Skip to main content
sharethis

การรัฐประหารพม่าในปี 2021 ไล่ต้อนให้ชาวพม่าที่ต่อต้านอำนาจของมินอ่องหล่ายและกองทัพจนมุม ส่วนหนึ่งเดินทางหนีภัยความตายเข้ามาในฝั่งไทย พวกเขาไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยชัดเจน และใช้ชีวิตปะปนอยู่กับคนทั่วไปไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban refugee) ไม่แปลกที่จะเห็นคนพม่าซื้อคอนโดใจกลางกรุงเทพ ส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติ คนพม่าที่เข้ามาหลังการรัฐประหารหลายคนเป็นชนชั้นกลาง มีทักษะ มีการศึกษา และมีทุน แต่การเป็นผู้ลี้ภัยที่ไร้สถานะทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในเมือง

 

การใช้อำนาจปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่าหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ. 2021 ส่งผลให้มีชาวพม่าจำนวนหนึ่งเดินทางหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย มีทั้งที่เข้ามาผ่านช่องทางวีซ่า และเข้ามาแบบผิดกฎหมายโดยไม่มีเอกสาร (Undocumented) แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการกำหนดสถานะผู้ลี้ภัยชัดเจนดังเช่นผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่งทางชายแดนตะวันตก แต่การเข้ามาใช้ชีวิตในเขตเมืองปะปนอยู่กับคนทั่วไป ทำให้คนพม่ากลุ่มนี้ไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban refugee)

ภาพจาก The Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons

ข้อมูลจาก The Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons ที่สรุปสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทยช่วงปี 2021 – 2022 ไว้ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในเมืองอยู่ราว 5,155 คน ตัวเลขนี้ยังนับรวมผู้ลี้ภัยในเมืองสัญชาติอื่นที่หนีภัยเข้ามาอยู่ในไทยด้วย ในขณะที่จำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองที่มาจากพม่า อาจมากกว่าตัวเลขประมาณการด้วยซ้ำ เนื่องจากหลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 มีคนพม่าที่ไม่ถูกมองเห็นอพยพเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่มีคนพม่าที่เข้ามายังมีการจัดทำเป็นเซฟเฮาส์หรือแหล่งหลบภัยกันเอง

 

ชีวิตใน 'เซฟเฮาส์' ที่ไม่ใช่ 'เซฟโซน'

 

Spring Revolution เริ่มต้นด้วยการอารยขัดขืน CDM

Spring Revolution เกิดจากเสียงประท้วงเรียกร้อง

Spring Revolution ดำเนินต่อมาได้เพราะกำลัง PDF

 

ชายสูงวัยนุ่งโสร่งแต่งกายแบบคนพม่านั่งอยู่หน้าตึกแถวแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยคนพม่าเดินไปมาทั้งผู้ชายและผู้หญิง ด้านหลังอะโก่ผู้นี้ (อะโก่-คำในภาษาพม่าใช้เรียกผู้ชายที่อายุมากกว่า) มีป้ายผ้าเขียนข้อความเป็นภาษาพม่าผืนใหญ่โดดเด่น คำว่า “CDM” และ “PDF” ที่อยู่ในข้อความทำให้คนที่พอจะติดตามข่าวการรัฐประหารพม่ามาบ้างเกิดข้อสงสัยได้ไม่ยากว่าคนในตึกแถวแห่งนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารในพม่า เมื่อลองเข้าไปพูดคุยกับอะโก่ทำให้รู้ว่าอะโก่ในวัย 64 ปี เป็นคนดูแลตึกแถว 3 ชั้นแห่งนี้ ในตึกมีคนอาศัยอยู่ถึง 27 คน พวกเขาใช้ที่นี่เป็นเซฟเฮาส์สำหรับคนพม่าที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพพม่า คนที่อยู่ในเซฟเฮาส์แห่งนี้มีทั้งคนแก่และคนหนุ่มสาว

