สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ผู้พิพากษามิใช่ปากที่เปล่งเสียงของกฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

 

“ผู้พิพากษาจะเป็นก็แต่เพียงปากที่เปล่งเสียงของกฎหมายเท่านั้น”
 

มงเตสกิเออ (Montesquieu)[1]

ความไม่เป็นกลางของตุลาการ

ความเข้าใจต่อบทบาทการทำหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ ในกระบวนการพิจารณาของศาล มักเชื่อว่าการตัดสินจะเป็นไปด้วยการใช้หลักวิชาและความรู้ทางกฎหมายในการตัดสินเป็นสำคัญ ผู้พิพากษาจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีการนำเอาความรู้สึกส่วนตัว จุดยืน อุดมการณ์ทางการเมือง แนวคิดทางศาสนา หรือเงื่อนปัจจัยอื่นที่เป็นทรรศนะส่วนตัวเข้ามาปะปน

มุมมองที่มีต่อบทบาทของศาลในลักษณะเช่นนี้ถูกเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบนิติศาสตร์เชิงกลไก (Mechanical Jurisprudence)[2] แนวทางคำอธิบายในลักษณะเช่นนี้เชื่อว่ากระบวนการทางกฎหมายเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่อุปกรณ์แต่ละส่วนต่างจะทำงานไปตามหน้าที่ของตน เมื่อมีการนำเข้าคำสั่งก็จะเป็นผลให้เครื่องจักรทำหน้าที่ไปตามนั้น เช่น เมื่อมีการหักพวงมาลัยในการขับรถยนต์ ล้อรถก็จะหมุนไปตามทิศที่พวงมาลัยหมุนไป หรือเมื่อมีการเหยียบคันเร่ง รถก็จะวิ่งด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น การทำงานในลักษณะเช่นนี้จึงย่อมทำให้สามารถคาดหมายถึงผลลัพธ์อันจะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหนึ่งๆ แนวความคิดแบบนิติศาสตร์เชิงกลไกก็เช่นเดียวกันโดยวางบนพื้นฐานความเชื่อว่ากลไกทางกฎหมายเป็นการทำงานของระบบปิดที่ไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกใดๆ เมื่อการตัดสินเป็นไปตามระบบความรู้ก็จะนำมาซึ่งผลสุดท้ายที่ไม่แตกต่างกัน ความรู้ทางกฎหมายจึงกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทางกฎหมาย (legal science) ที่มีความแน่นอน ตรรกะ และความชัดเจนรองรับอยู่

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดในลักษณะดังกล่าวก็ต้องเผชิญกับคำถามจากมุมมองในแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นพ้องไปกับคำอธิบายในลักษณะดังที่กล่าวมา สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกัน (American Legal Realism: ALR) เป็นแนวความคิดหนึ่งได้เสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างสำคัญ ความคิดพื้นฐานของแนวคิดนี้เชื่อว่า “กฎหมายคือสิ่งที่กฎหมายปฏิบัติ” (Law is as law does)[3] อันเป็นความเชื่อว่าหากต้องการเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของกฎหมายแล้ว เราไม่อาจพิจารณาที่บทบัญญัติของกฎหมาย หากควรต้องพิจารณาจากการปรับใช้กฎหมายเข้ากับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจริงโดยองค์กรที่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด แนวความคิดนี้จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการศึกษาถึงคำวินิจฉัยของศาลโดยถือเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกได้ถึงกฎหมายที่แท้จริง และมีความสำคัญมากกว่าการมุ่งศึกษาตรรกะหรือหลักคิดทางกฎหมายที่เป็นนามธรรมซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่นักกฎหมายต้องเรียนรู้[4]

โอลิเวอร์ เวนเดน โฮล์ม (Oliver Wenden Holmes) ผู้มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อแนวความคิดแบบ ALR ได้เสนอแนวทางสำคัญในการเข้าถึงความจริงของกฎหมายว่า “เราควรคิดถึงสรรสิ่งไม่ใช่จากถ้อยคำ อย่างน้อยที่สุดเราต้องแปลความหมายในภาษาของเราซึ่งได้ปรากฏขึ้น ถ้าเราต้องการค้นหาความจริงและความถูกต้อง”[5] ในมุมมองของโฮล์ม เขามีความเห็นว่ากฎหมายซึ่งมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปไม่อาจจะกำหนดผลลัพธ์ของข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงที่เป็นกรณีเฉพาะ ไม่มีข้อพิพาทใดจะสามารถถูกตัดสินด้วยบทบัญญัติที่เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป แม้ว่าผู้คนที่เป็นผู้พิพากษาจะยอมรับในกฎเกณฑ์เหล่านั้นแต่เมื่อต้องตัดสินด้วยกฎหมายก็อาจตัดสินไปในอีกทิศทางหนึ่ง[6] หัวใจสำคัญของกฎหมายจึงเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง แม้ในการตัดสินของศาลใช้ภาษาของตรรกะแต่หากพิจารณาถึงเบื้องหลังของภาษาที่เป็นตรรกะก็จะค้นพบถึงเหตุผลของการตัดสินที่ไม่มีความแน่นอน ความคาดหวังว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่มีความสม่ำเสมอจึงเป็นเพียงภาพลวงตา

เจโรมี แฟรงค์ (Jerome Frank) ผู้พิพากษาในศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งเดินตามแนวความคิดของโฮล์ม เขาจัดว่าตนเองเป็นพวกสงสัยต่อข้อเท็จจริงเชิงสร้างสรรค์ (constructive fact – skeptic) ในความเห็นของแฟรงค์ กฎหมายคือการตัดสินใจของศาลที่เชื่อมโยงไปยังข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างมากมาย ไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะสำหรับคดีนั้นดำรงอยู่ เขาเสนอว่า “ยังไม่มีใครรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับคดีหรือเชื่อมโยงกับสถานการณ์ ธุรกรรม หรือเหตุการณ์เฉพาะอันใดอันหนึ่งจนกว่าจะมีการตัดสินเป็นการเฉพาะสำหรับคดีนั้น” เพราะฉะนั้น ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินคดีเกิดขึ้น กฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ในแต่ละคดีจึงเป็นเพียงความเห็นของนักกฎหมายซึ่งได้คาดหมายว่าบุคคลผู้เป็นผู้พิพากษาจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเท่านั้น

