Skip to main content
sharethis

คุยกับนักรัฐศาสตร์ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ถอดรหัส ‘บ้านใหญ่’ เป็นเนื้อร้ายที่ต้องกำจัดทิ้งไปพร้อมคนที่เลือกเขา หรือเป็นโอกาสสำหรับการเปลี่ยนผ่านเมืองไทยในการเลือกตั้งรอบนี้กันแน่ พร้อม 2 กรณีศึกษา สภาวะสามก๊กใน จ.ชลบุรี และเกมการเมืองกระแสในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่อึดใจ หนึ่งในตัวชี้วัดว่าเรากำลังเข้าสู่การเมืองช่วงโค้งสุดท้าย คือภาพของพรรคการเมืองที่เริ่มลั่นปี่กลองรบตามพื้นที่และหน้าสื่อ อีกภาพคือการย้ายข้างสลับขั้วของ ‘บ้านใหญ่’ หรือตระกูลการเมืองที่มีความนิยมในท้องที่ต่างๆ

ภาพที่ผู้มีบารมีระดับท้องถิ่นเปลี่ยนอิทธิพลให้เป็นคะแนนเสียงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับการเมืองไทย แม้จะดำเนินไปท่ามกลางเสียงเบื่อบ่น เสียงก่นด่าในนามการต่อต้านระบบอุปถัมภ์นิยมบ้าง การรรณรงค์ให้เลือกผู้แทนที่อุดมการณ์บ้าง บางครั้งถึงขั้นแปะป้ายด่าประชาชนทั้งจังหวัดเมื่อได้ผู้แทนที่ตัวเองไม่ถูกใจ

ในวันที่การเมืองไทยอยู่สักแห่งระหว่างการเมืองแบบเจ้าพ่อและการเมืองเชิงนโยบาย คำถามที่มีต่อบ้านใหญ่ในฐานะสิ่งที่มีอยู่จริงก็คือ เราจะเข้าใจการดำรงอยู่ของมันในฐานะอะไร การเมืองเชิงอุดมการณ์กับบ้านใหญ่เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันจริงหรือไม่ ก่อนที่ท่านจะแบกความเดือดดาลไปลงในโลกโซเชียล ประชาไทชวนอ่านบทสัมภาษณ์นักวิชาการผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเพื่อทำความเข้าใจบ้านใหญ่และแนวทางการจัดทัพของพรรคการเมืองเข้าสู่ศึกเลือกตั้ง

บ้านใหญ่: พระเอกในวันที่รัฐดีไม่พอ

แม้คำว่า ‘บ้านใหญ่’ จะถูกใช้กันแพร่หลายในหมู่สื่อมวลชนและคอการเมือง แต่รากของนิยามนั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่หากจะอนุมานจากการใช้งาน คำว่าบ้านใหญ่มักถูกใช้เพื่อพูดถึงตระกูลการเมือง (Political dynasty) หมายถึงการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่นในตระกูลผู้นำทางการเมืองในระดับพื้นที่หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในหลายประเทศทั่วโลก

การขึ้นมามีอิทธิพลหรือพระเดชพระคุณของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพื้นที่ต่างๆ ย่อมมีปัจจัยเชิงบริบทที่แตกต่าง แต่หนึ่งปัจจัยที่มีการกล่าวถึงคือประสิทธิภาพของกลไกรัฐที่ยังมีช่องว่างให้เครือข่ายที่ไม่เป็นทางการยังมีบทบาทในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการมีอยู่ของบ้านใหญ่ในการเมืองไทย เป็นภาพสะท้อนของความไร้ประสิทธิภาพของรัฐไทยในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน และสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สังคม ประชาชน และนักการเมือง

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

“ถามว่าทำไมต้องมีบ้านใหญ่ จริงๆ แล้วบ้านใหญ่ ในสังคมปัจจุบันคือตระกูลการเมือง แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปมันคือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เดิมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะรัฐไม่มีศักยภาพในการดูแล อย่างสมัยก่อนเกิดของหาย โจรปล้น ไม่สบาย จะไปหาใคร เพราะรัฐส่วนกลางที่รวมศูนย์อำนาจมากๆ แล้วก็ส่งข้าหลวงมาดูแลก็เข้าไม่ถึงประชาชน มันก็จะมีผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ อาจจะเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน หรือเดิมก็อาจจะเป็นคนคหบดีหรือคนฐานะดี”

เมื่อไทยมีการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ หากไม่เป็นหัวคะแนนก็อาจไปลงเลือกตั้งเสียเอง การได้รับเลือกตั้ง นัยหนึ่งคือการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยคะแนนเสียงจากประชาชน แต่อีกด้านหนึ่ง การเลือกตั้งก็ทำให้อำนาจอิทธิพลแบบดิบๆ เข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบจากประชาชนผู้มีอำนาจในการเลือกผู้แทนคนอื่นๆ

“เดิมพวกนี้ทำอะไรกับประชาชนก็ได้เพราะส่วนกลางเข้ามาดูแลไม่ทั่วถึง ถ้าตัดมาบริบทในปัจจุบัน การมีบ้านใหญ่ จะใช้คำว่าด้านหนึ่ง ถ้าเรามองผิวเผิน บ้านใหญ่เหมือนกันการตอกย้ำ การผลิตซ้ำความล้มเหลวของรัฐแล้วเข้ามาเหมือนเป็นผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล ซึ่งทำให้คนรังเกียจ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าคุณจะเป็นบ้านใหญ่อยู่ได้ในทางการเมือง คุณต้องทำหน้าที่บางอย่าง” สิริพรรณกล่าว

กรณีศึกษาที่ 1: ชลบุรีกับภาวะสามก๊กหลังยุค ‘กำนันเป๊าะ’

หนึ่งในกรณีศึกษาของการเป็นบ้านใหญ่และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่โดดเด่นในการเมืองไทยร่วมสมัยที่เด่นชัดที่สุด คือกรณีของ ‘กำนันเป๊าะ’ หรือสมชาย คุณปลื้ม ผู้มีอิทธิพลในภาคตะวันออกผู้ล่วงลับ ผู้สร้างตระกูลทางการเมืองที่ยึดกุมพื้นที่ภาคตะวันออกยาวนานถึง 30-40 ปี

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าว่ากำนันเป๊าะคือภาพสะท้อนของการที่กลไกรัฐแข็งเกินไปในการดูแลประชาชน ประชาชนจึงหันไปหาผู้มีอิทธิพลที่กลไกรัฐ ‘เกรงใจ’ ก่อนที่อิทธิพลนั้นจะพัฒนาขึ้นเป็นตระกูลการเมืองที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่ในเวลาต่อมา

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

“ความเป็นบ้านใหญ่ชลบุรีโดนบริหารจัดการด้วยอำนาจที่ไม่เป็นทางการของกำนันเป๊าะ และกำนันเป๊าะก็วางตัวเป็นผู้จัดการใหญ่ ก็คือดูแลในฐานะลูกพี่ใหญ่ คือดูแลทั้งประชาชน ทั้งนักการเมือง ทั้งนักธุรกิจ ด้วยความที่แกมีบารมีอำนาจที่ไม่เป็นทางการแบบนี้ ทำให้ตระกูลนี้กลายเป็นศูนย์กลางของการพึ่งพิง เนื่องจากโครงสร้างระบบราชการเรามันแข็งเกินไปในการที่จะให้บริการในภาพรวมกับประชาชน”

“ก่อนหน้านี้ใครจะมาเป็นข้าราชการที่ชลบุรีก็ต้องมาหากำนันเป๊าะก่อน กำนันเป๊าะก็จะรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนยังไง ในขณะที่นักการเมือง ใครจะเล่นการเมือง ถ้ามีกำนันเป๊าะสนับสนุนก็จะมีโอกาสชนะสูง ประชาชน ชาวบ้านเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือได้ทั้งหมด เราจะเรียกมันว่าระบบอุปถัมภ์ก็ได้ แต่มันเกิดขึ้นได้เนื่องจากกลไกรัฐไร้ประสิทธิภาพ มันก็เลยทำให้คนที่เป็นตัวกลางมีหน้าที่ขึ้นมา” โอฬารกล่าว

การเกิดขึ้นของกำนันเป๊าะและบ้านใหญ่ตระกูลคุณปลื้ม นอกจากจะสะท้อนหน้าที่การเป็นโซ่ข้อกลางทางอำนาจระหว่างประชาชนกับกลไกรัฐแล้ว ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พัวพันกันระหว่างอำนาจอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองอีกด้วย

โอฬารเล่าว่าขั้วอำนาจการเมืองใน จ.ชลบุรีหลังการเสียชีวิตของกำนันเป๊าะมีลักษณะแตกออกเป็นสามขั้ว นำโดยแกนนำบ้านใหญ่เดิมที่นำโดยสนธยา คุณปลื้ม กลุ่มพลังใหม่ หรือมังกรน้ำเค็มที่นำโดยสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และกลุ่มสิงโตทอง สามกลุ่มนี้มีการแข่งขันต่อสู้กันมาตลอดหลังยุคกำนันเป๊าะทั้งในเวทีเลือกตั้งระดับชาติและเวทีระดับท้องถิ่น

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา สุชาติทำงานพื้นที่ค่อนข้างมาก มีการหาแรงสนับสนุนในกลไกรัฐตั้งแต่ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปูทางสู่การส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น นอกจากนั้นยังดึงกลุ่มการเมืองที่หลุดออกมาจากบ้านใหญ่คุณปลื้มมารวมอยู่กับฝ่ายตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง 2566 ที่ตัวสุชาติเองก็ทราบดีว่าจะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองภายใต้ธง รทสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นพระเอก

ย้อนกลับมาดูฝั่งบ้านใหญ่คุณปลื้ม การเลือกตั้งทั่วไปที่เดิมพันสูงเช่นนี้ ตระกูลคุณปลื้มมองว่ากระแสในพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจออกมา แต่ยังให้น้องชายอย่างอิทธิพล คุณปลื้ม นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเกาะเกี่ยวกับ พปชร. ไว้ก่อน ซึ่งก็อาจจะไขก๊อกในจุดสุดท้าย แต่ทางสนธยาได้ประกาศชัดเจนว่าจะอยู่กับ พท. เพื่อโหนกระแสแลนด์สไลด์ จุดนี้โอฬารคิดว่าสนธยาคงจะได้ฉันทานุมัติบางอย่างจาก ‘โทนี่ วู้ดซัม’ หรือทักษิณ ชินวัตร ให้ย้ายกลับมาแล้ว