ห้องนอนภายในเซฟเฮ้าส์

ห้องนอนบนดาดฟ้าของเซฟเฮ้าส์

ชั้นล่างของตึกด้านถูกใช้เป็นพื้นที่รับแขก นั่งคุยกันของคนในตึก ด้านหลังเป็นครัวสำหรับทำอาหาร พื้นที่ตรงกลางส่วนหนึ่งเป็นที่นอนมีมุ้งสีเขียวและสีชมพูกางผูกไว้ ด้วยจำนวนคนพักอาศัยที่มากกว่าห้องนอน ทำให้แต่ละห้องมีคนนอนร่วมกันอย่างน้อย 5 - 6 คน บางคนที่ไม่อยากเบียดเสียดกับคนอื่นมากนักก็ขึ้นไปกั้นห้องนอนบนดาดฟ้า ส่วนคนที่มาใหม่ยังไม่มีห้องนอนก็อาจจะขึ้นไปปูผ้านอนกับพื้นในพื้นที่ว่างของดาดฟ้าเช่นกัน เซฟเฮาส์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่พักคอยเพื่อหาที่อยู่ใหม่สำหรับคนพม่าที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมไปถึงคนที่รอไปประเทศที่ 3

อะโก่เล่าให้ฟังว่าเซฟเฮาส์แห่งนี้ช่วยเหลือคนพม่าจากหลายๆ ที่ “ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีที่อยู่แล้ว อยู่ไม่ได้แล้วในพม่า แกนนำที่ต่อสู้กับการรัฐประหารของมินอ่องหล่าย บางคนเป็น PDF บางคนก็เป็นนักการเมือง ส่วนมากจะไม่ได้อยู่ประจำ มีคนเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอด ค่าเช่าตึก ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากจากเครือข่ายคนพม่าที่อยู่ในอเมริการะดมทุนส่งเงินมาช่วย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต้องทำปลาแห้งขาย (หน้าตึกนี้มีปลาแห้งแบบพม่าขาย)”

“คนที่มาที่นี่ผมให้เขาเลือกว่า คุณจะไปประเทศที่ 3 หรือคุณจะอยู่ต่อที่นี่ หรือว่าจะมาพักชั่วคราวแล้วจะกลับไปฝั่งนู้น (พม่า) อยู่ที่คุณ คุณตัดสินใจได้ แล้วถ้าเป็นเด็กๆ ที่จะฝึกเป็น PDF เขาก็จะมาอยู่ชั่วคราวแล้วก็กลับไปฝั่งนู้น ถ้าเป็นคนแก่ๆ เขาขอลี้ภัยที่ประเทศที่ 3 ก็รอขั้นตอนอยู่ไปประมาณนี้ ตั้งแต่มกราคม - กุมภาพันธ์ ก็มี 20 คน ที่เป็นอยู่ประจำ ประมาณ 7 คน ไม่ได้อยู่ประจำ เข้าๆ ออกๆ” อะโก่ กล่าว

อะโก่

 

ที่จริงอะโก่เป็นคนหนึ่งที่สามารถไปอยู่ประเทศที่ 3 ได้ไม่ยาก เนื่องจากครอบครัวของเขาย้ายจากพม่าไปตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกา ย้อนไปปี 2007 ช่วง 'การปฏิวัติผ้าเหลือง' ที่พม่ามีการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร นำโดยพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษา และประชาชน อะโก่เป็นหนึ่งในแกนนำที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าจนต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกา จนกระทั่งในปี 2016 อะโก่เลือกเดินทางกลับมาพม่าอีกครั้งหลังพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ได้ ส.ส.-ส.ว. เกินครึ่งของรัฐสภา ทำให้คนที่จากบ้านไปไกลอย่างอาโกมีความหวังในประเทศบ้านเกิดอีกครั้ง เขาเลือกกลับมาเปิดธุรกิจท่องเที่ยวในพม่าคนเดียว โดยที่คนอื่นในครอบครัวยังอยู่อเมริกา จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในปี 2021

ในช่วงแรกของการรัฐประหารอะโก่ยังไม่ได้เดินทางออกจากพม่า เขาทำงานช่วยเหลือคนพม่าในช่วงโควิด-19 ทำให้ถูกจับตามองและถูกไล่ตามจับจากทหาร จนต้องหลบหนีทหารไปอยู่ที่เมืองเลเก้ก่อ ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง แต่ก็เกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง อะโก่จึงต้องหนีข้ามมาฝั่งไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2022

