Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนพบว่ามีข้อเขียนบางชิ้น โดยเฉพาะคอลัมน์ในเว็บไซต์ “ประชาไท” ที่วิพากษ์ปรัชญาและศาสนาพุทธ รวมไปถึงบทความและคำบรรยายอื่นๆ ทางปรัชญาของนักวิชาการที่เผยแพร่ต่อ สื่อสาธารณะ น่าจะมีความคลาดเคลื่อน จึงขอแลกเปลี่ยนด้วย ดังนี้

ประการแรก วงศาวิทยา (genealogy) ทั้งของนีทเชอ (Nietzsher) และฟูโกต์ (Foucault) ไม่น่าจะแปลเป็นไทยว่า “สาแหรก” ได้ เนื่องจากคำว่าวงศาวิทยา (genealogy) โดยทั่วไปหมายถึงการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายถึงต้นกำเนิด (the origin) โดยเฉพาะการสืบเชื้อสายจาก บรรพบุรุษ ซึ่งอาจกระทำได้โดยไล่สายขึ้นไปหาบรรพบุรุษ (ancestry) หรือไล่สายจากบรรพบุรุษลงมา (decent) เมื่อไล่สายได้แล้ว อาจนำมาแสดงเป็นแผนผังครอบครัว (family tree) ซึ่งรวมถึงบรรพบุรุษและคนในวงศ์ตระกูลทั้งหมดเพื่อทำบันทึกเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์หรือกฎหมาย เช่น กรณีการขอเป็นผู้จัดการมรดกในศาลไทย ต้องแสดงแผนภาพประกอบไล่สายขึ้นไปและลงมาเพื่อให้เห็นทายาทโดยธรรม ตามลำดับที่กฎหมายมรดกกำหนด สำหรับกรณีทั่วไปนี้น่าจะแปลเป็นไทยว่า “สาแหรก” ได้ แต่สำหรับนีทเชอและฟูโกต์ไม่ได้ใช้วงศาวิทยาไล่สายอย่างต่อเนื่องทั้งหมด เนื่องจากวงศาวิทยาของ   นีทเชอและฟูโกต์เป็นการไล่สายชุดความคิดที่มีอัตลักษณ์ ตรงนี้น่าจะคล้ายกับแนวคิดเรื่องการเชื่อมต่อ (articulation) ของลาคราว (Laclau) มากกว่า ชุดความคิดแต่ละชุดมีความต่อเนื่อง (continuity) เฉพาะภายในชุดความคิดของตัวเอง ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างชุดความคิดที่ต่างชุดกันนั้นไม่มีความต่อเนื่อง (discontinuity) เหตุผลเพราะประวัติความคิดของคนไม่ได้เป็นเส้นตรงที่สืบเนื่องกันเหมือนประวัติของบรรพบุรุษ เช่น ฟูโกต์ เห็นว่าชุดความคิดการจับคนบ้าไปขังรวมกับคนจนและอาชญากรเป็นชุดความคิดหนึ่ง มีเหตุผลและการกระทำที่มีความต่อเนื่องเฉพาะภายในชุดความคิดนั้น ส่วนชุดความคิดของการนำคนบ้ามารักษาในสถานพยาบาลเป็นอีกชุดความคิดหนึ่ง มีเหตุผลและการกระทำที่มีความต่อเนื่องภายในเช่นกัน แต่ทั้งสองชุดความนี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงภายนอกต่อกัน หมายถึงไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลต่อกันโดยตรง กล่าวคือ ชุดความคิดจับคนบ้าไปขังไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดชุดความนำคนบ้ามารักษาในสถานพยาบาล เพียงแต่อาจมีส่วนประกอบ (elements) ของชุดความคิดที่เป็นส่วนย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้างเท่านั้น เช่น การมองคนบ้าว่าเป็นคนผิดปกติเหมือนกัน แต่มองฐานะทางสังคมของคนบ้าไม่เหมือนกัน จึงมีแนวคิดทางด้านการปฏิบัติต่อคนบ้าไม่เหมือนกัน การมองชุดความคิดที่ไม่ต่อเนื่องนี้ ฟูโกต์ได้ความคิดมาจากนีทเชอ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ดังนั้น การวิเคราะห์ ชุดความคิดที่ไม่ต่อเนื่องกันเช่นนี้ จึงไม่น่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “สาแหรก” ได้ เพราะสาแหรกเป็นการศึกษาหาต้นกำเนิดที่เป็นการสืบสาย นอกจากจะใช้กับการสืบหาต้นตอของบรรพบุรุษและวงศ์ตระกูลแล้วยังน่าจะยังเป็นการสืบสายที่ต่อเนื่องด้วย ถึงแม้ว่าประวัติของบรรพบุรุษบางช่วงอาจหายไป เพราะไม่มีข้อมูลหรือหลักฐาน แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า “คน” ต้องมีสาแหรก คือ การสืบสายเลือดและตระกูลที่ต่อเนื่องกันมา

ประการที่สอง นีทเชอไม่ได้ค้นหากำเนิดของศีลธรรมอย่างที่นักวิชาการหลายคนเข้าใจหรือที่ปรากฏในงานหลายชิ้น ในงานของนีทเชอ “The Genealogy of Morality” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1887 ซึ่งประกอบด้วยบทความสามเรื่อง ด้วยเหตุที่งานของนีทเชอ ชื่อว่า “วงศาวิทยาของหลักศีลธรรม” จึงชวนให้คนเข้าใจว่าเขากำลังค้นหา “ต้นกำเนิด” ของศีลธรรม แต่จริงๆ ไม่ใช่ แก่นความคิดของนีทเชออยู่ที่เขามองว่าคนทั่วไปมองศีลธรรมแต่เรื่องดีๆ มีแต่คนดีๆ ประวัติของคนดี และคำสอนของคนดีที่ควรเอาแบบอย่าง แต่นีทเชอเห็นว่า “ศีลธรรมล้วนมีอคติ” (prejudice) ซึ่งหมายถึงเป็นทั้งอคติต่อกลุ่มคนและเป็นอคติของกลุ่มคน ด้วยเหตุนี้เวลาเราจะยึดถือหลักศีลธรรมใดก็ตาม เราไม่ควรยึดถือตาม    ธรรมเนียมประเพณี ตรงกันข้ามควรตั้งคำถาม ทั้งนี้ต้องเข้าใจบริบทของสังคมในศตวรรษที่ 20 ด้วยว่า   นักปรัชญาของโลกขณะนั้นล้วนวิพากษ์การเขียนประวัติศาสตร์แบบอนุสาวรีย์ (the monumental historiography) ซึ่งเป็นปัญหาทางปรัชญาเรียกว่า “ปัญหาของแนวอนุสาวรีย์” (monumental problem) หมายความว่า เราชอบพูดถึงคนใดคนหนึ่งที่เราคิดว่าเขายิ่งใหญ่ แล้วก็ยกย่องว่าคนนั้นเลิศเลอทุกอย่าง เสร็จแล้วเราก็สรุปว่า “เราต้องทำตามคำสอนหรือแนวทางของคนนั้น” โดยไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ปัญหาอันนี้ต่อมาจึงเกิดขบวนการทางปรัชญาที่ต่อต้านค่านิยมแบบนี้ เช่น การปฏิเสธความเชื่อค่านิยมเดิมของสังคม (Nihilism) และขบวนการอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) รวมทั้งวิธีการเขียนประวัติศาสตร์แนวอนุสาวรีย์และแนวโบราณวัตถุ เกิดการถกเถียงกันต่อมาว่า “ตกลงประวัติศาสตร์รับใช้คนตายหรือ   คนเป็น” สำหรับนีทเชอเขาตั้งคำถามว่าถ้าเราสักแต่ทำตามแนวทางของธรรมเนียมประเพณีเรื่อยไป แล้วเราจะเป็นนักปรัชญาที่แท้ (true philosopher) ได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ นีทเชอจึงแนะนำว่า หากเราจะทำความเข้าใจศีลธรรม ไม่ใช่สักแต่ทำตามกัน เราควรดูต้นกำเนิด แต่ตรงนี้ “ไม่ใช่ต้นกำเนิดของศีลธรรม” หากเป็น “ต้นกำเนิดของอคติของศีลธรรม” (the origin of our moral prejudice) โดยเขาศึกษาต้นกำเนิดของอคติของชาวโรมันซึ่งมีฐานะเป็นนายทาส กับอคติของชาวยิว ซึ่งมีฐานะเป็นทาส นีทเชอพบว่าชาวโรมันแบ่งหลักศีลธรรมออกเป็น “ดี/เลว” (good/bad) ส่วนชาวยิวแบ่งหลักศีลธรรมเป็น “ดี/ชั่ว” (good/evil) และนีทเชอ พบว่า “ความเลว” ของหลักศีลธรรมของโรมัน คือ ความอ่อนแอ ดังนั้น ชาวยิวซึ่งเป็นผู้อ่อนแอจึงเป็นความเลว ชาวโรมันมีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้รุกรานยิว ส่วนชาวยิวตรงกันข้ามมองว่า “ความชั่ว” คือ การรุกรานคนอื่น ดังนั้น ความดี (การรุกรานคนอื่น) จึงเป็นความชั่วในทัศนะของหลักศีลธรรมของชาวยิว นีทเชออธิบายว่าในที่สุดหลักศีลธรรมดีและชั่วของชาวยิวก็ชนะหลักศีลธรรมของโรม ต่อมาภายหลังหลักศีลธรรมดีและชั่วจึงปรากฏอยู่ในสมัยปฏิรูปในหลักการปฏิวัติฝรั่งเศสและต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ซึ่งโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ประการที่สาม อย่างไรก็ตาม นีทเชอปฏิเสธการแบ่งดี/ชั่ว นีทเชอก็เหมือนนักปรัชญายุคสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่คนอื่นๆ ปฏิเสธแบ่งการโลกออกเป็นขาวกับดำหรือโครงสร้างคำคู่ (duality) อื่น เพราะเขาเห็นว่าระหว่างโลกขาวกับดำนั้นยังมีสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายอยู่ในนั้นหรือระหว่างนั้นอีกมากมาย หมายความว่านักปรัชญายุคสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ไม่ได้ปฏิเสธสัจนิยม (ultimate truth) เช่น “คนเกิดมาต้องตาย” แต่เขาปฏิเสธว่า “โถพี่ กว่าคนจะตาย มันต้องทำอะไรอีกมากกว่านั้นไหม” หมายความว่าเขาปฏิเสธการลดรูปความรู้เป็นข้อสรุปง่ายๆ เนื่องจากในชีวิตความเป็นจริงของคนมันมีความหลากหลายมากกว่านั้นอีกมาก ในงานชื่อ “Beyond Good and Evil” ค.ศ. 1886 นีทเชอจึงเห็นว่าโลกทั้งหมดล้วนเป็นสีเทา อีกนัยหนึ่ง นักปรัชญาที่แท้ต้องมีจิตวิญญาณเสรี (free spirit) หมายถึงการกำหนดศีลธรรมของตนและออกไปไกลจากการแบ่งเป็นความดีกับความชั่ว (going beyond good and evil) เพื่อสร้างค่านิยมใหม่เป็นของตนเอง เนื่องจากความดีและความชั่วที่ยึดกันมาตามธรรมเนียมประเพณีโดยคนทั่วไปนั้นไม่มีเหตุผล ไร้เดียงสาและคิดเหมือนเด็กว่าจะทดลองทำตามอดีตไปเรื่อยๆ อีกทั้งธรรมเนียมประเพณียังปฏิเสธความคิดที่จะไปไกลกว่าความดีกับความชั่วเพื่อสร้างคุณค่าทางศีลธรรมของตน ด้าน นีทเชอ เห็นว่าในพื้นที่ที่ไกลออกไปจากความดีกับความชั่วคนต้องตัดสินใจกำหนดค่านิยมใหม่โดยอาศัยจิตวิญญาณเสรีและความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถทวนกระแสของอดีตและกำหนดเป็นเจตจำนงของตนเอง

ตรงนี้นี่เองที่ฟูโกต์เอามาอธิบายเพิ่มเติมในงานของฟูโกต์ ชื่อ “Nietzsche - genealogy and history” ค.ศ. 1991 ว่าสาเหตุที่นีทเชอวิเคราะห์ว่าศีลธรรมมีอคตินั้นเกิดจากการเขียนประวัติศาสตร์ หมายความว่าดี/เลว หรือดี/ชั่ว นอกจากขึ้นอยู่กับการกำหนดค่านิยมในขณะนั้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเงื่อนไขของการเขียนประวัติศาสตร์ขณะนั้นด้วย ฟูโกต์ตีความว่าที่จริงนีทเชอกำลังวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ดังที่ฟูโกต์เห็นว่านีทเชอแบ่งการเขียนประวัติศาสตร์ออกเป็นสามวิธี ได้แก่

(1) การเขียนประวัติศาสตร์แนวอนุสาวรีย์ (the monumental method) เป็นการปลูกฝังและเชื่อมโยงความยิ่งใหญ่ให้อยู่อย่างต่อเนื่องไปตลอด การเขียนประวัติศาสตร์แนวนี้กลบเกลื่อนความแตกต่าง ใช้วิธีลงความเห็นโดยรวม สรุปความและเปรียบเทียบ แต่การเปรียบเทียบอาจทำเพื่อชักจูงใจและทำให้คนเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง เช่น ประวัติศาสตร์ของชาติ หรือประวัติศาสตร์โลก หรือหนังสือเกี่ยวกับการก่อตั้งยุโรป ซึ่งกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน อาจรวมถึงประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าทางการแพทย์หรือมนุษยนิยมสมัยใหม่ ตลอดจนประวัติการลงโทษสมัยโบราณ

(2) การเขียนประวัติศาสตร์แนวโบราณวัตถุ (the antiquarian method) เป็นการปลูกฝังอดีต เพียงเพื่อประโยชน์ของอดีต กลายเป็นการสะสมสิ่งของในอดีตย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น ประวัติการทำมัมมี่ ซึ่งไม่ได้สนใจการมีชีวิตอยู่ต่อไปและประเมินอนาคตต่ำไปเสมอ

(3) การเขียนประวัติศาสตร์แนววิพากษ์ (the critical method) เป็นการเขียนประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้ชีวิต มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่าอดีตต้องแตกสลายและถูกลบล้าง เพื่อยินยอมให้ชีวิตใหม่  ได้เกิดขึ้น อดีตต้องตรวจสอบได้ ส่งไปสอบสวนและตัดสินได้ ไม่ใช่เพื่อให้มีความยุติธรรมหรือมีเมตตา แต่เพื่อยินยอมให้ชีวิตใหม่ได้โผล่ขึ้นมาและมีพลัง 

หลักการวิพากษ์ของนีทเชออยู่ที่ “ประวัติศาสตร์รับใช้คนตายหรือคนเป็น” การเขียนประวัติศาสตร์แนวโบราณวัตถุรับใช้คนตาย เช่น การทำมัมมี่ ส่วนประวัติศาสตร์แนวอนุสาวรีย์มีความกำกวมมากกว่าตรงที่ให้คนมีโอกาสที่จะทำหรือดำเนินการในอนาคต แต่ก็ต้องการให้คนเชื่อ โดยไม่ไตร่ตรอง เพราะเสนออนาคตที่มีแนวทางเพียงหนึ่งเดียวว่าจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนประวัติศาสตร์แนววิพากษ์เป็นเพียงแนวเดียวที่รับใช้คนเป็น เปิดอดีตที่ปิดกั้นเราออกจากเงื่อนไขเดิมและศีลธรรมเดิม และเห็นว่าการรู้อดีตไม่ได้เป็นประโยชน์ในตัวเอง เว้นแต่ว่าเราจะนำมารับใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ประการที่สี่ คำว่าศีลธรรมของทาสและศีลธรรมของนายของนีทเชอ ไม่ได้หมายถึงศีลธรรมของโรมหรือศีลธรรมของยิวในฐานะที่เป็นนายทาสกับทาส แต่เป็นนัยประหวัด (implication) จากการ “going beyond good and evil” ดังนั้น คำว่า “ทาส” ของเขาหมายถึงศีลธรรมที่เราทำตามกันเรื่อยมาโดยไม่ไตร่ตรองและไม่ตั้งคำถาม กับคำว่า “นาย” คือ ศีลธรรมของนักปรัชญาหรือผู้มีจิตวิญญาณเสรี ซึ่งรู้จักตั้งคำถาม และที่น่าสังเกต คือ นีทเชอไม่ได้ใช้ คำว่า “ศาสนานายหรือศาสนาทาส” อย่างที่เราชอบนำมาอ้าง เพราะแนวคิดของนีทเชอเป็นแนวคิดที่อยู่กับปัจจุบันและปรากฏชัดว่าเขาต่อต้านคำสอนทางศาสนา เช่น การต่อต้านคำสอนของพุทธศาสนานิกายเซน ด้วยเหตุผลว่านีทเชอคิดว่าคนเราล้วนมีชีวิตจิตใจและมีความรู้สึก เรายากที่จะปิดกั้นการรับรู้โลกได้ ทางที่ดีกว่านั้น มนุษย์ควรเลือกทำความเข้าใจ มีสติกับปัจจุบันและปรับตัวเข้ากับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงมากกว่า หลักฐานอันหนึ่งที่แสดงว่านีทเชอสนใจความเป็นอยู่ในปัจจุบันภายใต้กรอบเวลาที่กำลังเป็นและเปลี่ยนแปลงไป คือ นีทเชอได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาผู้ก่อตั้ง” ขบวนการอัตถิภาวะนิยม (existentialism) อีกคนหนึ่ง นอกจาก เคียเคอการ์ด (Kierkegaard) ด้วย

