Skip to main content
sharethis

วิถีปกาเกอะญอ เริ่มปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง กับกาแฟในยุคมิชชันนารีนำเข้ามาในฐานะเสน่ห์ของมือเจะคี  ขณะที่ทิศทางของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงประสบการณ์ที่กำลังมาแรง ส่งท้ายบทสรุปความเปลี่ยนผ่าน 'ละครเร่มือเจะคี' 

มูเส่คี หรือ มือเจะคี ที่คนชนเผ่าปกาเกอะญอ ในแถบป่าสนวัดจันทร์เรียกขานกัน เป็นดินแดนที่ผู้คนชนเผ่าปกาเกอะญอ มีวิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสอดคล้อง แนบแน่นและกลมกลืนมาช้านาน ท่ามกลางป่าสนภูเขาธรรมชาติที่มีพื้นที่กว้างนับแสนไร่ อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแจ่ม ที่ไหลลงไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิงในลุ่มน้ำตอนท้ายของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย  ต่อมา ดินแดนแห่งนี้ได้กลายเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า มาพร้อมกับความเจริญ การพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผ่านไปสิบปี มีหลากหลายเรื่องราวที่คนที่นี่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง หลายคนรู้สึกวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ว่าจะทำให้วิถีชุมชนปกาเกอะญอที่นี่จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ในขณะหลายคนพยายามตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมศักดิ์ สุริยมณฑล หรือโถ่เรบอ นักเขียนปกาเกอะญอ ได้บอกเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอดีตให้ฟังว่า ตั้งแต่ปี 2540 ทางเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่มือเจะคี ซึ่งตอนนั้นมีนโยบายของรัฐเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้  ถือว่ามีกระแสที่รุนแรงและส่งผลกระทบกับพื้นที่ในแถบนี้มาก ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมทั้งนักเขียน ศิลปินเข้ามาเรียกร้องด้วย

“ช่วงนั้นมีเหตุสถานการณ์เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดครั้งสำคัญ เมื่อเห็นพี่น้องชาวบ้านจากถิ่นเกิดได้ลุกฮือขึ้นคัดค้านการสัมปทานตัดป่าสนวัดจันทร์ ของ อ.อ.ป.(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) ชาวบ้านได้คัดค้านให้ อ.อ.ป.รื้อถอนโรงเลื่อยที่มาสร้างกลางป่าสนวัดจันทร์ได้สำเร็จ และ อ.อ.ป.ยุติการตัดป่าสนวัดจันทร์ การได้เข้าร่วมรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ เมื่อผมเรียนจบ ผนวกกับคนบนดอยเจอสถานการณ์ “นโยบายอพยพคนออกจากป่า” พาตี่จอนิ โอโดเชา ก็ได้นำพี่น้องคนบนดอยโดยเฉพาะคนปกาเกอะญอ ลงจากดอยเข้ามาชุมนุมประท้วงรัฐบาลให้ยกเลิกนโยบายอพยพคนออกจากป่า และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่อยู่ที่ทำกินของพี่น้องบนดอย ผมจึงโดดเข้าร่วมขบวนกับพาตี่จอนิ โอโดเชา อย่างไม่ลังเล ไปชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายอพยพคนออกจากป่า ดังกล่าวไกลถึงกรุงเทพฯ ชุมนุมนอนรอคำตอบจากรัฐบาล ณ หน้าทำเนียบรัฐบาลยาวนานถึง 99 วัน ในนามการรวมกลุ่มปัญหาชื่อ “สมัชชาคนจน” ในที่สุดรัฐบาลอกมติการแก้ไขปัญหาให้เป็นกระดาษหนึ่งแผ่น เอากลับไปบนดอย ลดกระแสการรื้อไล่จับคุมจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ได้ลงบ้าง แต่ไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้เลย”เขาเล่าให้เห็นภาพชัดเจน

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ผ่านมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดให้กับพี่น้องปกาเกอะญอในหลายๆ พื้นที่ได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองได้มากมายเช่นเดียวกัน

