Skip to main content
sharethis

UN ประมวลตัวเลขความสูญเสีย 1 ปีหลังรัสเซียบุกยูเครน ‘ปูติน’ กล่าวหาตะวันตก-ยูเครนเป็นตัวการยุยงเริ่มสงคราม ‘ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ดอดเยือน 'เคียฟ' สะท้อนพันธะคุ้มครองและความร่วมมือกับยูเครน ขณะที่บางประเทศในยุโรปที่เคยวางตัวเป็นกลางในสงคราม เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง 

 

ย้อนไปเมื่อ 24 ก.พ. 2565 กองทัพรัสเซียอ้างว่าพวกเขาทำการ "ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร" ต่อประเทศยูเครน จนทำให้เกิดสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาปีหนึ่งแล้ว สงครามนี้ได้ส่งผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งจากฝ่ายยูเครน และฝ่ายกองกำลังของรัสเซีย รวมถึงทำให้ชาวยูเครนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 8 ล้านราย และอีก 8 ล้านรายกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่ต้องหนีตายไปนอกประเทศ

ข้อมูลของสหประชาชาติ หรือ UN ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 ก.พ. 2565 หรือวันแรกที่มีรการรุกราน จนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2566 ระบุว่ามีตัวเลขพลเรือนชาวยูเครนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8,006 ราย และบาดเจ็บอีก 13,287 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขในขั้นต่ำและหมายความว่าอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ รัฐบาลยยูเครนประเมินไว้สูงกว่านั้นคือมีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตประมาณ 9,000 ราย และได้รับบาดเจ็บราว 16,502 ราย จากการประเมินนับตั้งแต่เหตุการณ์รุนรานยูเครนมาจนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2566

โฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แถลงถึงตัวเลขการสูญเสียของพลเรือนยูเครนในสงครามตลอดช่วงราว 1 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า "ตัวเลขที่มีการเผยแพร่วันนี้ แสดงให้เห็นการสูญเสียและความทุกข์ทรมานที่กระทำต่อประชาชนชาวยูเครนนับตั้งแต่ที่รัสเซียใช้กำลังทหารโจมตีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปีที่แล้ว"

เติร์ก บอกอีกว่า เขาเคยไปเยือนยูเครนด้วยตัวเองเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 และตัวเลขของพวกเขาก็เป็นเพียงแค่ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น เติร์ก ระบุด้วยว่า จำนวนตัวเลขการเสียชีวิตของพลเรือนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ นอกจากนี้ ยังมีการที่ผู้คนประสบความขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำในช่วงฤดูหนาว มีประชาชนเกือบ 18 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก มีนักเรียนที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะสถานศึกษาของพวกเขาถูกโจมตี คนพิการก็เผชิญกับปัญหารุนแรงมากขึ้น เช่นการไม่สามารถเดินทางไปถึงที่หลุมหลบภัยได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องถูกบีบให้ต้องอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา

"มีการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นทุกวัน มันกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในการที่จะหาทางฝ่าวิกฤตความทารุณและการทำลายล้างไปสู่สันติภาพ" เติร์ก กล่าว

สถิติของสหประชาชาติ ระบุว่า การสูญเสียของพลเรือนในสงครามยูเครน ร้อยละ 90.3 มาจากอาวุธระเบิดที่ส่งผลเป็นวงกว้าง เช่น กระสุนปืนใหญ่ ขีปนาวุธทั้งแบบร่อนและแบบทิ้งตัว และการโจมตีทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ๆ มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

'ปูติน' กล่าวหายูเครน-ชาติตะวันตกยุยงและเป็น 'ผู้เริ่มต้นสงคราม'

ในวันเดียวกับที่สหประชาชาติ รายงานเรื่องตัวเลขการสูญเสียในของชาวยูเครนในสงคราม วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย แถลงกล่าวหาชาติตะวันตกและยูเครนเป็นผู้ยุยงให้เกิดความขัดแย้ง และอ้างว่าเป็น "ผู้เริ่มต้นสงคราม"

