Skip to main content
sharethis

ส.ว.โหวตคว่ำญัตติ เสนอให้ ครม.ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 157 ต่อ 12 เสียง ฝั่งไม่เห็นด้วย มองการแก้ รธน.อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ ปชช.รอบใหม่ ด้าน ‘ก้าวไกล’ แถลงผิดหวัง แต่เหลือช่องทางคือการทำประชามติแก้ รธน.ตามแคมเปญ ‘RESET THAILAND’ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ กกต.

 

21 ก.พ. 2566 เว็บไซต์สื่อหลายสำนักรายงานวันนี้ (21 ก.พ.) ที่ประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 

ข้อเสนอนี้ถูกเสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อ 15 ก.ย. 2565 และเมื่อ 3 พ.ย. 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับญัตติให้ทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง และส่งต่อมาเพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม ประชุมวุฒิสภา เมื่อ 21 พ.ย. 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับการให้จัดทำประชามติ แต่กลับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 แต่ กมธ.ขอ “ขยายเวลา” ศึกษาต่ออีก 45 วัน ซึ่งในวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติขยายเวลาให้ กมธ. ศึกษาต่อได้อีก 45 วัน

ในที่ประชุมวุฒิสภาวันนี้ (21 ก.พ.) สมชาย แสวงการ ส.ว. และในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาการศึกษาการจัดทำประชามติ โดยการตั้งสภาผู้แทนราษฎร รายงานผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา ระบุว่า กมธ. คัดค้านการทำประชามติดังกล่าวเพราะขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคำถามการทำประชามติยังไม่มีความชัดเจน เพราะเป็นการถามเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ปรากฏในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจในเนื้อหาและข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขณะที่การจัดทำประชามติดังกล่าวต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทำประชามติถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 5,000 ล้านบาท รวม 15,000 ล้านบาท แม้จะให้เลือกตั้งวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ต้องแยกหน่วยเลือกตั้งออกมาจากการเลือกตั้ง ส.ส. และมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยโดยเฉพาะ หลังจาก กมธ.ศึกษาแล้วเสร็จ ได้ส่งกลับมาให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ 

สมชาย แสวงการ ประธาน กมธ. สามัญพิจารณาการศึกษาการจัดทำประชามติ โดยการตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ที่มา TP Channel)

การอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาดำเนินไปประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที โดยฝ่ายที่ ‘ไม่เห็นด้วย’ ระบุว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะการทำประชามติอาจเป็นต้นตอสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน และการเสนอทำประชามติครั้งนี้นักการเมืองต้องการใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงให้แก่ตัวเอง

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า เป็นห่วงการจัดทำประชามติ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนรอบใหม่ การอ้างรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นฉบับเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย เอาอะไรมาวัด มองว่าเหตุผลที่ต้องการล้มรัฐธรรมนูญปี 256 เพราะเป็นฉบับปราบโกง ถ้าทุจริตแล้วถูกจับได้จะถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต จึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพื่อนิรโทษกรรม ปลดโทษทุจริตให้โกงหนักกว่าเดิม

ทั้งนี้ ในส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ มองว่า อำนาจการทำประชามติไม่ใช่ ส.ว. เป็นผู้ชี้ขาด ควรส่งเรื่องให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจ หาก ส.ว. ขัดขวางการทำประชามติ จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ ส.ว. ถูกมองในแง่ลบมากขึ้น โดนฝ่ายการเมืองหยิบไปเป็นเครื่องมือหาเสียงโจมตี ส.ว. สร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง 

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. (ที่มา TP Channel)

ขณะที่ วันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ถ้า ส.ว. เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ ครม. พิจารณาการทำประชามติ จะมีผลดี 3 ข้อคือ 1. ส.ว. จะมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 2.ได้ภาพพจน์ที่ดีว่า ส.ว. มีความเป็นประชาธิปไตย 3.การเห็นด้วยกับการทำประชามติไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับ ส.ว. เพราะเป็นอำนาจ ครม. ชี้ขาดการจัดทำประชามติ

จากนั้นเวลา 13.10 น. หลังสมาชิกแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกลงมติว่าจะเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวหรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วย 157 เห็นด้วย 12 คะแนน งดออกเสียง 13 คะแนน และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน ถือว่าที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว และจากนี้จะแจ้งให้ประธานสภา รับทราบ

