Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 เป็นช่วงที่ภาพยนตร์ City of Sadness (1989) ภาพยนตร์ชั้นครูของโหวเซี่ยวเสียน ผู้กำกับชาวไต้หวันนามอุโฆษในกระแสภาพยนตร์ Taiwan New Wave ที่บรรดาชาวรักหนังในบ้านเราให้การนับถือ จะกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ที่ไต้หวันอีกครั้งในรอบ 34 ปี นับจากที่ออกฉายครั้งแรกในปี 1989 พร้อมการบูรณะแผ่นภาพฟิล์มให้มีความละเอียดคมชัดระดับ 4k การกลับมาอีกครั้งของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพียงการบูรณะภาพฟิล์มเก่าในวาระครบรอบ 30 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้ท่านั้น หากแต่ยังผูกโยงเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของตัวภาพยนตร์และสภาพสังคม วัฒนธรรมและการเมืองไต้หวันในช่วงปี 1947 ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมาอย่างแยกไม่ขาดอีกด้วย

 

City of Sadness ภาพ(ยนตร์)นำเสนอความขัดแย้งระหว่างชาวไต้หวันและชาวจีน

ภาพยนตร์ City of Sadness เป็นภาพยนตร์ที่ย้อนกลับไปเล่าชีวิตของครอบครัวตระกูลหลินในชั่วขณะยามเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ไต้หวัน ในชั่วขณะที่จักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ก็เป็นชั่วขณะเดียวกันที่ทายาทคนใหม่ของครอบครัวหลินลืมตาดูโลกในแผ่นดินไต้หวันที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การประกาศยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่นยังผลให้เกาะไต้หวัน แต่เดิมซึ่งเคยเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปี 1895 ได้กลับคืนสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินแม่อีกครั้ง แต่การกลับคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่ที่พรากจากกันไปถึง 50 ปี ก็อาจไม่หวนคืนหอมหวนอย่างที่คาดฝันไว้ เพราะด้านหนึ่งแล้วตัวตนความเป็นญี่ปุ่นได้บังคับกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไต้หวันไปเสียแล้ว ภาษา การพัฒนาสาธารณูประโภคต่างๆ และธรรมเนียมปฏิบัติอย่างมีอารยธรรมแบบญี่ปุ่นได้กลืนกลายเป็นหลักปฏิบัติทางวัฒนธรรมของไต้หวันไปแล้ว การหวนคืนสู่ความเป็นจีนจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและขัดฝืน แรกเริ่มอาจหอมหวนคืนกลับสู่แผ่นดินแม่และพี่น้องร่วมเชื้อชาติ แต่นานวันเข้าความเคลือบแคลงเหินห่างยิ่งแสดงชัดเจน จากหลักปฏิบัติของการบังคับให้ใช้ภาษาจีนกลางเพียงอย่างเดียว ไล่รื้อมรดกสิ่งก่อสร้างสาธารณูประโภคที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ในไต้หวัน สภาพความกักขฬะไร้ซึ่งอารยธรรมใดๆ ของทหารชาวจีน รวมถึงการออกกฎหมายขูดรีดชาวไต้หวันตั้งแต่ช่วงปี 1945[1] สั่งสมกลายเป็นเชื้อไฟรอปะทุความขัดแย้ง นั่นคือสภาพความขัดแย้งที่เป็นไปตลอดทั้งเรื่องของชาวไต้หวันและชาวจีนที่นำเสนอผ่านภาพตัวแทนของครอบครัวหลินในภาพยนตร์ City of Sadness และในขณะเดียวกันก็เป็นการจำลองภาพประวัติศาสตร์ไต้หวันช่วงปี 1945-1947 จนกระทั่งล่วงเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ปี 1947 ความขัดแย้งลุกลามจนเหลือเพียงแต่รอตัวจุดชนวนที่จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียเท่านั้น


