Skip to main content
sharethis

'ฮุนเซน' สั่งปิดสื่อสื่ออิสระ VOD ห้ามเผยแพร่ข่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษากัมพูชา ก่อนมีการเลือกตั้งระดับประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่ VOD รายงาน การค้ามนุษย์-ใช้แรงงานทาสต้มตุ๋นทางไซเบอร์ในกัมพูชา

 

17 ก.พ. 2566 ในช่วงคืนวันที่ 12 ก.พ. 2566 ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาเพิกถอนใบอนุญาตสื่อของสื่ออิสระชั้นนำในกัมพูชาวอยซ์ออฟเดโมแครซี (VOD) ทำให้สื่อแห่งนี้ไม่สามารถเผยแพร่หรือออกอากาศทั้งในภาษาอังกฤษหรือภาษากัมพูชานับตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าของวันที่ 13 ก.พ. 2566 เป็นต้นมาตามเวลาท้องถิ่น

Ananth Baliga ผู้ช่วยบรรณาธิการ VOD ภาคภาษาอังกฤษกล่าวว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่เดินทางมาที่สำนักงานของพวกเขาในช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ยื่นเอกสารจากกระทรวงข้อมูลข่าวสารที่สั่งให้สื่อของพวกเขาต้องยุติการตีพิมพ์เผยแพร่ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในกัมพูชาหลายแห่งก็ทำการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บ VOD จากในประเทศทั้งภาคภาษากัมพูชาและภาษาอังกฤษด้วย Baliga บอกว่าคณะทำงานของ VOD รู้สึกตะลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก

VOD เป็นหนึ่งในสื่ออิสระไม่กี่แห่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกัมพูชา และการสั่งปิดสื่ออิสระอย่าง VOD ในครั้งนี้ก็สะท้อนสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาเคยทำเอาไว้ทำในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2561 รัฐบาลฮุนเซนก็ทำการลิดรอนเสรีภาพสื่อ ด้วยการปิดกั้นสื่ออิสระ และปิดสถานีวิทยุหลายแห่ง อีกทั้งรัฐบาลยังห้ามสื่ออื่นๆ ไม่ให้มีการรายงานข่าวโดยอาศัยแหล่งข่าวจาก VOD หรือ เรดิโอฟรีเอเชียด้วย

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลกัมพูชาเลือกปิดกั้นสื่อ VOD นั้น เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ไม่พอใจรายงานข่าวของสื่อ VOD ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เขากล่าวหาว่าเป็นการทำลาย "ชื่อเสียงเกียรติยศ" ของรัฐบาล

บทความดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่กัมพูชาส่งความช่วยเหลือไปให้กับตุรกีหลังจากที่ตุรกีและซีเรียเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในรายงานข่าวดังกล่าวมีการอ้างอิงถึงโฆษกรัฐบาล Phay Siphan ที่กล่าวว่าลูกชายของฮุนเซนคือ Hun Manet ได้ลงนามข้อตกลงความช่วยเหลือแก่ตุรกีซึ่งดูเหมือนจะเป็นทำเกินขอบเขตหน้าที่ของตำแหน่งเสนาธิการเหล่าทัพและรองผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา

ฮุนเซนที่ครองอำนาจในกัมพูชามายาวนาน 38 ปี กล่าวหาว่า "นักวิจารณ์พยายามโจมตีผมและลูกของผม Hun Manet" ดูเหมือนว่าฮุนเซนตั้งเป้าให้ Hun Manet สืบทอดอำนาจต่อจากเขา ถึงแม้ว่าตัวฮุนเซนเองจะยังคงวางแผนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ก็ตาม

ศูนย์เพื่อสื่ออิสระกัมพูชา (CCIM) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอเจ้าของสื่อ VOD ส่งจดหมายขอโทษในเรื่องที่พวกเขาอาจจะสร้างความสับสนใดๆ ก็ตามจากการรายงานข่าวดังกล่าว และอธิบายว่าพวกเขาได้รายงานข่าวนี้โดยอ้างอิงมาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลเอง แต่ฮุนเซนก็ยังบอกว่าการตอบกลับของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

Naly Pilorge, จากองค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา Licadho กล่าวว่า มันเป็นวันที่เลวร้ายอีกวันหนึ่งของกัมพูชา Pilorge บอกว่าสังคมที่จะเปิดกว้าง เป็นประชาธิปไตย และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้นั้น จะต้องมีสื่อเสรี ถ้าหาก VOD ถูกสั่งปิดโดยถาวรแล้ว ก็จะสร้างช่องโหว่ให้กับพื้นที่สื่อในกัมพูชาซึ่งถูกรัฐบาลของกัมพูชาลิดรอนเสรีภาพมาโดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

หรือเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการที่ VOD รายงาน การค้ามนุษย์-ใช้แรงงานทาสต้มตุ๋นทางไซเบอร์ ในกัมพูชา?

