Skip to main content
sharethis

จุลพันธ์-ชินวร กังวลสภาพิจารณา พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายป้องกันอุ้มหายซ้อมทรมานไม่ทันสมัยประชุม ส.ส.เพื่อไทยชี้จะสร้างสุญญากาศทางกฎหมายมีคนโดนอุ้ม-ซ้อมช่วงนี้นักการเมืองปัดความรับผิดชอบไม่ได้

24 ก.พ.2566 ไทยโพสต์และข่าวสดรายงานถึงกรณีที่สำนักนายรัฐมนตรีส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเนื้อหาของพ.ร.ก.เป็นการเลื่อนใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปเมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้สภาพิจารณา และชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งต่อที่ประชุมว่าจะต้องนัดวันประชุมเพิ่มเติ่มเพื่อพิจารณาในวันที่ 28 ก.พ.2566 นี้ซึ่งเป็นวันหมดสมัยประชุม

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าประธานสภาอาจนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 28 แต่ข้อบังคับการประชุมสภากำหนดว่าต้องนัดล่วงหน้า 3 วัน หากประธานนัดตั้งแต่เมื่อวานนี้ก็จะอาจออกระเบียบวาระนัดประชุมเพิ่มวันที่ 27 ก.พ.ได้ทัน แต่เมื่อไม่ได้นัดก็จะเหลือเพียงแค่วันที่ 28 ที่จะนัดเพิ่มประชุมเพิ่มได้

จุลพันธ์ระบุว่าหากเกิด สุญญากาศของการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นปัญหา เพราะยังอยู่ในสมัยประชุมของสภาฯ สภาฯ ก็ต้องพิจารณาให้เสร็จ แต่ที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันการเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหาย และส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามจุลพันธ์กล่าวถึงอีกปัญหาคือ เท่าที่เขาทราบ ส.ว.จะอ่านพระราชโองการปิดสมัยประชุมของวุฒิสภาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.แล้วเสร็จ ก็จะต้องเข้าวุฒิสภา แต่ถ้าวุฒิสภาปิดสมัยประชุมไปแล้ว ก็จำเป็นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แล้วถ้าทั้ง 2 สภาไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก. ก็เป็นอันตกไป

ส.ส.เพื่อไทยยังกล่าวด้วยว่าหากช่วงนี้มีเหตุใครโดนอุ้มไปหรือซ้อมทรมาน สภาก็ปัดความรับผิดชอบยากเพราะไม่พิจารณากฎหมายให้เสร็จและปล่อยให้รัฐบาลประกาศงดเว้นการใช้กฎหมาย เมื่อมาถึงสภาก็จำเป็นต้องทำ

จุลพันธ์กล่าวว่ายังมีอีกช่องทางที่สามารถทำได้คือ ส.ส.รวบรวมรายชื่อส่งประธานสภาเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.ที่ ครม. เสนอมา และประธานสภาพจะต้องส่งศาลภายใน 3 วัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้พิจารณาช่องทางนี้ แล้วถ้าทั้ง 2 สภาไม่ได้พิจารณา พ.ร.ก.หรือพิจารณาไม่ทัน พ.ร.ก.ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อไป และต้องรอให้สภาชุดถัดไปมาพิจารณาหลังเลือกตั้ง

นอกจากส.ส.จากฝ่ายค้านแล้ว ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลอย่าง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) มีความเห็นต่อเรื่องเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน

ชินวรณ์ ระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องเร่งพิจารณา โดยนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลนัดหารือก่อนประชุมสภาในเช้าวันที่ 28 ก.พ. เพื่อผลักดันให้พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่านเพราะเสนอมาโดยรัฐบาล

ส.ส. ปชป.กล่าวด้วยว่าหากพ.ร.ก.ไม่ผ่านก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบและเป็นเรื่องที่พรรครวมรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วย จึงขอให้ทุกพรรคมาร่วมกันไม่เช่นนั้นฝ่ายบริหารก็ต้องรับผิดชอบ เพราะพ.ร.ก.ฉบับนี้มีทั้งฝ่ายค้าน และกรรมาธิการในร่างกฎหมายเดิมของพรรคอย่างสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ก็ไม่เห็นด้วย ถ้าพ.ร.ก.ไม่ผ่านก็ต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม

จุลพันธ์กล่าวถึงความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีต่อเรื่องนี้ว่า ตาม ตามประเพณีนายกรัฐมนตรีต้องลาออก แต่หากลาออก ครม.ก็จะรักษาการไม่ได้ เว้นแต่ยุบสภาไปเลย

ส.ส.ปชป. ยังแสดงความเห็นต่อ พ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วยว่าตัวเขาเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพ อีกทั้ง ส.ส.จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่เห็นด้วยจึงกังวลว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะไม่ผ่าน

ทั้งนี้ตามมติ ครม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 14ก.พ. เนื้อหาของพ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีการแก้ไขพ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหายเพื่อเลื่อนการใช้บางมาตราของกฎหมายออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 โดยมีมาตราที่ถูกเลื่อนดังนี้

  • มาตรา 22 การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ครม.ให้เหตุผลของการเลื่อนใช้มาตราเหล่านี้ว่าต้องมีการจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และยังต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อใช้อุปกรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net