“มันทำให้เรามองย้อนไปเห็นวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากผลผลิตการได้เข้าร่วมเคลื่อนไหว เรียกร้องต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกิน ป่าไม้ สิทธิชนเผ่า ทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องปกาเกอะญอมีความเปลี่ยนแปลงชีวิต ความคิด การต่อสู้ดิ้นรน ไปหลายๆ ด้าน  หลายคนเข้าไปอยู่ในหลายวงการ เช่น บางคนได้เรียนรู้ต่อสู้ ได้เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ไปเป็นลูกจ้าง ไปเป็นกุ๊ก จนกระทั่งไปทำงานต่างประเทศ แล้วสามารถเปิดร้านอาหารไทยที่ต่างแดนได้  อีกกลุ่มหนึ่ง ก็มีการพัฒนาตนเองจนกลายเป็นนักกีฬา นักกีฑา นั่งวิ่ง จนได้ติดทีมชาติ ไปแข่งขันได้เหรียญรางวัลกลับมาในระดับอาเซียน หลายคนไปเป็นนักกีฬาชกมวยอาชีพ ไปชกมวยตามเวทีใหญ่ระดับประเทศ คนปกาเกอะญอบางคนถึงขั้นมีการเปิดค่ายมวย เช่น ค่ายมวยบุญล้านนามวยไทย   พาเด็กๆ ชนเผ่าปกาเกอะญอ อาข่า ม้ง ลงดอยไปชกมวย เป็นต้นอีกกลุ่ม ก็มีด้านศิลปิน นักร้อง ยกตัวอย่าง พะตีทองดี ตุ๊โพ ก็ถือว่าเป็นไอดอลให้กับเด็กรุ่นใหม่ อย่าง ชิ สุวิชาน คลีโพ ได้เจริญรอยตาม นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายคน ได้ลงไปศึกษาต่อจนกลายเป็นอาจารย์ นักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ”

วิถีปกาเกอะญอ เริ่มปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า จากปัญหาที่ผ่านมา มีการพยายามหาทางแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง นโยบาย จนถึงระดับชุมชน มีการก่อตั้งองค์กร ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชนเผ่า โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ แต่ทว่า ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งเจอตอ เจอปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยเป็นเอกภาพ ซึ่งทำให้พี่น้องคนปกาเกอะญอ นั้นต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่ หารูปแบบวิธีการในการขับเคลื่อนกันใหม่

สมศักดิ์ สุริยมณฑล หรือโถ่เรบอ นักเขียนปกาเกอะญอ

สมศักดิ์ บอกว่า อีกวิธีหนึ่งก็คือ ส่งเสริมผลักดันให้ลูกหลานคนปกาเกอะญอ เข้าไปทำงานในแวดวงนักวิชาการ ในวงราชการ กันให้มากขึ้น ยกตัวอย่างที่กัลยาณิวัฒนา ในตอนนี้ ก็มีพี่น้องปกาเกอะญอหลายคนที่ไปเป็นข้าราชการ ทำงานในท้องถิ่นกันมากขึ้น

“อย่างล่าสุด ก็มีทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ก็เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอด้วย ซึ่งทำให้เราเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน สิทธิทางการศึกษานั้นมีความเท่าเทียมกัน ก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่ของปกาเกอะญอเข้าไปแข่งขัน ทำงานอยู่ตรงนั้นได้ มากขึ้น เมื่อช่องมันเปิด ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ตนคิดว่าต่อไป ก็ต้องกระจายไปอยู่ในหลายๆ หน่วยงาน ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่เรามองว่า ถ้าพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอเข้าไปอยู่ตรงนั้น เหมือนเช่น นายอำเภอที่มาอยู่ที่กัลยาณิวัฒนา ก็จะทำให้ชาวบ้านและนายอำเภอมีความสนิทใจ มีความใกล้ชิด มีความเชื่อใจ ไว้วางใจกันมากยิ่งขึ้น”

 

