Skip to main content
sharethis

กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าช่วยกลุ่มผู้รับเหมา ไม่ได้รับค่าจ้างจากบริษัทที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการ พิจารณาเรื่องร้องเรียนของตัวแทนกลุ่มผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์ที่ทำงานให้กับบริษัทเจดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง โดยได้รับการชี้แจงจากบริษัทถึงการประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลล้มละลายกลางรับคำร้องไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดสภาวะการพักชำระหนี้ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูต่อไป ในขณะนี้บริษัทยังดำเนินกิจการได้ตามปกติ ขณะที่ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางและศาลได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีเจตนาบริหารการดำเนินงานต่อเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน สำหรับกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้ใช้แรงงานและไม่ต้องการให้เกิดการเลิกจ้างแรงงาน ดังนั้น หากบริษัทสามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการย่อมจะเป็นเรื่องที่ดีกับทุกฝ่าย ส่วนกรณีในระหว่างที่ตั้งผู้บริหารแผนแล้วมีการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และลูกหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินการออกคำสั่งตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นหลังรับทราบข้อมูลว่าขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่อำนาจในการตัดสินใจเป็นของเจ้าหนี้ทุกราย ดังนั้น บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด ควรแสดงความจริงใจต่อเจ้าหนี้ โดยอาจนัดเจรจาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนถึงวันที่ศาลจะนัดไต่สวนในวันที่ 24 เม.ย. 2566 พร้อมกันนี้มีมติในการส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบการค้างจ่ายค่าแรงงานของบริษัท และส่งหนังสือถึงผู้บริหารบริษัทให้เจรจาพูดคุยไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ก่อนวันที่ศาลจะนัดไต่สวน รวมทั้งส่งเรื่องการพิจารณานี้ให้กับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่โดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไปด้วย

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 24/2/2566

ผลสำรวจพบแรงงานในเอเชียแปซิฟิก ที่มีทักษะดิจิทัล อาจมีรายได้หรือเงินเดือนมากกว่าพนักงานทั่วไปถึง 65%

Amazon Web Services และ Gallup บริษัทที่ปรึกษาด้านสถานที่ทำงาน สำรวจถึงสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ทักษะขั้นพื้นฐานไปจนถึงทักษะระดับสูง จากพนักงานมากกว่า 30,000 คน และนายจ้าง 9,000 รายใน 19 ประเทศเข้าร่วมการสำรวจ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า หากเทียบพนักงานที่มีวุฒิการศึกษาเดียวกันและประสบการณ์การทำงานเหมือนกัน พนักงานในเอเชียแปซิฟิกที่มี ทักษะดิจิทัลขั้นสูงอาจมีรายได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ทักษะดิจิทัลในที่ทำงานถึงร้อยละ 65 แม้แต่พนักงานที่ใช้ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เช่น การส่งอีเมลหรือการประมวลผลคำก็ยังได้มี รายได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ทักษะดิจิทัลในที่ทำงานถึงร้อยละ 39

ความต่างนี้ยิ่งเห็นชัดในประเทศ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งพนักงานที่ใช้ทักษะดิจิทัลในระดับใดก็ตามจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นร้อยละ 97 และ ร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้ใช้ดิจิทัล สำหรับประเทศ ไทย บุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงจะมีรายได้มากกว่า ร้อยละ 57

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของภูมิภาคได้ประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับบุคลากรในประเทศไทยที่ใช้ทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง ผลสำรวจพบว่าจะช่วยสร้างรายได้ประมาณ 75,800 ล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็น 930,800 ล้านบาท) ให้กับ GDP ของประเทศ

รายงานยังเผยอีกว่าร้อยละ 72 ของนายจ้างในเอเชียแปซิฟิกพบว่า การจ้างแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อกำหนดระดับปริญญาตรีที่เป็นข้อจำกัดในการเปิดรับสมัครงาน เนื่องจากมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63 ของคนทำงานด้านดิจิทัลที่ มีใบรับรองด้านดิจิทัล แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สิ่งนี้ทำให้ไม่มีสิทธิ์สมัครงานแม้ว่าจะมีทักษะที่จำเป็นก็ตาม