เซบาสเตียน สแตรงจิโอ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองกัมพูชาและบรรณาธิการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสื่อเชิงวิเคราะห์ เดอะ ดิพโพลแมต กล่าวว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นในกัมพูชามักจะเกี่ยวโยงกับช่วงฤดูเลือกตั้ง และมองว่ารัฐบาลกัมพูชาน่าจะไม่พอใจเรื่องบางประเด็นที่สื่อ VOD รายงานออกมาเมื่อไม่นานนี้

สแตรงจิโอมองว่ากรณีข่าวของ Hun Manet ที่ฮุนเซนอ้างใช้แสดงความไม่พอใจต่อ VOD นั้น ดูเป็นข่าวที่ "ไม่ค่อยมีพิษภัยอะไร" ต่อรัฐบาล จึงทำให้สแตรงจิโอเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ฮุนเซนอ้างขึ้นมาเบี่ยงเบนความสนใจจากรายงานข่าวอื่นที่เขาไม่พอใจอย่างแท้จริงมากกว่า นั่นคือรายงานประเด็นเรื่องการใช้แรงงานทาสทางไซเบอร์และทางค้ามนุษย์ หรือไม่เช่นนั้นการรายงายข่าวกรณี Hun Manet ก็อาจจะไปสะกิดเรื่องที่อ่อนไหวเกี่ยวกับแผนการสืบทอดอำนาจต่อจากฮุนเซนก็เป็นได้

สำหรับกรณีการสืบทอดอำนาจต่อจากฮุนเซนนั้น สแตรงจิโอบอกว่า "อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจนั้นมีความอ่อนไหวทางการเมือง" และฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาดูจะมีความหวาดระแวงในช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งทางรัฐบาลได้ทำการปราบปรามพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพลิงเทียนด้วย

ทางด้านกรณีที่สื่อ VOD รายงานเรื่องการใช้แรงงานทาสไซเบอร์และการค้ามนุษย์นั้น VOD เป็นผู้นำการรายงานข่าวในเรื่องการใช้แรงงานทาสไซเบอร์ที่มีการล่อลวงชาวเอเชียหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวไต้หวันหรือชาวอินโดนีเซีย ให้เข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ ถูกบังคับใช้แรงงานทาสให้เป็นคนหลอกลวงต้นตุ๋นผู้อื่นทางอินเทอร์เน็ต

สแตรงจิโอบอกว่าการรายงานข่าวในเรื่องนี้ของ VOD ทำให้รัฐบาลรู้สึกอับอายอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อ VOD สามารถระบุตัวเศรษฐีบางคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่อล่วงให้คนมาทำงานหลอกลวงต้มตุ๋นทางไซเบอร์ด้วย สแตรงจิโอมองว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายามลดทอนความรุนแรงของปัญหานี้จนกระทั่งมันกลายเป็นประเด็นทางการทูต มีสถานทูตของประเทศต่างๆ ในเอเชียที่เริ่มเตือนประชาชนของตัวเองไม่ให้ไปทำงานที่กัมพูขาเพราะกลัวว่าพวกเขาจะถูกล่อลวงค้ามนุษย์ได้

เจคอบ ซิมส์ ประธานองค์กรอินเตอร์เนชันแนลจัสติสมิสชันของกัมพูชากล่าวว่า VOD มีความกล้าหาญและมีการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนคุณภาพสูงที่เป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ถูกกดขี่และไม่มีปากเสียงในกัมพูชา รวมถึงยังทำให้มีการเปิดโปงขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นในกัมพูชาที่มีการบังคับใช้แรงงานด้วยความรุนแรง

 

ปฏิกิริยาขององค์กรต่างๆ และของนานาชาติต่อการปิด VOD

จัสติน ไวแอตต์ ทูตออสเตรเลียประจำกัมพูชาคนใหม่ระบุทางทวิตเตอร์ว่าเขารู้สึก "เป็นห่วง" ในเรื่องการปิดสื่อ VOD และหวังว่าสื่อแห่งนี้จะกลับมาปฏิบัติการได้อีกครั้ง ไวแอตต์ระบุว่า "สื่ออิสระเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาธิปไตย และช่วยเป็นปากเสียงให้กับคนจำนวนมาก" ขณะที่กระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลียระบุว่าออสเตรเลียจะยังคงส่งเสริมให้กัมพูชามีเสรีภาพสื่อรวมถึงเรียกร้องให้ VOD กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง

Chak Sopheap ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชากล่าวว่าการปิดสื่อล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำต่อต้านประชาธิปไตยของรัฐบาลกัมพูชา และบอกว่าตราบใดที่รัฐบาลกัมพูชายังคงมองว่าการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็น "อาชญากรรม" ตราบนั้นเสรีภาพในการแสดงออกก็จะเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ ของประเทศนี้