เสน่ห์ของมือเจะคี คือกาแฟในยุคมิชชันนารีนำเข้ามา

กิตติ กาทู ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ เลอ เปลอ (Le Pler Cafe) ในพื้นที่บ้านหนองเจ็ดหน่วย ต.วัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟังว่า เป็นลูกหลานปกาเกอะญอ เกิดที่เชียงราย แต่มารู้สึกผูกพันกับมือเจะคี จนย้ายมาปักหลักและเปิดร้านกาแฟที่นี่

“ผมได้มามูเจะคีครั้งแรก สมัยนั้นผมยังเป็นเด็กประมาณ 9-10 ขวบ และได้มาร่วมประชุมสมัชชาพี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่นี่ ยังจำภาพเก่าๆ ติดตา อยู่ จะมองเห็นภาพพี่น้องปกาเกอะญอทำกิจกรรมกันใต้ถุนบ้านของพะตีทองดี สิ่งแรกที่ได้มาอยู่ที่มือเจะคีที่นี่ ก็คือภูมิใจเมื่อเรามองไปทางหน้าบ้าน หลังบ้าน เราจะมองเห็นแต่ต้นกาแฟกับต้นชาปลูกไว้ ซึ่งผมมองว่านี่คือความโดดเด่นของที่นี่  อย่างที่สองก็คือ ถ้าเราพูดถึงประวัติของกาแฟที่นี่ ก็จะรู้ว่ากาแฟนั้นมาพร้อมกับกลุ่มมิชชันนารีชาวต่างชาติที่เดินทางมาประกาศเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นั่นแสดงว่า กาแฟที่นี่คือกาแฟสายพันธุ์ที่ดั้งเดิม ซึ่งถ้าวัดดูจากประวัติศาสตร์เส้นทางของกาแฟ กาแฟที่มือเจะคีน่าจะถือกำเนิดมาก่อนกาแฟทางดอยช้าง เชียงรายด้วยซ้ำไป”

จนกลายมาเป็นที่มาของชื่อร้านกาแฟ เลอเปลอ ซึ่งแปลว่า อดีตกาล มีการปลูกกาแฟมานมนานมาแล้ว

กิตติ กาทู ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ เลอ เปลอ (Le Pler Cafe)

“อย่างที่สอง คือเราต้องการสนับสนุนกาแฟของพี่น้องกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ  เมื่อก่อนผมเคยเปิดร้านกาแฟที่เชียงราย แต่เลือกที่จะสั่งเมล็ดกาแฟจากมือเจะคีนี้ไปชงให้ลูกค้าที่โน่น จนกระทั่งตัดสินใจย้ายมาเปิดร้านกาแฟที่นี่ ก็เพราะอยากให้ทุกคนที่สนใจกาแฟของกะเหรี่ยง จะสามารถเดินทางมาเยือน มาทานกาแฟที่ต้นน้ำนี้เลย กาแฟมือเจะคี ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 1300-1500 เมตร ซึ่งถือว่ามีรสชาติไม่แพ้กาแฟจากที่อื่นๆ ถ้าเรามีการโปรเซส มีการพัฒนา ตั้งแต่ในเรื่องของกระบวนการเก็บ การโปรเซส การคั่ว ซึ่งเมื่อเราพูดถึงเรื่องกาแฟของกัลยาณิวัฒนา สามารถพูดได้เลยว่ารสชาติอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบัน ชาวบ้านเริ่มเรียนรู้วิธีการทำกาแฟมากขึ้นว่าจะทำในแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้างสำหรับในอนาคต ตนมองว่า กาแฟกัลยาฯ จะถือว่าเป็นอีกหนึ่งกาแฟ ที่คนกินกาแฟ คนทำกาแฟจะนึกถึงในอันดับต้นๆ ของประเทศเช่นเดียวกัน”

เมื่อเราถามว่า มองเห็นภาพของมือเจะคี ในอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะหรือไม่?