โศกนาฎกรรมสังหารหมู่ 228 ในฐานะบาดแผลสร้างสำนึกความเป็นไต้หวัน

และแล้วชนวนความขัดแย้งก็ถูกจุดขึ้นในเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1947 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐชาวจีนใช้ความรุนแรงเข้ายึดบุหรี่เถื่อนจากหลินเจียงไหม หญิงม่ายวัย 40 ปีที่โรงน้ำชาเทียนหม่า เธอถูกท้ายปืนตบเข้าที่ใบหน้าอย่างรุนแรงจนเลือดเริ่มไหลออกมา บรรดาชาวไต้หวันเริ่มก่อตัวมุงด้วยความโกรธแค้นต่อเจ้าหน้าที่รัฐชาวจีนที่เข้ามาฉกฉวยความมั่งคั่งไปจากเกาะไต้หวัน ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความกลัวลั่นไกปืนไปโดนชาวไต้หวันที่กรูเข้ามามุงจนเสียชีวิต[2] ด้วยไฟคลั่งแค้นและโกรธเคืองที่สั่งสมมาตั้งแต่คราวชาวจีนย่ำเท้าเข้ามาในแผ่นดินเกาะไต้หวัน ชาวไต้หวันจึงลุกฮือขึ้นเรียกร้องความยุติธรรมต่อผู้เสียชีวิตในค่ำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนรุ่งเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ การลุกฮือขึ้นของชาวไต้หวันได้กลายเป็นการประท้วงทั่วกรุงไทเปและทั่วเกาะไต้หวัน เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและการปกครองตัวเองของชาวไต้หวัน แต่แล้วการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจผู้ปกครองชาวจีนกลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมสังหารหมู่ที่เรียกว่าการสังหารหมู่ 228 หรือเหตุการณ์ 228 ที่ผู้ปกครองชาวจีนในนามพรรคก๊กมินตั๋งเรียกทหารจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาปราบปรามประชาชนชาวไต้หวัน จนมีผู้เสียชีวิตที่บันทึกเอาไว้ราว 20,000 คน พร้อมด้วยผู้คนที่ถูกอุ้มหายและสาบสูญไปอีกเป็นจำนวนมาก การลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยการปกครองตัวเองของชาวไต้หวันถูกกดปราบอย่างเหี้ยมโหด เป็นภาพชินตาแสนหวาดกลัวของคนยุคสมัยนั้นที่จะเห็นซากร่างของผู้เสียชีวิตลอยอยู่ในแม่น้ำและท่าเรือ ยามค่ำคืนก็หวาดผวาการมีคนเดินมาเคาะประตูบ้านยามวิกาลและพาตัวไป พอรุ่งเช้าคนๆนั้นก็หายสาบสูญไปตลอดกาล การพูดถึงเหตุการณ์ 228 กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในไต้หวันด้วยอำนาจของกฎอัยการศึก แต่ก็พอมีชาวไต้หวันผู้ลี้ภัยได้ทำบันทึกภาพเหตุการณ์โศกนาฎกรรมนี้ไว้ โดยภาพแรกๆที่ปรากฎคือภาพพิมพ์แกะไม้ที่บันทึกเหตุการณ์การกวาดล้างบุหรี่เถื่อนในเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ไว้

แต่ภายในเกาะไต้หวันเองนั้น การจะพูดหรือรำลึกถึงเหตุการณ์ 228 กลับเป็นภัยที่อาจทำให้ผู้พูดหายสาบสูญไปได้ตลอดช่วงการประกาศใช้กฎอัยการศึกระหว่างปี 1949-1987 จนกฎอัยศึกได้ถูกยกเลิกไปในปี 1987 พร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ออกมาชำระสะสาง และรำลึกความทรงจำบาดแผลในช่วงเหตุการณ์ 228 จึงเริ่มปรากฏมากขึ้น โดยมีการตีความอดีตว่าเหตุการณ์ 228  เป็นชั่วขณะทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สำนึกตัวตนความเป็นไต้หวันถือกำเนิดขึ้น เป็นช่วงที่ชาวไต้หวันรู้ตัวแล้วว่าตนไม่อาจเป็นญี่ปุ่นได้ และก็ไม่ใช่จีนเช่นเดียวกัน หากแต่ไต้หวันคือไต้หวันที่ประกอบสร้างผ่านประวัติศาสตร์อาณานิคมญี่ปุ่นและอาณานิคมจีน เหตุการณ์ 228 จึงเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกตีความใหม่ว่าเป็นบาดแผลการแตกหักและสร้างสำนึกความเป็นไต้หวันนั่นเอง[3]

การเมืองเรื่องการช่วงชิงความหมายของภาพความทรงจำเหตุการณ์ 228

ภาพยนตร์ City of Sadness เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกหลังกฎอัยการศึกยกเลิกไปเพียง 2 ปีที่หาญกล้าเล่าเรื่องประเด็นต้องห้ามในสังคมไต้หวันในปี 1989 แต่ตัวภาพยนตร์เองก็ถูกโจมตีอยู่ไม่น้อยว่านำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่ซื่อตรงต่อความจริง ผิดพลาด คลาดเคลื่อน คลุมเครือไม่ลงรายละเอียดเหตุการณ์ 228 อย่างชัดเจน[4] หากแต่เลือกที่จะไปเล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัวหลินหลังเหตุการณ์ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นจนถึงช่วงก่อนเริ่มการประท้วง 228 ไม่นานนักแทน ซึ่งในแง่หนึ่งแล้วนี่เป็นการนำเสนอแก่นใจความขัดแย้งระหว่างชาวไต้หวันและชาวจีนที่คุกรุ่นก่อนเริ่มปะทุเป็นโศกนาฏกรรมเหตุการณ์ 228 เสียมากกว่าดังที่ได้เล่าไป พร้อมทั้งคำสัมภาษณ์ของโหวเซี่ยวเสียนในปี 2001 ก็ยืนยันการตัดสินใจดังกล่าวว่า “เหตุการณ์ 228 เป็นเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนในตัวมาก แต่มุมมองของเราชัดเจนว่า เหตุการณ์ 228 นั้นมีแรงผลักดันทางประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นอยู่ซึ่งยากที่จะนำเสนออย่างตรงไปตรงมาในภาพยนตร์...ดังนั้น ผมจึงใช้เหตุการณ์ 228 เป็นแค่พื้นหลังเพื่อสร้างบรรยากาศสำหรับภาพยนตร์เท่านั้น”[5]

