Skip to main content
sharethis

โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เผย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้อง ส.ส.รัฐบาล ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ แล้ว ยัน ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ขณะที่รองประธานวิปรัฐบาล ร้องนายกฯ อนุมัติงบฯให้ ตร. จัดซื้ออุปกรณ์ ระหว่างรอศาล รธน. วินิจฉัย

1 มี.ค.2566 ความคืบหน้าหลังวานนี้ (28 ก.พ.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 115 รายชื่อ ทำหนังสือเพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. 2566 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยขอให้ประธานสภาฯ ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่รับความเห็นเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาไว้ก่อนตามมาตรา 173 จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (1 มี.ค.) วิทยุรัฐสภา รายงานว่า ผ่องศรี ธาราภูมิ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าหนังสือดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว พบว่า การรับรองลายมือชื่อมีความถูกต้อง จำนวน 99 รายชื่อ ซึ่งเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 405 คน คือ ต้องมีสมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 81 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ขณะที่คำร้องและขั้นตอนการเสนอความเห็นก็ดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่งวันนี้ (1 มี.ค.66) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะผู้ร้องว่าได้ดำเนินการส่งร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว จึงให้รอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ไปก่อน

ยัน ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง

ต่อรณีสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีการตรวจสอบการเข้าชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อย่างเร่งด่วนนั้น ผ่องศรี ยืนยันว่า การทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ยอมรับจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ว่าทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง เป็นกลาง ภายใต้ข้อบังคับการประชุมและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก่อนที่ ส.ส.หรือ ส.ว.จะอนุมัติ พ.ร.ก. เมื่อมี ส.ส.เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ร้องขอต่อประธานสภาฯ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตรา พ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ประธานสภาฯ จึงต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาไม่เช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากการประชุมสภาฯ เดิมที่นัดประชุมเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 23 ก.พ. 66 แต่เนื่องจากเวลาประมาณ 16.15 น. ทางรัฐบาลได้เสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาถึงสภา ทำให้เวลาประมาณ 18.00 น.ได้แจ้งต่อที่ประชุมในขณะนั้นว่ายังอ่านพระบรมราชโองการพระราชกฤษฏีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอ พ.ร.ก.มาแล้ว จึงได้หารือกับวิปทั้งสองฝ่ายและกำหนดพิจารณาในวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ประธานสภาฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องทุกประการ

รองประธานวิปรัฐบาล ร้องนายกฯ อนุมัติงบฯให้ ตร. จัดซื้ออุปกรณ์ ระหว่างรอศาล รธน. วินิจฉัย 

ขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววิทยุรัฐสภา กรณี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าวว่า วิปรัฐบาลหารือกันแล้วเห็นว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าการออก พ.ร.ก. ไม่เข้าข่าย เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา 172 ดังนั้น จึงคิดว่าจะต้องให้ได้ข้อยุติ โดยใช้แนวทางการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นกลางมากที่สุดในช่วงท้ายสมัย พร้อมยอมรับว่าหากให้สภาฯ ลงมติ เมื่อกฎหมายไม่ผ่านก็จะมีปัญหาทางการเมืองตามมา ขณะที่ขั้นตอนต่อไปหลังจากเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาฯ แล้ว ภายใน 3 วัน ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาวินิจฉัยภายใน 60 วัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียง 2 ใน 3 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวก็ตกไป ไม่มีผลบังคับใช้ ต้องกลับไปใช้ พ.ร.บ.ฉบับเดิม ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในมาตรา 22-25 ซึ่งบัญญัติว่าในกระบวนการสอบสวนให้ใช้กล้องบันทึกภาพให้ปรากฏครบทั้งกระบวนการ เพื่อป้องกันการอุ้มหาย ซึ่งจะเป็นหลักประกันสำคัญ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความคิดเฉพาะประเทศไทย แต่ยังเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยในการยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าชอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.ก. ก็มีผลบังคับใช้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

ชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีดำเนินการอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตาม พ.ร.บ. โดยแม้ พ.ร.ก. จะขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากมีฐานกฎหมายเดิมบัญญัติไว้อยู่แล้ว ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการอาจถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความจริงใจในการแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีการยุบสภา พอจะมีเวลาเหลือและสามารถทำได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net