กิตติ บอกว่า ถ้ามองในเรื่องของวัตถุ ก็คิดว่าเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ตามยุคตามสมัย แต่ถ้าในเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า ชุมชนนี้ยังคงมีอยู่ เมื่อเทียบกับชุมชนที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย การพูดการใช้ภาษา ซึ่งยังมีการอนุรักษ์สืบทอดรักษาเอาไว้ดีอยู่

“ในส่วนของคนรุ่นใหม่ เริ่มมีความภาคภูมิใจในความเป็นปกาเกอะญอกันมากขึ้น ก็คงขึ้นอยู่กับกระแสสื่อ และอยู่ที่ผู้นำ ที่จะเป็นกระบอกเสียง หรือเป็นต้นแบบ ทำให้เราเห็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงการพูด การแต่งกาย ทำให้คนหันกลับอนุรักษ์กันมากขึ้น ยกตัวอย่าง หนังบางเรื่อง ดาราบางคนที่มีการสวมใส่ชุดกะเหรี่ยง จนทำให้กลายเป็นแฟชั่น คนใส่กันทั่วไป จึงทำให้เด็กๆ เยาวชนมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอกันมากขึ้น เมื่อเห็นดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงสวมใส่ชุดปกาเกอะญอกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนหันกลับมาใส่เสื้อผ้าของตัวเองอีกครั้ง”

ทิศทางของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงประสบการณ์ที่กำลังมาแรง

กิตติ มองว่า การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ถือว่ากำลังมาแรง นั่นคือเราจะเห็นว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือน ส่วนมากเขาอยากมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับวิถีชาวบ้าน ในขณะที่การท่องเที่ยวที่พักแบบโรงแรมในเมืองใหญ่เริ่มปิดตัวลงไป แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงประสบการณ์ในชุมชน นั้นจะเพิ่มมากขึ้น

“ดังนั้น จึงทำให้เป็นช่องทางหนึ่ง ที่ชาวบ้านจะมีธุรกิจเล็กๆ ในครอบครัวได้ง่ายขึ้น เช่น เปิดโฮมสเตย์ ซึ่งถ้าถามว่า ไปเที่ยวที่ไหนแล้วได้เรียนรู้ประสบการณ์วิถีของปกาเกอะญอกันมากที่สุด ผมคิดว่าก็จะเป็นที่มือเจะคีนี่แหละ”

เช่นเดียวกับ ปฏิพล สันติสุขชน เจ้าของร้านครัวริมทุ่ง จากเด็กหนุ่มปกาเกอะญอมือเจะคี มีโอกาสลงไปทำงานเป็นกุ๊กร้านอาหารในเมืองใหญ่และต่างประเทศ ก่อนจะหวนคืนกลับมาเปิดร้านที่ดินแดนมือเจะคี

“เดิมที ผมมีบ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่แดด พอเรียนจบป.6 แล้วก็เรียนต่อ กศน. จนจบ ม.ปลาย ก็ออกจากหมู่บ้าน ลงดอยไปทำงานในตัวเมือง ใช้ชีวิตไปหลายรูปแบบ จนรู้ว่าตัวเองถนัดและชอบก็คือ การทำอาหารนี่แหละ ก็เริ่มทำตั้งแต่ผู้ช่วยกุ๊ก เป็นกุ๊ก อยู่ได้ 7-8 ปี ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ พอดีได้มีโอกาสไปทำงานเป็นกุ๊กทำอาหารที่ประเทศจีนได้ช่วงเวลาหนึ่ง ก็กลับมาบ้านบนดอย ก็เริ่มวางแผน เมื่อมีที่ดินของพ่อตาอยู่แปลงหนึ่ง เป็นไร่นา ก็เลยปรับเอาเป็นร้านอาหาร และทำที่พักไว้ใกล้ๆ กัน หลังจากที่ผมไปทำงานข้างนอก เพื่อหาประสบการณ์ ก็คิดมาตลอดว่า สักวันหนึ่งเราจะกลับมาที่บ้าน มาเปิดร้านอาหาร และที่พัก เพื่อเอาไว้รองรับแขกบ้านแขกเมืองที่จะมาเยือนมือเจะคี ซึ่งผมเชื่อว่า มีอีกหลายคนที่มีฝีมือในการทำอาหารกันเยอะอยู่ มีความสามารถแต่ไม่ได้คิดที่จะมาทำร้านอาหารที่บ้านเกิดกัน แต่ผมเลือกที่จะมาทำที่นี่  เพื่อเอาไว้คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามา จะได้ทานอาหารที่อร่อยๆ กัน”