ภาพจาก TP Channel

ทั้งนี้ ข้อเสนอ “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ข้อเสนอที่เพิ่งมี ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2563 กระแสจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมถูกจุดขึ้นผ่านพื้นที่ชุมนุม นำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากฟากฝั่งประชาชนและจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ 18 พ.ย. 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ หนึ่งฉบับเสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และอีกฉบับเสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย
 
แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้ง สสร.จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปจนถึงวาระ 2  การลงมติรายมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จ เมื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติด่วนให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งบางฝ่ายตีความคำวินิจฉัยนี้ว่าหมายถึง ต้องทำประชามติว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน แล้วค่อยเสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง ทำให้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในการพิจารณาวาระที่สาม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564
 
จากผลพวงของการคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้แจงชัดแจ้งว่า การทำประชามตินั้นจะต้องทำขั้นตอนใด ตั้งแต่ก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือหลังร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงนำมาสู่การเสนอเรื่องทำประชามติ เพื่อถามประชาชนเจ้าของประเทศต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 

‘ก้าวไกล’ ผิดหวัง ส.ว.ขัดขวางแก้ รธน. ชี้ กมธ.ไม่ศึกษาอย่างตรงไปตรงมา

หลังมีมติสมาชิกวุฒิสภาโหวตคว่ำญัตติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อว่า ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภา 

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย และค่อนข้างผิดหวัง ในฐานะผู้เสนอญัตติเห็นว่าหลายข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ของวุฒิสภาชุดนี้ ณัฐพงษ์ และจุลพันธ์ ได้ตอบไปครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ปรากฏในเล่มรายงานการศึกษา จึงนำมาสู่ข้อสังเกตว่าคณะกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาชุดนี้ อาจไม่ได้ทำการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (ซ้าย) และ พริษฐ์ วัชรสินธุ (ขวา)

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 12 คนที่ลงมติเห็นด้วยนั้น ณัฐพงษ์ กล่าวขอบคุณกับ ส.ว. ทั้ง 12 คน แม้บางส่วนยังอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่ถ้า ส.ว.เชื่อในอำนาจสูงสุดของประชาชน ส.ว.ต้องไม่ขัดขวางในญัตติดังกล่าว

พริษฐ์ กล่าวว่า วุฒิสภาเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งมามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26 ร่าง มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านไปได้ เพราะเหตุผลสำคัญคือการกำหนดเงื่อนไขเสียง ส.ว. เกิน 1 ใน 3 แต่ครั้งนี้น่าผิดหวังกว่าเดิม เพราะย้อนไปเดือน พ.ย. 63 วุฒิสภาเคยลงมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการญัตติตั้ง สสร. แล้ว จึงเท่ากับมติครั้งนี้ขัดกับมติรับหลักการที่ผ่านมา

"การไปต่อกับรัฐธรรมนูญฯ 60 นี่แหละคือระเบิดเวลา เพราะไม่มีที่มายึดโยงกับประชาชน ไปต่อกับกติกาที่ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงเป็นระเบิดเวลาสู่ความขัดแย้งของสังคมไทย" ผู้จัดการการสื่อสารและรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าว

นายพริษฐ์ ชี้แจงถึงขั้นตอนต่อไปว่า ยังมีอีก 3 ช่องทางที่สามารถรณรงค์กันต่อไปได้ผ่าน พ.ร.บ. ประชามติฯ

1. ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ ให้ ครม. จัดทำประชามติ ตามแคมเปญ RESET THAILAND ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งออกระเบียบการจัดทำประชามติภายหลังรวบรวมรายชื่อเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงหวังว่าจะไม่ถูกสกัดกั้นหรือเป็นไปด้วยความล่าช้า

2. หาก ครม. เห็นชอบให้จัดทำประชามติ ก็สามารถกระทำได้เลย

"ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่คณะรัฐมนตรีจะไม่ทำประชามติได้เลย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ใน 12 นโยบายหลักของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" พริษฐ์ กล่าว

3. พรรคก้าวไกล แถลงเป็นนโยบายและให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รัฐบาลก้าวไกลภายใน 100 วันแรก จะใช้อำนาจ ครม.จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net