“ประเทศที่ 3 เราเคยไปมาแล้ว และเราจะไปทำไมอีก ช่วงที่เราอยู่ที่นั่นเรารอดมาแล้ว เรากินได้ เราอยู่ได้ แต่เพื่อนๆ พี่น้องของเรา ประชาชนของเรายังลำบากอยู่แบบนี้ เราจะหลับตาแล้วก็ไปเหรอ เลยตัดสินใจว่าไม่ไปประเทศที่ 3 แล้ว เราจะอยู่เท่าที่มนุษย์เราจะช่วยกันได้ เราเลยตัดสินใจจะอยู่ที่นี่ต่อ (ประเทศไทย) และช่วยกันหาระดมเงินช่วยพี่น้องประชาชนของเรา” อะโก่ กล่าว

อะโก่ ระบุว่า การที่ผู้หนีสงครามมาจากพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หลายคนไม่มีเงิน ทำงานไม่ได้ ความเป็นอยู่ลำบาก เซฟเฮาส์แห่งนี้พยายามจะช่วยคนกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด

“มันไม่ใช่ประเทศของเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่ใช่บ้านตัวเอง เราต้องเช่า ต้องเสียค่าเช่า ที่นี่ก็เช่นกัน บางวันเด็กๆ (คนหนุ่มสาวในตึก) ก็อยากกินอาหารดีๆ แต่ทุกๆ วันที่กินอาหารก็เพื่ออยู่ มันไม่ใช่อาหารที่ดีมาก เรื่องนี้ก็ยากสำหรับบางคน” อะโก่กล่าว

อะโก่มองว่า รัฐประหารในปี 2021 แตกต่างจากการประท้วงต่อต้านการปกครองของนายพลเนวินในปี 1988 (หรือที่เรียกว่าการลุกฮือ 8888 วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) “ถ้าย้อนไปในปี 1988 ประชาชนทั่วไปมีการชุมนุมแต่หลังจากมีการยิง การฆ่า ประชาชนจะหายไป และไม่มีคนสู้ต่อได้ ปัญหาหลักคือไม่มีอินเทอร์เน็ต ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ทำให้ทหารควบคุมได้ แต่ปี 2021 ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เด็กทุกคนก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ต สามารถติดต่อสื่อสารกันแต่ละประเทศได้ มีการเกิดขึ้นของ CDM และ PDF”

“ถ้าในปี 1988 ทหารยิง 10 คน ประชาชนอีก 100 เงียบหายไปแล้ว ไม่มีคนกล้าที่จะสู้ แต่ปี 2021 ทหารยิงไป 100 คน ประชาชนออกมา 100 คน 1,000 คน 10,000 คน ปี 2021 เด็กๆ ทุกคนเปิดหู เปิดตา สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดว่าเกิดขึ้น และเปิดเผยให้ทั้งโลกเห็นได้” อะโก่กล่าว

การเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเงียบโดยไม่ได้รับการรับรองสถานะใดๆ จากรัฐบาลไทยในมุมมองของอะโก่ “เข้าใจดีว่าประเทศไทยกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก การใช้แรงงานก็คือต้องสนิทกันไม่มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการช่วยเหลือกันทางอ้อม แม้รัฐบาลไทยไม่ได้สนับสนุนผู้ลี้ภัยให้อยู่ที่นี่โดยตรงก็ไม่ได้มองว่ารัฐบาลไทยทำไมไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจ ไม่มีความเป็นมนุษย์ เราเข้าใจรัฐบาลไทย แน่นอนว่าเราต้องขอบคุณประเทศไทย ประเทศไทยรัฐบาลไทยยังอนุญาตยังหลับตาให้เราอยู่ได้”

