Skip to main content
sharethis

หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอกัลยาณิวัฒนา นอกจากจะได้เที่ยวชมวิถีชุมชนชาวปกาเกอะญอ และสัมผัสป่าสนธรรมชาติอันงดงามแล้ว อีกสถานหนึ่งที่หลายคนชอบแวะเวียนไปเยือนนั่นคือ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ภายในบริเวณศูนย์ปกาเกอะญอนั้นมีความร่มรื่นปกคลุมด้วยต้นไม้ให้ร่มเงา ทุกคนสามารถเดินเที่ยวชมบรรยากาศจำลองวิถีของคนปกาเกอะญอ เช่น เรือนไม้โบราณของคนปกาเกอะญอ ใกล้ๆ กัน ก็จะมีครกตำข้าว สวนสมุนไพร ในป่ามีบ่วงแร้วดักสัตว์ และมีป่าเดปอทู ซึ่งมีการนำรกของทารกที่เกิดใหม่มาใส่กระบอกไม้ไผ่ นำไปมัดผูกไว้กับต้นไม้ เป็นเหมือนกุศโลบายของคนปกาเกอะญอในการดูแลป่ารักษาป่าที่ว่า เด็กหนึ่งคน เกิดมาก็ดูแลต้นไม้หนึ่งต้น เป็นต้น

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญของ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ก็คือ หอแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งเกิดจากแนวคิดร่วมกันของพระปลัดสุชาติ สุวัฑฒโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง ที่อยากให้วัด โรงเรียน และชุมชน ร่วมกันจัดทำขึ้นมา เพื่อรื้อฟื้น เผยแพร่เรื่องราววิถีของคนปกาเกอะญอเอาไว้ ไม่ให้มันสูญหายไป

พระปลัดสุชาติ สุวัฑฒโก กำลังบรรยายภาพจิตรกรรมวิถีชีวิตปกาเกอะญอ

เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ มีการจัดวงเสวนา เรื่อง การจัดการคุณค่าภูมิปัญญาปกาเกอะญอในภาพจิตรกรรมฝาผนังสู่การต่อยอดมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของคนรุ่นใหม่ โดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าสนใจ

นางสาววชิราพร ตินิ นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเรียนรู้ ก็คือเริ่มจากทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรม “กัลยาบ้านฉัน” เพื่อเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยเราได้ออกพื้นที่มาศึกษาภายในศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง มาเรียนรู้ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง แล้วนำเรื่องราวจากภาพนั้นมาต่อยอด ขยายองค์ความรู้ผ่านทางสื่อออนไลน์ เชื่อมโยงโดยการเรียนรู้ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ดที่ทางนักเรียนร่วมกับทางพระอาจารย์ได้ร่วมกันทำขึ้นมาอีกด้วย

นางสาวแสงก่ำ ตัวแทนเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าว่า ตนเองเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง แต่มีความสนใจและเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีของปกาเกอะญอ ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอ ตั้งแต่การเกิดจนตาย ทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้หญิง ผู้ชายชาวปกาเกอะญอ ทำให้เราได้เห็นภาพวิถีชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบเลย ซึ่งเราอยากให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอร่วมกัน และไม่ได้จำกัดแค่คนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเท่านั้น

เช่นเดียวกับ นฤบนาถ  ตัวแทนเยาวชนปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง และเป็นยูทูบเบอร์  บอกเล่าว่า ที่ผ่านมา เราได้เสนอเรื่องราวของศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ผ่านทางสื่อออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบัน สื่อออนไลน์นั้นสามารถแพร่หลายไปได้ทั่วโลก เราสามารถศึกษาได้ทุกที่ เราจึงได้ให้นักเรียนที่สนใจ มาร่วมกันถอดองค์ความรู้ โดยค้นหาเอกลักษณ์ เรื่องราวจากภาพฝาผนัง จากนั้น เราจะนั่งคุยกันว่า เราจะนำเอกลักษณ์ในภาพฝาผนังนั้น มาบอกเล่าผ่านสื่อออนไลน์อย่างไรต่อไป 

