Skip to main content
sharethis

บันทึกถ่ายทอดสดสนทนากับ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก iLaw หรือโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน ผู้ติดตามบทบาทการทำงานของ ส.ว. เพื่อย้อนดูวีรกรรม ส.ว.ชุดนี้มีอะไรบ้างที่น่าสนใจ ปัญหาความชอบธรรม อุปสรรคความพยายามปิดสวิตช์ทั้ง 7 ครั้งที่่ผ่านมา เป็นต้น

หลังประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ว. ออกมาแสดงท่าทีทางการเมืองถึงการที่พรรคเพื่อไทยเสนอ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยเฉพาะ วันชัย สอนศิริ ออกมาระบุว่า ส.ว.พร้อมแลนด์สไลด์ไม่โหวตเลือก และยังระบุว่า หากจะเป็นเป็นนายกฯ ต้องไปรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง นั้น สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในกลุ่ม ส.ว.ด้วยกันเอง นักวิชาการและพรรคเพื่อไทย

โดย รัชพงษ์ เสนอ 3 ข้อพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ประกอบด้วย 1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งที่ประชาชนเลือกทางอ้อมผ่านการเลือก ส.ส. ดังนั้น ผู้ที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจึงต้องเป็น ส.ส. เพื่อสร้างการยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นหลักประกันว่านายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบต่อสภาที่มาจากประชาชน

2. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสภาต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะถือว่าได้รับความเห็นชอบจากประชาชนมากที่สุด พรรคการเมืองอื่นๆ จึงต้องให้ความเคารพเสียงของประชาชนโดยการให้พรรคอันดับหนึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ 3. ปิดสวิตช์ ส.ว.  ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้ง 250 คนพึงตระหนักว่าตนเองไร้ความชอบธรรมในการโหวตนายกรัฐมนตรี และต้องเลือกนายกรัฐมนตรีตาม ส.ส. เสียงข้างมาก ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองก็ต้องไม่นำเสียง ส.ว. มาเป็นข้อต่อรองทางการเมืองกับพรรคอื่น

อย่าไรก็ตาม มีผู้ชมรายการสด ถามว่า ยังไง ส.ว.ก็ไม่เลือกตามเสียงข้างมากของประชาชน เพราะเขาไม่ได้ยึดโยงจากประชาชน แต่ยึดโยงกับระบบอำนาจนิยม จาก คสช. 

รัชพงษ์ มองว่า ประเด็นนี้อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้ ส.ว. เลือกตามเสียงข้างมากของประชาชน แต่ประชาชนต้องกดดัน ส.ว. 

“ถ้าย้อนกลับไปตอนตัดอำนาจ ส.ว. ร่างแก้ไขที่ได้เสียงที่เยอะที่สุด (ผู้สื่อข่าว - งดออกเสียง) 53 ขาดอีกประมาณ 30 เสียง เป็นช่วงที่กระแสทางการเมืองสูง ประชาชนตื่นตัว แต่พอประชาชนไม่ตื่นตัว หรือว่ากระแสทางการเมืองมันเริ่มตก ส.ว.ที่โหวตมันก็น้อยลง คือคนพวกนี้ ดูกระแสทางการเมือง หลายคนที่พูดจะออกมาตัดอำนาจตัวเอง เขาก็กลัวอนาคตทางการเมืองตัวเอง”

"เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเรายืนยัน และช่วยกันพูดว่า ส.ว.ต้องตัดอำนาจตัวเอง ผมว่าเขาก็มีแนวโน้มที่จะทำ (ผู้สื่อข่าว - โหวตนายกตามเสียงข้างมากประชาชน) แม้ว่าจะไม่ได้ทั้ง 250 คน บางคนหัวเด็ดตีนขาด ยังไงก็ไม่ยอม ไม่เป็นไร เราขอสักครึ่งหนึ่ง”

ท้ายสุด รัชพงศ์ มองว่า เราต้องไปโหวตฝั่งที่ไม่เอาเสียง ส.ว. ไม่เอาประยุทธ์ ให้มันขาด ถ้า พปชร.รวม รทสช. แล้วเกิน 250 เสียง เขาไม่กล้าโหวตให้แน่นอน

รัชพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ส.ว.หลายคนที่ออกมาพูดว่าจะตัดอำนาจตัวเองด้วยการงดออกเสียงนั้น น่ากลัวอยู่ ทั้งนี้การตัดอำนาจตัวเองมี 2 แบบตอนนี้ คือ มีการโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. กับการงดออกเสียง สิ่งที่ตนอยากให้เป็นและต้องเป็นคือโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส.แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการโหวตงดออกเสียง คือตามรัฐธรรมนูญนั้นผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 276 เสียง หากมี ส.ว.งดออกเสียง แล้วเสียงสุดท้ายมันได้ 270 เสียง ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็จะเข้าวรรคที่ 2 ของ ม.272 เปิดทางนายกฯ คนนอก ดังนั้นหาก ส.ว.จริงใจอย่าโหวตงดออกเสียง แต่ต้องโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส.เท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net