ปฏิพล สันติสุขชน เจ้าของร้านครัวริมทุ่ง

เขายังได้พูดถึงแนวโน้มของกระแสการท่องเที่ยวที่มือเจะคี ว่า ตั้งแต่เปิดร้านอาหาร เปิดที่พักมา ถือว่าดีมาโดยตลอด จนกระทั่งมาชะงักในช่วงโควิด-19 ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมานี้แหละ ถือว่าแย่มากๆเลย มาถึงตอนนี้ เริ่มมองเห็นทิศทางดีขึ้น นักท่องเที่ยวก็เริ่มมีมากขึ้น โดยใช้กระแสสื่อออนไลน์ เป็นตัวประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนกัน นอกจากนั้น ก็จะมีลูกค้าที่ใช้วิธีปากต่อปาก บอกเล่าต่อกันมา ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามากันอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็มีกลุ่มมอเตอร์ไซค์วิบาก บางครั้งก็มากันเป็นรถตู้ก็มี

ในความคิดของตน นั้นก็อยากให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของปกาเกอะญอเอาไว้ก็จะดีมากๆ แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง มีการพัฒนา มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

แต่ที่หลายคนวิตกกังวลกันก็คือ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่

ปฏิพล บอกว่า อันดับแรก ที่มองเห็นก็คือ มีหลายๆ คน หลายๆ พื้นที่ น้องๆเยาวชนกำลังหลงทางไปในเรื่องของยาเสพติด ก็อยากให้กลับมาก่อน แล้วมาทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ในสิ่งที่ตัวเองมี ผมเชื่อว่ามีหลายๆ คนนั้นเคยทำได้หลายๆ อย่าง แต่มาเจอยาเสพติด ทำให้หลายคนกลับคืนมายาก

“เพราะมีหลายๆ คน ที่เป็นเพื่อน เป็นญาติกัน จากแต่ก่อนเคยผูกพันสนิทสนมกัน มาระยะหลัง เริ่มห่างเหิน หายหน้าหายตา ไม่ยอมกลับบ้าน ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้ ตนคิดว่า อยากจะให้มีหลายๆ องค์กร หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันจัดทำกิจกรรมให้กับน้องๆ เยาวชนกันบ่อยๆ น่าจะเป็นทางแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกันได้”

ในขณะที่ สมศักดิ  สุริยมณฑล มองว่า เด็กรุ่นใหม่ เรามองแบบภาพรวมไม่ได้เลย เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

“ยังมองไม่เห็นภาพเหมือนกัน  เพราะที่ผ่านมา เราไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร ดังนั้น เราจึงมองเห็นความเป็นปัจเจก ที่แต่ละคนนั้นต่างต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายกันเอาเอง ยกตัวอย่าง ค่ายมวยบุญล้านนามวยไทย หรือคนที่ไปเปิดร้านอาหารที่อเมริกา ซึ่งก็เป็นเรื่องของการต่อสู้ของคนๆ หนึ่ง มันไม่ได้มีองค์กรไหนๆ มารองรับมาก่อนเลย ซึ่งถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือมันเป็นการต่อสู้ไปตามยถากรรมนั่นแหละ จนกว่าจะค้นหาทางของตัวเองได้  ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้ามีกลุ่ม มีองค์กรมารองรับให้กับพี่น้องปกาเกอะญอ มันน่าจะดีกว่านี้ ดีกว่าที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างต่อสู้ไปตามลำพังอย่างนี้”