ทั้งนี้ ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน อาทิ การใช้อีเมล การใช้ซอฟต์แวร์ในสำนักงาน และโซเชียลมีเดีย ทักษะดิจิทัลระดับกลาง ได้แก่ การออกแบบเว็บไซต์ (drag-and-drop website design) การแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชัน (troubleshooting applications) และการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะด้านดิจิทัลระดับสูง ได้แก่ สถาปัตยกรรมคลาวด์หรือการบำรุงรักษาระบบคลาวด์ การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง

ที่มา: TNN, 24/2/2566

รมว.แรงงานพบปะสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยฯ มุ่งยกระดับงานรักษาความปลอดภัยเอกชนไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมใหญ่สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 หัวข้อ แนวทางการยกระดับงานรักษาความปลอดภัยเอกชนไทย โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารและสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องมัฆวาน รังสรรค์ชั้น 3 สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และเพื่อให้พี่น้อง มีความปลอดภัยในการทำงาน สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย จึงเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการยกระดับมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความ ปลอดภัย พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับมาตรฐานสากล วันนี้มีเป็นโอกาสดีที่มีผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศกว่า 300 บริษัท และผมขอยินดีกับผู้ประกอบรักษาความปลอดภัยจำนวน 9 แห่ง ที่ได้รับมอบโล่ ประกาศเกียรติคุณด้านความปลอดภัย ผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านจะเป็นกลไกสำคัญในการ ดูแลคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนให้สามารถทำงานได้อย่างผาสุกและปลอดภัย แม้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด ทุกท่านคงทราบถึงความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมาได้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานและสถานประกอบการที่สำคัญ ๆ ตามห้วงสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ซึ่ง IMF คาดปี 2566 จีดีพีไทยเป็นบวก อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก แม้เป็นช่วงพีคของโควิด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศและการลงทุนขนาดใหญ่ที่สร้างเสถียรภาพ จนทำให้มีอัตราว่างงานเพียงร้อยละ 1.5 % และคาดว่าปีหน้าก็จะยังคงต่ำที่สุดของโลก มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านโควิดของกระทรวงแรงงานภาพรวม อาทิเช่น ตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน ผลการตรวจโควิด 526,657 คน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส โครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก มีแรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 112,746 โดส ลดเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตน เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 163,492 ล้านบาท มาตรา 33 และ มาตรา 39 รวม 7 ครั้ง ผู้ประกันตน 13.36 ล้านคน นายจ้าง 502,693 ราย เป็นเงิน 160,250 ล้านบาท และ มาตรา 40 รวม 2 ครั้ง ผู้ประกันตน 10.80 ล้านคน เป็นเงิน 3,242 ล้านบาท เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด นายจ้าง จำนวน 192,951 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.75 ล้านราย รวมเป็นเงิน 32,542.27 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1.37 ล้านราย มาตรา 40 จำนวน 7.21 ล้านราย รวมเป็นเงิน 71,214.63 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงฯ มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 นายจ้าง 192,951 คน ผู้ประกันตน 12.48 ล้านราย รวมเป็นเงิน 104,495.50 ล้านบาท เยียวยาจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ 81,136 คน เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท ฉีดวัคซีนให้แก่คนงาน 606 แคมป์ ผู้ประกันตน 67,282 คน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 354 – 328 บาท ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงภารกิจที่กระทรวงแรงงานกำลังเร่งดำเนินการ อาทิ เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายประกันสังคม 3 ขอ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. รวมถึงจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกันตน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงให้แก่พี่น้องแรงงานในอนาคตอีกด้วย

“ในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ผมได้มาพบปะกับพี่น้องสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ทุกท่าน ผมขอขอบคุณ ที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งและร่วมกันบริหารจัดการองค์กรแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความสามัคคีปรองดองของสมาชิก ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนายจ้าง รวมถึงการประสานประโยชน์ให้เกิดการยอมรับเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญ บนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผมขอให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติต่อไป” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สยามรัฐ, 22/2/2566