นายวรายุทธ อุตตะมา อาจารย์ โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อพูดถึงมิติทางการศึกษา ที่ผ่านมา เราถูกรับมาจากส่วนกลางมากเกินไป เป็นความรู้กระแสหลัก ซึ่งบางทีอาจไม่เชื่อมโยงกับเด็กๆในท้องถิ่น  มันอาจทำให้เด็กๆ เยาวชนลืมตัวตนของตัวเองไป  เพราะฉะนั้น ทำให้เราคิดว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนล้วนมีตัวตน มีเรื่องราวอยู่แล้ว

“ทำให้เรามองเห็นขุมทรัพย์ทางปัญญา เกี่ยวกับวิถีปกาเกอะญอ จึงพยายามค้นหาทำโปรเจคกันขึ้นมา จนกลายมาเป็น “กัลยาบ้านฉัน” เพื่อจะปลูกฝังให้นักเรียน เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวของตนเอง  โดยได้เผยแพร่เรื่องราวผ่านทางสื่อออนไลน์”

ในขณะที่ นางสาวสุธาลินี จรรยาทอง ศิลปินชาวปกาเกอะญอ หนึ่งในทีมที่วาดรูปศิลปะถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ในศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง บอกเล่าให้ฟังว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรรค์งานศิลปะที่นี่ และถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้มาเรียนรู้จักตนเอง ผ่านงานภาพวาดของตัวเอง ทำให้เรารู้ว่า คุณค่าของงานศิลปะนั้นวัดด้วยเม็ดเงินไม่ได้ แต่วัดด้วยจิตใจเท่านั้น

“การสร้างสรรค์งานศิลปะของเรา นั้นกลั่นออกมาจากใจ และมาประสบการณ์ชีวิตของเรา ไม่ว่าผ่านจากการทำงาน ทำไร่ทำนา หรือการช่วยทำงานบ้าน  ซึ่งเด็กๆ ควรจะรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะตอนนี้ สื่อโซเซียลอะไรๆ ก็เข้ามา ทำให้วิถีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตเดิมๆ นั้นเลือนรางหายไป ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยมาก ไม่ว่าจะในเรื่อง การช่วยเหลืองานบ้าน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ตัดฟืน ผ่าฟืน พอตื่นเช้าก็ช่วยพ่อแม่หุงข้าว เหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีให้เห็นกันแล้ว

ก็อยากให้เด็กๆ เยาวชน และทุกคน ได้อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลืองานบ้าน การทอผ้า การจก การปักผ้า ที่เป็นวิถีของปกาเกอะญอควรจะรักษาไว้ ถึงแม้ว่าจะเทคโนโลยีอะไรจะเข้ามาก็ตาม แต่ส่วนที่มันมีมาตั้งแต่เนิ่นนานของปกาเกอะญอ  ก็ไม่อยากให้ลืมหายไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำแล้วดีต่อสังคม เราทำเลย ไม่ต้องไปแคร์ความรู้สึกของคนอื่นว่าจะเป็นอย่างไร”

เปจัง มิตรสาธิต ศิลปินคนปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง ที่ร่วมวาดภาพศิลปะวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ก็บอกสั้นๆ ด้วยสีหน้าอิ่มเอิบใจว่า พลังของความเชื่อนั้นมีความสำคัญมาก ความเชื่อคือศรัทธา เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเชื่อดี ความศรัทธาก็จะดีด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง

ด้าน นางอมรรัตน์ ภูมิรุ่งโรจน์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านบ้านห้วยบง ได้มองเห็นพลังของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ว่า หลายครั้งที่เราทำกิจกรรม งานบุญ เราจะมองเห็นเด็กๆ เยาวชนปกาเกอะญอมาร่วมงานทุกครั้ง ก็ทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมา ทั้งเด็กเยาวชน โรงเรียน วัด ชุมชนนั้นมีความเชื่อมโยงกันมาตลอด จนกระทั่ง มีโอกาสมี อาจารย์ชรินทร์ จาก มช. ท่านพระปลัดสุชาติ รวมทั้งน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ  มานั่งพูดคุยกันกับทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยบง กันว่า เราจะค้นหาเอกลักษณ์ของปกาเกอะญอ นอกจากการแต่งกาย ภาษา แล้วมีอะไรอีกบ้าง ก็มานึกถึงเรื่อง ข้าวเบ๊อะ เพราะไปบ้านไหน ก็จะมีข้าวเบ๊อะทานกันทุกบ้าน ถือว่าเป็นอาหารหลักของคนปกาเกอะญอ เป็นอาหารที่ใช้ต้อนรับแขกที่มาเยือน

“เราจึงเกิดความคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะทำข้าวเบ๊อะสามารถนำไปกินที่ไหนก็ได้ คนปกาเกอะญออยู่ที่ไหน ต่างจังหวัด หรืออยู่ประเทศไหนก็สามารถกินข้าวเบ๊อะได้ จนเราผลิตออกมาเป็นข้าวเบ๊อะซองกึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา  จำหน่ายในนามวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยบง วางขายไปทั่วประเทศและทั่วโลกในขณะนี้ ใครที่สนใจข้าวเบ๊อะ สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยบง ที่เบอร์ 0951713261 โดยเราจำหน่ายซองละ 35 บาท และรับออเดอร์ตั้งแต่ 100 ซองเป็นต้นไป ซี่งการทำข้าวเบ๊อะกึ่งสำเร็จรูป สามารถทานได้ง่ายๆ เหมือนกับโจ๊ก มาม่า เพียงแค่เอาน้ำร้อนใส่ลงไป ก็ทานได้เลย นี่เป็นใช้ศักยภาพของชุมชนปกาเกอะญอ ในการทำข้าวเบ๊อะกึ่งสำเร็จรูปนี้ออกมา เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและถือว่าเป็นการสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ด้วย”

ข้าวเบ๊อะ อาหารประจำของคนปกาเกอะญอ

อมรรัตน์ ภูมิรุ่งโรจน์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านบ้านห้วยบง กับ ข้าวเบ๊อะกึ่งสำเร็จรูป

จุดกระแส สร้างตลาดชุมชนมือเจะคี “ถนนคนเดิน” แห่งแรกในอำเภอกัลยานิวัฒนา

นอกจากนั้น ในพื้นที่บ้านหนองเจ็ดหน่วย ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีหลายองค์กรหลายฝ่ายร่วมกันสนับสนุน โดยเฉพาะกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสล. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ได้มีส่วนสนับสนุนผลักดันโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จนเกิดเป็น“ตลาดชุมชนมือเจะคี” ซึ่งถือเป็น “ถนนคนเดินแห่งแรกในอำเภอกัลยานิวัฒนา” เพื่อเปิดพื้นที่ให้พี่น้องปกาเกอะญอได้นำพืชผักพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ข้าวดอย เสื้อผ้า ถุงย่าม และผลิตภัณฑ์แปรรูปแต่ละชุมชน มาวางจำหน่าย รวมทั้งเป็นสถานที่กระจายสินค้าของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมในโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

โดย นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยานิวัฒนา กล่าวว่า ต้องขอบคุณหน่วยงานสนับสนุนอย่าง กสศ. ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ีเล็งเห็นความสำคัญในการรื้อฟื้นภูมิปัญหาดั้งเดิมและสนับสนุนงบประมาณในการทำงานเพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต  สำคัญกว่านั้นคือ ขอบคุณกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาช่วยกันทำโครงการจนประสบความสำเร็จและสามารถเปิดเป็นตลาดซึ่งเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการ และความตั้งใจของชุมชน ตลาดชุมชนมือเจะคี แห่งนี้ เกิดขึ้นจากพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหนองเจ็ดหน่วย ผ่านการทำโครงการ พัฒนาอาชีพสตรีชุมชนปกาเกอะญอบ้านหนองเจ็ดหน่วย ที่ดำเนินงานโดยวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ชุมชนอำเภอกัลยานิวัฒนา

