Skip to main content
sharethis
  • เป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา หลัง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เซ็นอนุมัติ ‘หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566’ เนื่องจากมีข้อทักท้วงเกี่ยวกับการนำงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคไปใช้ดูแลผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ ทำให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัดสินใจประกาศหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณสำหรับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปก่อน ทำให้คลินิกภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เคยได้รับการสนับสนุนจาก สปสช.​ เพื่อให้บริการตรวจเลือดและยาป้องกันไวรัสแก่ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการโดยไม่แบ่งแยกว่าใช้สิทธิรักษาพยาบาลสิทธิไหนไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างที่ผ่านมา 
  • ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีกฉบับที่กำหนดว่าคลินิกภาคประชาสังคมจะต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น โดยต้องมีการส่งผลตรวจเลือดของผู้มารับบริการให้แพทย์ก่อนเพื่อสั่งจ่ายยา ทำให้คลินิกสุขภาพเพศบางแห่งที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องหยุดให้บริการไปชั่วคราวด้วยความกังวลว่าจะทำผิดกฎหมาย 
  • ทั้งสองกรณีดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการป้องกันเอชไอวี โดยหลายฝ่ายระบุว่าการที่คลินิกชุมชน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ตรวจเลือดและจ่ายยาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่ต้องการเข้ามารับคำปรึกษาเกี่ยวสุขภาพเพศอีกด้วย ไม่สามารถให้บริการบุคคลทุกสิทธิได้เหมือนเคยจะทำให้โอกาสในการเข้าถึงการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจและการเข้าถึงอุปกรณ์และยาป้องกันไวรัสลดน้อยลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ในวันที่ประเทศไทยมีเป้าหมายจะยุติเอดส์ภายในพ.ศ. 2573
  • เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประชาไทพูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดร.อินทิรา สุยา ผู้แทนโครงการ EpiC ประเทศไทย FHI 360 โครงการ EpiC ประเทศไทย ศตายุ สิทธิกาน ผู้อำนวยการมูลนิธิแคร์แมท คลินิกด้านสุขภาพทางเพศใน จ.เชียงใหม่ และ ชานันท์ ยอดหงส์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย 

ปัญหาการตีความกฎหมาย

นำมาซึ่งข้อติดขัดในการแจกยาเพร็พ-เป็ป

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการทักท้วงโดยที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า สปสช. สามารถนำงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปให้บริการประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมา สปสช. เป็นผู้ของบประมาณจากรัฐแทนกองทุนประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการเพื่อนำมาจัดบริหารเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการมาโดยตลอดบนหลักคิดว่าการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคจะต้องทำกับประชาชนทุกคน

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ สปสช. 

ภญ. ยุพดีระบุว่าที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคำถามมาก่อนว่า สปสช. สามารถของบประมาณเพื่อนำมาให้บริการประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่ ซึ่งทาง สปสช. ก็ได้มีการขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อพ.ศ. 2546 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีความเห็นว่า เนื่องจากมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ” สปสช. จึงมีอำนาจในการกระจายงบประมาณที่ได้รับไปให้ถึงบุคคลทุกคนตามมาตราดังกล่าว นอกจากนี้ สปสช. ยังอาศัยข้อกำหนดตามมาตรา 18 วรรค 14 ในพรบ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการ “ปฏิบัติหน้าที่อื่น” ตามที่กฎหมายกำหนดหรือได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี

โดย ภญ. ยุพดีอธิบายว่า สปสช. ตีความข้อกฎหมายดังกล่าวว่า เมื่อมีการอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งต้องผ่านการลงคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะส่งมาที่ สปสช. ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช. จึงถือว่าการกระจายงบประมาณเป็นการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยครม. 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตีความข้อกฎหมายกลับเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากมาตรา 9 และ 10 ในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดว่า ถ้า สปสช. จะจัดบริการสาธารณสุขให้บุคคลที่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ จะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกับกองทุนประกันสังคมและนายจ้างของข้าราชการ ซึ่งก็คือภาครัฐก่อนแล้วประกาศในพระราชกฤษฎีกา แต่เนื่องจากยังไม่ได้มีการประกาศตามข้อกฎหมายดังกล่าว จึงมีการทักท้วงว่า สปสช. จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ถ้ามีการประกาศการใช้งบประมาณที่มีการนำงบส่วนหนึ่งไปใช้กับบริการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้ สปสช. ไม่สามารถประกาศการใช้งบประมาณสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่โดยปกติแล้วต้องประกาศก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ปีงบประมาณเริ่มต้นได้ ภญ.ยุพดีระบุว่า หลังนำวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายครั้งและไม่ได้ข้อสรุป สปสช. จึงตัดสินใจออกประกาศการใช้งบประมาณสำหรับสิทธิบัตรทองไปก่อนในระหว่างที่ขอความชัดเจนจากครม. ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

เมื่อประกาศฉบับดังกล่าวที่ออก ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565 กำหนดให้งบประมาณการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ประชาชนที่มีสิทธิการรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ารับบริการป้องกันเอชไอวี ซึ่งรวมถึงการตรวจเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis - PrEP) หรือยาป้องกันไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ ยาเป็ป (Post-Exposure Prophylaxis - PEP) หรือยาป้องกันไวรัสเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ และบริการถุงยางอนามัยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ โดยต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิของตนเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้รับบริการยาเพร็พจากหน่วยบริการของภาคประชาสังคมที่คิดเป็นจำนวน 60% ของผู้รับยาเพร็พทั้งประเทศ และทำให้คลินิกชุมชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าบริการในกรณีที่ให้บริการผู้ถือสิทธิรักษาพยาบาลอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประกาศอีกฉบับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดว่าคลินิกที่ดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาสังคมและจดทะเบียนเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์จะให้บริการได้ต่อเมื่ออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ และต้องมีการส่งผลตรวจของผู้มารับบริการไปให้สถานพยาบาลของรัฐเพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยา เป็นเหตุให้คลินิกชุมชนเช่นคลินิกที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) หรือสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้ทำงานร่วมกับคลินิกเอกชนจำเป็นต้องประกาศหยุดให้บริการเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“ประกาศสธ.ฉบับใหม่นี้จะกระทบกับคลินิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลินิกที่กรุงเทพฯ” ดร.อินทิรา สุยา ผู้แทนโครงการ EpiC ประเทศไทย FHI 360 โครงการ EpiC ประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) สาวประเภทสอง (TGW) และพนักงานบริการ (SW) ผ่านการให้บริการเอชไอวีเชิงนวัตกรรมที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของกลุ่มประชากรเป้าหมาย อาทิ การให้บริการสุขภาพที่มีชุมชนเป็นผู้นำาในการขับเคลื่อน (Key Population-Led Health Services Model -KPLHS) ร่วมกับหน่วยงานภาคประชาสังคม ได้แก่ สถาบันเพื่อการวิจัย และนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation-IHRI) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพลัส สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และองค์กรแคร์แมท

ดร.อินทิรา พูดถึงคลินิกสวิงและฟ้าสีรุ้งที่เป็นพาร์ทเนอร์กับคลินิกเอกชนว่าต้องหยุดให้บริการชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย พร้อมเสริมว่ายาเพร็พที่ขายในรพ.เอกชนค่อนข้างราคาแพง ผู้รับบริการกว่าครึ่งอาจไม่สามารถจ่ายได้ หากไม่มีหน่วยงานอื่นมาให้บริการในราคาที่เขาจ่ายได้ เขาอาจตัดสินใจไม่กินยาเพร็พ เมื่อเข้าไม่ถึงการป้องกัน อัตราการติดเชื้อรายใหม่ก็อาจเพิ่มขึ้นก็ได้

ดร.อินทิรา สุยา ผู้แทนโครงการ EpiC ประเทศไทย FHI 360 โครงการ EpiC ประเทศไทย

หลังสวิงประกาศแจ้งหยุดให้บริการเนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าว เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม นำโดย TestBKK และ APCOM ก็ได้มีการออกแคมเปญ #PrEPต้องเข้าถึงได้ #อย่าหยุดจ่ายPrEP และเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคงระบบเดิมในการให้คลินิกและองค์กรภาคประชาสังคมทำการแจกจ่ายยาเพร็พและยาเป็ป รวมถึงอุดหนุนงบประมาณเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการต่างๆ ให้เข้าถึงง่ายแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อเอชไอวีและเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ. มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่าหกพันคน 

นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมร่วมจัดบริการเอชไอวีเพื่อยุติปัญหาเอดส์ประเทศไทย ยังได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากการที่ประชาชนผู้มีสิทธิการรักษาอื่น ๆ นอกจากสิทธิบัตรทองไม่สามารถเข้ารับบริการป้องกันเอชไอวีได้ และการที่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิของตนเท่านั้นทำให้เกิดความลำบากในการเข้ารับบริการและทำให้ประชานชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ การที่คลินิกหลายแห่งต้องหยุดให้บริการเนื่องจากประกาศที่บังคับให้คลินิกชุมชนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐยังมีผลทำให้โอกาสของการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้น เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้ กมธ.พิจารณาทบทวนประกาศคณะกรรมการ สปสช.เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและให้การดำเนินงานด้านเอชไอวี และการเร่งรัดยุติเอดส์ของประเทศเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ

ภญ. ยุพดี ระบุว่าปัจจุบัน สปสช. กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบนหลักคิดว่าต้องไม่ให้ผู้รับบริการที่ใช้สิทธิอื่นมีปัญหาในการเข้ารับบริการ โดยมีการประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เข้ามาให้บริการไปก่อนเพื่อปิดช่องว่าง และ สปสช. จะเบิกจ่ายเงินคืนให้ทั้งหมดหลังมีประกาศการใช้งบประมาณสำหรับผู้ใช้สิทธิการรักษาอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง

สำหรับกรณีคลินิกชุมชนที่หยุดให้บริการเพราะประกาศกระทรวงฯ ที่กำหนดให้ต้องทำงานภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ภย.ยุพดีระบุว่าหน่วยงานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของคลินิกชุมชนและกำลังหาวิธีที่จะทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมให้บริการได้โดยมีการจับคู่กับหน่วยบริการของภาครัฐและขอความร่วมมือจากกรมควบคุมโรคให้เข้ามาสนับสนุนยา

"จริง ๆ ทุกฝ่ายเขาเห็นความสำคัญ และชัดเจนเลยโดยเฉพาะบริการ PrEP และ PEP หน่วยงานภาคประชาสังคมเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการ เพราะภาครัฐเองประชาชนเข้าไม่ถึง แล้วประชาชนกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เขาก็ไม่ต้องการเข้า เพราะเขาต้องการเรื่องการรักษาความลับอะไรต่าง ๆ พวกนี้ เขาก็ไม่ไปเข้า" ภญ. ยุพดีกล่าว

คลินิกของสวิงในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มกลับมาให้บริการเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนคลินิกฟ้าสีรุ้งกลับมาให้บริการเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือกับศูนย์การแพทย์บางรัก และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกรมควบคุมโรค

ในระยะยาว ภญ.ยุพดีระบุว่า สปสช. กำลังดำเนินการทำข้อตกลงกับกองทุนประกันสังคมและภาครัฐที่ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพื่อประกาศในพระราชกฤษฎีกาตามที่พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการตีความข้อกฎหมายที่ต้นตอ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่ากระบวนการณ์เหล่านี้จะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่ภญ.ยุพดีก็ยืนยันว่าไม่น่ามีข้อขัดข้อง เนื่องจากทุกหน่วยงานน่าจะเห็นตรงกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ และมีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว และการขอความชัดเจนจาก ครม. เพื่อให้เกิดความชัดเจนของนโยบายก็ไม่น่าติดขัดถึงแม้ว่า ครม. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระไปหรือมีการยุบสภาก็ตาม

ผลกระทบจาก ‘2 ประกาศ สธ.’

และข้อกังวลของคลินิกชุมชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีคลินิกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากประกาศทั้งสองฉบับ หลายคลินิกยังไม่สามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ในขณะที่ สปสช. ยังคงรอความชัดเจนในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณให้กับผู้ใช้บริการที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง

ศตายุ สิทธิกาน เป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิแคร์แมท ซึ่งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์แคร์แมทนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกันผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และแผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) ผ่านโครงการ EpiC ประเทศไทย

ศตายุเล่าว่าคลินิกแคร์แมทเป็นคลินิกชุมชนที่ทำงานกับกลุ่มประชากรหลักที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ชายรักชาย หญิงข้ามเพศ พนักงานบริการทางเพศ เป็นต้น มาตั้งแต่พ.ศ. 2536 เพื่อให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารักษาเพื่อรับยาต้านไวรัส จ่ายยาเพร็พในกรณีที่ยังไม่พบเชื้อ และติดตามการรับยาเพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในระบบการรักษาของภาครัฐ รวมไปถึงให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนผู้รับบริการในด้านต่างๆ 

เมื่อพบปัญหาว่ากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการปกติของภาครัฐได้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นการไม่สามารถเข้ารับบริการในเวลาราชการได้ด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลาการทำงาน หรือความไม่สบายใจที่จะต้องเปิดเผยตัวตนเพื่อเข้ารับบริการที่หน่วยบริการของภาครัฐ จึงเกิดเป็นโมเดลคลินิกชุมชนเพื่อให้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วและสามารถใช้ชีวิตปกติได้ โดยคลินิกแคร์แมทได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของ สปสช. เมื่อปีที่ผ่านมา

ศตายุกล่าวว่าปกติแล้วคลินิกจะให้บริการทุกคนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละบุคคลเป็นหลักมากกว่าจะสนใจว่าใครถือสิทธิรักษาพยาบาลสิทธิไหนและไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทย แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ โดยผู้ที่มารับบริการจะผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาและสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและมีผลตรวจเอชไอวีเป็นลบ คลินิกจะเสนอให้รับยาเพร็พไปกินเพื่อการป้องกันตัวเอง 

