Skip to main content
sharethis

‘แอมเนสตี้’ ยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรม จี้บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ทุกมาตรา ตามกำหนดการ 22 ก.พ.นี้ ด้าน ครม.อนุมัติเงิน 444 กว่าล้าน ซื้อกล้องบันทึกภาพ-เสียง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย จำนวน 4.8 หมื่นตัว

 

21 ก.พ. 2566 เว็บไซต์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานวันนี้ (21 ก.พ.) ตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมาน และอุ้มหาย ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ยุติการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในบางมาตราออกไป และเน้นย้ำว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ตลอดทั้งฉบับ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นเวลานาน โดยมี เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับมอบข้อเรียกร้อง

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22-25  ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยระบุเหตุผลถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติและข้อขัดข้องเรื่องการจัดซื้อกล้อง และต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในการใช้อุปกรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ติดตามความคืบหน้าของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่จะมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 นี้มาโดยตลอด เเต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี  และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่ทางการไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวให้ได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมจากกรณีที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย 

"การที่ ครม.มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ 

"ผู้เสียหายจากการทรมานและญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ต่างยังคงยืนหยัดในการรณรงค์ให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม เข้าถึงความจริง และการเยียวยาสำหรับครอบครัว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพวกเขาในเรื่องนี้ได้" ปิยนุช ย้ำ

ความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายไม่เพียงเเต่มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น เเต่ยังคงส่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเรื่องความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) รวมถึงประเทศไทยเคยรับข้อเสนอในประเด็นเรื่องยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (UPR) รอบที่ 3 ทั้งหมด 39 ข้อ และให้คำมั่นสัญญาโดยสมัครใจในประเด็นดังกล่าว 2 ข้อ

"ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ รวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายจากการทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างถูกควบคุมตัวในระหว่างปี 2557 และ 2558 ทั้งหมด 74 กรณี อีกทั้งคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติ ระบุในรายงานตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2562 ว่า มีผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างน้อย 92 ราย และยังคงค้างอยู่ 76 ราย แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวอยู่มาอย่างยาวนาน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะการคลี่คลายลง" ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย ระบุ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ที่มา: Amnesty International Thailand)

ปิยนุช ระบุต่อว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่มีหน้าที่ในการพัฒนากฎหมายและระบบบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ความรู้ทางกฎหมาย และสื่อสารกับองค์กรหน่วยงานอื่นๆ และสาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจดังกล่าว ให้มีการดำเนินการดังนี้

ประกาศการใช้พระราชบัญญัติทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้งให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอื่นๆ (OP-CAT)

ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด

การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทำความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน

ทั้งนี้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ทาง ครม.มีมติขยายการกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ในบางมาตรา คือ มาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญ ออกไปบังคับใช้ 1 ต.ค. 2566 

โดยมาตรา 22 กำหนดว่า การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว

มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

สื่อ The Reporters รายงานว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ระบุว่า ตนเองเคยถูกจับกุมล่ามโซ่จากกรณี ม.112 และตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อต่อประชาชนที่ถูกกล่าวหา

สมยศ มองว่า การเลื่อนใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวโดยอ้างถึงความไม่พร้อมของตำรวจ เป็นความไม่สมเหตุสมผล จะอ้างว่าไม่มีอุปกรณ์ไม่ได้ และตั้งคำถามว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่กับการทรมานหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานมีความพร้อมในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะอัยการสูงสุดที่ประกาศออกมาแล้วว่าพร้อม แต่ทำไมตำรวจจึงไม่พร้อม โดยตั้งคำถามว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน ว่ากระทรวงรู้เห็นกับกรณีการออก พ.ร.ก. นี้หรือไม่

กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหาย ระบุว่า รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ได้โปรดช่วยเหลือ อย่าละเลย ตนเองสูญเสียลูกชายไป หวั่นใจทุกวัน นอนไม่หลับ โปรดเห็นใจผู้สูญเสียและผู้เสียหายประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่มีแค่นายสยามคนเดียวแต่มีอีกหลายคน  

กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ (ที่มา: Amnesty International Thailand)