สำหรับแฟรงค์แล้ว กฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน เขาอ้างอิงถึงแนวคิดของไฮเซนเบิร์ก (Heisenberg) ในเรื่องของหลักความไม่แน่นอน (Principle of Uncertainty) ซึ่งได้ให้คำอธิบายว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นไปไม่ได้แม้กระทั่งกับความแน่นอนที่สมบูรณ์[7] เนื่องจากมีปัจจัยอันหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์หนึ่งๆ สภาวะไร้ความแน่นอนอันสมบูรณ์ถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ในทำนองเดียวกันจึงเป็นเรื่องไร้สาระต่อการคาดหวังถึงความแน่นอนในระบบตรรกะทางกฎหมาย หรือการทำนายถึงความเป็นไปได้ต่อผลลัพธ์ทางกฎหมาย แฟรงค์มีความเห็นว่าบทบัญญัติต่างๆ เป็นเพียงถ้อยคำซึ่งศาลจะนำมาวินิจฉัยว่ามีความหมายอย่างไร กฎเกณฑ์จะไม่ได้เป็นหลักพื้นฐานในการตัดสินของผู้พิพากษา คำวินิจฉัยอาจเกิดขึ้นก่อนที่จะพบเหตุผลสนับสนุน การตัดสินที่บังเกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการทำให้สัญชาติญาณดูเป็นสิ่งที่มีเหตุผลรองรับขึ้นมา เมื่อหลักวิชาหรือความรู้ทางกฎหมายมีข้อจำกัดต่อการวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจต่อการศึกษาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะนำมาซึ่งการตัดสิน กล่าวอีกนัยหนึ่งมุมมองหรือ “อคติ” ของผู้พิพากษาจึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจถึงคำตัดสินที่เกิดขึ้นเช่นกัน

เขาได้โต้แย้งว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้พิพากษาต้องถูกนำมาพิจารณาเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาวิจัยการทำงานของศาล ผู้พิพากษาที่แม้จะได้รับการฝึกฝนเรื่องความเป็นกลาง ด้วยความเป็นภววิสัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ว่าผู้พิพากษาก็เป็นสิ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึก พร้อมกับความเชื่อ อคติ และที่มาที่ไป ซึ่งสะท้อนถึงชนชั้น การศึกษา ศาสนา และอื่นๆ ผู้พิพากษาจึงไม่ใช่และไม่สามารถที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ด้วยสมองที่ว่างเปล่าอันปราศจากอารมณ์และความรู้สึก[8]

เพราะฉะนั้น หากพิจารณาผ่านมุมมองแบบ ALR ความเข้าใจที่เชื่อว่าผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนทางด้านหลักวิชาและความรู้ทางกฎหมายจนทำให้สามารถวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ ได้อย่างเป็นกลาง ตรงไปตรงมา เป็นภววิสัย จึงถือเป็นความคลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก เพราะผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีอุดมการณ์ทางการเมือง มีความเชื่อทางศาสนา มีประสบการณ์และภูมิหลัง ผู้พิพากษาที่ปฏิเสธความจริงดังกล่าวนี้จึงไม่ได้เป็นสิ่งไปมากกว่าการพยายามหลอกลวงตนเองด้วยภาพปกคลุมอันน่าเชื่อถือที่ล้วนแต่ไม่มีอยู่จริง

ข้อพึงระวังในเบื้องต้น สำหรับการพิจารณาถึงการปรับใช้บทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละคดี จะสามารถจัดแบ่งบทกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ใน 2 รูปแบบที่สำคัญด้วยกัน กล่าวคือ กรณีแรก บทบัญญัติของกฎหมายที่มีความชัดเจนโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินใช้ดุลพินิจในการตีความ กรณีเช่นนี้จะปรากฏในกฎหมายที่มีการกำหนดขอบเขตไว้อย่างตายตัว เช่น ห้ามขับรถมีความเร็วเกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, การบรรลุนิติภาวะเมื่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น กฎเกณฑ์ในลักษณะนี้อาจไม่ทำให้เกิดการใช้อำนาจอันนำมาซึ่งข้อถกเถียงหรือข้อโต้แย้งได้มากนัก ในอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายอาจมีความหมายที่เปิดให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถตีความหรือให้ความหมายในถ้อยคำของกฎหมายได้เพราะถ้อยคำจะมีลักษณะที่ไม่แจ่มชัด (penumbra) เช่น การกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน, การกระทำโดยไม่สุจริต เป็นต้น กฎเกณฑ์ในลักษณะเช่นนี้เป็นส่วนที่เปิดให้ผู้ตัดสินสามารถใช้ความเห็นส่วนตัว, จุดยืนทางการเมือง, แนวคิดทางศาสนา หรือปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบ กรณีดังกล่าวนี้มักจะเป็นส่วนที่ถูกโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกันไปได้ การใช้อำนาจในส่วนนี้นับเป็นประเด็นที่ ALR ได้ให้ความสนใจที่จะทำการวิเคราะห์เป็นอย่างมาก