“เราก็ไม่รู้ว่าถุงยางอนามัยมันจะทำให้เขาปลอดภัยได้ตลอดไหม ถ้าวิถีชีวิตทางเพศของเขายังมีความเสี่ยงอยู่ เราก็เสนอเพร็พให้เขาเลย เราไม่สนใจว่าเป็นสิทธิอะไร เราสนใจแค่ว่าบุคคลนี้เขาเสี่ยงต่อเอชไอวีมากน้อยแค่ไหนมากกว่า” ศตายุกล่าว

ศตายุ สิทธิกาน ผอ.มูลนิธิแคร์แมท

แต่ถึงแม้จะขึ้นทะเบียนกับ สปสช. การที่ สปสช. ไม่สามารถประกาศการใช้งบประมาณสำหรับผู้ถือสิทธิรักษาพยาบาลอื่นนอกจากสิทธิบัตรทองได้ทำให้คลินิกชุมชนเช่นคลินิกแคร์แมทไม่สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสำหรับผู้รับบริการที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้ทำให้คลินิกต้องแบกรับต้นทุนในการให้บริการ และถึงแม้ว่าคลินิกแคร์แมทจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ แต่เมื่อโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยการให้บริการผู้ถือสิทธิรักษาพยบาลอื่นนอกจากสิทธิบัตรทองไม่ได้ ก็จำเป็นต้องขอให้คลินิกชุมชนในเครือข่ายให้บริการเฉพาะสิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคมของโรงพยาบาลนั้น ๆ ก่อน

นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังมีความกังวลว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงอาจจะไม่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ศตายุอธิบายว่ากลุ่มที่เสี่ยงอาจจะไม่พร้อมไปรับบริการที่โรงพยาบาล เช่นบางคนอาจไม่พร้อมรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอชไอวี หรือไม่รู้ว่าตัวเองสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลของตัวเองในการตรวจได้อย่างไรบ้าง ในขณะที่การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีทำให้หลายคนไม่อยากรู้ผลเลือดตัวเอง และผู้ให้บริการในชุมชนเองก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าหากแจ้งให้ผู้รับบริการไปรับบริการที่โรงพยาบาลแล้วเขาจะไป หรือถ้าไปแล้ว ผู้ให้บริการในโรงพยาบาลจะมีความเข้าใจในวิถีชีวิตหรือเงื่อนไขของผู้รับบริการหรือเปล่า 

อีกหนึ่งข้อกังวลคือการที่สิทธิรักษาพยาบาลและหน่วยบริการอื่น ๆ อาจยังไม่เตรียมพร้อมในการให้บริการเพร็พ ศตายุระบุว่าถึงแม้ว่าจะมีการแจ้งให้ผู้รับบริการไปรับบริการตามสิทธิ แต่หน่วยบริการต่าง ๆ เช่นศูนย์สาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร อาจจะไม่มียาเพร็พให้บริการ หรือโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมเองก็ยังไม่ได้เตรียมร้อมเริ่มการจ่ายยาเพร็พหรืออาจจะไม่สามารถจ่ายยาได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งศตายุมองว่าถ้า สปสช. จะให้บริการยาเพร็พสำหรับสิทธิบัตรทองเท่านั้นก็ควรจะมีการเตรียมความพร้อมว่าจะไปรับยาได้ที่ไหนอีก เพราะถ้ามีคนที่มีความเสี่ยงแล้วติดเชื้อมา ต้นทุนของการรักษาจะสูงกว่าการป้องกัน และยังมีความกังวลว่าถ้าคนในกลุ่มเสี่ยงไม่มียาเพร็พและอาจไม่ใช้ถุงยาง การระบาดของเชื้อเอชไอวีจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

"ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะเราทำเพื่อประเทศนะ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราทำเพื่อประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน บริการของเราก็เจออุปสรรคแบบนี้ เราไม่รู้ว่ากระบวนการจะทำยังไง ตอนนี้ก็เตรียมรับมือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นด้วยการขอยาเพร็พจากกองทุนโรค ซึ่งกองทุนโรคก็เป็นโครงการเฉพาะ ไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืนอะไร" ผอ.แคร์แมทกล่าว

ขณะนี้คลินิกแคร์แมทยังคงให้บริการตามปกติและยังยืนยันที่จะให้บริการทุกคนที่เดินเข้ามาไม่ว่าจะถือสิทธิรักษาพยาบาลสิทธิใด โดยศตายุระบุว่าได้มีการกำหนดเป็นนโยบายว่าคลินิกจะไม่ปฏิเสธผู้มารับบริการ

"ต้องให้ เพราะเขามาแล้ว เพราะเขามาด้วยความหวังว่าเราจะช่วยเขาได้ ถ้าเราปฏิเสธเขา แล้วเขารู้สึกไหม เหมือนเราต้องการหาที่พึ่งแล้วเราเลือกไปหาคุณ แล้วคุณบอกว่าฉันช่วยเธอไม่ได้ มันแย่นะ มันรู้สึกแย่นะ ดังนั้นเราคิดว่าเราต้องช่วย เราไม่ใช่เป็นผู้ให้บริการของภาครัฐที่มีเงื่อนไขนู่นนี่นั่น เงื่อนไขจำกัดมากมาย เราเห็นคนเท่ากัน” ศตายุกล่าว

ด้านสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวนการมูลนิธิ SWING แถลงเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้คลินิกชุมชนต้องส่งผลตรวจของผู้มารับบริการไปให้แพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐตรวจและสั่งยาว่าประกาศฉบับดังกล่าวจะทำให้ศักยภาพในการป้องกันตนเองของประชาชนลดน้อยลงและจะทำให้ประชาชนที่กำลังรับบริการยาเพร็พเสี่ยงเอชไอวียิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน

สุรางค์ระบุในการแถลงดังกล่าวว่ามูลนิธิ SWING และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านเอชไอวีมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามแนวทางเป้าหมายการยุติเอดส์ให้ได้ภายในพ.ศ. 2573 โดยเรียกร้องให้ สปสช. ทบทวนแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์การจัดการกองทุน สปสช. ปี 2566 เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณจัดบริการป้องกันเอชไอวีได้สำหรับทุกคน และให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการบูรณาการกองทุน สปสช. กองทุนประกันสังคม และสิทธิข้าราชการเป็นกองทุนเดียวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบริการป้องกันเอชไอวีได้ทุกสถานพยาบาลและไร้อุปสรรค

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนแก้ไขประกาศแนวทางการจัดบริการเพร็พโดยอนุญาตให้อาสาสมัครภาคประชาสังคมที่ผ่านการอบรมสามารถจัดบริการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนหรือหน่วยบริการในพื้นที่ และอนุญาตให้หน่วยบริการภาคประชาสังคมจัดเก็บยาเพร็พได้ ร่วมถึงให้ผู้ให้บริการในคลินิกภาคประชาสังคมสามารถดำเนินการร่วมกับวิชาชีพเภสัชกรรมและวิชาชีพเวชกรรมผ่านระบบ Telemedicine

สำหรับกรณีนี้ ภญ.ยุพดีมีความเห็นว่าโดยหลักเกณฑ์แล้ว การที่ต้องให้คลินิกจับคู่กับภาครัฐไม่ใช่การจับคู่กับสถาบัน แต่เป็นการทำงานร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพเช่นแพทย์หรือเภสัชกร ดังนั้นประกาศฉบับดังกล่าวควรจะถูกขยายให้กว้างขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ 

“จริง ๆ เราต้องการยุติเอดส์ ถูกไหม เรายิ่งต้องให้มันมีการบริการที่เข้าถึงได้และสะดวกที่คนจะเข้าถึง โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐมันไม่ได้มี 24 ชั่วโมง 7 วันใช่ไหม อันนี้ก็เป็นประเด็นว่าถ้าเป็นไปได้ ประกาศหรือระเบียบอันนั้นมันควรจะเปิดให้ภาคประชาสังคมจับกับเอกชนได้ที่เขามีแพทย์เวชกรรม มีเภสัชกร” ภญ.ยุพดีกล่าว

พื้นที่ปลอดภัย-ลดการตีตรา

เหตุผลที่ต้องมีคลินิกชุมชน

เพราะคลินิกชุมชนไม่ได้ให้บริการตรวจเลือดและจ่ายยาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้รับบริการที่จะสามารถเข้ามารับคำปรึกษาได้โดยไม่ต้องเผชิญกับอคติและการตีตรา ภาคประชาสังคมจึงยังมีความกังวลว่าหากสุดท้ายแล้วไม่สามารถให้บริการประชาชนที่ถือสิทธิการรักษาอื่นๆ นอกจากสิทธิบัตรทองได้อีก โอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพเกี่ยวกับเอชไอวีของประชาชนและพื้นที่ปลอดภัยของคนที่ต้องการปรึกษาแต่ไม่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลกับภาครัฐก็จะน้อยลง

