Skip to main content
sharethis

ซูเปอร์โพลสำรวจ 1,223 คน ส่วนใหญ่ยก 'อนุทิน' นำโด่งผู้นำฝ่าวิกฤตโควิด ประชาชนมั่นใจประสานทุกกลุ่มทำงานร่วมกันได้ จงรักภักดี กล้าคิดกล้าตัดสินใจ สง่างามเป็นผู้นำไทยบนเวทีโลก - ผอ.นิด้าโพล วิเคราะห์ ‘4 ปัจจัย’ ชนะเลือกตั้ง ‘ประวิตร’ แรงสุดนั่งนายกฯ ‘ประยุทธ์-เพื่อไทย’ ยาก

25 ก.พ. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “ลุงตู่ กับ หมอหนู” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,223 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 24 ก.พ. 2566 โดยเมื่อถามถึง นักการเมืองผู้มีผลงานเด่น ด้านความมั่นคงชาติ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พบว่าเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.6 ระบุพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา รองลงมาหรือร้อยละ 17.3 ระบุ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล ร้อยละ 9.5 ระบุ พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 6.5 ระบุ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 5.3 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง นักการเมืองผู้มีผลงานเด่น ด้าน ระบบสาธารณสุข นโยบายสุขภาพ แก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ลดความเดือดร้อนของประชาชนช่วงวิกฤตโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ระบุ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองลงมาคือร้อยละ 10.4 ระบุ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.5 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 4.2 ระบุ นางสาว แพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 2.9 ระบุ พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง ภาพจำของประชาชน ต่อ คุณธรรมการเมืองของ นาย อนุทิน ชาญวีรกูล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 คือความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดของชาติ รองลงมาคือร้อยละ 60.6 ระบุกล้าคิดกล้าตัดสินใจ เป็นผู้นำไทยบนเวทีโลก ด้าน สาธารณสุข สุขภาพเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทยในอาเซียน ร้อยละ 60.6 ระบุ มีผลงานทั่วโลกยอมรับ รับมือวิกฤตโควิดในประเทศไทย ร้อยละ 60.4 ระบุ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย ทุจริตคอรัปชัน ร้อยละ 57.9 ระบุ มีความรู้ ประสบการณ์ ภาคธุรกิจ เคยล้มเหลว ฟื้นฟูตัวเอง กลับมาสำเร็จได้ ร้อยละ 57.6 ระบุ มุ่งมั่น ขยัน ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน

ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 57.1 ระบุเสียสละ มีความรัก จิตใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ คนตัวเล็กตัวน้อย นำเครื่องบินส่วนตัว ช่วยผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใน “หัวใจติดปีก” ร้อยละ 56.1 ระบุ ปกป้องผลประโยชน์ชาติไม่มีประวัติเสียค่าโง่โฮปเวลล์ ค่าโง่ทางด่วน หยุดการต่อสัมปทานแบบรวบหัว รวบหาง รถไฟฟ้า ร้อยละ 56.1 ระบุ ปกป้องผลประโยชน์คนใช้บริการ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เบียดเบียนเงินในกระเป๋าประชาชนจากบริการรถไฟฟ้า ร้อยละ 55.1 ระบุ เข้าใจระบบธุรกิจ เศรษฐกิจ หัวอกของผู้ประกอบการ ร้อยละ 55.0 ระบุ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ประสานทุกกลุ่มมาทำงานร่วมกันได้ และร้อยละ 54.7 ระบุ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือ จาก ส.ส. มาช่วยกันสร้างพรรคภูมิใจไทยให้เป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ตามลำดับ

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า จากผลโพลก่อนหน้านี้ที่เคยทำเรื่อง ลุงตู่ กับ คุณธรรมการเมืองพบว่ามีความเหมือนในบางด้านแต่หลายด้านที่แตกต่างกันไปจากภาพจำของประชาชนต่อคุณธรรมการเมืองของ หมอหนู หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เช่น ทั้ง ลุงตู่ และหมอหนู ต่างได้รับการยอมรับจากประชาชนเรื่องความจงรักภักดีและผลงานอันเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะผลงานด้านระบบสาธารณสุข นโยบายสุขภาวะของประชาชน สุขภาพเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน ความซื่อสัตย์สุจริตและความสามารถพลิกฟื้นวิกฤตที่เคยเกิดกับธุรกิจของตัวเองจนประสบความสำเร็จเจริญมั่งคง จึงได้รับการโหวตจากประชาชนในความสำเร็จที่สามารถฟันฝ่าปัญหาธุรกิจในยามวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ เข้าใจหัวอกของผู้ประกอบการและความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ที่โดดเด่นในลักษณะคุณธรรมของนายอนุทิน ชาญวีรกูลที่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ก่อนการทำงานทางการเมืองคือ เสียสละ มีความรัก จิตใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ คนตัวเล็กตัวน้อย นำเครื่องบินส่วนตัว ช่วยผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใน “หัวใจติดปีก”

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ภาพจำของประชาชนต่อคุณธรรมการเมืองของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังมีในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ชาติไม่มีประวัติเสียค่าโง่โฮปเวลล์ ค่าโง่ทางด่วน หยุดการต่อสัมปทานแบบรวบหัว รวบหาง รถไฟฟ้า และปกป้องผลประโยชน์คนใช้บริการ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เบียดเบียนเงินในกระเป๋าประชาชนจากบริการรถไฟฟ้า และลักษณะส่วนตัวที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ประสานทุกกลุ่มมาทำงานร่วมกันได้จนเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจาก ส.ส. มาช่วยกันสร้างพรรคภูมิใจไทยให้เป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง

ผอ.นิด้าโพล วิเคราะห์ ‘4 ปัจจัย’ ชนะเลือกตั้ง ‘ประวิตร’ แรงสุดนั่งนายกฯ ‘ประยุทธ์-เพื่อไทย’ ยาก

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะมีการยุบสภาในต้นเดือน มี.ค. และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นั้น ทำให้บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อชนะศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ระบุว่า เป็นเรื่องดีที่บิ๊กตู่ กำหนดแนวโน้มยุบสภาและวันเลือกตั้ง พร้อมคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 8-9 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะคะแนนเสียงของแต่ละพรรค ตัวผู้สมัคร และโอกาสพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงใครกันแน่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีที่มาจากฐานข้อมูลการสำรวจต่างๆ ที่นิด้าโพลทำมาอย่างต่อเนื่อง

เช่น การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส คนที่ใช่ พรรคที่ชอบในภาคต่างๆ 6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปะทะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือการสำรวจในรายจังหวัด ‘คนโคราชเลือกพรรคไหน’ ตามด้วย ‘คนนครศรีธรรมราชเลือกพรรคไหน’ และล่าสุดที่จังหวัดชลบุรี ‘คนชลบุรีเลือกพรรคไหน’ เป็นต้น

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ระบุว่า จากข้อมูลคะแนนนิยมทางการเมืองที่สำรวจล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งโพลในรายจังหวัดซึ่งทำไปแล้ว 3 จังหวัด คือ ที่นครราชสีมา ต่อด้วยนครศรีธรรมราช ล่าสุด ชลบุรี ค้นพบว่า กระแสของพรรคเพื่อไทยมาแรง และหากดูจากโพลจะชี้ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง

“ถ้าถามว่าจะแลนด์สไลด์มั้ย อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะจากโพลเมื่อเดือนธันวาคม เพื่อไทย ยังอยู่ที่ 42% หากจะแลนด์สไลด์ต้องเกิน 50% เชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะได้ 210-230 ที่นั่ง”

สิ่งสำคัญการจะชนะการเลือกตั้งได้นั้นจะดูที่กระแสอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการจะชนะได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย ดังนี้

1.กระแสที่เกิดขั้นทั้งจากโพลสำนักต่างๆ ที่มีทั้งกระแสพรรค ตัวบุคคล อื่นๆ ตามมา

2.นโยบายพรรคที่ประกาศออกมานั้นจูงใจให้คนไปลงคะแนนเสียงหรือไม่?

3.ลักษณะของตัวบุคคลที่ลงสมัคร ส.ส.เขต เช่น สังกัดบ้านเล็ก บ้านใหญ่ เป็นดาวฤกษ์ เป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดหรือไม่ และเป็นคนที่มีศักยภาพที่มีโอกาสจะชนะได้หรือไม่?