แนวความคิดแบบ ALR ถือเป็นมุมมองที่ชวนให้ท้าทายต่อความเข้าใจที่แผ่กว้างอยู่ในสังคมไทยที่มักเชื่อกันว่าองค์กรตุลาการคือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทก็ดำเนินการไปด้วยการใช้หลักวิชาและความรู้ทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ ตัวผู้ทำหน้าที่ตัดสินไม่ได้นำเอาอคติส่วนตัวซึ่งมีความเป็นอัตวิสัย (subjective) เข้าไปปะปนในการวินิจฉัยคดีแต่อย่างใด ทั้งสามารถวางตนให้เป็นกลางได้ในท่ามกลางข้อพิพาท

บทความนี้ต้องการนำเอาแนวความคิดแบบ ALR มาปรับใช้กับการวินิจฉัยคดีของข้อพิพาทในศาลไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงคำวินิจฉัยที่มีความขัดแย้ง การให้เหตุผลต่อข้อเท็จจริงที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าการตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของหลักวิชาหรือตรรกะของความรู้ในทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวอย่างเดียว

ทั้งนี้ สำหรับการศึกษากฎหมายในสังคมไทยแล้ว การทำความเข้าใจต่อคำพิพากษาของศาลมักจะเป็นไปด้วยการให้ความสำคัญกับแนวคำตัดสินและการให้เหตุผลที่เกิดขึ้นในคำวินิจฉัยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำตัดสินของศาลฎีกา และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่นักเรียนกฎหมายจะต้องจดจำในฐานะของคำตอบที่ถูกต้องต่อการปรับใช้บทบัญญัติทางกฎหมาย ความพยายามศึกษาถึงคำตัดสินที่จะทำความเข้าใจกับรายละเอียดของการให้เหตุผลและการปรับใช้กฎหมายในแต่ละคดีไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก ยิ่งในคำพิพากษาที่มีความแตกต่างระหว่างศาลชั้นต้นและศาลในลำดับสูงกว่าก็มักจะไม่ได้รับความใส่ใจ มิฉะนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการตีความที่แตกต่างกันของผู้พิพากษาที่สามารถกระทำได้ แต่ไม่ใช่ปัญหาของความขัดแย้งหรือเป็นปัญหาในเชิงหลักการพื้นฐาน อันมีความแตกต่างอย่างสำคัญไปจากบทความนี้ซึ่งต้องการเผยให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางและการขาดไร้ซึ่งหลักการที่เป็นตรรกะ (logic) เป็นภววิสัย (objective) มีความสม่ำเสมอ (consistency) ในการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของศาล

โลกคู่ขนานในคดีโรงไฟฟ้าหินกรูด

สำหรับคดีที่นำมาวิเคราะห์ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเลือกเอาคดีระหว่างโรงไฟฟ้าหินกรูดกับนางจินตนา แก้วขาว ผู้เป็นแกนนำของชุมชนในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า อันถือได้ว่าเป็นข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่และกลุ่มประชาชน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” พ.ศ. 2540 ได้มีผลใช้บังคับ และได้กลายเป็นข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของศาล นับตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ กระทั่งถึงการตัดสินในชั้นศาลฎีกา ในศาลแต่ละระดับชั้นก็ได้มีการตัดสินและการให้เหตุผลที่แตกต่างกันไปอย่างน่าสนใจ อันจะทำให้เราสามารถเข้าใจถึงบทบาทของผู้พิพากษาและหลักวิชาในการตัดสินคดีได้อย่างมากยิ่งขึ้น ทั้งข้อขัดแย้งนี้ก็ได้เกิดขึ้นก่อนที่ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยจะขยายตัวเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองในปลายทศวรรษ 2540 และสืบเนื่องต่อมาอีกมากกว่าทศวรรษ จึงเป็นคดีที่มีความเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้แย้งต่อกรณีตัวอย่างด้วยการใช้จุดยืนของอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนความสำคัญของประเด็นที่จะนำเสนอในงานชิ้นนี้ 

คดีนี้เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2537 ที่ต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน ที่บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวและได้แสดงออกด้วยการคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทางเจ้าของโครงการก็ได้ดำเนินงานในเบื้องต้นด้วยการประชาสัมพันธ์และพยายามชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างโรงไฟฟ้านับตั้งแต่เริ่มโครงการ ในวาระครบรอบ 3 ปี ทางบริษัท ยูเนียนพาวเวอร์ดิเวลลอปเมนต์ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าได้จัดงานเลี้ยงเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2544 แต่งานเลี้ยงไม่สามารถดำเนินไปได้ เนื่องจากได้มีกลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปบริเวณจัดงานเลี้ยงแล้วใช้น้ำสกปรกที่มีกลิ่นเหม็น (น้ำวาฬเน่า) ราดใส่บนโต๊ะอาหาร เวทีงานเลี้ยง จนทำให้งานเลี้ยงต้องยุติลง

ภายหลังจากเหตุการณ์ นางจินตนา แก้วขาว บุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365[9]) แต่ทางนางจินตนา ได้ให้การปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาทั้งหมดและได้ต่อสู้คดีนับตั้งแต่ชั้นตำรวจกระทั่งจนมาถึงการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา คำตัดสินของศาลโดยเฉพาะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่มีผลลัพธ์แตกต่างไปจากคำตัดสินของศาลชั้นต้นเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงแนวทางการวินิจฉัย การให้เหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะได้ทำการพิจารณาอย่างละเอียดต่อไปตามลำดับ ดังนี้

คำตัดสินของศาลชั้นต้น

ในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินในประเด็นสำคัญ[10] ดังนี้

ประเด็นแรก ศาลมีความเห็นว่าประเด็นปัญหาของคดีนี้เป็นข้อพิพาทอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540[11] ซึ่งได้มีการบัญญัติรองรับไว้อย่างชัดเจนทั้งในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิทธิชุมชน และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้ ในความเห็นของศาล

“บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยในรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อนมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย”