ศตายุอธิบายว่าผู้รับบริการอาจไม่กล้าไปตรวจกับโรงพยาบาลรัฐเหมือนก่อนหน้านี้ที่เอชไอวีระบาดหนัก เพราะถึงแม้ว่าโรงพยาบาลรัฐจะมีมาตรฐาน มีบุคลากรวิชาชีพ แต่หลายคนอาจจะไม่ได้พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตทางเพศของตนกับเจ้าหน้าที่ ในขณะเพศหลากหลายอาจพบเจอกับอคติและการตีตรา เช่นหญิงข้ามเพศที่มีร่างกายเป็นหญิงแต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลยังใช้คำนำหน้านามว่านายตามเอกสาร ก็อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจที่จะรับบริการได้ นอกจากนี้ผู้รับบริการบางคนอาจไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลกับภาครัฐ เช่นสำหรับกลุ่มพนักงานบริการทางเพศหรือกลุ่มคนที่ใช้สารเสพย์ติดในการมีเพศสัมพันธ์หรือ “Chemsex”  ซึ่งอาจมีความกังวลว่าถ้าไปรับบริการจากภาครัฐแล้วต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจะถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้คลินิกชุมชนส่วนใหญ่ยังมีเวลาปิดเปิดที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้มารับบริการมากกว่า เนื่องจากคลินิกหลายแห่งไม่ได้เปิดปิดตามเวลาราชการ เช่นคลินิกแคร์แมทที่เปิดทำการตั้งแต่เวลา 13.00 น. ถึงเวลา 19.00 น.ในวันธรรมดาและ 17.00 น. ในวันเสาร์

“คลินิกเราไม่ได้เปิดตามเวลาราชการ ก็จะปิดค่ำด้วย มาที่นี่ก็สะดวกดี และใช้เวลาน้อยกว่า” ดร.อินทิรา เล่าถึงโครงการด้านการยุติเอชไอวีที่เธอทำงานอยู่ ซึ่งมีภารกิจให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรภาคประชาสังคมในระดับชุมชน (CBOs) ได้แก่ สวิง เอ็มพลัส ฟ้าสีรุ้ง และแคร์แมท เพื่อให้บริการทุกสิทธิการรักษาอย่างครบวงจรทั้งตรวจ HIV โดยสมัครใจ ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไวรัสตับอักเสบ โดยจุดเด่นของ CBOs คือเป็นองค์กรที่นำโดยกลุ่มคนที่เป็นประชากรหลักที่มีความเสี่ยง คือกลุ่มชายรักชาย คนข้ามเพศ และพนักงานบริการทางเพศ ทำให้มีความเข้าใจวิถีชีวิต-พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายมากกว่าโรงพยาบาล จึงส่งผลให้การออกแบบคลินิก สถานที่และรูปแบบของการปรึกษาก็จะเป็นมิตรกับผู้รับบริการมากกว่า

“เขาก็สบายใจที่จะพูด ปรึกษาปัญหามากกว่า เหมือนเราไปตรวจภายใน เราก็สะดวกใจเจอกับหมอที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน” อินทิรากล่าว

ข้อมูลจากสวิงคลินิกระบุว่า ผู้รับบริการยาเพร็พของหน่วยบริการภาคประชาสังคมทั้งหมดคิดเป็นจำนวน 60% ของประเทศ

ด้านศตายุกล่าวว่าด้วยเวลาเปิดปิดของคลินิกชุมชนที่สะดวกกว่าทำให้ผู้รับบริการมารับบริการได้โดยไม่ต้องลางาน เช่นบางคนอาจมาในวันเสาร์อาทิตย์ นอกจากนี้ผอ.แคร์แมทยังตั้งคำถามว่าถ้าโรงพยาบาลรัฐให้บริการเพร็พ คนจะไปรับบริการไหมถ้าต้องลางานหนึ่งวันหรือครึ่งวันไปและอาจจะต้องไปพบเจอกับผู้ให้บริการที่ไม่เข้าใจหรือมองด้วยอคติ นอกจากนี้โรงพยาบาลรัฐทุกวันนี้ยังรับภาระหนักมากอยู่แล้วในการดูแลผู้ป่วย

ศตายุระบว่าคลินิกแคร์แมทเป็นองค์กรในเครือข่าย “นครพิงค์โมเดล” ที่ทำงานเชิงรุกเรื่องเอชไอวีในเชียงใหม่โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ การทำงานเชิงรุกในชุมชนทำให้กลุ่มประชากรหลักที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเอชไอวีสะดวกใจมาใช้บริการ ซึ่งศตายุมองว่าเป็นโมเดลที่ควรจะถูกนำมาใช้ในระบบสุขภาพของไทยเพื่อให้แพทย์ในโรงพยาบาลไม่ต้องรับภาระหนัก โดยผ่องถ่ายผู้รับบริการที่อาการไม่รุนแรงให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนหรือคลินิกภาคประชาสังคมและให้แพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า

นอกจากนี้ ผอ. แคร์แมทยังเล่าว่าคลินิกมีระบบส่งต่อข้อมูลระหว่างคลินิกและแพทย์เพื่อให้อนุมัติการสั่งจ่ายยา โดยคลินิกรับหน้าที่ติดตามผู้รับบริการร่วมกับทางโรงพยาบาล ดังนั้นการทำงานของคลินิกจึงถูกกำกับโดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล หรือนักเทคนิคการแพทย์อยู่เสมอ

ศตายุสะท้อนว่าจำนวนผู้มารับยาเพร็พกับคลินิกแคร์แมทคิดเป็นเกือบ 82% ของผู้รับยาเพร็พในเชียงใหม่ ซึ่งแสดงว่าคลินิกมีศักยภาพในการให้บริการ และเน้นย้ำว่าคลินิกให้บริการคนทุกสิทธิโดยไม่เลือกว่าจะใช้สิทธิรักษาพยาบาลสิทธิใด แรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือ “บัตรเลขศูนย์” หรือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงก็สามารถมาใช้บริการที่คลินิกได้เช่นกัน

"เราคิดว่าคนไทยเท่าเทียมกัน ในขณะที่บางหน่วยงานก็ยังจำกัดสิทธิอยู่” ศตายุกล่าว

“คนไทยเหมือนกัน แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิของ สปสช. เช่น คนชาติพันธุ์ ในเชียงใหม่มีพี่น้องชาติพันธุ์เยอะ และเขาขยับจากชุมชนของเขามาทำงานในเมือง แล้วเขาก็มีความเสี่ยง แต่เราก็ให้บริการนะ เราไม่ได้ปฏิเสธว่าคุณเป็นสิทธินี้ คุณไม่ได้ เราไม่ให้ เพราะเราคิดถึงว่าถ้าเราจะยุติเอดส์ได้ กลุ่มประชาหลักควรที่จะรู้ผลเลือดของตัวเอง เข้าถึงบริการ"

ด้าน ชานันท์ ยอดหงส์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าประชาชนที่รับยาเพร็พส่วนมากจะไปใช้บริการศูนย์บริการของภาคประชาสังคมมากว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าการไปใช้บริการโรงพยาบาลจะต้องใช้เวลามากกว่าในขณะที่คลินิกของภาคประชาสังคมมีความสะดวกรวดเร็วและสามารถจองคิวล่วงหน้าได้

ชานันท์ ยอดหงส์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ชานันท์ยังมองว่าเรื่องของสุขภาพทางเพศอย่างการตรวจเลือดหรือการรับยาเพร็พหรือยาเป็ปเรื่องเรื่องส่วนตัวและละเอียดอ่อน ซึ่งอาจทำให้ผู้รับบริการสะดวกใจรับบริการกับคลินิกภาคประชาสังคมมากกว่า

“เวลาเราไปรับบริการจากภาคประชาสังคม เขาจะจัดเก็บข้อมูลที่เป็นนิรนามอยู่แล้ว ขณะที่ถ้าเราไปรพ.เราอาจจะต้องใช้บัตรประชาชน การจัดเก็บข้อมูลที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวทำให้ผู้รับบริการรู้สึกสะดวกใจมากกว่าที่จะไปศูนย์บริการภาคประชาสังคมด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก” ชานันท์กล่าว

เพิ่มบทบาทคลินิกชุมชน

หนทางบรรลุเป้าหมายยุติเอชไอวี

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนมักมีภาพจำต่อโรคเอดส์ว่าคือโรคที่น่ากลัว เป็นแล้วตายอย่างเดียว แต่ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน การติดเชื้อเอชไอวีสามารถป้องกันได้ด้วยการกินยาเพร็พหรือยาเป็ป ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัสและสามารถควบคุมปริมาณเชื้อได้ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้

ศตายุระบุว่าสิ่งที่คลินิกภาคประชาสังคมพยายามทำมาตลอดก็คือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการนำเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาซึ่งในมุมนี้เป็นจุดที่ประชาสังคมทำได้ดีกว่า ถ้าประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจเลือด กินยาต้านไวรัสแล้วกดจำนวนเชื้อไว้ได้ก็จะไม่ป่วย ไม่ค่อยตายจากเอดส์ ยกเว้นว่าพวกเขาไม่รู้ผลเลือดตัวเอง

“เรามองภาพว่าเราคงไม่ได้ไปแย่งงานของภาครัฐ แต่เราผ่องถ่ายภาระงานภาครัฐ” ศตายุกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของอินทิราที่มองว่าการเพิ่มบทบาทคลินิกชุมชนคือหนทางที่ไทยจะยุติเอดส์ได้ในปี 2573 พร้อมยกตัวอย่างอังกฤษกับออสเตรเลียที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ เขาใช้โมเดลให้หน่วยงานคลินิกในชุมชนเป็นผู้เล่นหลักในการกระจายยาเพร็พ ทำให้คนเข้าถึงยาได้ง่าย ไม่ต้องใช้คนมาแออัดที่รพ. แบ่งเบาภาระของระบบสุขภาพของประเทศ 

“เพราะปัญหา HIV ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุขภาพเมืองไทยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้มีทั้งยารักษาและยาป้องกัน ยิ่งสามารถเจอกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว ให้เขากินยาป้องกัน เราก็จะสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้” อินทิรากล่าว

