Skip to main content
sharethis

คนไร้สัญชาติทำโพลสำรวจความเห็น “คุณคิดว่าคนไร้สัญชาติควรมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่” หลังการคำนวณจำนวนประชากรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 มีการนับรวมจำนวนคนไร้สัญชาติมาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย แต่คนไร้สัญชาติกลับไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

 

23 ก.พ. 2566 เวลา 17.30 – 18.30 น. ที่อ่างแก้ว มช. เครือข่ายนักกิจกรรมคนไร้สัญชาติ เชียงใหม่ ทำโพลสำรวจความเห็น “คุณคิดว่าคนไร้สัญชาติควรมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่” หลังการคำนวณจำนวนประชากรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 มีการนับรวมคนไร้สัญชาติ 3 กลุ่ม มาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ได้แก่ คนไร้สัญชาติที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในไทย, คนไร้สัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยชั่วคราว และคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลามากกว่า 10 ปี และกระทรวงมหาดไทยจัดทำทะเบียนราษฎรไว้เป็นหลักฐาน

แม้จะมีการนับรวมจำนวนคนไร้สัญชาติในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 แต่คนไร้สัญชาติกลับไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ปรีชา สายฟ้า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในตัวแทนคนไร้สัญชาติที่มาทำกิจกรรมครั้งนี้ ระบุว่า ตนเองเป็นคนไร้สัญชาติคนหนึ่งที่อยากเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งมีผลต่อการกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพ ขณะแรงงานขั้นต่ำของไทยไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ตนเองจึงอยากที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งและอยากเห็นนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ชาติ สุชาติ คนไร้สัญชาติที่ร่วมจัดกิจกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว แต่ตกหล่นจากการสำรวจทะเบียนราษฎร และอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ กลุ่มนี้เป็นคนไร้สัญชาติที่มีรัฐไทยรับรองว่าอยู่ในรัฐไทยและควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางและไม่ได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง

ตี๋ นาหยอด คนไร้สัญชาติที่ร่วมจัดกิจกรรม ระบุว่า เราอยากเลือกตั้ง เพราะว่าการเลือกตั้งมีผลต่อการกำหนดอนาคตของตัวเราเอง เราจึงอยากที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกำหนดอนาคตของตัวเราเอง

 

ศิววงษ์ สุขทวี นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ มองว่า  สิทธิการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่บุคคลไร้สัญชาติพึงได้รับ แต่ว่าบทบาททางการเมืองระดับไหนที่รัฐควรให้ กรณีในต่างประเทศใช้หลักการเกาะเกี่ยวกับสังคมนั้นๆ นานแค่ไหน อาทิ ในสวีเดน ผู้อพยพที่อาศัยในชุมชนประเทศสวีเดน นานระหว่าง 3-5 ปี มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ในระดับชาติ ต้องได้รับสถานะพลเมือง

นักสิทธิแรงงาน เสนอว่า การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น รัฐควรจะขยายสิทธิให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือคนต่างชาติที่มาอาศัยในไทยช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะว่าช่วงเวลาหนึ่งของเขาเกาะเกี่ยวกับสังคมไทยที่ๆ เขาอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว

กลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่มีสัญชาติอื่นๆ เลย กับกลุ่มคนมีสัญชาติอื่นที่มาอยู่ในไทย

กลุ่มคนมีสัญชาติอื่นที่มาอยู่ในไทย ไม่ควรมีสิทธิเลือกเลือกตั้ง แต่กรณีที่กลุ่มที่ไม่มีสัญชาติอื่นๆ เลย และรัฐไทยสามารถพิสูจน์ได้ หรืออยู่ในกระบวนการขอสัญชาติไทย กลุ่มนี้ควรมีสิทธิเลือกตั้งในระดับชาติตามปกติ หรือมหาดไทยควรให้สัญชาติของเขาโดยปริยาย เพื่อให้เขาสามารถมีสิทธิเลือกตั้ง "ผมยังคงคิดว่าถ้าทางออกที่ดีที่สุดคือเร่งให้ สัญชาติเขากับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอื่นๆ เพื่อให้เขาเข้าสู่สิทธิทางการเมือง...การไม่มีสิทธิการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าเขาไม่มีเสียงทางการเมืองที่จะแสดงออกถึงความต้องการของเขาได้เลย และการไม่ให้สิทธิเลือกตั้งเขา ทำให้ปัญหาการไร้สัญชาติในไทย แก้ไขไปอย่างเชื่องช้ามากๆ” 

“จะให้สิทธิกับคนกลุ่มนี้เลือกตั้งเลย ผมก็เห็นด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติจริงๆ ไม่มีสัญชาติอื่น ก็ให้สิทธิ มันจะได้เป็นการเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยปริยาย และเป็นประเด็นในสังคมไทยว่าจะแก้ไขปัญหาให้คนกลุ่มนี้อย่างไร” ศิววงษ์ กล่าว

 

 

 

วันที่ 24 ก.พ. 2566 เวลา 11.05 น. มีการเพิ่มเนื้อหาส่วนความเห็นนักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net