ประเด็นที่สอง หลักการพื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินลงโทษในคดีอาญาก็คือ ทางฝ่ายโจทก์หรือผู้กล่าวหาจะต้องพิสูจน์ให้ได้อย่างชัดเจนหรือกล่าวในภาษาทางกฎหมายก็คือ ต้องสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ (beyond reasonable doubt) ศาลจะฟังพยานหลักฐานใดก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานนั้นต้องสามารถรับฟัง ศาลได้ย้ำว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อันมีความหมายว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลจะนำพยานหลักฐานใดมาฟังลงโทษจำเลยได้ ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานนั้นไม่มีข้อตำหนิ ข้อบกพร่อง”

ประเด็นที่สาม ในการพิจารณาเกี่ยวกับพยานที่ได้นำสืบ ศาลได้มีความเห็นสำคัญใน 2 ด้าน กล่าวคือ ด้านแรก ศาลเห็นว่าพยานบุคคลของทางฝ่ายโจทก์ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยเป็นพนักงานหรือมีผลประโยชน์ในทางอื่น สำหรับพนักงานจะประกอบด้วยฝ่ายประชาสัมพันธ์ พนักงานด้านสหกรณ์ เป็นต้น ผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทในทางอื่น ได้แก่ ผู้ซึ่งรับจ้างให้มาทำอาหารและส่งน้ำแข็งในงานเลี้ยง ทั้งบุคคลนี้ยังมีคดีความกับนางจินตนา ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ด้านที่สอง ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันถึงการเข้าไปในบริเวณงานของจำเลย พยานบางคนให้การว่าจำเลยเป็นคนนำผู้คัดค้านแล้วสั่งให้มีการเทน้ำสกปรกในงานเลี้ยง ขณะที่พยานบางคนให้การว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้สั่งการแต่เป็นการกระทำของผู้ร่วมคัดค้านโครงการคนอื่นๆ     

ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า “เกิดความสงสัย” ในพยานหลักฐานของโจทก์จึงได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางจินตนา ทำให้เธอพ้นไปจากข้อกล่าวหาของทางโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ทางโจทก์ได้อุทธรณ์คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและก็ได้มีคำพิพากษาซึ่งมีประเด็นที่แตกต่างไปจากศาลชั้นต้นอย่างสำคัญ ทั้งในด้านของการให้เหตุผลและคำตัดสิน[12]

คำตัดสินของศาลอุทธรณ์

ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้กำหนดประเด็นสำคัยในการวินิจฉัยว่านางจินตนา “เป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายและผู้เสียหายครอบครองอยู่ดังกล่าวหรือไม่” ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นต่อความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ว่า “พยานโจทก์เหล่านี้ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งบางคนก็ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำให้ร้ายจำเลย” ท่าทีดังกล่าวจึงแตกต่างไปจากมุมมองของศาลชั้นต้นอย่างสำคัญ

สำหรับกรณีที่พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของนางจินตนา ศาลอุทธรณ์ก็ได้เห็นถึงความไม่สอดคล้องของคำให้การของพยานโจทก์ที่บางคนยืนยันว่าเห็นนางจินตนา เป็นคนนำกลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปในงานเลี้ยงและเป็นคนสั่งการให้มีการเทน้ำสกปรกในงานเลี้ยง พยานโจทก์บางคนเห็นเพียงนางจินตนาเดินผ่านไปแต่ไม่ได้มีการสั่งให้ขว้างปาน้ำสกปรก

ในส่วนของพยานที่ไม่ยืนยันถึงการสั่งการของนางจินตนา ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนของตำรวจซึ่งให้การไว้ว่า

“จำเลยเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดและเป็นผู้นำพวกของจำเลยเข้าไปในที่เกิดเหตุและจำเลยได้ขว้างปาสิ่งของและสิ่งปฏิกูลเข้าสู่เวทีแสดงดนตรีและโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุจำเลยได้ชี้นิ้วไปยังบริเวณที่ตั้งโต๊ะอาหาร และพวกของจำเลยได้เทน้ำปลาวาฬและสิ่งปฏิกูลที่โต๊ะอาหารเหล่านั้นกับถังใส่น้ำแข็ง”

คำให้การนี้แตกต่างจากคำเบิกความในชั้นศาลที่ได้กลับคำว่าไม่เห็นจำเลยขว้างปาสิ่งของในงาน ในคำให้การของพยานโจทก์ที่แตกต่างกันระหว่างการให้การในชั้นตำรวจและในชั้นศาลนี้ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นอย่างไร

ศาลอุทธรณ์ได้ให้ความเห็นว่าแม้พยานจำนวน 4 คน จะเบิกความในชั้นศาลซึ่งมีความแตกต่างไปอย่างมากกับคำให้การในชั้นตำรวจ ศาลมีความเห็นว่าการปรับเปลี่ยนคำให้การนี้ “อาจเนื่องจากพยานโจทก์เหล่านี้เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นจากความผิด” ดังนั้น คำเบิกความที่พยานโจทก์ได้ให้การไว้ต่อพนักงานตำรวจจึงเป็น “ตามความเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นพิจารณา”

ส่วนการแก้ตัวของนางจินตนา ซึ่งให้การว่าไม่ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุ ศาลอุทธรณ์เห็นว่านอกจากการอ้างตนเองเป็นพยานแล้ว “จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนในข้อนี้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุมีพวกของจำเลยอยู่ด้วย พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้” ศาลจึงได้มีคำตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเห็นว่านางจินตนามีความผิดข้อหาบุกรุก โทษจำคุก 6 เดือน

สำหรับคดีนี้ ได้มีการยื่นต่อสู้ในถึงชั้นฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ ประเด็นในการวินิจฉัยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่มี 2 ประเด็นที่ได้มีการให้เหตุผลเอาไว้อย่างน่าสนใจ ประเด็นแรก แม้พยานโจทก์จะให้การไว้แตกต่างกัน แต่ศาลก็มีความเห็นว่า “แม้การเบิกความบางตอนจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำพยานโจทก์เหล่านั้นมีน้ำหนักน้อยลงถึงกับรับฟังไม่ได้” ประเด็นที่สอง ข้อต่อสู้ของนางจิตนาว่าคดีดังกล่าวมิใช่การกระทำความผิดในคดีอาญาทั่วไป การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลวินิจฉัยว่า “ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย”