ด้านชานันท์ระบุว่าถ้ารัฐผูกขาดการจ่ายยาไว้ที่ระบบราชการเพียงอย่างเดียวจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการเข้าถึงยาป้องกัน-รักษาโรค สิ่งสำคัญที่ควรทำคือการกระจายทรัพยากรออกไปตามชุมชนและกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีที่อยู่ใกล้ชุมชนของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาวะทางเพศอย่างยาเป็ปที่ต้องทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสเชื้อ และถ้าเข้าถึงยาได้เร็วก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีที่ดีมากขึ้น

นอกจากนี้ชานันท์ยังมองว่าการบริหารจัดการเพื่อกระจายทรัพยากรไม่ใช่เรื่องยาก และการผูกขาดอำนาจในการจ่ายยาอาจทำให้เกิดความยุ่งยากมากกว่าเมื่อบุคลากรทางการแพทย์รับภาระหนักอยู่แล้ว

“คุณต้องทำยังไงก็ได้ให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายมากขึ้น แล้วก็กระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงมากขึ้น” 

ในระยะยาว สปสช. เองก็มีนโยบายที่จะเพิ่มหน่วยบริการภาคประชาสังคมที่จ่ายยาเพร็พ โดยภญ.ยุพดีระบุว่าจะเร่งรัดการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการเหล่านี้ ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ค่อนข้างยาก แต่ตอนนี้หน่วยงานภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนในเรื่องเอชไอวีก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามความพร้อม

ส่วนอีกหนึ่งแผนที่ทาง สปสช. วางไว้คือการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการทำศูนย์องค์รวมเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล โดยติดตามเพื่อให้ผู้ติดเชื้อกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดยาหรือดื้อยา รวมถึงทำงานกับคู่ที่คนหนึ่งติดเชื้อแต่อีกคนไม่ติดเพื่อลดปัญหาการแพร่เชื้อ และทำงานกับชุมชนเพื่อลดการตีตราผู้ติดเชื้อ สร้างความเข้าใจว่าเอดส์ก็เหมือนโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ถ้ากินยาต้านไวรัสก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ นอกจากนี้ก็จะทำงานเรื่องโรคที่มักมาร่วมกับเอชไอวี เช่นไวรัสตับอักเสบซี ที่ภญ.ยุพดีเล่าว่าปัจจุบันนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาแล้ว โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อจะเข้ามาทำงานให้คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้ามารับยา

“ตอนนี้เข้าใจว่า เอชไอวีมันเกิดส่วนหนึ่งมาจากการตีตรา การตีตราคือเขาไม่เปิด เขารู้สึกว่ามันเป็นโรคที่ไม่โอเค ถ้าสังคมหยุดการตีตรา มันก็จะเป็นประเด็นว่าเขาก็พร้อมจะเข้าระบบเพื่อตรวจคัดกรองแล้วก็ได้ยา” ภญ.ยุพดีกล่าว พร้อมระบุว่าทาง สปสช. เองก็อยากจะเน้นการทำงานด้านการลดการตีตราผู้ติดเชื้อ ซึ่งถ้าภาคประชาชนสามารถทำได้ สปสช. ก็อาจจะสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นสำหรับนำไปใช้ในโครงการสำหรับเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคและลดการตีตราผู้ติดเชื้อ

“คิดว่าตอนนี้เราจะต้องก้าวข้าม สังคมและชุมชนต้องก้าวข้ามไปแบบนั้น เขาก็คือสมาชิกชุมชน มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่พวกเราตีตราหรือกังวล กลัวติดเชื้อ" ภญ.ยุพดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปลายทางที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าอาจจะเป็นการรวมทุกกองทุนเป็นกองทุนเดียวหรือควรมีการร่วมมือกันระหว่างแต่ละกองทุน ชานันท์กล่าวว่าการมีสิทธิรักษาพยาบาลหลายสิทธิทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่างประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการของข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ด้วยความที่อยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับและรับผิดชอบโดยคนละหน่วยงาน แต่ที่จริงควรมีการร่วมมือกันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพได้ง่ายขึ้น

ด้านศตายุระบุว่าระบบประกันสุขภาพของคนไทยควรจะมีระบบเดียว ไม่ควรมีระบบที่หลากหลายและมีความเหลื่อมล้ำกัน 

“เราคิดว่างบบัตรทองควรจะเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนมากกว่าที่จะมาบอกว่าสิทธินี้เป็นของเธอ สิทธินี้เป็นของฉัน เธอห้ามมาใช้สิทธิร่วมกัน ไม่ใช่ มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น” ศตายุกล่าว

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. เฟซบุ๊กมูลนิธิสวิงประกาศว่า มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) พัฒน์พงษ์ กทม. เป็นหนึ่งเครือข่ายของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานจัดบริการเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ.2562 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 . . เป้าหมายของการดำเนินงานร่วมกันการยุติเอดส์ของประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net