Skip to main content
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีกรณีที่ชายข้ามเพศชนะคดีในศาลสูงสุดของฮ่องกงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการรับรองเพศสภาพ ทำให้ตอนนี้ฮ่องกงกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถรับรองเพศสภาพคนข้ามเพศตามกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขการผ่าตัดแปลงเพศอย่างเต็มรูปแบบอีกต่อไป

14 ก.พ. 66 ศาลสูงสุดของฮ่องกงตัดสินสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มชายข้ามเพศ ที่เรียกร้องให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนเพศในทางกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศอย่างเต็มรูปแบบ จากเดิมที่นโยบายของฮ่องกงกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศอย่างเต็มรูปแบบก่อนถึงจะเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้

ก่อนหน้านี้ชายข้ามเพศ 3 รายในฮ่องกงคือ Henry Tse นักเคลื่อนไหวชายข้ามเพศ และอีกสองรายที่ให้เรียกว่า "Q" กับ "R" ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงตั้งแต่ปี 2561 ขอให้มีการแก้ไขนโยบายในเรื่องการเปลี่ยนเพศในเอกสารระบุตัวตนเช่นในบัตรประชาชน จากเดิมที่กฎหมายฮ่องกงระบุว่าคนที่จะได้รับการรับรองให้เปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้จะต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศอย่างเต็มรูปแบบเสียก่อน แต่ชายข้ามเพศเหล่านี้ก็เรียกร้องให้ยกเลิกเงื่อนไขข้อบังคับเรื่องการแปลงเพศ

ในครั้งแรกชายข้ามเพศ 3 รายนี้แพ้คดีในชั้นศาลสูง ก่อนที่ต่อมา Tse และ Q ยังสู้คดีต่อโดยทำการร้องเรียนต่อชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ยังคงตัดสินยืนยันจะคงนโยบายเดิมเอาไว้คือการที่ผู้ที่จะเปลี่ยนเพศทางกฎหมายจะต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศอย่างเต็มรูปแบบก่อน จนกระทั่ง Tse และ Q สู้คดีต่อในชั้นศาลสูงสุดของฮ่องกง ก็ทำให้มีคำตัดสินออกมาเมื่อ 6 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า จะให้มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว

หลังจากได้รับชัยชนะในคดี Tse ก็ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าในที่สุดเขาก็สามารถ "เอาชนะความชั่วร้ายได้" และ "ปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ความเป็นผู้ชาย(ของเขา)ได้สำเร็จ"

"เช่นเดียวกับตัวผม มีคนข้ามเพศจำนวนมากในฮ่องกงโดยเฉพาะเพื่อนๆ ของผมที่เป็นกลุ่มชายข้ามเพศ ได้รอคอยที่จะได้รับชัยชนะครั้งสุดท้ายแบบวันนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว" Henry Tse กล่าว

นิยามของคำว่า "การผ่าตัดแปลงเพศเต็มรูปแบบ" สำหรับชายข้ามเพศนั้นคือการผ่าตัดนำเอาอวัยวะอย่างรังไข่และมดลูกออก รวมถึงการผ่าตัดสร้างองคชาต หรือ "รูปแบบบางส่วนขององคชาต" ซึ่งศาลตัดสินว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นเป็น "การรักษาอาการทุกข์ใจในเพศสภาพขั้นสุดท้ายในแบบรุกล้ำ" และ "เป็นสิ่งไม่ใช่เงื่อนไขบังคับทางการแพทย์สำหรับคนข้ามเพศจำนวนมาก"

ในคำให้การต่อศาลสูงสุดของทนายความที่เป็นตัวแทนของ Tse กับ Q ระบุว่าทางรัฐบาลไม่สามารถ "ให้ความชอบธรรมได้มากพอ" ในการดำเนินนโยบายบังคับให้แปลงเพศเต็มรูปแบบเสียก่อนถึงจะเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ ซึ่งนโยบายแบบเดิมนี้นับเป็นการปิดกั้นสิทธิของผู้ขอเปลี่ยนเพศมากเกินไป

ทนายความระบุอีกว่า นโยบายดังกล่าวนี้ยังกลายเป็นการทำให้ผู้ขอเปลี่ยนเพศทางกฎหมายต้องเปิดเผย "ส่วนที่ละเอียดอ่อนที่สุด" ในชีวิตของพวกเขาด้วย จากการที่ชายข้ามเพศเหล่านี้แสดงออกและมีรูปลักษณ์เป็นชายแล้วแต่ก็ยังคงถูกตั้งข้อกังขาเวลาที่มีผู้ตรวจเช็คบัตรประจำตัวประชาชนของพวกเขาแล้วพบว่ามีการระบุเพศเป็น "หญิง"

ในคำตัดสินของศาลสูงสุดของฮ่องกงระบุว่า นโยบายบังคับให้ต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนเช่นนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานในเรื่องความเป็นส่วนตัวที่มีการรับรองไว้ในบัญญัติลัทธิและเสรีภาพของพลเมืองของฮ่องกง เพราะเมื่อคนข้ามเพศถูกสั่งให้เปิดเผยบัตรประจำตัวประชาชนแล้วพบว่ารูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับเพศที่ระบุไว้ในบัตรก็อาจจะทำให้เกิดความกังขาในแบบที่ "ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรุกล้ำความเป็นส่วนตัวแบบที่มีการร้องเรียนตามที่ยื่นอุทธรณ์ไว้ในครั้งนี้"

ภายนอกศาลสูงสุด Tse ได้แสดงความยินดีต่อคำตัดสินด้วยการชู "ไฟชุน" ซึ่งก็คือกระดาษสีแดงที่แสดงความเป็นมงคลซึ่งมักจะนำมาประดับในช่วงตรุษจีน บนกระดาษไฟชุนระบุตัวอักษรภาษาจีนเป็นคำว่า "อุทธรณ์ได้สำเร็จ" อีกทั้งยังมีธงสีฟ้า, ชมพู และขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการคนข้ามเพศด้วย