สามารถกล่าวได้ว่าทั้งสองประเด็นนี้ คำตัดสินของศาลคือ การวินิจฉัยถึงผลของการรับฟังในมุมมองของผู้ตัดสิน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า “มิใช่สาระสำคัญ” หรือ “ไม่เป็นสาระแก่คดี” การให้เหตุผลดังกล่าวเป็นการใช้ตรรกะที่กีดกันข้อต่อสู้ของอีกฝ่ายออกไปอย่างสิ้นเชิงและไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าเพราะเหตุใดหรือด้วยความหมายอย่างไรจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการต่อสู้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งควรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องได้รับคำอธิบายอย่างชัดแจ้ง

และศาลฎีกาก็ได้ตัดสินลงโทษเช่นเดียวกันกับศาลอุทธรณ์ แต่ได้ลดโทษจำคุกให้เหลือ 4 เดือน เนื่องจากจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน[13] (นางจินตนา ถูกจำคุกอยู่ 59 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554)

หลักวิชาทางกฎหมายหรือหลักอวิชชา

ในคดีระหว่างโรงไฟฟ้าหินกรูดและนางจินตนา หากพิจารณาจากคำตัดสินของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา อย่างละเอียดถึงการจำแนกประเด็น การให้เหตุผล และคำตัดสิน จะพบว่าคำตัดสินของแต่ละศาลมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ประเด็นแรก ในคำตัดสินของศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นในการพิจารณาไว้อย่างสำคัญ โดยในมุมมองของศาลเห็นว่าประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างประชาชนทั่วไป หากเป็นเรื่องของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ในกรณีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นการกระทำที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีความมุ่งหมายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง อันนำมาสู่การพิจารณาที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งด้วยกฎหมาย แต่ขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งพิจารณาว่าจำเลยได้กระทำการบุกรุกตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

สามารถกล่าวได้ว่าการจำแนกข้อพิพาทว่าเป็นประเด็นของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพียงข้อพิพาทระหว่างประชาชนไม่แตกต่างไปจากคดีอาญาอื่นๆ นับว่ามีส่วนสำคัญต่อแนวทางในการพิจารณาคดีหรือการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยเป็นอย่างมาก

ประเด็นที่สอง ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ในคดีก็คือ การพิจารณาว่าพยานฝ่ายโจทก์นั้นมีความน่าเชื่อหรือจะสามารถรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าหินกรูด ไม่ว่าจะด้วยการเป็นพนักงานของโรงไฟฟ้าหรือการรับจ้างเข้ามาจัดงานเลี้ยงให้ในวันเกิดเหตุ รวมถึงบุคคลที่มาทำหน้าที่พยานก็ยังมีคดีความในชั้นศาลกับทางฝ่ายนางจินตนา เพราะฉะนั้น ศาลจึงเห็นว่าควรต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาลงโทษตามหลักกฎหมายอาญา

ขณะที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานโจทก์เหล่านี้สามารถรับฟังได้ ด้วยการให้เหตุผลว่าบุคคลที่เป็นพยานโจทก์ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับนางจินตนามาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเป็นการให้ร้ายหรือปรักปรำบุคคลที่ตกเป็นจำเลย ส่วนศาลฎีกาเห็นว่าแม้คำเบิกความจะมีความแตกต่างกันแต่ก็มิใช่สาระสำคัญ

การพิจารณาถึงความเอนเอียงของพยานในมุมมองของศาลอุทธรณ์จึงมุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งในเชิงส่วนตัวเป็นสำคัญ โดยเห็นว่าหากพยานโจทก์ไม่ได้เคยมีข้อพิพาทกับผู้เป็นจำเลยแล้วก็ย่อมไม่มีเหตุให้ต้องระแวงว่าจะเป็นคำให้การที่ไม่เป็นจริง มุมมองในลักษณะเช่นนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานที่ยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ (อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะพบว่ามีพยานโจทก์ที่เป็นความอยู่กับจำเลยและคดีนั้นก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

ในคดีนี้ พยานบุคคลส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพนักงานของโรงไฟฟ้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นลูกจ้างของฝ่ายผู้เสียหาย การทำหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหายและได้กลายมาเป็นพยานให้กับโรงไฟฟ้า หากลูกจ้างคนดังกล่าวให้ปากคำไปในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ทางฝ่ายโรงไฟฟ้า บุคคลเหล่านี้จะได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ทำงานอยู่ในระดับปฏิบัติงาน เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นงานที่สามารถหาบุคคลอื่นมาทดแทนได้ไม่ยาก การให้เหตุผลเพียงว่าพยานโจทก์ไม่เคยมีความขัดแย้งในเชิงส่วนตัวจะสามารถเป็นหลักประกันถึงคำเบิกความที่ตรงไปตรงมาได้จริงหรือไม่ นับเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจถึงเงื่อนปัจจัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นมิใช่น้อย

การพิจารณาอย่างคับแคบเพียงว่าหากไม่มีความขัดแย้งในเชิงส่วนตัวแล้วก็จะเป็นการให้ปากคำอย่างตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่มักปรากฏให้เห็นในการซักพยานโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐในชั้นศาล หากเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีความขัดแย้งกับจำเลยแล้วก็มักถือว่าเป็นพยานที่สามารถรับฟังได้ ทั้งที่ในหลายกรณีนั้น เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ได้มีความขัดแย้งในเชิงส่วนตัวกับบุคคลที่เป็นจำเลยหรือผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจมีแรงจูงใจบางด้านอันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายของรัฐต่อการก่อการร้ายอันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธและความรุนแรงมากกว่าในกรณีทั่วไป เป็นต้น  