เกิดโชค กล่าวตอบรับว่า กฎหมายที่รัฐบาลออกบังคับใช้ครั้งนี้ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ แต่เป็นการยกเว้นการบังคับใช้มาตรา 22-25 ซึ่งเป็นเรื่องของการบันทึกภาพขณะตำรวจหรือบุคคลที่มีอำนาจทางกฎหมายเข้าไปจับกุมหรือควบคุมตัว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีความพร้อมในเรื่องของกล้อง หรืออุปกรณ์ ก็คือยังไม่มีการบังคับใช้ในเรื่องของการถ่ายภาพ บันทึกเสียง แต่ยังยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ตามปกติ และส่วนตัวก็หวังว่าในวันที่ 1 ต.ค. ตามที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนออกไป จะมีความพร้อมใช้มาตราดังกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการทรมานและอุ้มหายในขณะที่ไม่มีการเก็บข้อมูล เกิดโชค กล่าวว่า ในทางกฎหมาย ตำรวจไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการกระทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แม้หากไม่มี พ.ร.บ.ดังกล่าว แล้วตำรวจกระทำการทรมานก็เป็นความผิด เพียงแต่มาตรา 22-25 เป็นตัวช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับตำรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ต่อตำรวจเองด้วยซ้ำ เพราะประชาชนจะไม่สามารถกล่าวหาได้ว่าตำรวจกระทำการทรมาน

ส่วนกรณีที่นักกฎหมายบางส่วนให้ความเห็นว่าการออก พ.ร.ก. ครั้งนี้ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขเหตุฉุกเฉินหรือสุดวิสัยนั้น เกิดโชค ตอบว่า หากนักกฎหมายเห็นว่าไม่สอดรับ ก็ให้ใช้กระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่รอให้มาตรา 22-25 บังคับใช้ ทางกระทรวงยุติธรรมพูดคุยเกี่ยวกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างไรบ้าง เกิดโชค ตอบว่า ก่อนที่จะมีการออก พ.ร.ก. ดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการร่างระเบียบวิธีดำเนินการตามมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทรวงยุติธรรมต้องเร่งระเบียบส่วนนี้ให้เสร็จก่อนวันที่ 1 ต.ค. และยืนยันว่า มาตรา 22-25 ไม่ส่งผลให้เกิดปัญหากับ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะกฎหมายแม่ คือการห้ามกระทำการทรมาน ยังคงอยู่ เพียงแต่เรื่องการถ่ายภาพถูกชะลอไว้ก่อน เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพยังไม่พร้อม

(ที่มา: Amnesty International Thailand)

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมาตรา 22-25 ยังไม่ถูกบังคับใช้ ตำรวจยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพและเสียงไว้ได้หรือไม่ นายเกิดโชค ตอบว่า สามารถทำได้ เพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กระทรวงยุติธรรมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี เสนอ พ.ร.ก. ฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาภายในสมัยประชุมนี้หรือไม่ เกิดโชค ตอบว่า ไม่ทันในสมัยประชุมนี้ แต่กระทรวงยุติธรรมยังคงยืนหยัดที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ อย่าลืมว่ากระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ริเริ่มกฎหมายฉบับนี้ รับพันธะสัญญามาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังผลักดันกฎหมายร่วมกับภาคประชาชนมาโดยตลอดเพื่อรองรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย ยืนยันว่า 1 ต.ค. จะได้เห็นความสมบูรณ์ของกฎหมายฉบับนี้

ครม.อนุมัติเงิน 444 กว่าล้าน ซื้อกล้องบันทึกภาพ-เสียง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

21 ก.พ. 2566 สำนักข่าว ‘ทูเดย์’ รายงานวันนี้ (21 ก.พ.) ระบุว่า อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมอนุมัติจำนวนเงิน 444.81 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช..) ดำเนินโครงการ ‘จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง’ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยจะจัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง จำนวน 48,568 ชุด แบ่งเป็น 3 รายการ ได้แก่  

กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดบนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 37,624 ชุด งบประมาณ  338.62 ล้านบาท สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กลุ่มสายงาน ได้แก่ สายงานป้องกันปราบปรามและสายงานจราจร จำนวน 16,945 ชุด และสายงานสืบสวนสอบสวน จำนวน 20,679 ชุด (ซึ่งได้รับการจัดสรรเป็นครั้งแรก) 

กล้องบันทึกภาพและเสียงแบบมือถือ พร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้ในห้องสอบสวนและห้องควบคุม จำนวน 9,366  ชุด   งบประมาณ 93.57 ล้านบาท   สำหรับสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,484 สถานี และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 77 หน่วยงาน 

กล้องบันทึกภาพและเสียงชนิดติดตั้งภายในรถยนต์ จำนวน 1,578 ชุด งบประมาณ 12.62 ล้านบาท สำหรับติดตั้งในรถยนต์ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9 

เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผล บังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ ( 22 ก.พ. 2566)  บัญญัติให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงผู้ต้องหาตั้งแต่เริ่มดำเนินการควบคุมตัว ผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องจัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการทุกนายใช้ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยเร่งด่วนและทันที

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำถึงการดำเนินการจัดหา ต้องดำเนินการให้ทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้  และต้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตกแก่บุคคลใด สำหรับหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ให้เร่งจัดลำดับความจำเป็นด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net