สนธยา คุณปลื้ม (ด้านหน้า คนที่สองจากซ้ายมือ) เปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย

บ้านใหญ่คุณปลื้มมีการจัดกระบวนทัพเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งด้วยการเตรียมส่งสุภีพันธ์ หอมหวล ลงสมัคร ส.ส. ด้วย เธอเป็นลูกสาวของภาสกร หอมหวล หรือ สท.เหี่ยว อดีตมือขวากำนันเป๊าะที่มีฐานคะแนนเสียงดีมากในเขต 1 นอกจากนั้นยังมีการเรียกตัวผู้นำระดับกำนันกลับมาอยู่บ้านใหญ่เพื่อทำงานเชิงพื้นที่ โดยหวังว่าจะวางตัวผู้สมัครทั้ง 10 เขต บนฐานคิดว่าจะปิดเกมด้วยการใช้ฐานเสียงของตระกูลบวกกับฐานเสียงของทักษิณและฐานเสียงของเสื้อแดงที่จะได้จากพรรค

แต่การมาเข้ามาของตระกูลคุณปลื้มย่อมหมายถึงการเข้าไปเบียดกลุ่มผู้สมัคร ส.ส. เดิมของ พท. ใน จ.ชลบุรี ทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะคนเหล่านี้ร่วมสู้ตายมากับพรรคและตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์และกลั่นแกล้งโดยกลไกรัฐมาตลอด แต่สิ่งที่ได้รับคือการถูกพรรคทิ้ง หากความไม่พอใจนี้ไม่ถูกประนีประนอม ก็อาจจะเกิดภาพของการเลือกตั้งแบบสั่งสอนด้วยการเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงที่เทไปให้กับพรรคอื่น เช่น พรรคก้าวไกล นอกจากนั้น กลุ่มสิงโตทองที่อยู่กับเพื่อไทยมา 20 ปี เมื่อเจอการมาของคุณปลื้มแบบนี้ ก็ทำให้กลุ่มนี้โยกย้ายกลับไปอยู่กับขั้วของสุชาติด้วย

 “การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งว่าใครจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล การเลือกตั้งไม่ใช่แค่ว่าเอาประยุทธ์ หรือเอาทักษิณ แต่ในชลบุรีเป็นสงคราม เป็นสมรภูมิศักดิ์ศรีของขั้วการเมืองที่เกิดขึ้นมาท้าทายกลุ่มตระกูลคุณปลื้ม โดยเฉพาะตระกูลคุณปลื้มรอบนี้ที่บอกว่าจะต้องชนะกลับมา 10 เขตเลือกตั้ง เขาก็ต้องอยากจะปิดฉาก ปิดเกมของ ส.ส. เฮ้ง (สุชาติ ชมกลิ่น) เช่นกัน”

“ผมคิดว่า สส. เฮ้งต้องทำเต็มที่ เพราะถ้าเขาแพ้เที่ยวนี้เสี่ยเฮ้งจบทุกอย่างเลย ถ้าบ้านใหญ่ชนะ 10 เขต แต่ถ้าเสี่ยเฮ้งชนะมาสัก 5 เขต โครงสร้างจะเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกหลังการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งหน้า เพราะผมเชื่อว่าเสี่ยเฮ้งจะประกาศลง อบจ. แน่นอน เพราะ อบจ. คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ดูแลการปกครองท้องถิ่นทั้งหมด ทั้งเทศบาล ทั้ง อบต. ทั้งเมืองพัทยาอีกทีหนึ่ง” โอฬารกล่าว

นอกจากกลุ่มทั้งสามข้างต้น อาจารย์จาก ม.บูรพายังเล่าว่ายังมีกลุ่มอิสระที่ทำงานพื้นที่ได้โดดเด่นในเขต 1 2 และ 3 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้วอำนาจดังกล่าวอย่าง ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ลูกชายของนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังอย่าง ‘กำนันบั๊ค’ กำพล วงศ์ทรายทอง นายกเทศมนตรีตำบลบางทราย อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี ที่เป็นที่เกรงใจของกำนันเป๊าะ เท่าที่เคยสอบถามถึงเหตุผล ได้คำตอบว่าพื้นที่เขต 1 และ 2 เป็นฐานเสียงประชาธิปัตย์และกลุ่มเสื้อเหลืองเดิม จึงคิดว่าย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยไม่ได้

การเมืองมีพลิกผัน แต่บ้านใหญ่อยู่ยั้งยืนยง

นอกจากช่องว่างของการทำงานของกลไกรัฐในการดูแลประชาชนคือสิ่งที่ก่อกำเนิดบ้านใหญ่ เงื่อนไขในภาพที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้ง ไปจนถึงความต่อเนื่องทางการเมือง ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่ออำนาจต่อรองของตระกูลการเมืองเหล่านี้ในเวทีการเมืองทั้งสิ้น

ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มุ่งสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ทำให้บ้านใหญ่ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ การเกิดขึ้นของ “นโยบายประชานิยม” ของพรรคไทยรักไทยและพรรคอื่นๆ ทำให้การเมืองไทยแข่งขันกันบนนโยบายมากขึ้น หมายความว่านโยบายมีผลในการเลือกตั้งมากกว่าบ้าน

ชัยพงษ์ สำเนียง

แต่การรัฐประหาร 2549 และ 2557 ทำให้เครือข่ายบ้านใหญ่กลับมาขยายตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการแช่แข็งไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างยาวนานหลังรัฐประหาร 2557 ทำให้บ้านใหญ่สะสมกำลังและเข้ายึดกุมพื้นที่ท้องถิ่นได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น และเมื่อยึดกุมท้องถิ่นได้ ก็สามารถผันงบประมาณของท้องถิ่นมาเป็นฐานคะแนนให้บ้านใหญ่เป็นวงจรต่อไป

และเมื่อการเลือกตั้งระดับชาติมาถึง รัฐบาลทหารที่ต้องการฐานทางการเมืองก็ต้องต่อรองกับกลุ่มการเมืองที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว คำตอบจึงไปอยู่ที่กลุ่มการเมืองในท้องถิ่นและบ้านใหญ่  ดังที่เห็นจากการรวมบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่พื้นที่การเมืองเช่นในบุรีรัมย์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ภาพที่เห็นอยู่จึงเป็นการเมืองระดับชาติที่ย้อนหลังไปก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540

อย่างไรก็ดี ชัยพงษ์อธิบายเพิ่มว่าบ้านใหญ่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรตามสูตรข้างบนในทุกพื้นที่ เหตุก็เพราะการคงเหลืออยู่ของฐานเสียงจากการเมืองเชิงนโยบาย การเมืองเชิงสีเสื้อ หรือการเมืองเชิงอุดมการณ์ เช่น ในพื้นที่ 8-9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หรือในภาคอีสานที่จะเห็นบ้านใหญ่ที่ย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยพากันสอบตกในปี 2562 แต่ข้อสังเกตคือการเมืองบ้านใหญ่กลับมาเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีความชัดเจนในทางอุดมการณ์ พูดอีกแบบก็คือ 'พื้นที่ที่มีการเมืองสีเสื้อไม่รุนแรง' เป็นจุดที่ยังเห็นบ้านใหญ่ที่ย้ายพรรคแล้วยังได้รับเลือกตั้งอยู่ เช่นบางพื้นที่ในภาคกลางและภาคใต้

“เราอาจจะบอกว่าบ้านใหญ่ขึ้นมา แต่ผมว่าในเชิงพื้นที่มันมีขอบเขตพอสมควรที่บ้านใหญ่ทำงานได้ ถ้ากลับไปในบริบทอีก บ้านใหญ่เหล่านี้ ในเชิงประวัติศาสตร์ก็เป็นบ้านใหญ่ที่ฝังรากมานาน เช่นที่กำแพงเพชร หรือจังหวัดสุโขทัย อย่างนามสกุลลิมปะพันธุ์ หรือเทพสุทิน ก็เป็นบ้านใหญ่ที่ทำการเมืองมา 20-30 ปี เขาเปลี่ยนไปพรรคไหนก็ชนะ แต่บางจังหวะเขาลดบทบาทไปอยู่ในองคาพยพของพรรค เช่น ไปอยู่เพื่อไทย ไปอยู่ไทยรักไทย เขาก็มีอำนาจต่อรองแต่ไม่ได้มีมากเท่ากับพรรคที่เราเห็นอยู่นี้”

ในส่วนของ จ.ชลบุรี โอฬารกล่าวว่า บ้านใหญ่ในชลบุรีได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2557 มากกว่าเมื่อครั้งปี 2549 เพราะแผนการทางการเมืองที่ตามมาจากการรัฐประหาร 2557 ทำให้บ้านใหญ่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองส่วนกลาง และทำให้เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ มีทรัพยากร และเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นขึ้นมาแข่งขันกับขั้วอำนาจเดิม

“(การรัฐประหาร) 2557 สำคัญมาก มันทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างของบ้านใหญ่มันส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน 2549 ผมคิดว่าเขาพยายามที่จะเว้นระยะห่าง แต่ 2557 บ้านใหญ่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง อย่างเช่น เขามีเรื่องของคุณสนธยาที่มีโอกาสได้กลับมาเป็นนายกฯ เมืองพัทยา หรือนายอิทธิพลที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมทั้งๆ ที่สอบตก เรื่องนี้เลยเป็นปมที่สุชาติ (ชมกลิ่น) ไม่พอใจมาก สุชาติก็เลยใช้โอกาสนี้ทำทุกอย่าง ผลของรัฐประหารปี 2557 ก็คือทำให้บ้านใหญ่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองค่อนข้างมาก”

 

ในมุมเงื่อนไขรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้ง สิริพรรณมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่นำมาสู่กติกาการเลือกตั้ง 2562 ที่ให้ประชาชนกาบัตรใบเดียวและคะแนนไม่ตกน้ำ ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรควิ่งหาบ้านใหญ่เพื่อเอาทุกคะแนนเสียงมารวมกัน บ้านใหญ่จึงมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองมาก

และแม้กติกาในการเลือกตั้ง 2566 จะเปลี่ยนไปอีกทิศทาง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส. เขตและ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ 350 ต่อ 150 เป็น 400 ต่อ 100 และเปลี่ยนจากการกาบัตรใบเดียวเป็นสองใบ (เลือก ส.ส. เขต และเลือกพรรคการเมืองเพื่อคำนวณเป็นสัดส่วนบัญชีรายชื่อ) แต่อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าจะยิ่งทำให้บ้านใหญ่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เหตุผลก็คือการมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ได้อยู่ บวกกับการที่พรรคใหญ่ยังมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเท่ากัน ทำให้บ้านใหญ่ที่มีฐานคะแนนในพื้นที่ รู้ว่าตนเองมีอำนาจต่อรองเพื่อเข้าไปเป็น ‘จำนวนนับ’ ในสภา

“คนวิ่งหาบ้านใหญ่เพราะรู้ว่าตัวตัดสินไม่ได้อยู่ที่คะแนน ส.ส. แต่อยู่ที่ สว. ดังนั้นบ้านใหญ่ไปอยู่กับพรรคไหนก็ได้เพื่อทำให้พรรคนั้นมีคะแนนเสียงได้เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 ที่นั่ง ทุกพรรคมีโอกาสที่จะเป็นแกนนำรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ เพื่อไทย หรือภูมิใจไทย บ้านใหญ่ถึงมีความสำคัญ” สิริพรรณกล่าว

ส.ว.: ประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง (โดยคณะรัฐประหาร) กับคำถาม “ยังจำเป็นต้องมี?”

กรณีศึกษาที่ 2: เหนือตอนล่าง กลางตอนบน วัดใจกระแส vs บ้านใหญ่

ชัยพงษ์วิเคราะห์ย้อนหลังไปเมื่อครั้งการเลือกตั้ง 2562 โดยมองว่าบริบทในท้องถิ่นมีผลต่อการแพ้หรือชนะของบ้านใหญ่ ซึ่งต้องประเมินทั้งตัวบุคคลที่ส่งลงเลือกตั้งและกระแสพรรคที่ตนเองไปอยู่ใต้สังกัด ภาคเหนือหลายจังหวัดสอบตกเพราะเจอกระแสพรรคการเมือง เช่น จ.แพร่ ที่กระแสพรรคอนาคตใหม่หลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติสามารถเอาชนะพรรคคู่แข่งที่ส่งนักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างขวางลง แต่ก็จะยังเห็นบางพื้นที่ที่บ้านใหญ่ย้ายพรรคแล้วยังชนะ เช่น จ.เพชรบูรณ์ ที่บ้านใหญ่ย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยแต่ก็ยังชนะทั้งจังหวัด หรือที่พรรคพลังประชารัฐสามารถชนะได้ทั้ง จ.กำแพงเพชร

ในกรณีของ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชัยพงษ์ต้องเข้าคูหาในปี 2566 เขามองว่าพิษณุโลกเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจในแง่ที่ไม่มีพรรคไหนเคยกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีทั้งกลุ่มอุดมการณ์ที่แข่งขันกันมายาวนาน และก็มีบ้านใหญ่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2490 อย่างตระกูลไกรฤกษ์ แต่ก็ยังมี ส.ส. หน้าใหม่ที่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้ เช่น ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคอนาคตใหม่ (ต่อมาเป็นก้าวไกล) ที่ชนะการเลือกตั้งในเขตที่ 1 สภาวะการแข่งขันเช่นนี้ทำให้ทุกฝ่ายต้องเลือกเฟ้นคนที่ดีที่สุดมาให้ประชาชนเลือก

ปดิพัทธ์ สันติภาดา

“อันนี้ก็เป็นข้อดีของพิษณุโลก คือการไม่มีการเมืองที่พรรคไหนกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันทำให้ประชาชนสามารถสร้างตัวเลือกที่เยอะแยะมากมายได้ พรรคต่างๆ ก็ต้องหาคนเก่งๆ ดีๆ ลงมาเพื่อที่จะให้ผู้คนเลือก”

“ความคิดที่ว่าส่งเสาไฟฟ้าลง ผมว่าตอนนี้ไม่มีสักพรรคแล้ว มันต้องแข่งขันกันในเชิงตัวบุคคล ตัวนโยบายทุกพรรค แม้จะเป็นบ้านใหญ่หรือไม่บ้านใหญ่ เขาก็เลือกเฟ้นคนดีๆ มาลง ผมยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง อย่างนครปฐม กลุ่มสายสะสมทรัพย์ก็พยายามเฟ้นหาคนรุ่นใหม่มาลงที่เขต 1 ซึ่งผมเห็นเขาในเฟซบุ๊ค เขาก็ทำงานอย่างแข็งขัน เป็นบ้านใหญ่ในนครปฐม เป็นคนรุ่นใหม่ จบนอก อายุ 20 ต้นๆ ทำงานแข็งขัน หมายความว่าบ้านใหญ่ก็ปรับตัวเพื่อที่จะให้เป็นการเมืองของกระแสเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามั่นใจในคะแนนเขาแต่ประการใด” ชัยพงษ์กล่าว

บ้านใหญ่ - อุดมการณ์ – ฐานเสียง คนละเรื่องเดียวกัน?