4.ทรัพยากรทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อิทธิพลต่างๆ ที่จะทุ่มลงไปในการหาเสียง

“โดยทั่วไปใน กทม.และเมืองใหญ่บางเมือง ตัวตัดสินอยู่ที่กระแสกับนโยบาย แต่ถ้าหลุดจาก กทม.หรือเมืองใหญ่ๆ จะอยู่ที่ลักษณะตัวบุคคล และทรัพยากรทางการเมืองเป็นจุดชี้ขาด”

ผู้อำนวยการนิด้าโพล บอกอีกว่า แต่ละพรรคการเมืองจะมี 4 ปัจจัยหลักไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทย จะมีลักษณะเหมือนกันตรงกระแสหัวหน้าพรรค หรือกระแสพรรคไม่แรง แต่จะมีเรื่องของนโยบายที่ประกาศออกมา บวกกับเรื่องของตัวบุคคลที่สามารถดึงอดีต ส.ส.ในก๊วนบ้านใหญ่เข้ามาสังกัดได้ และทั้ง 2 พรรคยังมีทรัพยากรทางการเมืองที่เพียบพร้อม

“พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กระแสบิ๊กตู่ แต่ยังไม่มีนโยบายออกมาให้เห็น ส่วนตัวบุคคล พรรคนี้พยายามดึงตัวเด่นๆ เข้าพรรค ซึ่งยังเห็นไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับพรรคอื่นๆ ส่วนทรัพยากรทางการเมือง ขณะนี้ไม่ทราบว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ แต่คิดว่ามีเยอะพอสมควรทีเดียว”

สำหรับพรรคเพื่อไทย ในเรื่องของกระแสพรรค และนโยบายถือว่ามาแรงมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงาน 600 บาท และปริญญาตรี 25,000บาท แต่ในเรื่องของตัวบุคคลมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมามีบ้านใหญ่หลายบ้านสังกัดอยู่ และยังสามารถดึงตระกูลคุณปลื้ม กลับมาได้ แต่เหตุใดจึงตัดทิ้ง ส.ส.เก่า ตัวเด่นๆ ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งทิ้งไป แต่ไปเลือกคนรุ่นใหม่ๆ ลงสมัคร ส.ส.เขตในหลายพื้นที่แทน เป็นเหตุให้ตัวเด่นๆ เหล่านี้ย้ายสังกัด ตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนของเพื่อไทยที่จะทำให้ไม่สามารถแลนด์สไลด์ได้หรือไม่ ส่วนเรื่องทรัพยากรทางการเมืองนั้นเพื่อไทยมีแน่นอน แต่จะใช้หรือไม่ อย่างไรก็ต้องดูต่อไป

“ก็ไม่รู้ว่าเพื่อไทยจะกล้าลงทุนขนาดไหน ที่ผ่านมาพรรคนี้เน้นให้ผู้สมัครไปเกาะกระแส ซึ่งจริงๆ ในเขต กทม.และเมืองใหญ่ใช้การเกาะกระแสได้ แต่รอบนอกกระแสจะสู้ทรัพยากรทางการเมืองได้หรือ จึงเป็นอีกประเด็นที่พรรคต้องคิด”

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกระแสอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าไหร่ ด้านนโยบายนำที่มีอยู่เดิมๆ มาปัดฝุ่น ขณะที่ปัจจัยด้านตัวบุคคลต้องบอกว่าพรรคนี้มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากคนที่มี ศักยภาพ หรือคนที่มีโอกาสได้เป็น ส.ส.ลาออกไปจำนวนมาก แต่ในเรื่องของส่วนทรัพยากรทางการเมืองมีพอสมควร ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่า ปชป.จะได้ประมาณ 40 ที่นั่ง เพราะสูญเสียเก้าอี้ทางภาคใต้พอสมควร แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 7-8 ที่นั่ง ที่เหลือเป็น ส.ส.เขต