ประการที่ห้า ข้อวิพากษ์ปรัชญาและพุทธศาสนาในคอลัมน์ในเว็บไซต์ประชาไทส่วนมากไม่มี “สังคม” ความจริงปรัชญาและพุทธศาสนาหรือแนวคิดอื่นๆ ล้วนมีสังคมวิทยาความรู้ (sociology of knowledge) คือ มีประวัติศาสตร์และมีสังคมที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การวิพากษ์โดยเฉพาะในเชิงเปรียบเทียบย่อมจำกัดด้วยกรอบของเวลาและสถานที่ เช่น “การตีกันเหมือนไก่ในสุ่มไก่ตีกันเอง” เป็นคำเปรียบเปรยของนายแพทย์ประเวศ วะสี ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยมีการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ซึ่งมีกรอบของความหมายในขณะนั้นว่า “ทำไมคนไทยมาตีกันเอง ทำไมเราไม่มองแนวคิดที่กว้างกว่านั้น” เช่น ในฐานะประเทศไทยที่อยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันกันกับประเทศอื่น หรือการวิพากษ์ท่านพุทธทาส หรือสมเด็จประยุทธ์ ปยุตโต ก็ทำนองเดียวกัน ทั้งท่านพุทธทาสและสมเด็จประยุทธ์กำลังพูดถึงการประยุกต์หลักธรรมทางศาสนาพุทธมาใช้กับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทยในปัจจุบัน ในบริบทหนึ่งและในกรณีเฉพาะกรณีหนึ่ง การที่นักเขียนประจำในคอลัมน์ในเว็บไซต์ประชาไทชอบนำเอาคำพูดของของคน ณ จุดหนึ่งของเวลามาวิพากษ์โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์อีกกรอบหนึ่ง ซึ่งมีช่วงเวลาและสถานที่ต่างกัน รวมทั้งมีกรอบความคิดที่แตกต่างกันมาก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ หรือเปรียบเทียบกันอย่างกำกวม ข้อสำคัญกรอบที่ตั้งขึ้นเพื่อการวิเคราะห์นั้นไม่มีความตรง (validity) เช่น เรื่องวงศาวิทยาของศีลธรรมของนิทเชอที่กล่าวมา อันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานทางทฤษฎี (theoretical base) ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาของการวิพากษ์ หรือหากจะวิพากษ์ก็น่าจะวิพากษ์ให้อยู่ภายใต้กรอบของเวลาและสถานที่ที่มีคำพูดหรือความคิดนั้น เช่น คำพูดของนายแพทย์ประเวศขณะนั้นไม่ถูก หรือตีความได้เป็นอย่างอื่น หรือมีแนวคิดอื่นที่ดีกว่าในขณะนั้นอย่างไร การวิพากษ์แนวหลังนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของการวิพากษ์เพื่อเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามทฤษฎีวิพากษ์ (critical theory) หรือการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ (critical discourse analysis) มากกว่า

 

ที่มาภาพ: www.sarakadeelite.com/faces/friedrich-nietzsche/


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net