รัฐแก้กฎหมาย "ลาคลอดบุตร" เพิ่มเป็น 98 วัน ตามมาตรฐานโลก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยร่างประกาศฯ มีสาระสำคัญ เช่น ร่างประกาศ ครรส. เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิง มีครรภ์สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง จาก 90 วัน เป็น 98 วัน ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดา ค.ศ. 2000

รวมทั้ง เพิ่มบทนิยามคำว่า วันหยุด ให้หมายความรวมถึงวันหยุดพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี  และร่างประกาศ ครรส. เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19) เป็นการปรับปรุงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้สอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป

นายสุชาติฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับลูกจ้างภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จาก 90 วัน เป็น 98 วันจากกองทุนประกันสังคมเช่นกัน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมในประเด็นดังกล่าว ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ที่มา: TNN, 22/2/2566

เตือนระวังแก๊งตุ๋น เพียงต้นปีแรงงานบุรีรัมย์ถูกหลอกไปทำงานต่างแดนแล้ว 12 ราย สูญเงินหลักล้าน

นางนิธิอร บุญญานุสิทธิ์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขอแจ้งเตือนแรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงแรงงานที่ต้องการจะมีงานทำในประเทศ ระวังถูกหลอกลวงสูญเสียเงินและเสี่ยงตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ หลังพบสถิติเพียงต้นปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 -ธ.ค.66 มีแรงงานถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศที่เข้ามาร้องเรียนแล้ว 12 ราย สูญเสียเงินไปหลักล้านบาท นอกจากนี้ยังพบแรงงานและประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพสร้างเพจหรือเฟซบุ๊กปลอม หลอกลวงว่าเปิดรับสมัครทำงานตำแหน่งต่างๆ แต่ต้องจ่ายเงินค่าสมัครหรือค่าดำเนินการก่อน มีเหยื่อหลงเชื่อสูญเสียเงินไปหลายรายเช่นกัน

จึงอยากเตือนแรงงานอย่าหลงเชื่อกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เนื่องจากทุกวันนี้มีการหลอกลวงในหลายรูปแบบโดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ดังนั้นควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าบริษัทที่เพจเฟซบุ๊กต่างๆ กล่าวอ้างถึงมีจริงหรือไม่ และมีการเปิดรับคนเข้าทำงานจริงหรือไม่ ส่วนแรงงานที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรจะตรวจสอบหรือทำเรื่องผ่านกรมการจัดหางานอย่างถูกต้อง

จากกรณีดังกล่าวจึงอยากแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ แรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศควรจะเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ทั้งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงไปค้ามนุษย์ ซึ่งการถูกหลอกลวงไปทำงานทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสื่อโซเชียลเข้าถึงได้ง่าย แค่นั่งอยู่ในบ้านก็มีโอกาสที่จะถูกหลอกได้ จากเมื่อก่อนอาจจะมีสายหรือนายหน้าเถื่อนเข้าไปหลอกลวงในหมู่บ้าน ซึ่งยังพอได้เห็นหน้าตา

แต่ทุกวันนี้มีการหลอกลวงผ่านโซเชียลฯ ซึ่งคนหลอกอาจจะเปิดเพจหรือเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ ดังนั้นแทบไม่ได้เห็นหน้าตาคนหลอกเลย บางครั้งถึงขั้นมีการปลอมโลโก้ของกรมการจัดหางานไปใช้หลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ หากไม่มั่นใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือกรมการจัดหางานได้โดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/2/2566

พรรคแรงงานสร้างชาติ หนุนขยายเพดานจ่ายเงินประกันสังคม รองรับผู้สูงอายุ

22 ก.พ. 2566 นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ ในฐานะประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันไดจากเดิมสูงสุดเดือนละ 750 บาท เป็น 1,150 บาท ว่า การทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมขยายเพดานเงินเดือนค่าจ้างการจ่ายเงินสมทบ จากปัจจุบันเงินเดือนสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินเดือนสูงสุด 20,000 บาท เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 12 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์และเงินออมชราภาพประกันสังคมมากขึ้น ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น

"ประเทศไทยไม่เคยมีการขยับฐานเพดานการเก็บเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33 มาเป็นเวลา 33 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2533 ทำให้ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนได้น้อย แต่ถ้ามีการขยายเพดานเก็บเงินสมทบเพิ่มตามขั้นบันไดก็จะทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมากขึ้น เช่น เงินว่างงาน เงินออมชราภาพ เงินทดแทนทุพพลภาพ" นายมนัสกล่าวและว่า ผู้ประกันตนที่ทำงานตั้งแต่ปี 2542 (ปีที่เริ่มมีการเก็บเงินสมทบชราภาพ) ถึงปัจจุบันจะทำให้มีเงินออมชราภาพกว่า 2 แสนบาท ทั้งนี้ระบบประกันสังคมในไทยถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่จะอย่างไรให้มีการเติบโตเป็นประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อให้คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าสู่ระบบประกันสังคมมีเงินออมกันทุกคน.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 22/2/2566

ครม. เห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) มีเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิเช่น

- กำหนดเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามมติครม. ตามความเหมาะสม และจำเป็นของกิจการ

- กำหนดเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน

- กำหนดเพิ่มเติมให้เงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ส่วนร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เพิ่มเติมประเด็นสำคัญ ดังนี้

- กำหนดเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป และถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานในปีที่จะเกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในอัตราเดียวกันกับเงินที่จะได้รับกรณีเกษียณ

- กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวกรณีที่ลูกจ้างตายด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร, กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา, เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่น, ฆ่าตัวตาย

ขณะที่ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโควิด-19) เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้สอดคล้องกับสิทธิ UCEP ตามมติ ครม.วันที่ 8 มี.ค.2565

โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีลักษณะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กลุ่มสีเหลือง และสีแดง) มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามที่สาธารณสุขกำหนด (สิทธิ UCEP)

ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กลุ่มสีเขียว) ให้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

ที่มา: Thai PBS, 21/2/2566

แฉขบวนการเรียกหัวคิว แรงงานเรือน้ำมันระเบิด รายละ 3 แสน แลกเดินเรื่องเงินชดเชย

21 ก.พ. 2566 เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์แฉขบวนการ เรียกหัวคิวแรงงานเมียนมา 40 เปอร์เซ็นต์ แลกเดินเรื่องเงินชดเชย 8 แสนบาท พร้อมระบุข้อมูล ว่า

เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันระเบิดกลางแม่น้ำกลอง จ.สมุทรสงคราม เมื่อ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้รับบาดเจ็บหลายคน และมีผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานชาวเมียนมา 8 ราย หลังเกิดเหตุได้ 2 วัน สำนักงานประกันสังคม จ.สมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่มอบเงินเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต โดยแต่คนจะได้รับเงินคนละ 8 แสนกว่าบาท แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ค่าจัดการศพ 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีตาย 770,952 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานแต่ละคน ส่วนใหญ่จะได้เงินระหว่าง 820,984 - 830,704 บาท

ในวันที่ไปมอบถ่ายรูปคู่กับป้าย ได้คนละประมาณ 8 แสนบาท เสร็จเรียบร้อย แต่ได้เงินจริงแค่ค่าทำศพ 50,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือยังไม่ได้ ต่อมาก็มีสายโทรเข้ามาหาญาติ ๆ ผู้เสียชีวิตทุกคน โดยเสนอว่า ขอเงินทอน 40 เปอร์เซ็นต์ คิดคร่าว ๆ คนละสามแสนกว่า จำนวน 7 คน ก็ 2.1 ล้าน เพื่อแลกกับเดินเรื่องกับสถานฑูตเพื่อให้ได้เงินส่วนที่เหลือนี้ โดยมีข้อสังเกตว่าคนที่โทรเข้ามา มีเบอร์ของญาติผู้เสียชีวิตทุกคน และรู้ขั้นตอนกระบวนภายในเป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ

ที่มา: Nation TV, 21/2/2566

"พรรคเสมอภาค" หนุนลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิ์เข้าประกันสังคม ม.33 ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงมีเกียรติ

20 ก.พ. 2566 นางรฎาวัญ(ลดาวัลลิ์) วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวถึงการเสนอให้แรงงานทำงานบ้านเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 กองทุนประกันสังคม ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และเครือข่ายแรงงานทำงานบ้านว่า เรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายด้านสวัสดิการแรงงานของพรรคเสมอภาค ที่ตั้งใจจะส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างทุกประเภท ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม ซึ่งเรื่องการคุ้มครองสวัสดิการแรงงานดิฉันมีประสบการณ์ทำให้เป็นรูปธรรมมาแล้วสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ถ้าชนะการเลือกตั้งก็จะทำงานด้านแรงงานต่อเนื่องได้ทันที การสนับสนุนให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าระบบประกันสังคม มาตรา33 จะเป็นผลดีต่อทั้งลูกจ้างและนายจ้าง จะทำให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีความมั่นคงในอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะได้รับการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ ตาย ว่างงาน และมีบำนาญชราภาพ และจะทำให้อาชีพทำงานบ้านมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากขึ้น

พรรคเสมอภาคมีนโยบายต่อยอดให้ลูกจ้างทำงานบ้าน มีความรู้ด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถนำไปช่วยดูแลด้านสุขภาพ อาหารต้านโรค ป้องกันการเจ็บป่วย พิการ ให้แก้นายจ้างและครอบครัว ก็มีโอกาสได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

ทางด้าน ดร.ฐิติพร ฌานวังศะ เลขาธิการพรรคเสมอภาค กล่าวว่า  ลูกจ้างทำงานบ้านสมควรที่จะได้รับสวัสดิการครบถ้วน ในสิทธิประโยชน์ จากกองทุนประกันสังคมทุกกรณี เรื่องนี้ฝ่ายนายจ้างอาจจะคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระ แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้ลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคม ม.33 จะช่วยลดภาระนายจ้างได้มากมาย เช่น กรณีการเจ็บป่วย การประสบอุบัติเหตุการทุพพลภาพของลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องรับภาระจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยจะมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ช่วยดูแลให้การคุ้มครองและออกค่าใช้จ่าย  พรรคเสมอภาค นำโดยท่านรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้มีประสบการณ์ ทำและผลักดันเรื่องประกันสังคมมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้า ม.33 ดังนั้น แนวคิดเพื่อไม่เกิดการเหลื่อมล้ำ ต่อลูกจ้างทำงานที่บ้าน พรรคเสมอภาคพร้อมผลักดันประกันสังคมแรงงาน ถ้วนหน้า สร้างชีวิตที่ดีกับอาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน ให้เกิดขึ้นได้จริง

ลูกจ้างทำงานบ้านสมควรที่จะได้รับสวัสดิการครบถ้วน ในสิทธิประโยชน์ จากกองทุนประกันสังคมทุกกรณี เรื่องนี้ฝ่ายนายจ้างอาจจะคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระ แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้ลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคม ม.33 จะช่วยลดภาระนายจ้างได้มากมาย เช่น กรณีการเจ็บป่วย การประสบอุบัติเหตุการทุพพลภาพของลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องรับภาระจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยจะมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ช่วยดูแลให้การคุ้มครองและออกค่าใช้จ่าย

"วันนี้ไม่ใช่แค่เมตตาจากนายจ้าง แต่ควรให้มีสิทธิแรงงาน กับผู้ทำงานบ้านด้วย"

ที่มา: บ้านเมือง, 20/2/2566

ไอแอลโอ ชี้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าไม่ถึงระบบคุ้มครองเจ็บป่วย-ว่างงาน แนะแก้ กม.ประกันสังคม ม.33

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้จัดเวทีสาธารณะ “ประกันสังคมนั้นสำคัญไฉน กับลูกจ้างคนทำงานบ้าน” ณ โรงแรมแกรนด์ปาลาซโซ รัชดา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน และที่สำคัญคือให้พรรคการเมืองได้ชี้แจงนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน

นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ กล่าวว่า แม้ว่ากฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 จะมีการประกาศใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ลูกจ้างทำงานบ้านยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม

“ตามมาตรา 33 ในกฎหมายประกันสังคมยังยกเว้นลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้ลูกจ้างเหล่านี้ต้องไปเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการจ่ายสมทบฝ่ายเดียว และให้สิทธิประโยชน์ที่น้อย ลูกจ้างหลายคนเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแลจากสังคมเลย เช่น ช่วงสถานการณ์โควิดระบาด ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ได้รับการชดเชย เพราะไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ยอมรับว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง เพราะเรามีนายจ้างที่ชัดเจน เราควรได้สิทธิเท่ากับแรงงานทุกคน” นางพูลทรัพย์ กล่าว

ขณะที่นาย Nuno  Meira  Simoes Cunha ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO )  ได้นำเสนอรายงานการทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย  โดยระบุว่า ในประเทศไทย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าจ้างลูกจ้างทำงานบ้านกับลูกจ้างอื่นๆ โดยข้อมูลจากรายงานบอกว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานทำงานบ้านมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ความคุ้มครองด้านการประกันสังคมในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านต่ำกว่าประชากรทั่วไป หากพิจารณาจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกรณีภาคบังคับ จึงเป็นไปได้ว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่เข้าร่วมในภาคสมัครใจ ซึ่งหมายความว่าแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองการว่างงานหรือประกันบาดเจ็บ และเจ็บป่วยจากการทำงาน 

“จากที่เคยสัมภาษณ์นายจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้”ผู้แทนไอแอลโอ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยขอให้ขยายความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยยกเลิกบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นที่มุ่งเป้าไปที่แรงงานทำงานบ้าน คือมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533   และให้พิจารณารวมความคุ้มครองงานบ้านในกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแก้ไขบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปพระราชบัญญัติเงินทดแทนเพื่อขยายสิทธิประโยชน์โดยเร็วที่สุด

ที่มา: สยามรัฐ, 19/2/2566

แรงงานข้ามชาติ จ.เชียงใหม่ ยังเข้าไม่ถึงสิทธิหลายด้าน

แรงงานข้ามชาติ ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ แต่วันนี้ ยังมีแรงงานข้ามชาติอีกไม่น้อย ที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง และยังติดข้อจำกัดด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ไม่ครอบคลุม

การมอบดอกกุหลาบ แม้จะทำในวันวาเลนไทน์ เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ไม่ได้มอบให้คู่รัก แต่มอบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการร่วมเรียกร้อง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิแรงงาน สำหรับแรงงานข้ามชาติ ผ่านแคมเปญ Who made my flower

ที่รณรงค์เรื่องนี้ เพราะพืชเศรษฐกิจอย่างดอกกุหลาบ มีแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานหลัก

ช่วงโควิด -19 ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติ ต้องประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงข้อจำกัดด้านภาษา

จนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม กิจกรรมการแจกดอกไม้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงเรียกร้อง ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม

NAN AYE NAUNG  หนึ่งในแรงงานข้ามชาติ ใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ คือการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง การใช้แรงงานเกินกว่ากฎหมายกำหนด

จากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ พบว่า ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบกว่า 640,000 แสนคน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เช่น ธุรกิจก่อสร้างที่ในปี 2563 ขาดแคลนแรงงานกว่า 200,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท

กิจกรรมนี้ ไม่ได้มีเฉพาะตัวแรงงาน แต่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า ในประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายกว่า 2.5 ล้านคน และ จ.เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 จังหวัด ที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุด ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบเท่านั้น

ที่มา: Thai PBS, 18/2/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net