ฝ่ายค้านขู่ยื่น ป.ป.ช.ฟันโทษหนัก ตัดสิทธิ์การเมือง จี้ ครม.ส่งร่าง พ.ร.ก.ขยายเวลาใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายเข้าสภาฯ

ฝ่ายค้านจี้ ครม.ส่งร่าง พ.ร.ก. ขยายเวลาใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายเข้าสภาฯ ภายในวันศุกร์นี้ ขู่ยื่นป.ป.ช.ฟันโทษหนัก ตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี ส.ส.ปชป.ชี้ขยายเวลาเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุขยายกำหนดเวลาเหตุยังมีข้อขัดข้องจัดซื้อกล้องติดตัว จนท. และเตรียมความพร้อมบุคลากร

 

22 ก.พ.2566 จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป จากที่กำหนดเดิมตาม พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (22 ก.พ.) นั้น

ล่าสุด (22 ก.พ.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญที่สภาฯ เห็นความสำคัญคือเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกกระทำโดยกระบวนการที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม สภาฯ จึงเร่งตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยความเห็นพ้องของทุกฝ่าย ซึ่งพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งสภาฯ เห็นความจำเป็นของวันบังคับใช้ จึงได้เขียนในมาตรา 2 อย่างชัดเจนว่า ให้มีผลบังคับใช้หลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศ 120 วัน แต่ ครม.กลับตราพระราชกำหนดดังกล่าว แม้ว่าฝ่ายค้านได้ทักท้วง แต่ก็ไม่มีผลใดๆ

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ขยายกำหนดเวลาให้เฉพาะมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการเข้าควบคุมตัวและการเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวใน พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป จากเดิมที่เริ่มจะมีผลบังคับใช้วันนี้ (22 ก.พ.) ฝ่ายค้านเห็นว่าการที่ออกพระราชกำหนดเลื่อนวันบังคับใช้เช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมที่จะได้รับความคุ้มครอง และพระราชกำหนดฉบับนี้ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจน

“เพราะการตราพระราชกำหนดไม่เข้าเงื่อนไข จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ขณะนี้ ยังอยู่ในสมัยประชุมสภา ครม.ต้องเสนอสภาให้ความเห็นชอบและอนุมัติพระราชกำหนด เพราะถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ การบังคับใช้ก็เป็นการยุติ จึงขอเรียกร้องให้ ครม.ส่งให้พระราชกำหนดให้สภาพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งหากส่งมาภายในสัปดาห์นี้ก็สามารถนัดเพื่อพิจารณาได้ทัน แต่การอ้างว่าไม่ทันนั้น ถือว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ชอบ เพราะหน้าที่ ครม.คือส่งมาเท่านั้น และการที่ไม่ส่งมานั้น มีเหตุผลอะไรลึกลับซับซ้อนหรือไม่ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ยังสามารถทักท้วงด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของการตราพระราชกำหนดนี้ด้วย” ชลน่าน กล่าว

สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ทำอะไรหรือเตรียมการความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเมื่อถึงวันที่ 14 ก.พ. รัฐบาลก็มอบความรักด้วยการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายออกไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค. 2566 จึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีส่งให้พระราชกำหนดดังกล่าวส่งสภาฯ ภายในวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.นี้ เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมได้ทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ หรือหากหมดสมัยประชุมสภาฯ ก็สามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้

“แต่ถ้ารัฐมนตรียังไม่ส่งเรื่องมายังสภาฯ ภายในวันศุกร์นี้ ผมจะใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อถอดถอนครม.ทั้งคณะ เพราะถือว่าเป็นการผิดจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากป.ป.ช. ส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกา และหากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเมื่อไหร่ แม้จะเป็นรักษาการอยู่ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งจากครม.รักษาการหรือแม้แต่พ้นจากครม.แล้วไปแล้วก็สามารถเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองและตัดสิทธิ์สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ได้” สมชัย กล่าว

ส.ส.ปชป.ชี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในฐานะที่ได้ร่วมเป็นผู้เสนอ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในนามของพรรค เพื่อให้รัฐสภาให้ความเป็นชอบ และกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. ที่จะถึงนี้ แต่รัฐบาลได้มีการออกพระราชกำหนดยกเว้นไม่บังคับใช้ มาตรา 22 – 25 ออกไปอีกเป็นเวลา 8 เดือน ด้วยเหตุผลว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังไม่มีความพร้อม แต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าชี้แจงในชั้นกรรมาธิการว่า สตช. นั้นมีความพร้อม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เข้ายืนยันต่อ กมธ. ว่ามีความพร้อมเช่นกัน การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในลักษณะนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการออกพระราชกำหนด จะต้องทำไปเพื่อประโยชน์ และรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และป้องกันภัยพิบัติ ดังนั้นการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. ดังกล่าว จึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่รีบนำส่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวมาให้รัฐสภารับรองภายในกำหนดโดยเร็วอีกด้วย ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 (3)

“การกระทำดังกล่าวนี้ กระผมอยากถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ กระผมขอความกรุณา ขอคนยากจนมีกฎหมายเป็นหลังพิงบ้าง อย่าให้อยู่อย่างหลังพิงฝาหน้าพิงลูกกรง จบลงที่ถุงดำอีกเลย” สุทัศน์ กล่าว

ระบุขยายกำหนดเวลาเหตุยังมีข้อขัดข้องจัดซื้อกล้องติดตัว จนท. และเตรียมความพร้อมบุคลากร

สำหรับเหตุผลที่ขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายหลัง ครม.เห็นชอบ ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พ.ร.ก. ดังกล่าาว่า เป็นการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะม.22 ม. 23 ม.24 และม. 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.2566) สำหรับมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้ ม. 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว ม. 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ม. 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และม. 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

รัชดา กล่าวด้วยว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาบังใช้ ม.22 - 25 เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ 1. การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และ 2. การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท