Skip to main content
sharethis

“งานศึกษาร่วมแนวสตรีนิยม” เล่มใหม่ สำรวจอำนาจทางการเมืองแบบชายเป็นใหญ่อย่างทหารในเมียนมา และบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านรัฐประหาร

  • แม้จะมีบทบาทของอองซานซูจี แต่เรื่องราวของเมียนมามักถูกอธิบายอย่างง่ายๆ ผ่านมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ชี้ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของการเมืองเรื่องเพศสภาพ ชีวิตประจำวันในเมียนมา และความเชื่อมโยงของทั้งสองสิ่งที่มีต่อกัน ตั้งแต่ก่อนและภายหลังการทำรัฐประหารที่เลวร้าย ทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจถึงการดำรงอยู่ที่ยาวนานของอำนาจทางการเมืองแบบชายเป็นใหญ่อย่างทหาร ซึ่งทำให้เกิดรัฐประหารตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ 

17 ก.พ. 66 ทีมสื่อองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ (17 ก.พ.) มีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่โดยนักวิชาการด้านสตรีนิยม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเมียนมาและประเทศอื่นๆ ระบุว่า ผู้หญิงในเมียนมามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อต้านระบอบทหารในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และยังคงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการปฏิวัติขัดขืนการก่อเหตุรัฐประหารของกองทัพครั้งล่าสุด หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเล่มครั้งแรกของความเห็นแนวสตรีนิยมในเมียนมาภายหลังการรัฐประหารปี 2564

หนังสือเรื่อง “Waves of Upheaval in Myanmar: Gendered Transformations and Political Transitions” (ระลอกคลื่นแห่งกลียุคในเมียนมา: การแปลงโฉมของเพศสภาพ และการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง—ชื่อภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ NIAS Press และจัดจำหน่ายโดย Silkworm Books ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดจำหน่ายโดย Hawaii University Press ในอเมริกาเหนือ

Jenny Hedström, รองศาสตราจารย์จาก Swedish Defense University และบรรณาธิการหนังสือ ระบุว่า “แม้จะมีบทบาทของอองซานซูจี แต่เรื่องราวของเมียนมามักถูกอธิบายอย่างง่ายๆ ผ่านมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก เราต้องการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ชี้ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของการเมืองเรื่องเพศสภาพ และชีวิตประจำวันในเมียนมา และความเชื่อมโยงของทั้งสองสิ่งที่มีต่อกัน ตั้งแต่ก่อนและภายหลังการทำรัฐประหารที่เลวร้าย ทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจถึงการดำรงอยู่ที่ยาวนานของอำนาจทางการเมืองแบบชายเป็นใหญ่อย่างทหาร ซึ่งทำให้การรัฐประหารเกิดทำได้ รวมทั้งยังฉายภาพความสำคัญและบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านการทำรัฐประหาร”

หนังสือความยาว 290 หน้าประกอบด้วย 11 บท รวมทั้งบทนำ คำนำ และคำตามโดยนักวิชาการแนวสตรีนิยม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หนังสือเล่มนี้เปิดตัวโดยมูลนิธิ The Fort พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับผู้ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคณะผู้อภิปราย ทั้งอาจารย์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และตัวแทนของสถานทูตสวีเดนในเมียนมา

เนื้อหาในบท “เรื่องเล่า” ของหนังสือเล่มนี้ เป็นการสนทนากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ได้ยินเสียงของผู้หญิงในเมียนมากับการทำงานด้านการเมืองที่มักถูกมองข้าม ส่วนเนื้อหาในบทที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีเน้นอภิปรายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านเพศสภาพใน “พื้นที่ที่เป็นทางการ” (กฎหมายเกี่ยวกับการเมือง การทำงานเพื่อสันติภาพ และกฎหมาย) และ “พื้นที่ไม่เป็นทางการ” (ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล) หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นแรงงานของผู้หญิงทั่วเมียนมาตลอดหลายทศวรรษที่ต่อสู้ยืนหยัด เพื่อทำให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ และนำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายหลังการทำรัฐประหารในปี 2564

“การปฏิวัติ[ของประชาชน]ฤดูใบไม้ผลิปี 2564 เป็นจารึกแห่งประวัติศาสตร์” 

ดร.ขิ่นมาร์มาร์ขิ่น นักวิชาการแนวสตรีนิยมจากเมียนมา และผู้แต่งเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้กล่าว 

“นับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นการปฏิวัติในเชิงอุดมการณ์และอัตลักษณ์ในเมียนมา ซึ่งรวมถึงแง่มุมด้านเพศสภาพ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดี และดิฉันหวังว่าจะนำไปสู่รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริง และนำไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของปัญหาเหล่านี้”

Jenny Hedström และ Elisabeth Olivius

ภาพจาก: เฟซบุ๊กไลฟ์งานเปิดตัวหนังสือ เพจ The Fort

Jenny Hedström และ Elisabeth Olivius บรรณาธิการหนังสือสามารถรวบรวมเสียงต่าง ๆ ของคนในเมียนมามาไว้ในหนังสือเล่มนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” ก่อนการทำรัฐประหารระหว่างปี 2554-2564 ซึ่งทำให้เสียงแนวสตรีนิยมจากหลายพื้นที่ในเมียนมาซึ่งเคยถูกเพิกเฉยได้ถูกขับขาน อย่างไรก็ดี หลายบทในหนังสือเล่มนี้สะท้อนว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในเมียนมาไม่อาจถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จแนวเสรีนิยม ในแบบที่ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเชื่อเช่นนั้นเลย

ด้วยเหตุดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงเสนอองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์เชิงเพศสภาพ และผลกระทบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา หากยังช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของภูมิทัศน์ทางการเมืองในเมียนมา 

“หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษที่ค่อนข้างมีเสรีภาพและความโปร่งใส ได้ก่อให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์และคุณค่าทางการเมืองแบบใหม่ อันเป็นสิ่งที่กองทัพไม่พึงพอใจหรือไม่เข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้” Elisabeth Olivius, รองศาสตราจารย์จาก Umeå University และบรรณาธิการหนังสือกล่าว “กองทัพจึงเลือกที่จะยึดอำนาจและโจมตีประชาชนพลเรือนแทน”

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทสนทนาระหว่างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับนักวิชาการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดการยอมรับอย่างเป็นทางการต่อผู้หญิงในฐานะผู้นำในเมียนมา แม้พวกเธอได้สละแรงงานส่วนตัวเพื่อทำให้ครอบครัวและชุมชนโดยรวมอยู่รอดต่อไป และเพื่อบรรลุเป้าหมายของการปฏิวัติ[โดยประชาชน]

“เราหวังว่าองค์ความรู้ที่รวบรวมในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา นักกิจกรรม และผู้กำหนดนโยบายในอนาคต พวกเขาสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของนักกิจกรรมผู้กล้าหาญและนักวิชาการชาวพม่าที่เป็นคนรุ่นก่อน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมีส่วนร่วมมากขึ้น สังคมที่รับฟังความต้องการและเรียนรู้บทเรียนของผู้หญิงอย่างจริงจังในปัจจุบัน ไม่ใช่ในอนาคต“ Jenny Hedström กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net