“ถ้าขอได้จะขอให้รัฐบาลไทยเปิดรับ ตั้งเป็นศูนย์เปิดรับผู้ลี้ภัยสงคราม คนที่เข้ามาที่นี่ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนร้าย ทหารรัฐประหารใช้อำนาจยิงประชาชน ฆ่าประชาชน ทำลายทรัพยสินประชาชน ประชาชนไม่มีที่อยู่ก็ต้องหลบหนีเข้ามา การเข้ามาที่นี่ก็เป็นการแอบๆ อยู่กัน ถ้าถูกจับก็เสียเงิน ถ้าส่งกลับไปฝั่งพม่าก็มีความเสี่ยงเหมือนกับการส่งให้พวกเขาไปตาย ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาตรงนี้เปิดรับพวกเขา เปิดเป็นศูนย์รับผู้ลี้ภัยจากสงคราม ถ้าประเทศของเขาสถานการณ์ดีขึ้นก็ให้เขากลับไป” อะโก่ กล่าว

พม่าหลังการรัฐประหาร 2021

หลังกองทัพพม่าโดยการนำของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ของอองซานซูจี กองทัพหยิบยกเรื่องทุจริตการเลือกตั้งขึ้นที่พรรค NLD ชนะอย่างถล่มทลายขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารและปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของประเทศ

ถอยไป 3 เดือนก่อนการรัฐประหาร ในการเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 หลังจากพม่าเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่งทั้งสองสภาไปถึง 396 ที่นั่ง จาก 664 ที่นั่ง

โดยหลังการยึดอำนาจ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ทำการจับกุมตัวแกนนำพรรค NLD และคุมตัวอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมถึงประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 1 ปี และแต่งตั้ง มิตส่วยรองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 2 ในโควตาของกองทัพขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ

การรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ครั้งนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน คนหนุ่มสาวและประชาชนจำนวนมากพยายามลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร แม้ว่าจะถูกปิดกั้นสื่อโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากรัฐบาลทหารพม่า โดยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021 มีรายงานว่า กองทัพพม่าสั่งให้บริษัทการสื่อสารในประเทศ ยุติการให้บริการอินเตอร์เน็ตและบริการ 4G อย่างสิ้นเชิง รูปแบบการประท้วงของประชาชนมีทั้งการใช้ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน (the resistance in daily life) เช่น การชูสามนิ้ว การยืนเคาะหม้อ เคาะภาชนะให้เกิดเสียงดังจากระเบียบอพาร์ตเมนต์ การอารยขัดขืนหยุดงาน หยุดเรียนประท้วงรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งคนพม่าจะเรียกคนที่ใช้วิธีการเช่นนี้ว่า CDM (Civil Disobedience Movement) การทำอารยขัดขืนในพม่าถูกจุดประกายโดยแพทย์และพยาบาล เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2021 หลังรับประหารเพียงไม่กี่วัน แพทย์และพยาบาลกว่า 70 โรงพยาบาลทั่วประเทศนัดหยุดงาน เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพพม่าโดยการไม่ไปทำงาน หลังจากนั้นทำให้เกิดกระแสนัดหยุดงานของข้าราชการและแรงงานลุกลามไปทั่วประเทศ

ประชาชนพม่าจำนวนไม่น้อยยังใช้วิธีการเผชิญหน้ากับกองทัพด้วยการลงถนนเดินขบวนต่อต้านรัฐประหาร และจับอาวุธเข้าป่าสู้กับกองทัพพม่าในนามของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF (People’s Defense Force) PDF หลายคนเป็นคนหนุ่มสาว อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 18 ปี ไปจนถึง 40 ปี คนที่เข้าร่วมฝึกเป็น PDF มีภูมิหลังที่หลากหลายมีทั้งนักศึกษา ดารา นางแบบ หมอ พยาบาล ครู ข้าราชการ เป้าหมายเดียวของ PDF คือ การต่อสู้เพื่อประชาชนและโค่นล้มเผด็จการทหาร  