ผู้นำหมีขาว กล่าวปราศรัยโดยปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสงครามยูเครน และต่อว่าศัตรูของเขา รวมถึงยังคงเรียกการก่อสงครามกับยูเครนว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ของรัสเซียแบบเดียวกับที่เขาอ้างใช้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ชาติตะวันตกปฏิเสธวาทกรรมเรื่องเล่าของปูติน เกี่ยวกับสงครามยูเครน

วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (ที่มา: wikicommon)

ปูติน กล่าวในคำปราศรัยยาวมากกว่าหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การรุกรานยูเครน อ้างว่าเขาต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งดอนบาส พูด "ภาษาของตัวเอง" และอ้างว่าเคยลองใช้วิธีการโดยสันติมาแล้ว ปูติน อ้างอีกว่าการที่นาโต และยุโรป ขยายระบบการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธถือเป็นการยุยงรัสเซีย และกล่าวหาว่าประเทศตะวันตกมีจุดประสงค์คือต้องการ "อำนาจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด" ปูติน อ้างอีกว่าเขาเล็งเห็นว่ามีภัยคุกคามเกิดมากขึ้นในดอนบาสในช่วงก่อนหน้าการบุกยูเครน วันที่ 24 ก.พ. 2565 

อย่างไรก็ตาม โอเล็กซานเดอร์ เชอร์บา อดีตทูตยูเครน ระบุโต้แย้งคำกล่าวอ้างของปูตินว่า ก่อนหน้านี้ชาติตะวันตกเคยยื่นคำขาดกับรัสเซียมาก่อนในเรื่องนี้ และผู้นำทางการเมืองของฝรั่งเศสกับเยอรมนีก็เคยเดินทางไปเยือนรัสเซียด้วยตัวเองเมื่อปี 2564 เพื่อขอร้องรัสเซียไม่ให้ก่อสงครามกับยูเครน

ปูติน แถลงอีกว่า เขามีแผนการจะสร้างทางหลวงไปสู่แคว้นไครเมีย ซึ่งเป็นพื้นที่ของยูเครน ที่รัสเซียเคยใช้กำลังทหารเพื่อบังคับให้เกิดการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อปี 2557 นอกจากนี้ ปูติน ยังประกาศว่าจะมีโครงการ "ฟื้นฟูสังคม" ในเขตพื้นที่ที่พวกเขาอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตนั้นๆ ด้วย

แต่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน แสดงออกในเชิงไม่ยอมอ่อนข้อต่อรัสเซีย โดยแถลงยืนยันซ้ำๆ ว่า ยูเครนจะไม่ยอมแพ้ให้กับอะไรก็ตาม เว้นแต่การที่จะทำให้มีการฟื้นฟูเขตแดนของประเทศตัวเองและสภาพต่างๆ ของประเทศกลับมาเป็นแบบเดียวกับในช่วงก่อนหน้าการถูกรุกราน

พล.อ.เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการของนาโต กล่าวว่า พวกเขาขอให้รัสเซียพิจารณาการตัดสินใจของตัวเองใหม่อีกครั้ง โดยกล่าวเน้นย้ำว่ารัสเซียทำตัวเป็นผู้รุกราน และสิ่งที่ปูติน ทำแสดงให้เห็นว่าเขากำลังเตรียมตัวที่จะทำสงครามมากขึ้น สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่ายังต้องมีการสนับสนุนยูเครนต่อไป และแสดงความกังวลว่าจีนอาจจะมีแผนการหนุนหลังรัสเซียในสงครามครั้งนี้

'ไบเดน' ดอดเยือนยูเครน ครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน

20 ก.พ.ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงเคียฟ ของยูเครน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว สื่อซีเอ็นเอ็น ระบุว่า การเยือนยูเครนในครั้งนี้เป็นการเยือนแบบที่เป็นความลับอย่างมาก ไบเดนเดินอยู่ข้างเซเลนสกี ที่มหาวิหารเซนต์ไมเคิล ท่ามกลางเสียงไซเรนสัญญาณโจมตีทางอากาศเหนือกรุงเคียฟ