เหตุผลของประชาชนที่เลือกกลุ่มผู้มีบารมีในท้องถิ่นเหล่านั้นเข้ารับอำนาจการเมืองเป็นอีกจุดที่น่าวิเคราะห์ เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และยังเป็นจุดที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอเมื่อผลการเลือกตั้งในที่หนึ่งไม่ถูกใจประชาชนอีกที่หนึ่ง ชัยพงษ์ ผู้กำลังเขียนหนังสือชื่อ “จาวบ้าน: ผู้ประกอบการทางการเมือง” มีข้อเสนอในประเด็นนี้ว่าประชาชนในพื้นที่ชนบทยังคงต้องพึ่งพาอาศัยตัวกลางระหว่างพวกเขากับรัฐอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่อยากเลือกผู้แทนบนฐานอุดมการณ์เช่นกัน การเลือกตั้งรอบนี้ที่มีบัตรสองใบก็ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ดีขึ้น

“ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันมีเรื่องของการเอาโครงการต่างๆ เข้าไปในชุมชน แต่บ้านใหญ่เขาสามารถเคลียร์ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่รัฐราชการหรือนักการเมืองเชิงอุดมการณ์ทำให้ไม่ได้ เช่น การประกันตัวลูก การฝากเข้าเรียน การไปดึงน้ำมา ไปดึงประตูน้ำ ทำให้ถนนได้ซ่อมเร็วๆ วิ่งงบ เอาง่ายๆ คือดึงทรัพยากรจากส่วนกลางที่คนในท้องถิ่น หรือคนในชนบทไม่สามารถดึงได้ อันนี้คือส่วนหนึ่งของการเมืองที่เฉพาะหน้า”

“แต่ถ้าเรามองการเมืองเชิงอุดมการณ์ ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาของนักการเมืองที่บอกว่าต้องให้ชาวบ้านเลือกฝ่ายประชาธิปไตย บางคนก็ไม่ได้ลงพื้นที่อย่างจริงจัง จะหาตัวสักทีก็แทบเป็นไปไม่ได้ มันจึงเป็น dilemma (ทางสองแพร่ง) ที่คนในชนบทเจอ ก็คือเราอยากเลือกในเชิงอุดมการณ์ ไม่ใช่เขาไม่มีอุดมการณ์ เขาก็เป็นคนที่ต้องการประชาธิปไตย ความเท่าเทียม แต่ปัญหาในพื้นที่ของเขาก็สุมมหาศาล” ชัยพงษ์กล่าว

อาจารย์จาก มน. มองว่าพรรคการเมืองที่ชูการเมืองเชิงอุดมการณ์ก็ควรจะทำงานในเชิงพื้นที่ด้วย เพราะในหลายพื้นที่ในสังคมไทย แม้คนจะใช้ชีวิตแบบคนเมือง เสพเนื้อหาออนไลน์แบบคนเมือง แต่ก็ยังมีวิถีชีวิตชนบทหลายอย่างที่รัฐยังยื่นทรัพยากรไปไม่ถึงก็ นอกจากนั้น การยึดติดกับพื้นที่ก็มีความสำคัญในฐานะของการสร้างปฏิสัมพันธ์พื้นฐานกับประชาชน ตัวอย่างของผู้แทนที่มีจุดขายที่อุดมการณ์และได้รับเลือกตั้งหลายสมัยผ่านการสร้างพื้นที่ คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ผู้แทนที่มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยชัดเจน ที่ได้รับเลือกตั้งถึง 4 สมัย หรือแคล้ว นรปติ อดีต ส.ส.ขอนแก่น ติดต่อกัน 8 สมัย ที่มีแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน

“ผมยกตัวอย่าง อย่างพรรคก้าวไกล เป็นการเมืองอุดมการณ์ที่ต้องการพื้นที่ทั้งประเทศ อันนี้มันเหมาะกับปาร์ตี้ลิสต์ แต่ถ้าคุณต้องการ ส.ส. เขต คุณต้องทำอย่างหนึ่ง คือคุณต้องทำพื้นที่อย่างจริงจัง คุณไม่จำเป็นต้องทำพื้นที่แบบบ้านใหญ่ก็ได้ ก็คือต้องดูแลนั่นนี่เยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่คนในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลต้องการคือการเห็นหน้าค่าตา การเป็นครอบครัว การทำแบบนี้ทำให้ทั้งการเมืองเชิงอุดมการณ์และการเมืองในความสนิทชิดเชื้อมันไปด้วยกันได้” ชัยพงษ์กล่าว

การเมืองหลังเลือกตั้ง + 250 สว. จุดกำหนดยุทธศาสตร์พรรคการเมือง-บ้านใหญ่

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะพบว่าแต่ละพรรคการเมืองมีท่าทีต่อการมอง หรือการดูแลบ้านใหญ่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างทั้งหมดทั้งมวลอาจขมวดปมกลับมาที่แก่นแกนของยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อชัยชนะในเกมเลือกตั้งและเกมหลังเลือกตั้ง