อีกทั้งต้องจับตาดูพรรคประชาธิปัตย์จะปรับยุทธวิธีอย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จากการทำโพลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เห็นว่าเพื่อไทย มีคะแนน มีโอกาสแล้ว และพรรคนี้ยังถูกพรรคบิ๊กตู่ ดึงอดีต ส.ส.ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งในภาคใต้ไปหลายคน ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์คือเจ้าถิ่น ย่อมจะรู้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ออกมาเชิญอดีตหัวหน้าพรรค ทั้งนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาร่วมขับเคลื่อนพรรคน่าจะเป็นทิศทางที่ดีแล้ว

“พรรคนี้ควรจะเปลี่ยนคุณจุรินทร์ ตั้งนานแล้ว คุณจุรินทร์ ขายไม่ออกจริงๆ ทำโพลกี่ครั้งคะแนนไม่ขึ้นเลย ปัจจุบันเปลี่ยนไม่ทันแล้ว เพราะศึกเลือกตั้งเริ่มแล้ว เขาตีกลองรบกันแล้ว จะเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่ได้ ซึ่งคนใน ปชป.ก็รู้ หากเปลี่ยนตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แล้วค่อยๆ แปรเปลี่ยนกันไปคิดว่าประชาธิปัตย์น่าจะดีกว่านี้ ซึ่งโพลก็แสดงออกมาให้เห็น การดึงคุณชวน คุณบัญญัติ มาดันภาคใต้ ส่วนคุณอภิสิทธิ์ ก็ปลุกฐานใน กทม.พอจะช่วยได้ โดยเฉพาะคุณชวน ขายได้แน่ๆ เพราะคะแนนนิยมจากโพลในภาคใต้ดีมากๆ ส่วนคุณจุรินทร์ ภาษาคนรุ่นใหม่บอกว่าไม่มีออร่า”

ขณะที่พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มีกระแส และนโยบายแปลกๆ ที่เด่นๆ เช่นเรื่องการเลิกเกณฑ์ทหาร แต่ในเรื่องของตัวบุคคล หรือผู้สมัคร ไม่ได้คนที่มีศักยภาพของจังหวัด ส่วนในเรื่องทรัพยากรทางการเมืองพรรคนี้ไม่ค่อยใช้ ดังนั้น พรรคนี้จึงอาศัยเรื่องของกระแสเป็นปัจจัยหลัก

“กระแสจะช่วยผู้สมัครพรรคก้าวไกลได้ในเขตเมือง และเมืองใหญ่ๆ บางเมืองเท่านั้น จากข้อมูลประเมินว่าพรรคนี้น่าจะได้ ส.ส.ไม่เกิน 35 ที่นั่ง เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งพรรคมีคะแนนนิยมประมาณ 13-17% คาดว่าจะได้อยู่ที่ 15 เก้าอี้ บวกกับได้ ส.ส.เขตใน กทม.น่าจะได้ 10-12 ที่นั่ง รวมเป็น 27 ที่นั่ง และอาจมีบางพื้นที่ที่คาดว่าจะได้ รวมแล้วประมาณ 30-35 ที่นั่ง”

สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือคะแนน Gen Y และ Gen Z ที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ อายุ 18-25 และ 18-35 ปี เดิมคะแนนตรงนี้เป็นของพรรคก้าวไกล แต่ในการเก็บข้อมูลที่นครศรีธรรมราช และชลบุรี ค้นพบว่า คะแนนได้สวิงจากก้าวไกลไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง กับเพื่อไทยมาก โดยเฉพาะในเขตมหาวิทยาลัย ซึ่งเราเริ่มเห็นชัดว่าคนรุ่นใหม่ ไม่เอาก้าวไกล เพราะไปเกี่ยวพันกับบางประเด็นที่มันล่อแหลม

“เด็กกลุ่มนี้ไม่เอาพรรคก้าวไกล และก็ไม่เอาลุงตู่ และลุงป้อม ทำให้คะแนนเทไปที่อุ๊งอิ๊ง เพราะคุยกันรู้เรื่อง ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มองว่า อุ๊งอิ๊ง ประสบการณ์ไม่มี จะบริหารประเทศอย่างไร แต่ Gen เหล่านี้เขาพูดจาภาษาเดียวกัน ส่วนก้าวไกล คงต้องปรับยุทธศาสตร์ พรรคก้าวไกลเปรียบเหมือนต้นบอนไซ คือทรงสวย ไม่ตาย แต่ไม่โต”