(ซ้าย) โจ ไบเดน และ (ขวา) โวโลดีเมีย เซเลนสกี

ไบเดน เดินทางเยือนในครั้งนี้นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อพันธกรณีที่มีต่อยูเครนในช่วงที่สงครามกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะไม่แน่นอน และมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียกำลังเตรียมโจมตีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในขณะที่ยูเครนหวังว่าจะยึดครองพื้นที่ของตัวเองกลับคืนมาจากรัสเซียได้

ไบเดน ประกาศว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูเครน ซึ่งอาจจะรวมถึงความช่วยเหลือด้านอาวุธอย่างอาวุธปืนใหญ่หรือขีปนาวุธต่อต้านรถถังจาเวลิน อีกทั้งยังประกาศว่าจะมีการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซียในสัปดาห์นี้

"หนึ่งปีผ่านมา เคียฟยังคงยืนหยัดอยู่ได้ ยูเครนยังคงยืนหยัดอยู่ได้ ประชาธิปไตยยังคงยืนหยัดอยู่ได้" ไบเดน กล่าว

ทางด้านเซเลนสกี กล่าวว่า วันที่พบปะกับไบเดนนั้น (20 ก.พ.) นับเป็นวันที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ในแง่ที่ว่ามันเกือบจะครบ 1 ปีแล้วที่มีสงครามเต็มรูปแบบเกิดขึ้นในยูเครน และพวกเขาในฐานะที่เป็นประเทศเสรี พวกเขาได้ต้อนรับไบเดนในฐานะพันธมิตรที่ทรงพลัง และพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับอนาคตของยูเครน ความสัมพันธ์ของสองประเทศ เรื่องของทวีปยุโรปทั้งหมด และเรื่องประชาธิปไตยโลก

"นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ายูเครนมีความสามารถในการฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน และยูเครนมีความสำคัญต่อดลกมากแค่ไหน" 

"ในตอนนี้พวกเราเชื่อได้แล้วว่าจะไม่มีอะไรที่สามารถทำลายประชาธิปไตยของพวกเราได้ ไม่มีอะไรมาทำลายส่วนใดส่วนหนึ่งของชีวิตชาวยูเครนได้ และจะไม่มีทางเปราะบาง ความเข้มแข็งของพวกเรานั้นนับเป็นการสนับสนุนความเข้มแข็งของประเทศที่รักเสรีภาพในโลกนี้ด้วย" เซเลนสกี กล่าว

'สงครามยูเครน' บททดสอบประเทศยุโรปที่วางตัวเป็นกลาง

สื่อ France 24 ระบุว่า การที่รัสเซียรุกรานยูเครนไม่เพียงแค่ทำให้เกิดการทำสงครามต่อยุโรปเกิดขึ้นอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังทำให้ได้เห็นการที่ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ขอเข้าเป็นสมาชิกของนาโตได้ ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนเรื่องการวางตัวเป็นกลางในแบบที่หลายประเทศในยุโรปทำ

ในช่วงกลางปี 2565 หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน สวีเดน และฟินแลนด์ ได้ยื่นขอเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การรุกรานยูเครนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างความมั่นคงของยุโรปใหม่

แม็กซ์ เบิร์กมานน์ ผู้อำนวยการโครงการยุโรปของศูนย์วิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ (CSIS) กล่าวว่า ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ เริ่มมีเส้นของความเป็นกลางพร่าเลือนมาตั้งแต่ที่พวกเขาเข้าร่วมสหภาพยุโรป ในปี 2538 แล้ว และสงครามในยูเครนก็กลายเป็นการท้าทายแนวคิดแบบการวางตัวเป็นกลาง และท้าทายในเรื่องที่ว่าประเทศที่วางตัวเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้

มีการตั้งข้อสังเกตจาก ศาสตราจารย์ แอนดรูว คอตตีย์ จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจคอร์ก ว่าแม้กระทั่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางอย่างมากในประวัติศาสตร์ ก็ยังร่วมกับอียู ในการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย

ในบทวิเคราะห์ของ France24 ระบุว่า สวีเดน และฟินแลนด์ เริ่มมีความระแวดระวังมากขึ้นต่อรัสเซียนับตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์ที่มีการผนวกรวมแคว้นไครเมีย ในปี 2557 แล้ว โดยมีการเพิ่มงบกลาโหม เพื่อต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อแบบบิดเบือนข้อมูลจากรัสเซีย คอตตีย์กล่าวว่า แต่ในตอนนั้นสวีเดน และฟินแลนด์ ยังคงไม่เข้าร่วมนาโต เพราะต้องการรักษานโยบายเป็นกลางของพวกเขาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ที่ระบุให้ "อย่าเป็นปฏิปักษ์หรือยุยงสหภาพโซเวียต"

อูลฟ์ คริสเตอร์สัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน (ที่มา: ทวิตเตอร์ SwedishPM)

แต่พอมีการรุกรานยูเครนเกิดขึ้น ผู้คนในสองประเทศนี้ก็เริ่มมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปอย่างมาก พวกเขาเริ่มมองว่ารัสเซียเป็นีโอกาสจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขาจริงๆ และพวกเขาไม่ต้องการอยู่ในสภาพคลุมเครือถ้าหากรัสเซียรุกรานพวกเขา การที่สวีเดนและฟินแลนด์ยื่นขอเข้าร่วมนาโตนั้น เป็นเพราะพวกเขาจะได้รับการคุ้มครองและความร่วมมือทางการทหารจากประเทศสมาชิกตามมาตรา 5 ของนาโต

เบิร์กมานน์ ประเมินว่า ถึงแม้การเข้าร่วมนาโตของสวีเดน และฟินแลนด์ อาจจะไม่ถึงขั้นทำให้ประเทศที่เป็นกลางประเทศอื่นๆ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ทำตาม แต่ก็เป็นการส่งสารว่า การป้องกันประเทศในเชิงยุทธศาสตร์และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่พร้อมจะช่วยเหลือกันและกันได้นั้นมีความสำคัญ

ทางด้านสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำรงความเป็นกลางมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะยังคงท่าทีเป็นกลางอยู่ แต่ก็เริ่มเพิ่มงบประมาณการทหารมากขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน อีกทั้งยังมีพรรคฝ่ายขวากลางที่พยายามเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับความเป็นกลางของประเทศ อย่างเช่นการส่งอาวุธให้ยูเครน ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนแม้กระทั่งจากพรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคกรีน ของสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับประเทศออสเตรีย ดูเหมือนจะยังดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างแข็งขัน พวกเขารับผู้ลี้ภัยจากยูเครนจำนวนมาก แต่ก็เป็นไปในเชิงมนุษยธรรมไม่ได้ช่วยเหลือด้านอาวุธ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย

ส่วนไอร์แลนด์ ถึงแม้จะวางตัวเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พวกเขาก็แสดงออกสนับสนุนทางการเมืองต่อยูเครนอย่างชัดเจน คอตตีย์ บอกว่าเป็นเพราะชาวไอร์แลนด์ มองว่า การรุกรานยูเครนเป็นการรุกล้ำประเทศอื่นในแบบที่พยายามจะยึดครองประเทศใกล้เคียง ซึ่งทำให้พวกเขามีความเห็นใจทางการเมืองและทางศีลธรรมต่อยูเครน อย่างไรก็ตาม ผลโพลแสดงให้เห็นว่าประชากรไอร์แลนด์ ส่วนใหญ่ต้องการให้ไอร์แลนด์ยังคงความเป็นกลางทางการทหารเอาไว้


เรียบเรียงจาก

Türk deplores human cost of Russia’s war against Ukraine as verified civilian casualties for last year pass 21,000, OHCHR, 21-02-2023

‘They started the war’: Russia’s Putin blames West and Ukraine for provoking conflict, CNBC, 21-02-2023

Biden makes surprise visit to Ukraine for first time since full-scale war began, CNN, 20-02-2023

Zelensky hails importance of Biden's visit to Kyiv in his evening address, CNN, 20-02-2023

War in Ukraine tests long-standing neutrality of some European nations, France 24, 20-02-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Russian_invasion_of_Ukraine#Casualties

https://en.wikipedia.org/wiki/Casualties_of_the_Russo-Ukrainian_War

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net