ชัยพงษ์จำแนกแนวทางการจัดการกับบ้านใหญ่ในการเลือกตั้ง 2566 เป็นสามประเภท ดังนี้

  1. แบบกลุ่มก๊วน หมายถึงพรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นโดยนำบ้านใหญ่มารวมกันเพื่อตั้งกลุ่มต่อรองกันทางการเมือง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา
  2. แบบทำงานผ่านพรรค หมายถึงมีบ้านใหญ่อยู่หลายกลุ่ม แต่ต้องทำงานผ่านพรรคการเมืองเพราะว่าพรรคมีกระแส ทำให้ไม่เห็นการทำงานของบ้านใหญ่ที่ชัดเจน และไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เท่าพรรคข้างบน เช่น พรรคเพื่อไทย
  3. ไม่มีบ้านใหญ่ ทำงานเชิงอุดมการณ์และการเมืองมวลชน เช่น พรรคก้าวไกล

ชัยพงษ์เน้นย้ำว่าการจัดการแบบกลุ่มก๊วนไม่ใช่เรื่องที่ผิดในตัวของมันเอง เพราะเป็นการต่อรองทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในพื้นที่ พรรค NLD ที่เป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่นมายาวนานก็ใช้วิธีนี้

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาจารย์จาก มน. มองว่าแนวทาง ปชป. คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างการใช้บ้านใหญ่ผสมกับกระแสพรรค ในพื้นที่ที่กระแสเข้มแข็งอย่างภาคใต้นั้นจะเห็นว่าส่งใครลงก็ชนะ ส่วนในภาคอื่นที่ฐานไม่เข้มแข็งก็จะใช้บ้านใหญ่เข้าช่วย แต่หลังๆ จะเริ่มเห็นว่ามีกลุ่มทางการเมืองหรือบ้านใหญ่ในหลายๆ พื้นที่มากำหนดผู้สมัคร ส.ส. มากขึ้นภายในพรรค ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเกิดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จนคนออกจากพรรคจำนวนมาก

สิริพรรณมองว่าการได้มาและรักษาไว้ซึ่งบ้านใหญ่นั้นใช้ทรัพยากรสูง หากตัวพรรคการเมืองไม่มีทรัพยากรก็ต้องใช้กลไกและงบประมาณรัฐเข้ามาทุ่นแรง ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเป็นรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่นสิ่งที่ ภท. ทำในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาด้วยการใช้ตำแหน่งเจ้ากระทรวงที่ตนเองยึดกุมอยู่กระจายงบประมาณให้ หรือหากให้เป็นเงินไม่ได้ก็ให้โครงการลงไปตามกรอบนโยบาย

การใช้กลไกรัฐเข้าสนับสนุนยังหมายรวมถึงการอำนวยให้บ้านใหญ่ได้เฉิดฉายเต็มที่ในช่วงการเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้กลไกรัฐไม่มองผู้สมัครของตนเป็นปฏิปักษ์จนขยับตัวไม่ได้ การสนับสนุนที่ได้จากพรรคการเมืองในลักษณะนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่บ้านใหญ่ใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยว่าจะเลือกอยู่สังกัดกับใคร

“สมมติคุณเคยเป็นบ้านใหญ่ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี 2562 คุณเคยเป็นบ้านใหญ่และคุณได้รับเลือกตั้งมาตลอด แต่คุณไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกับอำนาจรัฐ ทหาร ตำรวจ มานั่งคุยกับคุณตั้งแต่ 7 โมงเช้าตั้งแต่ก่อนที่คุณจะออกไปเยี่ยมประชาชนได้ นั่งคุยเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ขู่คุกคามอะไร นั่งคุยถึงบ่าย 4 โมง คุณออกไปหาเสียงไม่ได้ อันนี้คือการใช้กลไกอำนาจรัฐที่บีบให้บ้านใหญ่ตัดสินใจย้าย ดังนั้นเราถึงเห็นบ้านใหญ่ย้ายพรรคมากในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562”

“กลไกอำนาจรัฐที่ใช้มากคือ กกต. การให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม หรือใบดำ ถึงแม้ในทางปฏิบัติจะไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่แค่ความรู้สึกที่ว่าอาจจะได้ใบต่างๆ มันก็ทำให้คุณกังวลใจในการที่จะใช้ศักยภาพของคุณแล้ว” สิริพรรณกล่าว

(เสื้อขาว ขวา) สุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยที่ถูก กกต. แจกใบส้มในการเลือกตั้ง 2562

ในส่วนของ ปชป.  สิริพรรณมองว่า ปชป. ในภาคใต้ถูกท้าทายโดยกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ และ รทสช. ซึ่งหากบ้านใหญ่ทำหน้าที่ในการดูแลประชาชนก็คงไม่ต้องกลัว แต่ปัญหาก็คือบ้านใหญ่ของ ปชป. หลายที่ไม่ได้ทำหน้าที่นี้ ยิ่งในปี 2562 จุดยืนไม่ร่วมงานกับทหารของอดีตหัวหน้าพรรคอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สวนทางกับฐานเสียงที่สนับสนุนทหารก็ยิ่งเป็นปัจจัยลบที่กระทบกับบ้านใหญ่ในพรรค ในทางกลับกัน ภท. ที่ไม่มีบ้านใหญ่ในภาคใต้กลับมีกระแสขึ้นมา แสดงว่า ภท. สามารถทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบ้านใหญ่เดิม