ผศ.ดร.สุวิชา บอกว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ประเมินว่าได้เกิน 25 ที่นั่ง ซึ่งคะแนนนิยมของบิ๊กตู่ จะอยู่ที่ 14% เท่ากับคะแนนนิยมพรรคก้าวไกล ดังนั้น พรรคนี้จะต้องดันคะแนนนิยมพรรคให้ไปเท่ากับคะแนนนิยมในตัวบิ๊กตู่ จึงเชื่อว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อน่าจะได้ที่ 12-15 คน บวกกับ ส.ส.เขต โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เพราะมีการดึงตัวเด่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์มาได้ หากรวมทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อน่าจะได้ประมาณ 40 ที่นั่ง บวกอีกเล็กน้อย

“ข้อมูลปัจจุบัน คาดว่า พรรคบิ๊กตู่ บวกพรรคบิ๊กป้อม จะได้ประมาณ 100-110 ที่นั่ง ส่วนภูมิใจไทย มองจากโพล ไม่มีกระแส แต่ปัจจัยที่เหลือ 3 ข้อพรรคนี้มีครบทั้งหมด ไม่ว่าจะนโยบาย ตัวบุคคล ทรัพยากร และยังดูด ส.ส. ดังๆ ทั้งหลายเข้าไปอยู่ในพรรคจำนวนมาก แม้ไม่มีกระแส แต่เชื่อว่า ภูมิใจไทย น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 60-70 เก้าอี้”

ผู้อำนวยการนิด้าโพล ย้ำว่า ขอมองข้ามสถานการณ์ต่อไปถึงโอกาสว่าพรรคไหนจะมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งข้อมูลชี้ให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสสูงสุด โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลจากที่บิ๊กป้อม เสนอตัวเป็นโซ่ข้อกลาง เน้นเรื่องความปรองดอง พร้อมที่จะอยู่ฝั่งไหนก็ได้ ไม่ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรครวมไทยสร้างชาติของบิ๊กตู่

“เชื่อว่า ลุงป้อม จะได้เป็นนายกฯ ระยะหนึ่ง ถ้าได้ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย โดย พปชร.ต้องได้คะแนนพอสมควร เช่น สัก 60 ที่นั่ง เพื่อไทย น่าจะยอมแต่เป็นการยอมระยะสั้น คือยอมจนกว่าอำนาจวุฒิสมาชิกในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจะหมดไปในปี 2567 หลังจากนั้นอีก 2 ปี จะมีกระบวนการให้ลุงป้อมลงจากตำแหน่ง พรรคเพื่อไทยจะขึ้นเองคือเพื่อไทยต้องยอมให้ลุงป้อม ขึ้นไปก่อนระยะหนึ่ง แล้วให้ ลุงป้อมลง ถ้าไม่ลงก็หาทางล้มรัฐบาล เพราะตอนนั้น เพื่อไทย ไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. แล้ว”

โดยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านนั้นก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน หากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ หรือสูญเสียพื้นที่ในภาคอีสานให้พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส.อีสานน้อยลง และส่งผลให้คะแนนรวม ส.ส.ได้ต่ำกว่า 200 ที่นั่งเมื่อไหร่ จะทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแน่นอน

“เวลานี้อยู่ที่ศักยภาพของ คุณหญิงหน่อย และคุณอนุทิน ที่จะเจาะพื้นที่อีสาน ซึ่งพรรคอื่นไม่มีโอกาสที่จะเจาะได้ อุดรฯ เป็นฐานใหญ่ และที่หนองบัวลำภู ที่พรรคคุณหญิงหน่อยหวังมาก เพราะได้ตัวเด่นๆ จากเพื่อไทย จึงเชื่อว่าพรรคนี้จะมีคะแนนแน่ๆ ทั้งบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต รออีกนิดเรากำลังจะลงไปทำโพลที่จังหวัดอุดรฯ จะเห็นชัดเจนขึ้นที่ว่ากันว่าอุดรฯ เป็นฐานใหญ่ของหญิงหน่อย จริงหรือเปล่า”

ผศ.ดร.สุวิชา บอกว่า จากข้อมูลค้นพบว่า คะแนนของพรรคไทยสร้างไทย กำลังเดินตามคะแนนนิยมในตัวคุณหญิงหน่อย คือคะแนนพรรคอยู่ที่ 3% แต่คะแนนคุณหญิงหน่อย อยู่ที่ 8-9% ดังนั้น หากดันคะแนนพรรคให้ขึ้นมาเทียบเท่าคุณหญิงหน่อย จะทำให้พรรคนี้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 6-7 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ความสามารถของพรรคคุณหญิงหน่อย ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็พยายามที่จะไปแย่งคะแนนพรรคเพื่อไทยในอีสานเช่นกัน

“เวลานี้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย รู้แล้วว่ากำลังโดนเจาะพื้นที่อีสานตรงไหนบ้าง อาจรู้จากที่เขาทำโพลของเขาเองก็ได้ เราจึงเห็นภาพคุณอุ๊งอิ๊ง และเพื่อไทย ลงไปใน 3 จังหวัดภาคอีสานติดๆ กัน เพื่อไปปิดประตูบ้านหรือเปล่า”

ส่วนบิ๊กตู่ จะมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้หรือไม่ อยู่ที่เงื่อนไขดังนี้!

1.พรรคร่วมรัฐบาลเดิม รวมกันแล้วต้องชนะการเลือกตั้ง ต้องได้เกิน 250 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าพรรคเพื่อไทยแพ้ ได้ต่ำกว่า 200 ที่นั่งนั่นเอง

2.พรรครวมไทยสร้างชาติ ของบิ๊กตู่ จะต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าบิ๊กป้อม เพราะถ้าบิ๊กป้อม ชนะ เชื่อว่าบิ๊กป้อม ไม่ยอมแน่นอน ต้องเป็นนายกฯ

3.บิ๊กตู่ จะต้องได้คะแนนสูสี หรือแพ้ภูมิใจไทย แบบไม่มาก เช่นภูมิใจไทย ได้ 90 พรรคลุงตู่ ต้องได้ประมาณ 80 คะแนน ห่างกันแค่ 10 เสียง คือ สามารถคุยกับนายอนุทิน ให้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับบิ๊กตู่ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ง่าย ภายใต้กระแสมาแรงของพรรคเพื่อไทย

“บิ๊กตู่ จะมาเป็นนายกฯ ได้อีกก็ต้องได้คะแนนมากกว่าบิ๊กป้อม และสูสีกับคุณอนุทิน แต่ถ้าดูจากโพลเวลานี้เป็นไปไม่ได้เลย จึงต้องดูอนาคตหลังยุบสภาอะไรก็เปลี่ยนได้ ยังไม่ยุบสภา การหาเสียงยังไม่เกิด และต้องไม่ลืมทรัพยากรทางการเมืองในสังคมไทย ยังใช้ได้ และเป็นตัวแปรสำคัญ บางพรรคถึงไม่สนใจโพล”

นอกจากนี้ การที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะแลนด์สไลด์ ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ 375-376 ทำได้หรือไม่ ก็เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านเดิมทำไม่ได้เด็ดขาด หากพรรคเพื่อไทยได้ 210 ก้าวไกล ได้ 60 เสรีรวมไทย ประมาณ 5 ที่นั่ง ก็แค่นี้ ถึงบอกว่าจะได้ 300 กว่าไม่มีทาง หากจะบอกแลนด์สไลด์ อย่างเก่งก็ 250-260 เท่านั้น

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่สนใจเสียง ส.ว สนับสนุน จะทำได้หรือไม่ ก็เชื่อว่าทำได้ แต่เป็นเรื่องยาก จากเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

ประการที่ 1 พรรคเพื่อไทย ต้องรวมพรรคทั้งหมด ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วทิ้งบิ๊กป้อม และบิ๊กตู่ เป็นฝ่ายค้าน โดยจะต้องรวบรวมพรรคต่างๆ ให้เกิน 375-376 นั่นหมายถึงพรรคบิ๊กป้อม บิ๊กตู่ รวมกันแล้วได้ไม่เกิน 125 ที่นั่ง