นอกจากเรื่องการรับรองเพศสภาพในทางกฎหมายแล้ว Tse ยังพูดถึงปัญหาที่เขาต้องเผชิญเพราะสังคมไม่มีการรับรองเพศสภาพของเขาในแง่มุมอื่นๆ ด้วย เช่น ในเรื่องของการเข้าห้องน้ำ Tse เล่าว่าแม้แต่เรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการเข้าห้องน้ำสาธารณะก็เป็นเรื่องยากสำหรับเขา เพราะถึงแม้เขาจะเป็นชายข้ามเพศแต่ก็เข้าห้องน้ำชายไม่ได้เพราะไม่ได้รับการรับรองเพศสภาพ ถ้าจะให้เขาไปเข้าห้องน้ำผู้หญิงตามเพศกำเนิดตัวเองก็กลัวจะถูกกล่าวหาเพราะรูปลักษณ์ของเขาที่มีรูปลักษณ์เป็นชายแล้ว

Tse บอกว่าการรับรองเพศสภาพจะทำให้จากนี้ไปเขาสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีการแยกเพศได้ง่ายขึ้น Tse บอกอีกว่าถ้าหากรัฐบาลมีการปรับปรุงนโยบายให้สนับสนุนการรับรองเพศสภาพแล้วเขาก็อยากจะ "รีบไปเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่" โดยเร็ว พอมีบัตรประชาชนที่ระบุเพศสภาพเป็นชายแล้วเขาก็จะอยากจะเข้ายิมหรือเปลี่ยนเสื้อในห้องเปลี่ยนเสื้อชายได้โดยไม่ต้องมีใครมาตั้งคำถามกับเพศของเขา

ในคำตัดสินของศาลระบุอีกว่า มันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลในการที่จะแก้ไขนโยบายของคณะกรรมาธิการ แต่ก็มีโมเดลหลายรูปแบบและหลายวิธีการที่จะสามารถนำมาใช้พิจารณาในการปรับนโยบายในแบบที่สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิได้

นักกิจกรรมมักจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลฮ่องกงมีการคุ้มครองสิทธิของ LGBTQ+ ยังไม่มากพอ ทำให้พวกเขาต้องอาศัยระบบตุลาการเพื่อเป็นความหวังในการแก้ไขกฎหมายที่มีรากฐานในฮ่องกงมาจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ

มีกรณีหนึ่งที่คู่เกย์ในฮ่องกงฟ้องร้องให้คู่รักของเขาได้รับสวัสดิการและการประเมินภาษีในฐานะคู่แต่งงาน ซึ่งในปี 2562 ศาลฮ่องกงก็ตัดสินให้คู่เกย์ที่ฟ้องร้องสามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ได้ และในอีกสองปีถัดมาศาลก็ตัดสินให้สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรของคู่รักเพศเดียวกันทัดเทียมกับสิทธิในการอุปการะของคู่รักต่างเพศ

ทั้งนี้ยังมีคดีหรือการร้องเรียนอื่นๆ ในประเด็น LGBTQ+ ในฮ่องกงที่กำลังจะมีการตัดสินต่อจากนี้คือเรื่องที่คู่รักเพศเดียวกันเรียกร้องให้พวกเขามีสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการการเคหะของรัฐได้เทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศ และอีกกรณีหนึ่งคือเรื่องที่คนข้ามเพศจะสามารถใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพของพวกเขาได้หรือไม่ถ้าหากยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ

Tse บอกว่าคำตัดสินในคดีล่าสุดนี้เป็น "ความยุติธรรมที่ล่าช้า" พวกเขาต่อสู้คดีนี้มาเป็นเวลา 5 ปีจนคนข้ามเพศอย่างพวกเขาได้รับความเป็นธรรมในที่สุด ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้ควรจะมีการรับรองสิทธิมาตั้งแต่แรกแล้วโดยไม่จำเป็นให้พวกเขาต้องมาฟ้องร้องเป็นคดี

ทางองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ว่าคำตัดสินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าทางการฮ่องกงควรจะมีการแก้ไขนโยบายให้มีการรับรองเพศสภาพของคนข้ามเพศให้ดีกว่านี้ จากเดิมที่เงื่อนไขในการรับรองเพศสภาพยังมีความล้าหลัง รวมถึงยังสะท้อนให้เห็นว่าควรจะมีการแยกแยะระหว่างข้อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการแปลงเพศ กับสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่บุคคลจะสามารถได้รับการรับรองเพศสภาพ

Liam Mak ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกลุ่ม Quarks ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนคนข้ามเพศในฮ่องกงบอกว่าการชนะคดีในครั้งนี้ถือเป็น "หมุดหมายสำคัญ" สำหรับชุมชนคนข้ามเพศในฮ่องกง

"พวกเราเชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลคนหนึ่งไม่ควรจะต้องถูกผูกติดกับการแทรกแซงทางการแพทย์ พวกเราควรจะทำให้แน่ใจว่าจะมีการแทรกแซงทางการแพทย์ให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลยในนโยบาย(การรับรองเพศสภาพ)นี้" Mak กล่าว

"เนื่องจากว่าบุคคลแต่ละคนต่างก็มีความพึงใจและการตัดสินใจที่แตกต่างกันไปในการข้ามเพศของตัวเอง ข้าพเจ้าหวังว่ารัฐบาลจะทำตามคำแนะนำของศาลในการคุ้มครองสิทธิของคนข้ามเพศทุกคน" Mak กล่าว

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net