หลังการรัฐประหารเพียง 1 เดือน มีประชาชนที่ต่อต้านเสียชีวิต 18 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 มีนักข่าวถูกจับกุม 88 คนนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 และเมื่อครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารมีข้อมูลว่า กองทัพพม่าได้สังหารประชาชนไปกว่า 1,400 คน และจับกุมประชาชนอีกกว่า 11,000 คน ขณะที่ครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารจำนวนฝ่ายต่อต้านที่ถูกสังหารขยับขึ้นเป็น 3,000 คน จับกุม กว่า 13,000 คน และมีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศ ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ถูกจับกุมในพม่าหลังการรัฐประหารแสดงถึงความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าที่กระทำต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งความรุนแรงซึ่งหน้าจากการยิงผู้ชุมนุมต่อต้านและการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือสังหารประชาชนภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งกองทัพได้ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีของพลเรือน และมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยหลายครั้ง ทำให้มีคนถูกลงโทษประหารชีวิตจำนวนไม่น้อย เช่น แกนนำนักศึกษา นักข่าว เป็นต้น

นอกจากนี้ศาลรัฐบาลทหารพม่ามีการสั่งลงโทษจำคุกอองซาน ซูจี 33 ปี อองซานถูกกองทัพพม่าตั้งข้อหาอย่างน้อย 7 ข้อหา ในความผิดเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายการจัดการภัยพิบัติในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ครอบครองวิทยุสื่อสารที่ไม่มีใบอนุญาต นำเข้าวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนกฎหมายความลับราชการ

 

จาก 'นักข่าว' สู่ 'ผู้ลี้ภัย'

นายทู ขณะเปิด MV ที่เขาช่วยศิลปินพม่าตัดต่อให้ดู

 

นายทู (ชื่อสมมติ) หนึ่งในคนที่อาศัยอยู่ในเซฟเฮาส์ของอะโก่ เขาเป็นคนหนุ่มที่เก่งคอมพิวเตอร์ คนในเซฟเฮาส์ต่างขอให้เขาช่วยทำรูปถ่ายสำหรับยื่นเอกสารขอไปประเทศที่ 3 ตอนอยู่พม่านายทูมีอาชีพเป็นนักข่าว ด้วยความที่เขาทำงานในสำนักข่าวขนาดเล็กเดิมทีนายทูเป็นตากล้องและคนตัดต่อวีดีโอ แต่เมื่อคนทำงานไม่เพียงพอเขาก็ขยับมาอยู่หน้ากล้องนักโต๊ะรายงานข่าวและลงพื้นที่รายงานข่าวภาคสนามในช่วงที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในพม่าลงถนน นายทูกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น

“ผมไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาประเทศของเรา ทุกๆ คนสามารถสื่อสารกันได้ทุกอย่างตามที่เรามีสิทธิ หลังจากที่รัฐประหารกองทัพอ้างว่ามีเหตุทุจริตการเลือกตั้ง แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่จะเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ สองประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกยิง เราคิดว่ามันไม่ใช่มีประเทศไหนที่ใช้อาวุธใช้ปืนขู่ประชาชน” นายทู กล่าว

ตอนที่ยังอยู่ในพม่านายทูเป็นทีมนักข่าวที่ได้ไปตามถ่ายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ทหารมาสั่งให้หยุด ตรงนี้ห้ามถ่าย บางคนที่ไม่ฟัง ยังถ่ายต่อไปเรื่อยๆ ก็ถูกจับ” การนำเสนอข่าวที่ทำให้สำนักข่าวของนายทูถูกเปิดมาจากการรายงานข่าวในช่วงโควิด-19 ถังออกซิเจนในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ แต่ทหารกลับเอาถังออกซิเจนไปให้คนที่สนับสนุนตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหารไม่ได้รับถังออกซิเจน หลังจากการนำเสนอเช่นนี้ออกไป “ทหารไล่จับพวกเรา เราอยู่ไม่ได้ต้องหนีเข้ามาอยู่ที่นี่”

“ความเสี่ยงของนักข่าวที่อยู่พม่าตอนนี้ มีความเสี่ยงมากเพราะว่าคนที่เป็นนักข่าวส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในคุก ข่าวต่างๆ ทหารเป็นฝ่ายควบคุมทั้งหมด” นายทู กล่าว

นายทูเปิดคลิปข่าวที่เขาเป็นคนลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร

ก่อนจะข้ามมาประเทศไทยนายทูอาศัยย้ายที่นอนตามบ้านเพื่อนหรือคนรู้จักไปเรื่อยๆ ทุกๆ 3 – 4 วัน หรืออยู่ได้มากสุด 7 วัน เขาก็ย้ายที่ใหม่ ก่อนเขาจะติดต่อกับอะโก่และขายกล้องส่วนตัวนำเงินติดตัวเดินทางข้ามมาประเทศไทยกับแฟน หลังจากที่ข้ามาอยู่ในเซฟเฮาส์นายทูจำเป็นต้องอยู่เฉยๆ ใช้ชีวิตเงียบๆ เพื่อไม่ให้ถูกตำรวจจับกุม เนื่องจากเขาเข้ามาโดยไม่มีเอกสาร เขายื่นคำร้องขอไปประเทศที่ 3 เรียบร้อยแล้ว นั่นเป็นความเดียวของเขาและแฟนในตอนนี้ เพราะไม่สามารถถอยหลังกลับไปประเทศบ้านเกิดได้ในสถานการณ์เช่นนี้

“ความฝันของเราคือไปประเทศที่ 3 ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าเราไปได้เราจะอยู่ที่นู่นและสานต่องานข่าวที่ทำ ถ้าวันใดวันหนึ่งประเทศเราเปิดแล้วเราจะกลับมาทำงานช่วยเหลือให้กับประชาชนของเราสามารถรับรู้ข่าวต่างๆ ได้” นายทู กล่าว

นายทูมองว่างานข่าวเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวในพม่า เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้การบริหารประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต้องรู้ไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ด้วย ข่าวสามารถเป็นสะพานเชื่อมได้

แหวนคู่ของนายทูและแฟนที่เดินทางมาด้วยกัน

ระหว่างการรอไปประเทศที่ 3 การอยู่ในประเทศไทยเขาและแฟนก็ต้องใช้เงิน นายทูอยากจะหางานภาพถ่าย ถ่ายวีดีโอที่เขาถนัดส่งให้เพื่อนจากทางย่างกุ้ง แต่เขาขาดอุปกรณ์สำคัญซึ่งก็คือกล้อง เขากล่าวว่า งานรับจ้างอื่นๆ เขาก็สามารถทำได้ แต่การไม่มีเอกสารทำให้เขาไปไหนมาไหนได้ยากในประเทศไทย แค่เพียงเดินออกจากเซฟเฮาส์ไปซื้อของข้างนอก ถ้าเจอตำรวจขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านมา เขาก็เกิดความกลัวว่าจะถูกเรียกตรวจแล้ว นายทูที่อยู่ประเทศไทยมาได้ 4 เดือน รูปร่างภายนอกเขาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เขาดูผอมลงกว่าในรูปถ่ายตอนอยู่พม่าที่เอาให้ดูมาก

“เรารู้ตัวดีว่า ตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหน ตอนที่อยู่พม่าอยู่บ้านเราตื่นมาเรามีแม่เตรียมอาหารให้ กินเสร็จก็ไปทำงาน ช่วงเย็นกลับมาแม่ก็ทำอาหารรออยู่ แต่หลังจากที่เข้ามาที่นี่ (ไทย) การอยู่ของเราไม่ได้สุขสบาย เราไม่มีเอกสาร ไม่สามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ ต้องระมัดระวังทุกอย่าง บางครั้งก็เลยเสียใจและคิดถึงหลายเรื่อง พยายามคิดว่าเราต้องอยู่รอดให้ได้ เพราะวันหนึ่งประเทศเราจะสามารถกลับมาเหมือนเดิม” นายทู กล่าว

 

เมื่อถามว่าถ้าสามารถขอพรให้ชีวิตได้หนึ่งอย่างเขาจะขออะไร

“ถ้าขอได้ก็จะขอให้คืนประชาธิปไตยให้เราก็พอ” นายทู กล่าว

 