นี่เป็นเพียงการเมืองเรื่องการช่วงชิงการตีความเหตุการณ์ 228 ระหว่างผู้กำกับและประชาชนไต้หวันในช่วงแรกของการฉายภาพยนตร์เสียเท่านั้น อย่างไรก็ดีเมื่อล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1990 พร้อมด้วยการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน ได้นำพาการเมืองเรื่องการช่วงชิงความหมายของความทรงจำเหตุการณ์ 228 ให้แหลมคมยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อขั้วอำนาจทางการเมืองกลับไปสู่มือประชาชนในการเลือกตั้งปี 2000 ที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democracy Progressive Party หรือ DPP) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันส่งผลให้เฉิน ฉุยเปี่ยนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีพร้อมด้วยนโยบายการทำรายงานสืบสวนผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ 228 โดยรายงานฉบับที่ 2 ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2007 ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าเจียงไคเชก ผู้ก่อตั้งสาธารณะรัฐจีน หรือบิดาผู้ก่อตั้งไต้หวันเป็นผู้รับผิดชอบสำคัญในเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 นั่นทำให้ความทรงจำของคนไต้หวันต่อเจียงไคเชกเปลี่ยนไป จากบิดาผู้ก่อตั้งชาติ กลายเป็นฆาตกรผู้สังหารประชาชนไต้หวันไปแทน

ตลอดยุคสมัยของการดำรงตำแหน่งของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้มีการรื้อถอนรูปปั้น รูปเคารพต่างๆของเจียงไคเชกออกจากพื้นที่สาธารณะทั่วไต้หวัน แต่ก็ยังไม่อาจสะสางกับความอิหลักอิเหลื่อของความทรงจำเหตุการณ์ 228 และเจียงไคเชกได้ จึงทำให้รูปปั้นเจียงไคเชกถูกถอนออกจากพื้นที่สาธารณะ บ้างก็ถูกทำลาย บ้างก็ถูกนำไปกองอยู่ในสุสานของเจียงไคเชกที่ฉือหูแทน แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อใกล้ถึงวันรำลึกเหตุการณ์ 228 หรือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี รูปเคารพของเจียงไคเชกมักจะถูกทำลาย บ้างก็ถูกเลื่อยขาอนุสาวรีย์ขี่ม้า บ้างก็ถูกสาดสีแดงเขียนข้อความประมาณว่าฆาตกรผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 228 หรือแม้กระทั่งการตัดหัวรูปปั้นเพื่อทวงหาความยุติธรรมย้อนหลังต่อความทรงจำเหตุการณ์ 228[6]

การรำลึกเหตุการณ์ 228 ในปีนี้ ปีที่ 76 ให้หลังของเหตุการณ์ 228 ในไต้หวันจึงเริ่มขึ้นด้วยภาพยนตร์ City of Sadness ภาพยนตร์เรื่องแรกของไต้หวันที่นำเสนอภาพบรรยากาศความขัดแย้งในช่วงปี 1947 เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมการสร้างตัวตนความเป็นไต้หวันที่ต้องการปกครองตนเอง

 

อ้างอิง

[1] ความขัดแย้งระหว่างชาวไต้หวันและชาวจีน รวมถึงนโยบายการขูดรีดไต้หวันของชาวจีนสามารถอ่านเพิ่มได้ใน George H. Kerr. Formosa Betrayed. Camphor Press, 2018.

[2] รายละเอียดเหตุการณ์การกวาดล้างบุหรี่เถื่อนอย่างละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Berry, Michael. 2008. A History of Pain: Trauma in Modern Chinese Literatre and Film. New York: Columbia University Press. page,182

 

[3] รายละเอียดการตีความประวัติศาสตร์และความทรงจำเหตุการณ์ 228 ในฐานะบาดแผลสร้างชาติ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Stolojan, Vladimir. “Transitional Justice and Collective Memory in Taiwan”. China Perspectives (2017): 27-35.

[4] ข้อถกเถียงเรื่องการนำเสนอภาพเหตุการณ์ 228 ในเชิงประวัติศาสตร์สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Lin, Sylvia Li-chun. 2007. Representing Atrocity in Taiwan: The 2/28 Incident and White Terror in Fiction and Film. New York: Columbia University Press.

 

[5] รายละเอียดบทสัมภาษณ์สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Michael Berry. 2008. A History of Pain: Trauma in Modern Chinese Literatre and Film. New York: Columbia University Press.page,217

 

[6] รายละเอียดเรื่องการจัดการกับความทรงจำเหตุการณ์ 228 ในไต้หวันสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน CUIR at Chulalongkorn University: บาดแผลและความทรงจำ: เรื่องเล่าเหตุการณ์ 228 และ ไวต์ เทอร์เรอร์ (White Terror) ในไต้หวัน

 

ที่มาภาพ: Huang Rong-can’s 1947 woodblock print The Horrifying Inspection 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net