กิตติ กาทู ก็ได้บอกย้ำว่า ตนมองว่า วัฒนธรรมประเพณีของปกาเกอะญอ นั้นถือเป็นมรดกอันล้ำค่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือภาษาที่เราใช้อยู่ ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ตนก็เข้าใจความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของเรา ก็ไม่อยากให้เราหลงลืมสิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างเรื่องของภาษา ก็อยากให้เรารักษาเอาไว้ อย่างน้อย ก็บอกให้ทุกคนรู้ว่า เราสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาปกาเกอะญอ หรือบางคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ด้วย อันนี้ก็จะเป็นจุดเด่นของเราได้

'ละครเร่มือเจะคี' คือบทสรุปความเปลี่ยนของวิถีปกาเกอะญอ

ทำให้นึกถึง “ละครเร่มือเจะคี” ที่กลุ่มละครกั๊บไฟร่วมกับเยาวชนบ้านหนองเจ็ดหน่วย ได้จัดแสดงขึ้นตามชุมชนต่างๆ บนดอยมือเจะคี หลังจากมีข่าวการตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนเริ่มเป็นวิตกกังวลกันมาก ก็คือ ถนนและความเจริญได้ดึงวัยรุ่นคนหนุ่มคนสาว บ้างถูกฉุดกระชากลากไปสู่วิถีเมืองใหญ่ ก่อนหวนกลับคืนมาสู่หมู่บ้านเกิดของตนอย่างสะบักสะบอม บ้างนำสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นอารยะ เช่น การเสพเหล้า บุหรี่ วัฒนธรรมข้างล่าง อย่างการแต่งกาย การแต่งรถ ขับรถชิ่ง ขึ้นมาระบาดไปหลายชุมชนบนดอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ พวกเขารวมกลุ่มกัน วิเคราะห์และหาทางออกกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างเรียนรู้ อย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน โดยเยาวชนปกาเกอะญอกลุ่มนี้ ตั้งชื่อกลุ่ม ‘โช โพเก่อเรอ บ้านหนองเจ็ดหน่วย’ จนกระทั่งได้กลายเป็น ‘กลุ่มละครเร่มือเจะคี’ ขึ้น มา เพื่อช่วยกันสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนให้เด็กๆ เยาวชน คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ได้ฉุกคิดตรึกตรอง ตระหนักและหาหนทางแก้ไขร่วมกันในอนาคต ผ่านตำนานเรื่องเล่าและ ละคร 2 เรื่อง ซึ่งล้วนบ่งบอกถึงบางสิ่งที่กำลังเข้ามาและบางอย่างกำลังสูญหายไปจากชุมชน

เรื่องแรก คือ ‘ฉ่าอิ๊เกระ’ เป็นเรื่องของชุมชนหนึ่ง มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันมาก นับวันยิ่งมีจำนวนผู้คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้อาหารการกินใน ชุมชนน้อยลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา  และทำให้ผู้คนเริ่มกักตุนอาหารไว้ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้แม่บ้านคนหนึ่ง ต้องการกักตุน กุ้ง หอย ปู ปลา เหมือนกับคนอื่นบ้าง เธอจึงออกไปหามาไว้ในบ้าน แต่หามาแล้ว เธอยังไม่พอ ยังมีความอยาก มีความต้องการได้อีก เพื่อที่จะได้กินเก็บตุนไว้ให้ได้หลายๆ มื้อ หลายๆ วัน ไปในลำห้วย เจอรูที่ไหนก็ล้วงที่นั่น ล้วงไปล้วงมา มือเธอก็เลยติดอยู่ในรูนั้น ดึงเท่าไหร่ก็ไม่หลุดออก พอติด สามีก็เดือดร้อน ลูกๆ ก็เดือดร้อน ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็เดือดร้อน จนสุดท้ายเอามือออกมาไม่ได้ เธอหมดสติและเสียชีวิตอยู่ตรงนั้น ทว่าพอสิ้นลมหายใจ มือของเธอกลับหลุดออกมาจากรูนั้นได้อย่างง่ายดาย...

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ สรุปให้ฟังตอนท้ายว่า ละครเรื่องนี้ พยายามจะสื่อว่า บางทีเราก็ต้องดูกำลังของเรา ตามวิถีของเราเอง กินเท่าที่เรามี ทำเท่าที่เราจะกิน แต่ถ้าเราทำเกินกว่าที่เรากิน เรากินเกินกว่าที่เรามี มันจะมีปัญหา

เรื่องที่สอง เป็นเรื่อง ‘หน่อเดะโพ’ หญิง สาวกับกระบอกไม้ไผ่ที่ใส่น้ำ แต่กระบอกไม้ไผ่ได้ตกหล่นลงไป แล้วก็ลอยไปตามน้ำ พอมันลอยไปตามกระแสน้ำ เธอก็ตามไป ไปถึงต้นกล้วย เธอก็ไม่ได้ตัด ไปเจอต้นซุง เธอก็ไม่ล้ม พอไปเจอหิน ก็ไม่ล้ม หลังจากนั้นกระบอกไม้ไผ่ก็ลงไปในน้ำวน...หลังจากหญิงสาวตกเข้าไปใน วังวนของทรายในน้ำนั้น ก็ไปเจอยักษ์ตนหนึ่งก็พยายามจะกลืนเธอ เธอก็พยายามบอกว่า “อย่ากินฉันเลย ฉันจะไปทำอาหารให้ ฉันจะไปช่วยปรนนิบัติ” เธอก็พยายามบอกว่า เธอทำอะไรได้บ้าง...จากนั้น เธอจึงได้อยู่ร่วมกับครอบครัวของยักษ์ ดูแลปรนนิบัติยักษ์นั้นอย่างดี จนได้รับความรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ

....หลังจากนั้น ยักษ์ก็ให้เลือกระหว่างกระบุงเก่า กับกระบุงใหม่ เธอก็เลือกกระบุงเก่าเพราะมันมั่นคงถาวรกว่า และมีสิ่งที่มีค่าอยู่ในนั้น หลังจากนั้นยักษ์ให้ห่อข้าวมาสี่ห่อ   ขี้ไก่ กับขี้คน เธอไม่เอา แต่ได้เลือกเอาข้าวกับไข่ไก่...ฯลฯ

ชิ สุวิชาน อธิบายถึงสัญลักษณ์ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ซ่อนไว้ในนิทานในละคร ให้เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า ต้นกล้วย หมายถึง ความอุดมชุ่มชื้นของทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ต้องดูแลอย่าไปมองข้าม, ต้นซุง คือผืนป่าและทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติ ก็ต้องดูแล ต้นซุงอาจหมายถึงความชรา ผู้อาวุโส เพราะฉะนั้น ผู้รู้แขนงต่างๆเหล่านั้น เราอย่าไปมองข้าม, หิน หมายถึงสิ่งที่มั่นคง อาจหมายถึงที่ดิน ถ้าที่ดินยังอยู่กับเรา เรายังสามารถกำหนดอะไรเองได้แต่ถ้าที่ดินอยู่ในมือคนอื่นเราหมดสิทธิ์ และน้ำวน อาจหมายถึง วังวนของการพัฒนาของระบบทุนนิยม! ส่วนในเนื้อเรื่องละครตอนท้าย ที่ให้เลือกกระบุงเก่ากับกระบุงใหม่ และห่อข้าวกับห่อขี้ไก่ขี้คน นั้นอาจต้องการสื่อให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้จักเลือกรับ เลือกปฏิเสธกับสิ่งที่กำลังเข้ามาในวิถีชีวิต

“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของเรา ซึ่งนับวันมันกำลังลอยไปตามกระแสการพัฒนา กระแสการเปลี่ยน เหมือนกับกระแสน้ำในละคร ในนิทาน” ชิ สุวิชาน กล่าวในตอนท้าย

เช่นเดียวกับ นพรัตน์ ฤทัยกริ่ม เยาวชนปกาเกอะญอที่มานั่งชมละคร ก็บอกเล่าความรู้สึกหลังดูละครเรื่องนี้จบลงว่า เรื่องนี้ เขาต้องการสื่อให้รู้ว่า สมัยปัจจุบันนี้ไม่เหมือนกับยุคเมื่อก่อน คือเมื่อก่อนจะมีความไว้ใจ มีความซื่อตรงมากกว่าสมัยนี้ แต่สมัยนี้มันเปลี่ยนไปมาก เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

