ภาระหนี้ภาคการเกษตร ภาพสะท้อนความล้มเหลวระบบการเงินไทยต่อครัวเรือนเกษตรกร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนี้สินครัวเรือนภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นวิกฤติหนี้สินเกษตรกรที่กว่า 90% ของเกษตรกรในประเทศมีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ เป็นผลมาจากการไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานรากอย่างเกษตรกร

ตัวเลขจากงานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำขึ้นโดยการเก็บข้อมูลสถานการณ์การกู้เงินของเกษตรกรทั่วประเทศ สมาชิกกลุ่มสำคัญของครัวเรือนฐานราก ย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2564  พบว่าเกษตรกรกว่า 90% มีภาระหนี้สิน แต่ละครัวเรือนจะมีเงินกู้มากกว่า 1 ก้อน หรือ 1 สัญญา เฉลี่ยมีครัวเรือนละ 3.8 ก้อน โดยมียอดหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาท ต่อครัวเรือน สถานการณ์ปัจจุบันคือเกษตรกรส่วนใหญ่แบกภาระหนี้สินมากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง ทางออกของเกษตรกรในปัจจุบันคือการ “หมุนหนี้” หรือการกู้หนี้เพิ่มจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง

เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเห็นภาพใหญ่ของหนี้สินภาคการเกษตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพบว่ามูลหนี้รวมในปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) ของเกษตรกร 5.16 แสนรายที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ อยู่ที่ 108,816 ล้านบาท  เจ้าหนี้หลักคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เกษตรกรกว่า 300,000 ราย มีภาระสินเชื่อผูกพันอยู่ คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 60,861 ล้านบาท รองลงไปได้แก่สหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินนิติบุคคลรูปแบบอื่น  และสุดท้ายเจ้าหนี้ที่เป็นโครงการส่งเสริมของรัฐ

 

และเมื่อพิจารณาถึงสถานะหนี้แล้วพบว่ามูลหนี้ส่วนใหญ่คือ 66.39% หรือยอดหนี้รวม 50,434 ล้านบาท เกษตรกรลูกหนี้ 356,907 ราย ยังคงสถานะหนี้ปกติ มีมูลหนี้สถานะผิดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 159,789 ราย มูลหนี้ 40,984 ล้านบาท คิดเป็น  29.17% และหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 17,113 ล้านบาท คิดเป็น 4.45 % เกษตรกรลูกหนี้ 23,906 ราย (ตรงนี้ก็อาจทำกราฟฟิกได้)

หนี้สินสำคัญของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในระบบคือหนี้นอกระบบ เช่นการกู้หนี้ในลักษณะกู้ยืมเงินสดจากนายทุนในหมู่บ้าน หนี้เถ้าแก่ร้านปุ๋ยร้านยา ที่เกษตรกรจะใช้เครดิตนำปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรมาใช้ก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็นำเงินไปชำระหนี้ แต่มักปรากฏว่าเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้กลายเป็นยอดหนี้ที่เพิ่มพูนขึ้น

งานวิจัยเรื่อง “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก: นัยต่อการแก้หนี้และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยไว้ 3 ประการ

1. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้น้อย โดย 27% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดมีรายได้ทั้งปีไม่พอรายจ่าย และอีก 42% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นแต่ไม่มากพอที่จะชำระหนี้และไม่พอสำหรับการลงทุนการทำเกษตรในรอบต่อไป

2. ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ไม่แน่นอน อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเชิงระบบที่ทำให้บริหารจัดการยาก เช่น ภัยพิบัติ และราคาตลาดที่ผันผวน ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นนอนที่สูงขึ้นในอนาคต

3. มีปัญหาสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก 2 ข้อแรก โดยพบว่ากว่า 82% ของครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 3 เดือนต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการต้องมีรายจ่ายก้อนโตเพื่อลงทุนทำการเกษตร หรือรายจ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ที่เกิดมาตามวาระหรือเกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมไว้ เช่น รายจ่ายด้านการศึกษา หรือรายจ่ายด้านสุขภาพ

หากสรุปภาพรวมสถานะทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกรซึ่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยเก็บตัวอย่างจากเกษตรกร 720 ครัวเรือน จะสามารถแยกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน คิดเป็น 67% 2) กลุ่มที่มีรายได้ไม่เคยพอค่าใช้จ่ายทุกเดือน คิดเป็น 18% และ 3) กลุ่มที่มีรายได้พอจ่ายทุกเดือน คิดเป็น 15% โดยครัวเรือนที่เป็นหนี้มักเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาสภาพคล่องสูง โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่าปัญหาทางการเงินของเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดสินเชื่อภาคการเกษตรมี segmentation ที่ชัดเจน แต่ระบบการเงินของไทยกลับมองข้าม segmentation นี้ จนทำให้เกิดปัญหาระบบการเงินฐานรากที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ประการ

1.ความไม่สมมาตรของข้อมูล เพราะทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพทางการเงิน ที่แท้จริงของเกษตรกร ผลที่ตามมาคือ ครัวเรือนเกษตรกรมีภาระหนี้สินเกินศักยภาพในการชำระหนี้ โสมรัศมิ์กล่าวว่าจากงานวิจัยของสถาบันป๋วยฯ ทำให้เห็นชัดว่าเกษตรกรที่อยู่ต่าง segmentation กัน กลับสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่ต่างกัน ทำให้ระบบการเงินครัวเรือนเกษตรกรไทยอาจปล่อยสินเชื่อมากเกินไปสำหรับครัวเรือนบางกลุ่ม แต่น้อยเกินไปสำหรับอีกบางกลุ่ม ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลจากความไม่สมมมาตรของข้อมูล

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ กล่าว

2. การออกแบบสัญญาสินเชื่อและสัญญาชำระหนี้อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินของเกษตรกร จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จูงใจให้ชำระหนี้ได้ ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีหนี้ได้จริง สถาบันวิจัยป๋วยฯ มีข้อเสนอว่าสัญญาชำระหนี้ที่เหมาะสมกับเกษตรกรควรมีการกำหนดวันชำระที่ตรงกับโครงสร้างรายได้ มีจำนวนงวดไม่สูง มีความยืดหยุ่นในกรณีที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีกลไกที่ช่วยสร้าง commitment ในการชำระคืนได้

3. การออกแบบการชำระหนี้ที่ไม่เอื้อให้มีการชำระหนี้ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions :SFI) ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ที่พบกว่าเกษตรกรมีการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าสถาบันการเงินชุมชน อย่างกองทุนหมู่บ้าน หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สถาบันการเงินชุมชนมีกลไกที่ช่วยในการบังคับการขำระหนี้ เช่น กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้คืนทั้งหมดก่อนจะกู้เงินครั้งต่อไปได้ ขณะที่กลไกการบังคับการชำระหนี้ของ SFI ยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ได้

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์กล่าว

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท