Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยและบ้านแม่อมยะยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสำนักอนุรักษ์จ.ตาก หลังมีเจ้าหน้าที่ไปแจ้งเงื่อนไขของ คกก.นโยบายที่ดินฯ ไม่ครบถ้วน พร้อมชี้ปัญหานโยบายของ คกก.จะไปกดดันคนออกจากที่ดินตัวเอง ย้ำต้องจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนและมีการรับรองสิทธิชุมชนโดยชะลอแผนของ คกก.นโยบายที่ดินจนกว่านโยบายยกระดับโฉนดชุมชนจะเสร็จตามมติ ครม.

21 ก.พ.2566 ตัวแทนชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยและบ้านแม่อมยะ ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดตาก และสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ประมาณ 15 คน เดินทางไปหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ตก.3 (แม่ตะวอ) ที่เพื่อยื่นหนังสือถึงสำนักอนุรักษ์ที่ 4 จ.ตาก หลังจากหน่วยป้องกันรักษาป่าฯ ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อย่างไรก็ตามประชาชนในชุมชนกังวลที่หน่วยงานชี้แจงเงื่อนไขของ คทช. ไม่ครบถ้วนทุกด้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเงื่อนไขของ คทช.ที่คนในชุมชนกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมามีอยู่หลายประการ เช่น เงื่อนไขการใช้หลักเกณฑ์ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงส่วนใหญ่จะไม่ผ่านหลักเกณฑ์ จนอาจมีการกดดันคนในชุมชนให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกินเพื่อเอามาปลูกป่าฟื้นฟู รวมถึงเงื่อนไขในการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนที่จะถูกจำกัด ด้วยหลักเกณฑ์ว่าต้องทำกินอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถหยุดพักการทำไร่เพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินและป่าได้ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีการทำไร่ของชุมชนไปสู่การทำพืชเชิงเดี่ยวที่จะทำให้สูญเสียความมั่นคงทางอาหารและวิถีวัฒนธรรมในอนาคต

นอกจากนั้น สิทธิในที่ดินทำกินนั้นก็ไม่ได้ตกทอดสู่ชุมชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 19 อนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ที่ดินนั้นแทน ทำให้การพัฒนาในระดับพื้นที่จำเป็นต้องขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน โดยชุมชนยืนยันว่า ข้อจำกัดเหล่านี้ของหน่วยงานควรทำความเข้าใจความต้องการของชุมชนด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนจะพยายามเสนอข้อเรียกร้องรูปแบบโฉนดชุมชน และชี้ให้เห็นถึงปัญหา ข้อจำกัดจากนโยบายของรัฐ ตามแนวทาง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและ กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

หนังสือของชาวบ้านขุนแม่เหว่ยและแม่อมยะ ระบุว่า การประกาศพื้นที่ป่าของรัฐทับพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยมาก่อน เป็นรากสาเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้ง โดยมีการประกาศเขตป่าไม้ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และตามมาด้วยการประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และความขัดแย้งระลอกใหญ่คือการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังปี 2534 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน กลายเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมเรื้อรังมายาวนาน

หนังสือที่ยื่นยังระบุอีกว่า โดยเฉพาะกฎหมายป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ยิ่งสร้างข้อจำกัดและความเปราะบางให้กับสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า การบังคับใช้กฎหมายในอดีตไม่ต่างจากการบีบบังคับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากป่า ดังจะเห็นได้จากแนวทาง มติ ครม.วันที่ 26 พ.ย.2561 ภายใต้ คทช. ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนในหลายประการสำคัญ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบไร่หมุนเวียน พืชผสมผสานและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า

รวมถึงอุปสรรคจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มาตรา 4 ที่ชุมชนในที่อยู่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ติดเงื่อนไขชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ รวมถึงป่าอนุรักษ์รูปแบบต่างๆ จะเข้าข่ายไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้

ด้วยข้อจำกัดตามกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เป็นอุปสรรคต่อรูปแบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ที่ชุมชนเรียกร้อง เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ลดทอนความหลากหลายในรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้ยืนยันข้อเรียกร้องตามหนังสือร้องเรียน 4 ข้อ ได้แก่

  1. ขอให้มีการระงับและชะลอการสำรวจการดำเนินโครงการภายใต้นโยบาย คทช.ตามแนวทาง มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ไว้ก่อน ซึ่งชุมชนยืนยันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” และเร่งผลักดันยกระดับให้เกิดการแก้ไขปัญหารูปแบบการรับรองสิทธิชุมชน ภายใต้ พ.ร.บ.คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 10 (4) ที่กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเท่านั้น จนกว่านโยบายการยกระดับโฉนดชุมชนจะแล้วเสร็จ ตาม มติ ครม. 1 ก.พ.2566
  2. ขอให้เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับตามมาตรา 10 (4) ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหา ข้อจำกัด อุปสรรคจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติดังที่กล่าวมาข้างต้น
  3. ขอให้ใช้แนวทาง มติ ครม.วันที่ 3 ส.ค.2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ยึดถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักให้กับชุมชน
  4. ขอให้เร่งรัดประสานงานเพื่อให้ชะลอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและสร้างข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และอยู่อาศัยกับป่าตามวิถี จนกว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจักแล้วเสร็จ

ด้าน สมคิด ตรงจิตสุนทร เจ้าหน้าที่ตรวจป่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตก.3 (แม่ตะวอ) ได้มารับหนังสือจากชาวบ้าน และกล่าวว่า การลงพื้นที่ในชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยและบ้านแม่อมยะ เป็นเพียงการสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น และรับทราบความต้องการของชุมชนทั้งสองชุมชนที่ยืนยันชัดเจนว่า ทางชุมชนยืนยันใช้รูปแบบโฉนดชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และไม่ประสงค์รับโครงการภายใต้นโยบายคทช. พร้อมทั้งย้ำว่าจะระบุความต้องการของชุมชนลงในบันทึกการสำรวจพื้นที่ร่วมกับทางชุมชนในครั้งต่อไปอย่างชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net