“ละครเรื่องนี้ก็จะสะท้อนให้ชาวบ้านรู้ว่า เราอยู่ในหมู่บ้านนี่เรากำลังจะมีของขวัญชิ้นใหญ่มา บางทีอาจเหมือนชาวบ้านบอกว่า เราจะมีอำเภอเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ให้ชาวบ้าน แล้วการมาของของขวัญนั้น คือห่อมาอย่างดี แพ็คกล่องแต่งด้วยลวดลายอย่างดี ซึ่งเราไม่อาจเดาได้ว่าข้างในนั้นเป็นอะไร เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้และเห็นได้ คือ ถ้าเราแกะออกมา เราก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่แม้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราก็ต้องระวังตัวเอาไว้ เราต้องไม่ลุ่มหลงหรือว่าเชื่อ และไม่โลภ ถ้าภายนอกมีอะไรมา เราต้องคิดถึงสิ่งเดิมๆ หรือสิ่งเก่าๆ ของเราเอาไว้ มันก็มีค่า ควรจะรักษาไว้ไม่ให้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาทดแทนหรือว่าทำให้มันสูญหายไปได้”

เยาวชนคนนี้ ยังบอกเล่าถึงคำสอนของคนเฒ่าคนแก่ที่พูดว่า ในอนาคตมันจะมีสัตว์ร้ายอย่างหนึ่งที่เข้ามาหา มันเข้ามาแล้วมันจะดูดกลืนเราทั้งหมด

“ตอนแรกเราก็งง แต่มาถึงตอนนี้ถึงบางอ้อ ว่าสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ที่บอกว่าสัตว์ร้าย และเขาระบุด้วยว่าเป็นงูยักษ์ เราก็มานั่งวิเคราะห์จากคำทา ซึ่งมันอาจจะเป็นถนนหรือเปล่า ถนนที่โค้งเข้ามาในหมู่บ้าน แล้วเข้ามาดูดกลืนเด็ก วัยรุ่นเข้าไปในเมือง แล้วก็คายกลับมา พร้อมสิ่งร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ กินเหล้ากินยา วัฒนธรรม ค่านิยมที่ผิดๆ แล้วเขาก็อ้วกกลับมาให้กับหมู่บ้าน”

กลุ่มละครเร่มือเจะคี ที่เยาวชน ‘โช โพเก่อเรอ บ้านหนองเจ็ดหน่วย’ ได้เดินทางสัญจรไปแสดงตามโบสถ์ ตามชุมชน หลายๆ หมู่บ้านในเขตพื้นที่มือเจะคี ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ เยาวชน คนหนุ่มคนสาว ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นอย่างมาก

“ละครเร่มือเจะคี เป็นการนำเอาละคร นิทาน เรื่องเล่าของพี่น้องปกาเกอะญอที่ทุกคนเคยรับรู้รับฟังมากระตุ้นให้ชาวบ้าน ได้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ใช้ละครเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความตระหนักร่วม ในการเลือกรับและเลือกปฏิเสธ สิ่งที่จะเข้ามาในแต่ละชุมชน โดยให้เด็กเป็นคนสื่อสารซึ่งอาจดีกว่าให้ผู้ใหญ่สื่อสาร เด็กเขาก็ทำได้ดี เราก็แค่เป็นคนเอื้ออำนวย เหมือนกับว่าเราได้สายเลือดใหม่เข้ามาที่จะสืบสานต่อยอดความคิดต่อไป” ชิ สุวิชาน กล่าวในตอนท้าย

ข้อมูลประกอบ : รายงาน: ละครเร่มูเจะคี - เสียงสะท้อนเยาวชนปกาเกอะญอ หลังความแปลกเปลี่ยนรุกคืบชุมชน,ประชาไท, 23-03-2011 https://prachatai.com/journal/2011/03/33677

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net