โครงการดังกล่าว ดำเนินงานโดยกลุ่มสตรี ที่หลาย ๆ คนมีความรู้และทักษะในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การทอผ้า การทำอาหาร การแปรรูป หากที่ผ่านมาเป็นการทำกันเฉพาะในครัวเรือนไม่ได้มีการขายอย่างจริงจัง  กิจกรรมในโครงการจึงเป็นการนำเอาภูมิปัญญาของชุมชนมายกระดับเป็นสินค้า อาทิ การแปรรูปแหนม การแปรรูปชาและสบู่ภายใต้แบรนด์ “โซหล่าแซ” นอกจากนั้นยังมีอาหารพื้นถิ่นปกาเกอะญอ ผักพื้นถิ่น ที่กลุ่มสตรีในหมู่บ้านนำมาจัดจำหน่าย และตลาดยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านกลุ่มอื่นได้นำผลิตภัณฑ์มาขาย หรือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน สำหรับ “ตลาดชุมชนมือเจะคี” จะเปิดขาย ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นเป็นต้นไป บริเวณถนนทางเข้าคริสตจักรบ้านหนองเจ็ดหน่วย 

นักวิชาการปกาเกอะญอ หนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ให้ออกแบบสังคมได้ด้วยตนเอง

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ และนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการภูมิวัฒนธรรม  วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นลูกหลานชุมชนมือเจะคี ได้กล่าวในกระบวนการหนุนเสริม เวทีเยาวชนชาติพันธุ์ โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เรากำลังหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ให้ออกแบบสังคมของตัวเองได้ และมีทักษะในการอยู่รอด อยู่ร่วม ท่ามกลางสังคมชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน

สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ และนักวิชาการด้านชาติพันธุ์

“สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘ฮู้คิง’ ทักษะในการอ่านบ้าน อ่านเมือง อ่านโลก เข้าใจโครงสร้างเชิงระบบ ปัจจัย เงื่อนไข หรือข้อจำกัดใด ที่ทำให้เป็นอย่างนั้น สองคือ ทักษะในการจัดการเรียนรู้โดยมีพื้นที่กลางในการเรียนรู้ และแบ่งปันทรัพยากร ไม่รอดเดี่ยว คือทางออก ทางรอด ของชุมชนชาติพันธุ์ในสังคมไทยและสังคมโลก สามคือ ทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึง และใช้ความรู้ร่วมกันได้ จัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันอย่างเท่าทัน สิ่งสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนตัวเองพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายหรือนิเวศการเรียนรู้ของสังคมคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ ทำหน้าที่หนุนเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนต่อกัน เพราะคน ๆ เดียวส่งเสียงไม่ได้ สร้างพลังไม่ได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เมื่อทำงานร่วมกัน สานพลังร่วมเรียนรู้ จึงจะอยู่รอด”

ทั้งนี้ สุวิชาน ยังบอกอีกว่า ในการหนุนเสริมของภาคเหนือและตะวันตก เราพูดถึงเรื่อง ทักษะของการฮู้คิง สมรรถนะของคนรุ่นใหม่ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ 1.ทักษะการอ่านและการมองบ้าน อ่านแล้วมองบ้านเมือง ชุมชน ของตัวเอง และทำความเข้าใจให้ลึก และชัดเจน 2.ทักษะของการเชื่อมโยง มองสังคม มองโลก เพราะเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว คนมักจะพูดกันว่าโลกนั้นกว้าง โลกของพี่น้องชาติพันธุ์นั้นก็กว้างขึ้น โลกของคนรุ่นใหม่ก็กว้างขึ้น ดังนั้นเข้าใจเฉพาะบ้านตัวเองไม่พอ 3.ทักษะการสร้างหรือการออกแบบพื้นที่กลางของการอยู่ร่วมกัน เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เมื่อเราแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเข้าใจกัน และ 4.การจัดหรือออกแบบกระบวนการ เพื่อจะที่จะเรียนรู้ร่วม อยู่ร่วม อยู่รอด เป็นการสร้างนิเวศการเรียนรู้

 

ข้อมูลประกอบ
1. ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่
2. ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
3. โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และ พัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ปี 2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net