วิธีการจัดการที่ดีกับชีวิต “ผู้ลี้ภัยในเมือง” ควรเป็นอย่างไร

ตลอด 2 ปีของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่า รัฐไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านไม่มีระบบการคัดกรองผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่หนีภัยสงครามเข้ามา ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่ามองสถานการณ์ 2 ปีรัฐประหารพม่าที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยไว้ว่า รัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนในระดับที่สามารถเรียกว่า “อาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ” ทั้งโจมตีพลเรือนโดยใช้ความรุนแรงจากอาวุธของกองทัพ และทำให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 3,000 คน ยังไม่นับรวมคนที่เสียชีวิตโดยไม่สามารถเก็บสถิติได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านไม่อาจมองข้ามไปได้

ปัจจุบันคนพม่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ได้มีแค่แรงงาน แต่ยังมีคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายชนชั้น และหลากหลายทักษะเข้ามาหลังรัฐประหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับชีวิตเขามากกว่าพม่า ดังนั้นนโยบายของรัฐไทยจึงควรต้องมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรัฐไทยควรให้การคุ้มครองชีวิตประชาชนชาวพม่า นอกจากนี้ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัฐไทยไม่ควรให้ความชอบธรรมต่อการกระทำของกองทัพพม่า

ศิรดากล่าวด้วยว่า หลังการรัฐประหารชนชั้นกลางพม่าจำนวนไม่น้อยย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เห็นคนพม่าที่สามารถซื้อคอนโดใจกลางกรุงเทพ ส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ และมี CDM จำนวนไม่น้อยเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน รวมไปถึงยังมีการเคลื่อนย้ายของทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ตามเข้ามาด้วย รูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่กรุงเทพฯ แต่ยังกระจายอยู่ในต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน หากมองในแง่ทรัพยากรมนุษย์คนกลุ่มนี้ที่เข้ามามีทั้งทักษะ การศึกษา และทุน ซึ่งประเทศไทยสามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าการปล่อยให้พวกเขาอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ

ศิรดาเสนอว่า แนวทางที่ดีในการดูแลชีวิตผู้ลี้ภัยในเมืองชาวพม่าที่เข้ามา รัฐไทยควรจะมีนโยบายรองรับสถานะผู้ลี้ภัยที่ถูกสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าบังคับให้ต้องอพยพโยกย้ายเข้ามา (forced migration) อาทิเช่น การเปิดช่องทางให้คนกลุ่มนี้สามารถมาขึ้นทะเบียนขอรับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยในเมือง

“ถ้าตามสิ่งที่เราอยากให้เป็นคือการเปิดช่องทางในเชิงนโยบายให้ผู้ที่ต้องผลัดถิ่นฐานจากการถูกประหัตประหารชีวิต มีช่องทางในการลงทะเบียนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย เพื่อที่เขาจะหลีกเลี่ยงการได้รับความคุ้มครองโดยช่องทางที่ไม่ปกติของทางการไทยระดับท้องถิ่น รัฐไทยอาจจะมองว่าถ้ามีนโยบายที่ดีเกินไป ยิ่งจะดึงดูดให้คนยิ่งเข้ามา ซึ่งเป็นวิธีคิดของฝ่ายความมั่นคง แต่จริงๆ แล้วโดยสถานการณ์ของพม่าอย่างไงเขาก็ต้องออกมา ปัจจัยที่ผลักจากสถานการณ์ทางการเมืองมันแรงมาก” ศิรดา กล่าว

ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพม่าผลักให้ประชาชนจำเป็นต้องออกนอกประเทศมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในไทยจำนวนมาก ดังนั้น ในเมื่อผู้คนจำเป็นต้องออกมาพวกเขาอาจจะยินยอมใช้เงินที่มีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของไทย หรือซื้อบัตรตำรวจ เพื่อความอยู่รอดและให้ตนเองได้รับความคุ้มครองบางอย่างในชีวิต

ศิรดากล่าวด้วยว่า คนที่มีการศึกษาบางคนยอมแฝงตัวไปเป็นแรงงานทั้งที่ตนเองมีทักษะ เพื่อให้อยู่รอดในประเทศไทย เพราะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ หากรัฐไทยมองเห็นศักยภาพในจุดนี้มากกว่าการกังวลในปัญหาความมั่นคงจะสามารถช่วยให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่เข้ามาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น ไม่ถูกละเมิดสิทธิซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net