Skip to main content
sharethis

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุ 'คนร้ายยิงประชาชนใน อ.ตากใบ เสียชีวิต 1 ราย-โจมตีฐานทหารพราน ลอบวางระเบิด ชุด EOD เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส' ช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของมาเลเซียคนใหม่ เยือนชายแดนภาคใต้ระหว่าง 28 ก.พ.-3 มี.ค. 2566

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ว่าคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชน ในอำเภอตากใบ เสียชีวิต 1 ราย และกลุ่มก่อความไม่สงบได้โจมตีฐานของเจ้าหน้าที่ทหารพรานด้วยปืนและระเบิดใน อ.ศรีสาคร นราธิวาส แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทั้งสองเหตุเกิดขึ้นในเวลาที่ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของมาเลเซียคนใหม่ เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อเวลาประมาณ 02.50 น. คนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้อาวุธปืนลอบยิง นายยาการียา ลาเต๊ะ อายุ 32 ปี เสียชีวิตที่หน้าบ้านในพื้นที่ บ.จาแบปะ ม.7 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

“จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบบาดแผลบริเวณหน้าอกของผู้เสียชีวิต จำนวน 2 นัด และที่ศีรษะ จำนวน 2 นัด ส่วนสาเหตุประเด็นและสาเหตุ อยู่ระหว่างสอบสวน” ร.ต.ท. ฟาฮาน เนตรไมตรี รองสารวัตรสอบสวน สภ.ตากใบ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในเวลา 08.10 น. วันเดียวกัน ร.ต.อ. สุรชัย พันหล่อมโส รองสารวัตรสอบสวน สภ.ศรีสาคร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4906 ซึ่งตั้งอยู่บ้านไอร์กาแซ ม.6 ต.ศรีสาคร โดยคนร้ายไม่ทราบจำนวนแฝงตัวจากสวนยางพาราและสวนผลไม้ตรงข้ามฐานใช้อาวุธปืนระดมยิงใส่ฐาน เจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้กลุ่มคนร้ายนานกว่า 5 นาที

“หลังจากนั้น คนร้ายได้ใช้ไปป์บอมบ์ขว้างใส่ฐาน แต่ระเบิดติดที่ผ้าสแลนกันแดด ระเบิดทำงาน 2 ลูก อีก 1 ลูกไม่ทำงาน จากนั้นกลุ่มคนร้ายเกรงเจ้าหน้าที่จะขอกำลังเข้าสนับสนุนจุดเกิดเหตุ จึงได้นำกำลังล่าถอยไป” ร.ต.อ. สุรชัย กล่าว และระบุว่า พบปลอกกระสุนปืนอาก้า และ เอ็ม. 16 จำนวน 25 ปลอก ตกอยู่ห่างจากฐาน 15 เมตร และพบรอยระเบิดรัศมี 30 เซนติเมตร 2 จุด ห่างกัน 3 เมตร

“เชื่อว่าเป็นฝีมือการกระทำของกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง กลุ่มนายซุลกิฟรี อาแว และพวกที่เคลื่อนไหวก่อเหตุร้ายในพื้นที่ศรีสาคร เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่เชิงเขาบ้านดาฮง หมู่ 4 ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร แต่สามารถหลบหนีเจ้าหน้าที่ไปได้ ” ร.ต.อ. สุรชัย กล่าวเพิ่มเติม

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19

ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขเยือนชายแดนใต้

เหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของมาเลเซียคนใหม่ เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-3 มี.ค. 2566 โดยได้เข้าพบกับ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อรับฟังการทำงานในการดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในการพบกันวันนี้ ถือว่าเป็นจุดหนึ่ง จุดเริ่มที่เราได้เห็นแสงสว่างทางปลายอุโมงค์ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ตรงกับนโยบายผมก่อนจะมาเป็นแม่ทัพนั้นว่า ผมต้องการพูดคุยให้มาก เขาบอกว่าเขาตั้งใจที่จะมาทำงานในหน้าที่นี้ แต่เป็นการที่ยากลำบากมาก เพราะว่าการพูดคุยเกิดมานานหลายปีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” พล.ท. ศานติ กล่าวในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา

ต่อมา พล.อ. ซุลกิฟลี ได้เดินทางไปบรรยาย ในงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 "Pa(t)tani Peace Assembly 2023 : Peace Market Place : ตลาดนัดสันติภาพ” ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยระบุว่า ความรู้ที่ตนมีในฐานะนักวิชาการด้านความขัดแย้งน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

“แม้ผมจะเป็นทหาร แต่จิตใจและความสนใจผมใกล้ชิดโลกวิชาการ ทั้งยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิชาการ และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เรื่องสงครามและความขัดแย้ง การได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกนอกจากเป็นเกียรติแล้ว ยังเป็นโอกาสทองที่จะได้นำทฤษฎีมาใช้ในสถานการณ์จริง” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าว

พล.อ. ซุลกิฟลี ให้ข้อคิดว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นด้วยและยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเภทไหนก็ตาม ไม่อาจจะสำเร็จด้วยการใช้ความรุนแรง

“สุภาษิตภาษามลายูบอกว่า "Menang jadi arang, kalah jadi abu” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวถึงสุภาษิตที่มีความหมายในภาษาไทยว่า ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า   

เมื่อต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือน เม.ย. 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ที่จะดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้การพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งแต่เดิมจะมีขึ้นในปลายปี 2565 ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง

หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกฯ จากนายอับดุล ราฮิม นูร์ เป็น พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุของมาเลเซีย และหลังจากนั้น ได้มีการกำหนดการพูดคุยสันติสุขฯ อีกครั้งในวันที่ 21-22 ก.พ. 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ในการพูดคุยครั้งล่าสุด ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกัน คือการวางแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝ่ายจะได้หารือกันระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิ.ย. 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเริ่มขั้นตอนปฏิบัติ

'ประยุทธ์' เสียใจเหตุลอบวางบึ้มชุด EOD ดับ 2 นาย เจ็บ 3 นาย สั่งช่วยเหลืออย่างสมเกียรติ


ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2566 ว่าพล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวแสดงความเสียใจ กับครอบครัวของกำลังพลชุด EOD จำนวน 2 นาย และกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย จากการถูกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ลักลอบวางระเบิด ขณะเดินทางปฏิบัติงานในพื้นที่ บ้านไออาร์แซ ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ในช่วงเย็นวันที่ 3 มี.ค. 2566

โดยทางนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการให้ กองทัพบก และ กอ.รมน.ภาค 4 นำผู้เสียชีวิต ร่วมประกอบพิธีทางศาสนาอย่างสมเกียรติ และช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างดีที่สุด รวมทั้งให้เยียวยาและดูแลสิทธิกำลังพลและครอบครัว ผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียต่อเนื่องกันไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังกำชับทุกหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังไม่ประมาท และให้เร่งติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุมาดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็ว

“ขอสดุดีและไว้อาลัย ต่อความกล้าและเสียสละของชุด EOD ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทุกนาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้และป้องกันเหตุระเบิด ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยสามารถลดความรุนแรงเสียหาย และการสูญเสียของประชาชนบริสุทธิ์จำนวนมาก ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา จึงถือเป็นการสูญเสียบุคลากรของกองทัพและประชาชนที่มีคุณค่ายิ่งร่วมกัน” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

คนร้ายขว้าง ‘ไปป์บอมบ์’ ฐานทหารที่รือเสาะ จนท.ขยาดไม่เข้าตรวจเกรงซ้ำรอย ‘ศรีสาคร’

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 19.50 น. ของวันที่ 4 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ธัญญะ ลัภบุญ ผกก.สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รับแจ้งมีเหตุคนร้ายขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ใส่ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4601 ซึ่งตั้งอยู่บ้านลูโบะปูโละ ม.3 ต.สามัคคี จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมประสานไปยังฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4601 เพื่อขอทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นโดยสรุป

จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนอาศัยความมืดแฝงตัวมาจากป่ารกทึบด้านหลังของฐาน จากนั้นได้ขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ จำนวน 1 ลูก มาตกที่บริเวณด้านหลังของฐานเสียงดังสนั่นหวั่นไหว เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 4601 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เวรยามด้านหลังของฐาน และกำลังอีกจำนวนหนึ่งที่แยกย้ายเข้าเวรยามรอบฐาน เมื่อได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น จึงได้วิ่งเข้าบังเกอร์ประจำจุดภายในฐาน พร้อมใช้อาวุธปืนประจำกาย ยิงสุ่มเข้าไปในป่ารกทึบที่คาดว่าเป็นจุดที่คนร้ายได้ขว้างระเบิดไปจำนวนหลายชุด ก่อนที่คนร้ายจะอาศัยความมืดหลบหนีไป ส่วนระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และไม่มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด

ต่อมาเวลา 09.00 น. วันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา พบเจ้าหน้าที่ทหารพราน เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บางจุดมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดบนถนนเส้นทางที่ไปสู่ฐานปฏิบัติการณ์ กองร้อยทหารพรานที่ 4601 ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เกรงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ ไม่มีเจ้าหน้าที่แม้แต่สังกัดเดียว ทั้งที่ปกติมักเดินทางมาร่วมตรวจที่เกิดเหตุพร้อมๆ กัน และเมื่อทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจึงได้โทรศัพท์ทำการประสานไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ จ.นราธิวาส หลายท่านได้รับคำตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงจากกองทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ห้ามเดินทางเข้าไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุเป็นอันขาด จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเกรงกลุ่มคนร้ายจะวางแผนลวง เพื่อลอบดักทำร้ายและดักสังหารเจ้าหน้าที่เหมือนกับเคสพื้นที่บ้านไอร์กาแซ ม.6 ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ที่คนร้ายได้วางแผนใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดซ้ำใส่ฐาน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 66 และวันรุ่งขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 66 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาค 4 และ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เดินทางเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดี นำขบวนและช่วงขากลับคนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่นำไปฝังไว้บริเวณใต้ผิวถนน ซึ่งห่างจากฐาน ประมาณ 800 เมตร ส่งผลทำให้ พ.ต.ลิขิต วิทยประภารัตน์ หน.ชุด และ จ.ส.อ.อิสระ เลิกนอก เสียชีวิต ส่วน ส.อ.ศักย์ศรณ์ สายน้ำได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ยังได้รับคำชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ จ.นราธิวาส เพิ่มเติมอีกด้วยว่า จากนี้การเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุอันเกี่ยวเนื่องจากปัญหาความมั่นคง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรออีก 1-2 วัน จนกว่าจะให้กำลังพลที่เกี่ยวข้อง ทำการเคลียร์พื้นที่ถนนหนทางทุกสายที่มุ่งสู่จุดเกิดเหตุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดประวัติซ้ำรอยเหมือนเคศ อ.ศรีสาคร และเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบอย่างรายละเอียด จนมั่นใจว่าปลอดภัยจึงจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ด้าน พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส กล่าวว่า สำหรับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุนั้น ท่านแม่ทัพภาค 4 ได้เน้นย้ำว่าจะเข้าไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปลอดภัยก่อน นั่นหมายถึงว่าหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ใดก็แล้วแต่ที่เป็นเส้นทางที่จำเป็นต้องใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ จะต้องมีการวางกำลังและตรวจสอบเส้นทางอย่างละเอียด จะด้วยการใช้กำลังเดินลาดตระเวนหรือเครื่องมือเพิ่มเติมก็แล้วแต่ รวมทั้งไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพื้นที่เพียงอย่างเดียว ให้บูรณาการในส่วนของกำลังภาคประชาชน คืออาสาสมัครประจำพื้นที่ หรือกำลังชุดคุ้มครองตำบลที่เป็นเส้นทางผ่านก็แล้วแต่ ให้ออกมาดูแลเส้นทางกันมากขึ้น

“ย้ำว่าต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ และจบที่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่การรายงานว่าทุกอย่างเรียบร้อย เรามีบทเรียนซึ่งเป็นความสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของพวกเราพอสมควร ก็อย่างที่บอกว่าท่านแม่ทัพให้เดินหน้าในเรื่องของการทำงานทุกเรื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพวกเรากันเองและประชาชนในพื้นที่” พล.ต.เฉลิมพรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net