เพราะฉะนั้น การให้ความสำคัญกับความขัดแย้งเชิงส่วนตัวจึงอาจเป็นมุมมองที่คับแคบต่อการชั่งน้ำหนักปากคำพยานที่ควรต้องถูกโต้แย้งอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นคำถามอย่างสำคัญต่อคำตัดสินของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาในคดีนี้ก็คือว่าเพราะเหตุใดมุมมองที่มีต่อพยานโจทก์จึงมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก บทความนี้ไม่ได้ต้องการยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ศาลสูงกว่าจะต้องวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกัน แต่จากข้อเท็จจริงชุดเดียวกันในคดีดังกล่าวและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน จึงควรที่จะต้องมีคำตัดสินด้วยเหตุผลทางกฎหมายในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่เพราะเหตุใดคำตัดสินในคดีโรงไฟฟ้าหินกรูด จึงมีการให้เหตุผลไปคนละทิศคนละทาง จนดูราวกับว่าการวินิจฉัยไม่ได้วางอยู่บนหลักวิชาหรือมีระบบความรู้ทางกฎหมายเป็นฐานของการวินิจฉัยแต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่าการปรับใช้บทบัญญัติทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความเห็น จุดยืน อุดมการณ์ หรือทรรศนะส่วนตัวของผู้ตัดสินตามที่แนวความคิดแบบสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกันได้นำเสนอไว้

กรณีดังกล่าวนี้มิใช่เป็นประเด็นของการตีความที่ศาลอาจมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจอันอาจนำมาซึ่งผลในบั้นปลายที่แตกต่างกันได้ หากเป็นการให้ความหมายของข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับกันนับตั้งแต่การพิจารณาในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงชุดเดียวกันที่สามารถถูกให้ความหมายแบบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงย่อมนำมาซึ่งคำถามที่มีคำตัดสินได้อย่างแน่นอนว่าอะไรคือหลักวิชาหรือความรู้ของระบบกฎหมายที่นำมาปรับใช้กับข้อพิพาท และอาจมิใช่เพียงกรณีนี้กรณีเดียวเท่านั้น

ประเด็นที่สาม ความน่าเชื่อถือระหว่างคำให้การในชั้นสอบสวนที่กระทำโดยตำรวจและคำให้การในชั้นศาล คำให้การของพยานในขั้นตอนใดที่ควรจะมีน่าเชื่อถือและรับฟังมากกว่ากัน

ในคดีนี้ พยานของทางฝ่ายโจทก์ได้ให้ปากคำที่แตกต่างกันในชั้นสอบสวนกับในชั้นศาล ขณะที่คำให้การในชั้นสอบสวนโดยตำรวจได้ปรักปรำและยืนยันว่านางจินตนากระทำความผิด แต่คำให้การในชั้นศาลนั้นดูจะเป็นประโยชน์แก่นางจินตนามากกว่า ทั้งนี้ หากยึดถือเอาการให้ปากคำในชั้นศาลเป็นสำคัญก็มีโอกาสที่ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นไปจากความผิด ดังที่เกิดขึ้นในคำตัดสินของศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม ในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นที่แตกต่างออกไป ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวนมีความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าที่ได้ให้ปากคำในชั้นศาล

คำถามประการแรกก็คือว่าหากพิจารณา “มาตรฐาน” โดยทั่วไปในการให้ปากคำของบุคคลในชั้นตำรวจและชั้นศาล กรณีใดที่น่าจะมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน จะเห็นได้ว่ารูปแบบของการให้ปากคำในสองขั้นตอนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสำคัญ อย่างน้อยการสอบปากคำในชั้นตำรวจจะเป็นการดำเนินการโดยที่ไม่มีคู่กรณีอีกฝ่ายรับฟังและท้วงติงหากเห็นว่าเป็นข้อมูลหรือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่การให้การในชั้นศาลจะต้องมีคู่กรณีรับฟังและสามารถตั้งคำถามได้หากเห็นว่าเป็นข้อมูลที่เป็นปัญหา รวมทั้งในการให้ปากคำในชั้นศาล ก่อนที่จะเริ่มให้ปากคำจะต้องมีการ “สาบาน” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าผู้ให้การจะกล่าวแต่ข้อความที่เป็นความจริง ซึ่งพิธีกรรมการสาบานนี้ไม่ปรากฏในชั้นการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น จึงย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าการให้ปากคำของพยานในชั้นศาลจึงควรจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากระบวนการในชั้นตำรวจ แน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้ย่อมมิได้เป็นการยืนยันว่าการให้ปากคำต่อศาลจะต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอไป หรือผู้พิพากษาจะต้องรับฟังและให้น้ำหนักกับปากคำของพยานทุกครั้งไป ในกรณีที่เห็นว่าคำให้การมีพิรุธหรือไม่น่าเชื่อถือ ผู้พิพากษาก็ย่อมสามารถที่จะไม่นำเอาข้อความดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินได้

น่าสนใจว่าในคดีโรงไฟฟ้าหินกรูด ศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลในลักษณะเช่นใดซึ่งทำให้เชื่อว่าพยานโจทก์ “ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นพิจารณา” โดยศาลได้ให้คำอธิบายไว้ ดังนี้ “แม้ (รายชื่อของพยานโจทก์) จะเบิกความแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนก็อาจเนื่องจากพยานโจทก์เหล่านี้เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นจากความผิด”

หากกล่าวให้ชัดเจนก็คือศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่พยานเบิกความในชั้นศาลไม่เหมือนเดิมก็อาจมาจากความเกรงกลัว หรือไม่ก็เพื่อช่วยเหลือนางจินตนาให้พ้นไปจากความผิด