รีเบกกา วินเซนต์ จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า "VOD มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเศษเสี้ยวสุดท้ายของความหลากหลายทางสื่อในประเทศ(กัมพูชา)" และบอกอีกว่าการตัดสินใจโดยพลการของรัฐบาลกัมพูชาที่ทำการปิดสื่อ VOD ก่อนหน้าการเลือกตั้งเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่เตือนว่าอาจจะเกิดอะไรเลวร้ายขึ้น

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองประธานฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ฮุนเซนมีทัศนคติแบบชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อสื่ออิสระอยู่แล้ว และมีการสั่งปิดสื่อเหล่านี้ด้วยเหตุผลที่ "น่าขัน" และมาจากข้ออ้างที่ "งี่เง่าสุดๆ"  อีกทั้งยังบอกว่าการปิดสื่อในครั้งนี้นับเป็นความสูญเสียสำหรับประชาชนชาวกัมพูชาด้วย

โรเบิร์ตสันประเมินว่าควรจะมองเรื่องนี้ในฐานะที่รัฐบาลฮุนเซนจงใจ "แก้แค้น" ต่อสื่อที่กล้าเปิดโปงการที่เจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชามีส่วนร่วมกับการค้ามนุษย์และกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมหลอกลวงทางไซเบอร์ ซึ่งโรเบิร์ตสันเรียกผู้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานไซเบอร์เช่นนี้ว่าเป็น "ทาสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21"

โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แถลงต่อเรื่องที่กัมพูชาปิดสื่อ VOD ว่า เขารู้สึกว่าเป็นเรื่อง "น่าตระหนก" ที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อ VOD และรู้สึกกังวลในเรื่องที่กัมพูชามีการตัดสินใจที่ดูเหมือนจะกระทำโดยพลการ เนื่องจากกระบวนการยึดใบอนุญาตของ VOD นั้นไม่มีความโปร่งใสภายใต้กฎหมายสื่อของกัมพูชา และมีลักษณะมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามสัดส่วนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

"ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชายกเลิกการตัดสินใจในเรื่องนี้ที่มีปัญหาอย่างมาก เพื่อปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของทุกคน และทำให้แน่ใจว่าจะมีการสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อประชาสังคม รวมถึงสื่ออิสระด้วย" เติร์กกล่าว

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) แถลงการประณามในเรื่องที่กัมพูชาสั่งปิด VOD โดยระบุว่าทาง APHR ขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อการปิด "สื่ออิสระแห่งสุดท้าย" ในกัมพูชาอย่าง VOD ที่เป็นปากเสียงให้ประชาชนกัมพูชาหลายล้านคน และเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาเคารพและยึดมั่นในหลักการเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งเช่นนี้

เมอร์ซี บาเรนด์ส ประธาน APHR กล่าวว่าการปิดสื่อเพียงเพราะสิ่งที่รัฐบาลมมองว่าเป็น "ข้อผิดพลาด" ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่ออย่างเห็นได้ชัด และบอกว่าเรื่องนี้ "ยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม" การปราบปรามสื่อในช่วงใกล้เลือกตั้งไม่ใช่แค่เป็นการปิดปากสื่อเท่านั้นแต่ยังเป็นการปิดปากใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วย บาเรนต์สวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า "มันจะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมไปได้อย่างไร"

บาเรนด์สกล่าวอีกว่า กลุ่มประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกไม่ควรจะนิ่งดูดายต่อการที่ฮุนเซนทำลายหลักการประชาธิปไตยและสิทธิพลเมือง และควรจะต้องประณามวิธีการอำนาจนิยมของฮุนเซนรวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชารักษาหลักการเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างอิสระและยุติธรรม

"จนกว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้สื่ออิสระเติบโตแพร่หลายในประเทศ จนกว่าจะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน และอนุญาตให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกโต้ตอบ การเลือกตั้งใดๆ ก็ตามที่มีขึ้นในกัมพูชาจะนับเป็นแค่ปาหี่" บาเรนด์สกล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก

Cambodian independent media outlet VOD shut down by Prime Minister Hun Sen ahead of election, ABC News, 13-02-2023

https://www.abc.net.au/news/2023-02-13/cambodia-independent-media-outlet-shut-down-hun-sen/101966476

Southeast Asian MPs condemn shutting down of independent media outlet in Cambodia ahead of general elections, APRH, 14-02-2023

https://aseanmp.org/2023/02/14/southeast-asian-mps-condemn-shutting-down-of-independent-media-outlet-in-cambodia-ahead-of-general-elections/

Comment by UN Human Rights Chief Volker Türk after shutdown of independent media outlet in Cambodia, OHCHR, 13-02-2023

https://www.ohchr.org/en/press-releases/2023/02/comment-un-human-rights-chief-volker-turk-after-shutdown-independent-media

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net