ประการที่ 2 พรรคเพื่อไทย ต้องมั่นใจว่าจะสามารถเชิญพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมได้ หากทำได้เช่นนี้หมายความว่าพรรคเพื่อไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องสนใจเสียงของ ส.ว และให้ 2 พรรคที่มีเสียง ส.ว สนับสนุนอยู่ กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยปริยาย ถามว่า โมเดลนี้ยากมั้ย ขอบอกเลยว่ายากมากและยากที่สุด

“โมเดลที่เป็นไปได้ที่สุด คือ พรรคพลังประชารัฐ จับมือกับพรรคเพื่อไทย โมเดลนี้ชัดเจนมากที่สุด พรรคที่ 3 ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคภูมิใจไทย จะเข้าร่วมด้วยหรือเปล่าก็ต้องเจรจา ส่วนพรรคก้าวไกลคงยกมือสนับสนุน แต่ไม่ร่วมรัฐบาล เพราะต้องการจะล้ม 3 ป. แต่ถ้าบิ๊กป้อม เป็นนายกฯ เขาไม่ยกแน่นอน พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่ติดระเบิดเวลาไว้กับตัว ทำให้พรรคก้าวไกล มีโอกาสเป็นฝ่ายค้านสูงมาก”

ผู้อำนวยการนิด้าโพล ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หากผลคะแนนออกมาแบบสูสีกันแบบครึ่งๆ 250:250 ที่นั่ง เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ คาดว่าจะเลยเดือนสิงหาคม หรือกันยายนไปแล้ว หากตกลงกันไม่ได้

“สมมติเพื่อไทย ได้ 215 บวกก้าวไกล 35 บวกเสรีรวมไทย รวม 3 พรรคได้ 250 ที่นั่ง จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าบิ๊กป้อม ต่อรองจะเป็นนายกฯ เพื่อไทย ไม่ยอม และเสียง ส.ว ถ้าไม่โหวตก็เป็นนายกฯ ไม่ได้ คุณทักษิณ ยังต้องอิงคะแนน ส.ว. เขาก็ต้องพิงบิ๊กป้อม ทุกวันนี้ บิ๊กป้อม ถึงใส่เสื้อสวยๆ ยิ้มเดินตลาดได้อย่างมีความสุข เดิมโพลถามว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ บิ๊กป้อม คะแนนต่ำกว่า 1% แต่โพลล่าสุดที่นครศรีธรรมราชและชลบุรี กลับพบว่าคะแนนขยับได้ถึง 1% จึงต้องดูกันต่อไป”

ขณะเดียวกัน สนามเลือกตั้งในเขต กทม.นั้น เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล แต่พรรคอื่นจะแทรกได้บางเขต เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ในเขตของนายชัชวาลล์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน รวมทั้งเขตสะพานสูง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะได้ประมาณ 2 เขต คือเขตสัมพันธวงศ์ และป้อมปราบ พรรคคุณหญิงหน่อย มีโอกาสในเขตดอนเมือง สายไหม ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่น่าจะได้เก้าอี้ในสนาม กทม. แต่จะเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้พอสมควร เพราะผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย มาจากพรรคพลังประชารัฐ เป็น ส.ก.ในพื้นที่ก็จะได้เสียงจากชุมชนหนุน

จากนี้ไปต้องติดตามโพลนิด้าที่เตรียมเจาะพื้นที่ ‘3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลือกพรรคไหน’ ตามด้วย ‘คนสงขลาเลือกพรรคไหน’ และ 12 มี.ค. ‘คนอุดรเลือกพรรคไหน’ ส่วน 19 มี.ค. จะทำโพลคะแนนนิยมทั้งประเทศ ซึ่งผลโพลดังกล่าวยิ่งทำให้ชวนติดตามว่าคะแนนความนิยมทางการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ แต่ละพรรค แต่ละขั้วการเมืองจะเป็นอย่างไร รวมทั้งใครจะมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลักที่แต่ละพรรคการเมืองมี แม้ว่าวันนี้ บิ๊กป้อม มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีสูงที่สุด แต่ในอนาคตหลังเลือกตั้งอะไรก็เกิดขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net