การให้เหตุผลเช่นนี้ย่อมเป็นปัญหาในตรรกะทางกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะหลักการสำคัญของกฎหมายอาญาก็คือ การจะลงโทษบุคคลใดนั้นจะต้องมีพยานหลักฐานที่ปราศจากข้อสงสัยในการยืนยันถึงการกระทำความผิดของบุคคลนั้น แต่กรณีนี้ นอกจากศาลให้ความสำคัญกับปากคำของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนเป็นอย่างมากแล้ว การให้เหตุผลต่อคำให้การที่เปลี่ยนไปก็ยังเป็นผลมาจากการ “คาดเดา” ว่าถ้าไม่ใช่เพราะความกลัวก็ต้องเป็นเพราะเพื่อช่วยเหลือ คำวินิจฉัยเช่นนี้ย่อมเป็นการตัดสินตามความเชื่อหรือมุมมองของคนตัดสินอย่างยากที่จะปฏิเสธ

ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย[14]

แม้จะเข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่าการใช้อำนาจตุลาการเป็นการทำงานของผู้พิพากษาที่ดำเนินไปบนฐานของการใช้ความรู้และหลักวิชาทางกฎหมาย แต่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมามากกว่าทศวรรษได้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามและข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อฝ่ายตุลาการ เฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ในการตัดสินประเด็นปัญหาทางการเมืองซึ่งดูราวกับจะไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์แบบเสรีประชาธิปไตย หากเป็นไปในด้านตรงกันข้ามมากกว่า คำวินิจฉัยและการให้เหตุผลได้กลายเป็นประเด็นและการนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของฝ่ายตุลาการว่าอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาในการสร้างความเชื่อในทางสาธารณะหากแต่ไม่ได้มีอยู่จริง

บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลาง ไม่เป็นภววิสัย ไม่เป็นระบบ ในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา หากแต่มีจุดยืนที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยรวมถึงมีการให้เหตุผลที่ขัดแย้งกันในระหว่างคำตัดสินของศาลที่แตกต่างกัน ความไม่ลงรอยหรือไม่สม่ำเสมอนี้ปรากฏให้เห็นแม้ในประเด็นที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน และเป็นข้อเท็จจริงที่ควรต้องได้รับการวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็กลับปรากฏให้เห็นคำวินิจฉัยที่แตกต่างกันในคนละทิศทางอย่างน่าอัศจรรย์ใจ กระทั่งกลายเป็นได้คำถามได้ว่าคำตัดสินที่เกิดขึ้นมีความรู้หรือหลักวิชาทางด้านกฎหมายเป็นเครื่องมือในการตัดสินจริงหรือไม่

บทความนี้จงใจหลีกเลี่ยงคดีที่เป็นข้อพิพาทในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การเมือง” โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคดีของกลุ่มเสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคดีของคณะราษฎร ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวและกลายเป็นคดีเกิดขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา การไม่นำเอาคดีที่กล่าวมาข้างต้นมาเป็นตัวอย่างของการศึกษาก็เพื่อไม่ให้เกิดการลดทอนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตุลาการด้วยการกล่าวให้เหตุผลว่าเป็น “คดีการเมือง” เพื่อหลีกหนีไปจากการพยายามทำความเข้าใจถึงสาระพื้นฐานที่ดำรงอยู่และสืบทอดกันมาในหมู่นักเรียนกฎหมายของสังคมไทย การเลือกใช้ประเด็นข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมจึงจะเป็นส่วนที่สามารถยืนยันให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับความคิดหรืออุดมการณ์เรื่องความเป็นกลางหรือความเป็นหลักวิชาในการทำงานของผู้พิพากษาได้เป็นอย่างดี

บทความนี้เสนอว่าในการทำงานของผู้พิพากษานั้นมีเหตุปัจจัยประกอบเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่เรื่องของความรู้หรือหลักวิชาทางกฎหมายและสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินไม่น้อยกว่าหลักวิชา ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง จุดยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ความเชื่อเรื่องความเสมอภาคระหว่างบุคคล ไม่ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้พิพากษาอาจจะตระหนักรู้หรือไม่ตระหนักรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ แต่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการให้เหตุผลในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เห็นกับแนวความคิดเรื่องนิติศาสตร์เชิงกลไกดังได้อภิปรายมาอย่างกว้างขวางในคดีตัวอย่างแล้ว แต่บทความนี้ไม่ได้มีข้อเสนอที่ไปไกลถึงขั้นที่ว่าผู้พิพากษาสามารถที่จะตัดสินประเด็นปัญหาต่างๆ ตามใจชอบของตนอย่างเสรีโดยปราศจากหลักวิชามากำกับแนวทางในการตัดสิน จนกลายมาเป็นคำเสียดสีต่อแนวคิดนี้ว่าคำตัดสินนั้นอาจเป็นผลมาจากอาหารมือเช้าที่ผู้พิพากษารับประทาน (What did judge have for breakfast ?[15]) อันมีความหมายว่าเหตุปัจจัยใดก็สามารถถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อคำพิพากษาได้ทั้งสิ้น แต่กรณีที่เป็นปัญหาซึ่งควรต้องได้รับความใส่ใจเป็นอย่างมากก็คือ การใช้ดุลพินิจหรือการให้เหตุผลต่อการปรับใช้บทบัญญัติทางกฎหมายที่มีลักษณะคลุมเครือและเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาเลือกใช้ความเห็นของตนมาเป็นสนับสนุนแนวทางการตัดสินที่เกิดขึ้น และเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำให้มีการตีความกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวทางการวิเคราะห์แบบ ALR จะช่วยเผยให้เห็นถึงความเป็นอัตวิสัยที่แฝงอยู่ในคำตัดสินที่มักจะเข้าใจกันว่ามีลักษณะเป็นภววิสัย รวมถึงการเปิดเผยให้เห็นความจริงว่าการทำงานของผู้พิพากษาไม่ได้ตั้งอยู่แค่บนความรู้ทางกฎหมายแบบที่มักจะเข้าใจกันโดยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มักเชิดชูความเป็นกลางของอำนาจตุลาการและความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ทั้งที่หากพิจารณาด้วยการใช้ความรู้และการตรวจสอบอย่างละเอียดลออแล้ว จะพบว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่ฉาบเคลือบความเป็นการเมืองของผู้พิพากษาเอาไว้เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้พิพากษาไม่ได้มีความเป็นกลางและตัดสินข้อพิพาทต่างๆ บนฐานของหลักวิชาอันเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด

แม้ว่าในด้านของแนวคิดแบบ ALR กลุ่มหนึ่ง ได้มีความพยายามที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่มีผลอย่างสำคัญต่อแนวทางการตัดสินของผู้ตัดพิพากษา เช่น การศึกษา จุดยืนทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น แนวความคิดเช่นนี้ได้นำไปสู่การให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจในปัจจัยแวดล้อมและเชื่อว่าจะสามารถมองเห็นแนวทางอันเป็นรูปแบบในคำวินิจฉัยที่จะบังเกิดขึ้นได้ หากมีการทำความเข้าใจต่อผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีด้วยแง่มุมที่กว้างขวางและรอบด้านเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดทางปรัชญากฎหมายในกลุ่มร่วมสมัยก็ตระหนักว่าเป็นการยากที่จะสามารถมองเห็นปัจจัยอันสลับซับซ้อนเช่นนี้ได้ เพราะในข้อพิพาทแต่ละคดีอาจมีประเด็นบางอย่างที่แตกต่างไป และประเด็นเหล่านี้ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและท่าทีของผู้พิพากษาที่แตกต่างกันออกไป 

ไม่ว่าจะมีความเชื่อถึงความเป็นไปได้ในการค้นหาปัจจัยหรือรูปแบบของคำตัดสินภายใต้เงื่อนปัจจัยต่างๆ ในลักษณะเช่นใดซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถค้นคว้าและถกเถียงกันได้ต่อไป แต่ความเข้าใจในลักษณะนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความระมัดระวังต่อการใช้อำนาจของผู้พิพากษา และที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือความพยายามในการสร้างระบบหรือกลไกในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาเพื่อให้ดำเนินไปในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักวิชาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การดำรงอยู่ของฝ่ายตุลาการโดยเป็นอิสระจากสังคมและขาดการตรวจสอบ นับเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้การใช้อำนาจตุลาการเป็นไปตามอำเภอใจและห่างไกลจากหลักวิชาทางด้านกฎหมาย ทั้งนี้ การตรวจสอบและกำกับอำนาจตุลาการเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเป็นการเฉพาะอย่างไม่อาจปฏิเสธ

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ วารสารนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม - ธันวาคม 2565 โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

บรรณานุกรม

คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 3283/2546 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2546

คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2355/2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548

คำพิพากษาฎีกาที่ 13005/2553 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มงเตสกิเออ, เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย (วิภาวรรณ ตุวยานนท์ แปล) พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. นิติปรัชญาทางเลือก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2546

Curzon, L.B. Jurisprudence. London: Cavendish Publishing, 1995.

Priel, Dan. What the Judge Had for Breakfast: A Brief History of an Unpalatable Idea. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2982716 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.2982716

Freidman, Lawrence M., Law and Society: An Introduction. New Jersey: Prentice-Hall Inc., Englewood Cliffs, 1977.

Montesquieu, The Spirit of the Laws. Cambridge University Press, 1989.

Rumble, W.E. American Legal Realism: Skepticism, Reform and Judicial Process. New York: Cornell University Press, 1968

 

อ้างอิง

[1] the judge of the nation are only the mouth that pronounces the words of the law”Montesquieu, The Spirit of the Laws (Cambridge University Press, 1989) Book 11, Chapter 6 On the constitution of England

[3] L.B. Curzon, Jurisprudence (London: Cavendish Publishing, 1995) 179

[4] แนวความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากในแวดวงความรู้ทางด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบกฎหมายแบบ Common Law ซึ่งให้ความสำคัญต่อคำพิพากษาของศาลเป็นอย่างมากโดยถือเป็นที่มาสำคัญของกฎหมาย แต่แนวความคิดดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการในประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน

[8] L.B. Curzon, Jurisprudence, 184

[9] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

“ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365

“ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ

  1. โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
  2. โดยมีอาวุธหรือโดยรวมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
  3. ในเวลากลางคืน

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[11] รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถูกเรียกขานกันโดยทั่วไปว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อันสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่มีอยู่อย่างสูงต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อพิพาทจำนวนไม่น้อยที่ได้มีการอ้างอิงถึงสิทธิเสรีภาพที่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

[12] สรุปประเด็นสำคัญโดยผู้เขียนจาก คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2355/2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 คำพิพากษาฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม,

https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2016/02/Jintana_Baangrood_AppealCourtDecision.pdf

[14] ประโยคนี้เป็นท่อนหนึ่งจากบทกวีชื่อ “บทกวีถึงมหาตุลาการ” เขียนโดยอานนท์ นำภา บทกวีชิ้นนี้คือตัวอย่างของการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของศาลที่ควรจะต้องทำตามหน้าที่และอย่างเป็นอิสระ มิใช่เป็นเพียงการทำตามความต้องการหรือคำสั่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สามารถอ่านบทกวีฉบับเต็มได้ใน  https://prachatai.com/journal/2010/11/31775

[15] ผู้สนใจสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับประวัติและความหมายของประโยคดังกล่าวได้ใน Dan Priel, What the Judge Had for Breakfast: A Brief History of an Unpalatable Idea. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2982716 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.2982716

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท