที่ดีกว่าในการที่จะแสดงออกถึงเรื่องที่พวกเรามีความเป็นห่วงอย่างมาก ในแแง่ที่ว่าประเด็นภายในของพม่านั้นควรจะมีการแก้ไขจากภายในพม่าก็จริง แต่มันก็ส่งอิทธิพลออกมานอกประเทศหรือส่งผลสะท้อนต่อภูมิภาค(อาเซียน)ด้วย"

บลูมเบิร์กรายงานว่าประยุทธ์ไม่ได้โต้ตอบต่อการแสดงความคิดเห็นของอันวาร์โดยตรง แต่พูดเพียงว่า "พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน ขอบคุณ เพื่อนของผม"

นอกจากนี้อันวาร์ยังกล่าวอีกว่า อาเซียนควรจะ "เฉือน" พม่าออกไปก่อนในตอนนี้แทนที่จะให้วิกฤตในพม่ากลายเป็นสิ่งที่ฉุกรั้งความเจริญของอาเซียน อีกทั้งยังบอกว่าควรจะมีมติร่วมกันในการส่งสารแรงๆ ต่อเผด็จการทหารพม่า

"พวกเราควรจะเฉือนพม่าออกไปก่อนในตอนนี้ และผมคิดว่าไม่ควรจะให้ประเด็นพม่ามาเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าของเรา มันจะดีมากถ้าหากพวกเรามีฉันทามติร่วมกันในการส่งสารอย่างหนักแน่นต่อเผด็จการพม่า" อันวาร์กล่าว

พม่าเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่หลังเกิดรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 และทางอาเซียนก็ไม่เชิญผู้นำทหารพม่าเข้าร่วมในเวลาที่มีการประชุมอาเซียนซัมมิทแต่เชิญชวน "ตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนทางการเมือง" จากพม่าแทน ทำให้เผด็จการทหารพม่าวิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่า

นอกเหนือจากมาเลเซียแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มีมุมมองต่อสถานการณ์ในพม่าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทางสื่อสเตรทไทม์ระบุว่าทางการไทยมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงของเผด็จการทหารพม่ามากกว่า ขณะที่มาเลเซียออกปากวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการพม่ามากกว่า อีกทั้งอดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ ยังเคยเข้าพบอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่าที่ตั้งรัฐบาลขึ้นมาคู่ขนานเพื่อคัดง้างและเรียกความชอบธรรมจากนานาชาติสู้กับฝ่ายเผด็จการ

ในคำปราศรัยของอันวาร์โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงการมองโลกในแง่ดีต่ออนาคตของอาเซียน แต่อันวาร์ก็เน้นย้ำว่าเผด็จการทหารพม่าควรจะต้องเลิกกระทำ "โหดเหี้ยมทารุณ" ต่อประชาชนในพม่า อันวาร์บอกว่า ถึงแม้แต่ละประเทศจะมีสิทธิในการกำหนดนโยบายและเรื่องที่จะให้ความสำคัญในประเทศของตัวเองได้ แต่ "ไม่มีประเทศไหนในปัจจุบันที่ควรจะยังคงดำเนินนโยบายกีดกันเลือกปฏิบัติและสร้างความเป็นชายขอบให้ประชาชนของตัวเอง ข่มขู่คุกคาม หรือเลวร้ายกว่านั้นคือใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ตอนที่อันวาร์ยังเป็นฝ่ายค้านของมาเลเซียในเดือน มี.ค. 2564 เขาเคยร่วมลงนามกับผู้แทนอื่นๆ ของอาเซียนอีก 5 ประเทศในการระงับสมาชิกภาพอาเซียนของพม่าจนกว่าพม่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดและทำให้ประเทศกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน

อย่างไรก็ตามเผด็จการทหารพม่าดูเหมือนแทบจะไม่สนใจต่อแนวทางคืนสันติภาพที่อาเซียนเสนอให้พวกเขาในปี 2564 เลย แต่กลับเพิ่งจะมีการประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

ท่าทีของอินโดนีเซียที่เป็นผู้นำอาเซียนในสมัยปัจจุบันปี 2566 นั้นก็ยังไม่มีการประกาศว่าจะแต่งตั้งใครเป็นผู้แทนที่จะแก้ไขวิกฤตพม่า หลังจากที่คนก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงนักโทษการเมืองอย่างอองซานซูจีได้ รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี เคยประกาศเพียงว่าการพัฒนาอาเซียนจะต้องไม่ถูกฉุดรั้งโดยวิกฤตของพม่า

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเคยเปิดเผยเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า อาเซียนในตอนนี้ดูจะมีความเห็นแตกแยกกันในประเด็นของพม่า จากการที่บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เคยปฏิเสธความชอบธรรมในการปกครองประเทศของเผด็จการพม่า ในขณะที่กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม ดูจะยังคงปฏิสัมพันธ์กับเผด็จการพม่า

เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ไทยเคยจัดให้มีการพบปะระหว่างทูตระดับสูงของเผด็จการพม่ากับผู้แทนของกัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ในการหารือว่าจะทำให้พม่ากลับสู่ภาวะปกติได้อย่างไร โดยที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

สื่อบลูมเบิร์กระบุว่า ประเทศพม่ามีบทบาทสำคัญต่อเรื่องพลังงานไทย จากการที่บริษัท ปตท. ที่มีรัฐไทยควบคุมมีปฏิบัติการก๊าซและน้ำมันที่สำคัญ 2 จุดในพม่า ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับความต้องการในไทยได้ร้อยละ 16

ปตท.สผ.แจ้งยุติการลงทุน 'โครงการเยตากุน' ในพม่า, 30 เม.ย. 65

เขตอำนาจศาลสากลคืออะไร หลังกลุ่มสิทธิ-ชาวพม่า ฟ้องรัฐบาลทหารต่อศาลเยอรมนี ข้อหาอาชญากรรมสงคราม, 28 ม.ค. 66

กองทัพพม่าประกาศต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน-ผู้นำทหารอยู่ยาวไปอีก 6 เดือน, 9 ก.พ. 66

อันวาร์เปิดเผยในวันเดียวกับที่มีการพบปะหารือกับประยุทธ์ว่า ก่อนหน้าที่จะมากำชับเรื่องนี้กับประยุทธ์เขาเคยพูดคุยเรื่องประเด็นของพม่ากับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด, นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียงลุง, รวมถึง สุลต่านบรูไน ฮัสซานัล โบลเกียห์ มาก่อน และอีกไม่นานหลังจากนี้ก็จะหารือเรื่องนี้กับผู้นำฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ด้วย

อันวาร์กล่าวเน้นย้ำอีกว่ากลุ่มอาเซียนต้องทำให้ดีกว่านี้ในความพยายามแก้ไขปัญหาพม่า

"พวกเราไม่ต้องการให้ประเทศข้างนอกเข้ามาแทรกแซง พวกเราไม่ต้องการให้สหรัฐฯ หรือยุโรปมาบอกว่าเราควรทำอะไร แต่พวกเราก็ควรจะทำอะไรสักอย่าง พวกเราควรจะมีความกล้าหาญมากพอที่จะพยายามแก้ไขปัญหานี้" อันวาร์กล่าว

เรียบเรียงจาก

Anwar says Asean should ‘carve’ Myanmar out for now, The Straits Times, 11-02-2023

Malaysia Wants Thailand to Step Up and Resolve Myanmar Conflict, Bloomberg, 10-02-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net