อาจารย์จากจุฬาฯ อธิบายเพิ่มเติมในภาพกว้างว่า นอกจากการเมืองที่มีกลุ่มบ้านใหญ่หรือมุ้งการเมืองในสมการยุทธศาสตร์ ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่เล่นเกมกระแสผ่าน ‘บทบาทในสภา’ เช่นพรรคก้าวไกลที่โดดเด่นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการเสนอนโยบายใหม่ๆ หรือพรรคเสรีรวมไทยที่มีบทบาททางการเมืองในสภาที่ได้ใจประชาชนด้วย

บ้านใหญ่สู่การเมืองนโยบาย เป็นไปได้หรือไม่

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของการเมืองที่ใช้พรรคการเมืองและนโยบายนำบ้านใหญ่เคยเกิดขึ้นแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนที่เข็มนาฬิกาจะถูกหมุนกลับด้วยการรัฐประหารสองครั้ง นำไปสู่คำถามว่าการเมืองเชิงนโยบายจะกลับได้อย่างไร และบ้านใหญ่จะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

สิริพรรณมองว่าการทำการเมืองเชิงนโยบายได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วผ่านการนำของพรรค แต่การจะให้บ้านใหญ่พัฒนานโยบายเองจนทำให้เกิดทางเลือกเชิงนโยบายกับประชาชนนั้นยังยากมากในระดับชาติและอาจจะเริ่มได้ง่ายกว่าในระดับท้องถิ่น แต่การที่จะเกิดสภาวะเช่นนั้นได้ สิ่งแรกที่ต้องมีคือระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่อง เพื่อให้บ้านใหญ่มีการปรับตัว เปลี่ยนอิทธิพลเป็นนโยบายหรือสิ่งอื่นที่ให้ประโยชน์กับประชาชน หากบ้านใหญ่สามารถพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ การเมืองในระดับพื้นที่จะเข้มแข็งมากเพราะมีปัจจัยด้านอุปถัมภ์กับนโยบายที่เดินควบคู่กันไป

“ตอนนั้นมีการถามว่าคุณ (บ้านใหญ่) ใหญ่แค่ไหน แต่นโยบายอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุน กยศ. มันใหญ่กว่า คุณใหญ่แค่ไหน นโยบายก็นำ ถ้าคุณไม่อยู่ภายใต้แบรนด์เพื่อไทย คุณออกไปคุณก็สอบตก มันถึงมีคำพูดว่าเสาไฟฟ้า (ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ) แล้วมันยังไม่ถึงจุดนั้น พัฒนาการมันกำลังดำเนินไป แต่ว่ามันยังไม่เสถียร มันเกิดรัฐประหารก่อน กระบวนการนี้มันเลยตีกลับ แล้วมันก็เกิดปรากฏการณ์ที่ชัดเลยว่าบ้านใหญ่ย้ายพรรคแล้วยังได้เลือก จุดที่มันจะทดสอบนโยบายเหนือบ้านใหญ่ได้จริงๆ ก็คือนโยบายต้องมาก่อน จุดยืนทางการเมืองต้องมาก่อน บ้านใหญ่ย้ายออกไปแล้วคุณอยู่ไม่ได้”

“ระบบการเมืองจะสร้างผลผลิตที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมันอาจเป็นนโยบายที่ custom made (จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเจาะจง) สำหรับท้องถิ่น เช่น น้ำประปากินได้ โรงเรียนมีอาหารกลางวันที่มีประสิทธิภาพ หรือการกำจัดขยะ ซึ่งมันก็จะ custom made สำหรับแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน” อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ชัยพงษ์มองว่าการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเป็นก้าวแรกในการควบคุมบ้านใหญ่เพื่อให้เกิดการเมืองที่อิงอยู่บนนโยบาย และการกำหนดเงื่อนไขการเมืองในภาพใหญ่จะทำให้บ้านใหญ่ปรับตัวตาม

“มันต้องกลับไปทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง สิ่งที่บ้านใหญ่ขึ้นมา แง่หนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่องว่างที่รัฐธรรมนูญ หรือตัวคนมีอำนาจก็ตาม อยากให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มันจึงทำให้บ้านใหญ่ขึ้นมาแทรกได้ ถ้าพรรคเข้มแข็ง สามารถกำหนดทิศทางนโยบาย สามารถกำหนดตัวผู้สมัครได้ บ้านใหญ่ก็อาจจะได้รับการเลือกตั้ง แต่ไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นกลุ่มแก๊ง มีอำนาจในการต่อรองใหญ่ได้”

“ตัวบ้านใหญ่มันไม่ได้เกิดเพราะมันอยากเกิด หรือทำงานด้วยตัวเอง มันเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขของการเมืองภาพใหญ่ต่างหาก” ชัยพงษ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net