Skip to main content
sharethis

‘อมรัตน์’ อภิปราย 'รัฐซ้อนรัฐ' สับการใช้อำนาจของ กอ.รมน. ระบุ กองทัพแทรกแซงการเมืองโดยใช้ กอ.รมน. เป็นตัวขับเคลื่อน รัฐประหารปี 49 และปี 57 เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจที่มีล้นเหลือตีความภัยความมั่นคงขยายออกไปครอบคลุมทุกเรื่องทั้งที่ไม่ใช่กิจของทหาร

 

16 ก.พ. 2566 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อมรัตน์อภิปรายความล้มเหลวของนโยบายความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน. หน่วยงานที่ถูกตั้งมากว่า 50 ปี เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์

อมรัตน์ยกตัวอย่างผลงานยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2517 อาทิ กรณีการ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” สังหารประชาชนไปกว่า 3,000 ศพ และกรณีการ “เผาหมู่บ้านนาทราย” ฯลฯ

“สิ่งที่ทำให้ประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่นที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยกันทั้งโลก คือ เรามีทหารเป็นผู้เล่นหลักอยู่ในทุกสนาม เหมาหมดเบ็ดเสร็จทั้งหน้าที่ดูแลความมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน ทำทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แต่เรือรบของเราเจอคลื่นลม ก็จมลงอย่างน่าอับอาย นับวันกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยใช้ กอ.รมน. เป็นตัวขับเคลื่อน จนทำให้ทุกวันนี้การบริหารราชการแผ่นดินมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างเต็มรูปแบบ” อมรัตน์ อภิปราย

อมรัตน์ ระบุ หลังจบสงครามกับคอมมิวนิสต์ กอ.รมน. แทบจะไม่เหลือความจำเป็นอีกต่อไป แต่ กอ.รมน. ยังดำรงอยู่ได้เพราะกองทัพใช้ กอ.รมน. เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมและประชาชน หลังการรัฐประหารมีการเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. มากขึ้น รัฐประหารปี 49 พ.ร.บ.ภัยความมั่นคง พ.ศ. 2551 ทำให้เกิดความทับซ้อนของโครงสร้างในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เอา ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคมานั่งเป็นเลขา กอ.รมน. และยกระดับ กอ.รมน. ประจำภูมิภาคทุกจังหวัด เป็นโครงสร้างที่ทับซ้อนกับการบริหารงานปกติ

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจที่ล้นเหลือ และการตีความภัยความมั่นคงถูกขยายออกไปครอบคลุมทุกเรื่องที่ไม่ใช่กิจของทหาร ท่องเทียว กีฬา รักษาป่า รักษาสิ่งแวดล้อม ทวงคืนผืนป่า รวมทั้งความเห็นต่างทางการเมือง เพราะโครงสร้างที่วางไว้เอื้ออำนวยให้ทำได้” อมรัตน์ อภิปราย

กอ.รมน. มีฐานะเทียบเท่ากรมเท่านั้น แต่มีอำนาจสั่งการข้าราชการพลเรือนอย่างล้นเหลือ ทำให้ กอ.รมน. เป็นมากว่ากระทรวง อมรัตน์ใช้คำว่า “ซุปเปอร์กระทรวง” พลเอกประยุทธ์ได้ใช้ กอ.รมน. ในการสอดส่อง ควบคุม และคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองและนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง กอ.รมน. ยังสามารถใช้งบของหน่วยงานอื่นในการทำกิจกรรมของ กอ.รมน. ได้ เช่น ให้กระทรวงสาธารณสุขส่งคนมาอบรมหลักสูตรของ กอ.รมน. โดยใช้งบกระทรวงสาธารณสุขเอง เป็นต้น

อมรัตน์ อภิปรายว่า หน้าที่หลักของ กอ.รมน. คือการใช้งบดับไฟใต้ในพื้นที่สามจังหวัด แต่สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดกลับไม่คลี่คลายลง

รัฐประหารในปี 57 ในเดือนแรกพลเอกประยุทธ์ยังมีการปรับปรุงโครงสร้าง และปรับ พ.ร.บ.ภัยความมั่นคง พ.ศ. 2551 โดยดึงเอาอัยการจังหวัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง กอ.รมน. ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อของความเป็นอิสระของอัยการ

อมรัตน์ อภิปรายว่า โครงสร้างแบบรัฐซ้อนรัฐจะส่งผลต่อการบริหารประเทศและประชาชนตลอดไปหากยังไม่มีการแก้ไข เนื่องจาก กอ.รมน. ถูกกองทัพครอบไว้หมดแล้ว กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่เป็นภัยต่อระบบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา

อมรัตน์เสนอทางแก้ปัญหา ดังนี้

1. ยุบ กอ.รมน. ควบคู่กับการปฎิรูปกองทัพ

2. ปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ตำแหน่งที่ปรึกษาใน สมช. ต้องป็นของพลเรือนที่มีความสามารถ มีความรู้เฉพาะ ไม่ใช่ให้นายทหารมานั่งในตำแหน่ง

3. ต้องแก้ไขกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 พรบ.คอมพิวเตอร์

4. ให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงโรมว่าด้วยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

5. ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตามมาตรา 112 มาตรา 116 และพรบ.คอมพิวเตอร์ ทั้งหมด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net