Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาจำคุก “นิรนาม” คดีข้อหาพ.ร.บ.คอมฯ จากเหตุทวิตถึงสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อความรวม 8 ปี ปรับ 1.6 แสน แต่สารภาพลดเหลือ 48 เดือน ปรับ 8 หมื่น ส่วนโทษจำคุกรอลงอาญา พร้อมสั่งห้ามคบหากับกลุ่มคนที่จะทำให้ทำผิดอีก

8 มี.ค.2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันนี้ที่ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาคดีของผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี “นิรนาม_” (ไม่เปิดเผยชื่อสกุลจริง) วัย 22 ปี ที่ถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการทวีตข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จำนวน 8 ข้อความระหว่างเดือนตุลาคม 2562 ถึงมกราคม 2563

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าสำหรับคดีนี้นิรนามได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพก่อนเริ่มสืบพยานในนัดแรกเมื่อ 15 ธ.ค.2565 ศาลจึงได้สั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์และสาเหตุของการกระทำของเขาและนัดฟังข้อเท็จจริงไปเมื่อ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาและนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ทั้งนี้ศาลอ่านคำพิพากษาเพียงสั้นๆ ว่า นิรนามมีความผิดตามข้อกล่าวหาให้ลงโทษจำคุกจำเลย กรรมละ 1 ปี ปรับกรรมละ 20,000 บาท เนื่องจากให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษเหลือจำคุกกรรมละ 6 เดือน ปรับกรรมละ 10,000 บาท รวมทั้งหมด 8 กรรม คิดเป็นโทษจำคุก 48 เดือน ปรับ 80,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี กำหนดชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นเวลา 36 ชั่วโมง และห้ามจำเลยคบค้าสมาคมกับกลุ่มคนที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดเช่นเดิมอีก

สำหรับคดีนี้ นิรนาม ถูกตำรวจชลบุรีจับกุมไปจากห้องพักตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 โดยไม่มีการออกหมายจับก่อน และเขาถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการทวีตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 6 วันก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาให้ประกันตัวออกมา แต่เขาก็ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 7 ข้อความในภายหลัง ทั้งนี้เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

จากนั้นเมื่อ 18 ม.ค.2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 8 ข้อความ โดยมีทั้งส่วนที่เป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 จำนวน 3 ข้อความ และรัชกาลที่ 10 จำนวน 5 ข้อความ โดยมีข้อความกล่าวถึงเรื่องการเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่น, กล่าวถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8, กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหาร 2549 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นัดสืบพยานเลื่อนมาจนถึงเมื่อ 15-16 ธ.ค.2565

ทั้งนี้คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเมื่อ 20 พ.ย.2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราในการจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนที่เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 และในการเคลื่อนไหวมีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการใช้พระราชอำนาจรวมถึงการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์จนไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net